ข่าว:

ห้ามโพส ปั่นลิงก์ SEO ในส่วนของ ลายเซ็นสมาชิกเพื่อจะแสดงที่ด้านล่าง ของแต่ละข้อความที่ตอบกระทู้ เช่น คาสิโน บาคาร่า แทงบอล ฯลฯ เด็ดขาด หากพบจะแบนสมาชิกนั้นออกจากบอร์ดทันที

Main Menu

เทรนด์ "น้ำมันดิบโลก" 2017 จาก "ล้นตลาด" เป็น "ขาดตลาด" ?

เริ่มโดย mrtnews, ธ.ค 23, 16, 06:20:53 ก่อนเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

องค์การพลังงานระหว่างประเทศ (ไออีเอ) ณ กรุงปารีส ฝรั่งเศส เพิ่งออกมาเตือนว่า สภาวะน้ำมันดิบทั่วโลก "มีแนวโน้ม" จะเปลี่ยนจากสภาพ "ล้นตลาด" ในเวลานี้ไปในทางตรงกันข้ามคือ กลายเป็นภาวะ "ขาดตลาด" ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2560


"ไออีเอ" เป็นองค์กรที่ 29 ประเทศจัดตั้งขึ้นเพื่อให้ทำหน้าที่ติดตามสถานการณ์พลังงานของโลก เป็นตัวกลางระหว่างประเทศผู้ผลิตและประเทศผู้ใช้พลังงาน และจัดทำแนวนโยบายสำหรับการจัดหาพลังงานในสถานการณ์คับขัน เพื่อเสนอแนะให้แก่ชาติสมาชิกเป็นสำคัญ การประเมินของไออีเอจึงชวนคิดอยู่ไม่น้อย

การประเมินสถานการณ์น้ำมันดังกล่าวอยู่บนพื้นฐานสำคัญประการหนึ่งนั่นก็คือความตกลงลดกำลังการผลิตลง 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ภายในกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันดิบเป็นสินค้าออก (โอเปก) กับอีก 558,000 บาร์เรล จากกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันนอกกลุ่มโอเปก หรือ "น็อนโอเปก" จะต้องเป็นไปตามที่ตกลงกันนับตั้งแต่เดือนมกราคมที่จะถึงนี้เป็นต้นไป

ไออีเอประเมินว่า ความตกลงดังกล่าวจะทำให้ปริมาณผลผลิตน้ำมันดิบส่วนเกินในตลาดลดลงวันละ 600,000 บาร์เรลต่อเนื่องกันในช่วง 6 เดือนถัดจากนี้ ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้เคยแสดงความเชื่อว่า ปริมาณน้ำมันดิบที่ผลิตออกมาเหลืออยู่ในตลาดจะค่อย ๆ ลดลงจนเข้าสู่สภาพสมดุลกับความต้องการของตลาดเมื่อถึงสิ้นปี 2560 ก็ตาม เหตุผลสำคัญที่ทำให้ไออีเอต้องเปลี่ยนการประเมินดังกล่าว เป็นเพราะกลุ่มน็อนโอเปกร่วมมือในการลดกำลังการผลิตครั้งนี้ด้วยนั่นเอง

ในความเห็นของไออีเอจะทำให้ภาวะ "ล้นตลาด" ลดลงมาได้ โอเปกจำเป็นต้องลดการผลิตลงมาและให้คงที่อยู่ที่ระดับเป้าหมาย 32.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในความเป็นจริงนั้นเมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา โอเปกยังคงผลิตน้ำมันดิบออกมาอยู่ที่ระดับ 34.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งถือเป็นระดับที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ดังนั้นการลดลงเพียง 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวันจึงยังคงไม่เพียงพอ จนกระทั่งกลุ่มน็อนโอเปกยินยอมให้ความร่วมมือ นั่นแหละปริมาณน้ำมันดิบที่หายไปจากตลาดจึงเพียงพอต่อการลดปริมาณที่ล้นตลาดลง และเกิดผลพวงด้านราคาได้ภายในช่วงระยะเวลา 6 เดือน

