ข่าว:

ห้ามโพสโฆษณา สินค้าที่ดูแล้วขัดต่อ ศีลธรรม ประเพณี หรือกฏหมายของไทย เด็ดขาด หากพบจะแบนสมาชิกนั้นออกจากบอร์ดทันที

Main Menu

ญี่ปุ่นขยับนโยบายกลาโหมเชิงรุก ตั้งหน่วยนาวิกฯ และโดรนสอดแนม

เริ่มโดย mrtnews, ก.ค 26, 13, 16:52:19 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

รัฐบาลของนายกฯ ชินโซะ อาเบะ เริ่มกระบวนการพิจารณาปรับเปลี่ยนนโยบายป้องกันประเทศตามที่ลั่นวาจาไว้ระหว่างหาเสียง รายงานชั่วคราวของกระทรวงกลาโหมแนะเสริมขีดความสามารถรอบด้าน รวมถึงตั้งหน่วยนาวิกโยธินแบบสหรัฐและโดรนสอดแนม


หนังสือพิมพ์หลายฉบับของญี่ปุ่นเมื่อวันพฤหัสบดีกล่าว รายงานชั่วคราวของกระทรวงกลาโหมซึ่งอาจนำเสนอในวันศุกร์นี้ เป็นส่วนหนึ่งของการทบทวนนโยบายกลาโหมระยะยาวของรัฐบาลอาเบะที่คาดว่าจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ภายในสิ้นปีนี้

ผู้นำหัวอนุรักษนิยมรายนี้เคยให้คำมั่นว่าจะเสริมสร้างกองทัพให้สามารถรับมือกับภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นทั้งจากจีนและเกาหลีเหนือ อาเบะกล่าวด้วยว่า ญี่ปุ่นจำเป็นต้องถกเถียงกันเรื่องแนวคิดการจัดเตรียมลู่ทางไว้เผื่อการชิงโจมตีก่อนหากต้องการต่อต้านภัยคุกคามจากโครงการนิวเคลียร์และมิสไซล์ของเกาหลีเหนืออย่างได้ผล แต่นักสังเกตการณ์ยังมองกันว่า อาเบะต้องระมัดระวังหากคิดเดินหน้าตามแนวคิดนี้ เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่รวมถึงพรรคร่วมรัฐบาลขนาดเล็ก ยังคงสนับสนุนรัฐธรรมนูญรักสันติ

ถ้อยคำในรายงานชั่วคราวยังไม่มีการอ้างถึง "ขีดความสามารถในการชิงโจมตีก่อน" แต่ก็สะท้อนถึงการโต้แย้งภายในแวดวงกลาโหมของญี่ปุ่นเองเกี่ยวกับความจำเป็นที่ต้องตีความจุดยืนทางทหารของประเทศใหม่ โดยเฉพาะมาตรา 9 ที่สหรัฐร่างไว้ให้ใช้หลังญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเพิกถอนสิทธิในการทำสงครามของญี่ปุ่น และหากตีความตามตัวอักษร ยังห้ามญี่ปุ่นมีกองทัพด้วย แต่ในความเป็นจริงแล้วกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นถือว่ามีความแข็งแกร่งที่สุดชาติหนึ่งในเอเชีย

ข่าวอาซาฮีและโยมิอุริชิมบุงกล่าวว่า กระทรวงกลาโหมได้เสนอไว้ในรายงานฉบับชั่วคราวนี้ด้วยว่า ญี่ปุ่นจำเป็นต้องส่งเสริมขีดความสามารถที่ครอบคลุมในการยับยั้งและตอบโต้ขีปนาวุธข้ามทวีป และว่าญี่ปุ่นควรมีกองกำลังสะเทินน้ำสะเทินบกแบบเดียวกับกองกำลังนาวิกโยธินของสหรํฐ ที่สามารถปฏิบัติการยกพลขึ้นบกได้บนหมู่เกาะห่างไกล

รายงานของกระทรวงยังเสนอให้รัฐบาลพิจารณาซื้ออากาศยานสอดแนมควบคุมจากระยะไกล ที่สามารถใช้ตรวจการณ์ดินแดนที่อยู่ไกลโพ้นของญี่ปุ่นได้ โดยเฉพาะหมู่เกาะห่างไกลทางใต้ที่เป็นข้อพิพาทแย่งชิงอยู่กับจีน


การแย่งชิงหมู่เกาะเซ็งกากุหรือเตียวหยูในทะเลจีนตะวันออกระหว่างจีนกับญี่ปุ่นกลับมาร้อนระอุขึ้นเมื่อกันยายนปีที่แล้ว เมื่อวันพุธจีนส่งเรือยามฝั่งที่อาจติดอาวุธด้วยหลายลำ เข้าใกล้น่านน้ำของหมู่เกาะซึ่งญี่ปุ่นครอบครอง และวันเดียวกันยังส่งเครื่องบินตรวจการณ์ลำหนึ่งบินผ่านน่านฟ้าสากลระหว่างหมู่เกาะโอกินาวาเป็นครั้งแรก ทำให้ญี่ปุ่นส่งเครื่องบินรบหลายลำขึ้นขับไล่ วันต่อมารัฐบาลจีนอ้างว่าเป็นการฝึกบินปรกติ.

ที่มา -