หลังจากความตกลงของกลุ่มโอเปกเมื่อ 30 พ.ย. 59 และกลุ่มน็อนโอเปกเมื่อ 10 ธ.ค. 59 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องราว ๆ 17% และทำให้ไออีเอลดประมาณการอัตราการขยายตัวของน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปกในปี 2560 ลงครึ่งหนึ่ง เหลือเพียง 220,000 บาร์เรลต่อวัน ในขณะที่ยังคงประเมินผลผลิตน้ำมันรวมของกลุ่มน็อนโอเปกในปีหน้าว่าจะยังคงระดับเฉลี่ยอยู่ที่ 57 ล้านบาร์เรล โดยลดการคาดการณ์ปริมาณการผลิตของรัสเซียลง 140,000 บาร์เรลต่อวัน โดยเชื่อว่าจะลดลงมาถึงระดับ 11.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีหน้า จากระดับ 11.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ หลังจากที่รัสเซียประกาศตัวจะปรับลดกำลังการผลิตลงราวครึ่งหนึ่งของกลุ่มน็อนโอเปกทั้ง 11 ชาติ โดยจะค่อย ๆ ปรับลดลงให้ได้วันละ 300,000 บาร์เรล


ไออีเอคาดการณ์ว่า ความต้องการน้ำมันดิบทั่วโลกในปีนี้จะเพิ่มขึ้นอีก 100,000 บาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ การบริโภคทั้งโลกจะเพิ่มขึ้น 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือ 1.4% ซึ่งจะทำให้ปริมาณการบริโภคน้ำมันดิบของทั้งโลกจะมาอยู่ที่ 97.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน

มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า มีสัญญาณบางประการบ่งชี้ว่า ตลาดน้ำมันกำลังเริ่มต้นเข้าสู่ภาวะตึงตัว โดยชี้ให้เห็นว่าถึงแม้ปริมาณน้ำมันดิบและน้ำมันแปรรูปสำรองของชาติอุตสาหกรรมทั้งหมด ยังคงอยู่ที่ระดับเกินกว่าปริมาณเฉลี่ยในรอบ 5 ปีอยู่ถึง 300 ล้านบาร์เรล ในเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา แต่ก็เป็นระดับที่ลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 แล้ว ซึ่งไออีเอถือว่าเป็นการลดลงของปริมาณน้ำมันสำรองที่ต่อเนื่องกันยาวนานที่สุด นับตั้งแต่ปี 2554 เลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ในแวดวงน้ำมันหลายคน รวมทั้ง "แฮร์รี ชิลลิงกีเรียน" หัวหน้าแผนกยุทธศาสตร์ตลาดโภคภัณฑ์ ของธนาคาร "บีเอ็นพี พาริบาส์ เอสเอ." ในกรุงลอนดอน ยังคงยืนยันว่าการเคลื่อนจากสภาพ "ล้นตลาด" ไปเป็นสภาพ "ขาดตลาด" นั้น มีเงื่อนไขอยู่มากมาย

ในทรรศนะของชิลลิงกีเรียน สถานการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้จะต้องมี "ตัวแปร" หลาย ๆ ตัวมากที่เคลื่อนที่เข้ามาประกอบกันเหมาะเจาะพอดิบพอดี ทั้งสถานที่และเวลา ขาดเพียงอย่างหนึ่งอย่างใดก็คงเกิดขึ้นไม่ได้ และต้องพิสูจน์กันต่อไปว่าสุดท้ายแล้วจะเป็นเช่นนั้นหรือไม่

แต่ที่แน่ ๆ ปีใหม่ 2560 นี้ ราคาน้ำมันจะยังคงมีแนวโน้มเป็นช่วง "ขาขึ้น" แน่นอน



ที่มา Data & Images -


..