ข่าว:

รับสมัครเฉพาะชาวเรือและผู้ที่สนใจที่เป็นคนไทยเท่านั้น สมัครแล้วรออนุมัติประมาณ 2-3 วัน หากต้องการด่วนโปรดแจ้ง webmaster@marinerthai.net

Main Menu

โอกาสของไทยที่จะค้นพบแหล่ง Shale Gas ขนาดใหญ่มีมากแค่ไหน

เริ่มโดย mrtnews, ส.ค 01, 13, 18:24:17 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

ในบทความก่อนหน้านี้ ผมได้เขียนถึงประเทศสหรัฐอเมริกาว่าต่อไปจะกลายเป็นมหาอำนาจทางด้านพลังงาน โดยจะเปลี่ยนจากประเทศผู้นำเข้าพลังงานรายใหญ่ของโลก มาเป็นประเทศผู้ส่งออกพลังงานรายใหญ่แทน ทั้งนี้ด้วยเทคโนโลยีใหม่ในการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซที่เรียกกันว่า Horizontal Drilling และ Hydraulic Fracturing หรือ "Fracking" ที่ทำให้สหรัฐฯสามารถผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติที่เรียกว่า Shale Oil และ Shale Gas ได้เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย จนเพียงพอต่อการใช้ในประเทศ และเหลือใช้จนต้องส่งออกในอนาคต


มีผู้ถามผมว่าแล้วประเทศไทยล่ะ จะมีโอกาสพบแหล่งพลังงานแบบ Shale Oil และ Shale Gas ในสหรัฐฯบ้างหรือไม่ ประกอบกับมีผู้ที่อ้างว่าเป็นผู้รอบรู้ด้านพลังงานบางคนออกมาให้ข้อมูลกับประชาชนผ่านสื่อ โดยอ้างอิงข้อมูลจากหน่วยงานสารสนเทศด้านพลังงานของกระทรวงพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) ว่า ประเทศไทย โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีแหล่งก๊าซธรรมชาติปริมาณมากสูงถึง 5-10 ล้านล้านลบ.ฟุต คิดเป็นหนึ่งในสามของปริมาณก๊าซในอ่าวไทย และมีโครงสร้างที่ใหญ่มาก คาดว่าใหญ่กว่าซาอุดิอาเรเบียเสียอีก ผมจึงอยากนำเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟังครับ

ที่มาของเรื่องนี้มีอยู่ว่า เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. ที่ผ่านมา EIA ได้ออกรายงานเกี่ยวกับการประเมินถึงแหล่งทรัพยากรทางน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในชั้นหินดินดานที่อาจจะค้นพบได้ทางเทคนิค (Technically Recoverable Shale Oil and Shale Gas Resources) ในประเทศต่างๆ 41 ประเทศนอกจากสหรัฐอเมริกา

โดยในส่วนของ Shale Oil นั้น 10 ประเทศที่มีศักยภาพสูงสุดคือ

1. Russia 75 billion barrels
2. U.S. 58 billion barrels
3. China 32 billion barrels
4. Argentina 27 billion barrels
5. Libya 26 billion barrels
6. Australia 18 billion barrels
7. Venezuela 13 billion barrels
8. Mexico 13 billion barrels
9. Pakistan 9 billion barrels
10. Canada 9 billion barrels
World Total 345 billion barrels


ในขณะที่ประเทศที่มีศักยภาพด้าน Shale Gas สูงสุด 10 อันดับคือ

1. China 1,115 trillion cubic feet
2. Argentina 802 trillion cubic feet
3. Algeria 707 trillion cubic feet
4. U.S. 665 trillion cubic feet
5. Canada 573 trillion cubic feet
6. Mexico 545 trillion cubic feet
7. Australia 437 trillion cubic feet
8. South Africa 390 trillion cubic feet
9. Russia 285 trillion cubic feet
10. Brazil 245 trillion cubic feet
World Total 7,299 trillion cubic feet


ในส่วนของประเทศไทยนั้น EIA ได้รายงานเอาไว้ว่า เนื่องจากยังไม่เคยมีรายงานการสำรวจเกี่ยวกับ Shale Oil/Shale Gas มาก่อนเลยในประเทศไทย แต่ดูจากรายงานการศึกษาทางธรณีวิทยาและชั้นหิน และนำไปศึกษาเปรียบเทียบกับแหล่งที่มีลักษณะแบบเดียวกันในสหรัฐฯแล้ว คาดว่าประเทศไทยมีโอกาสมาก (significant prospective) ที่จะมีแหล่ง Shale Gas และมีศักยภาพ (Potential) ที่จะพบ Shale Oil โดยโอกาสที่จะพบ Shale Gas จะมีมากกว่า Shale Oil

โดย Shale Gas นั้นมีโอกาสที่จะพบในแหล่งที่เรียกว่า Khorat Basin ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่ง EIA ประเมินว่าจะมีปริมาณก๊าซตั้งต้น หรือที่เรียกกันในศัพท์ทางวิชาการสำรวจและขุดเจาะปิโตรเลียมว่า "Risked Shale Gas In-Place" ประมาณ 22 ลล.ลบ.ฟุต แต่คาดว่าจะมีปริมาณก๊าซที่ค้นพบได้ทางเทคนิค (Risked Technically Recoverable Shale Gas Resources) เพียง 5 ลล.ลบ.ฟุต เท่านั้น

ถึงตรงนี้ต้องบอกว่าปริมาณ Shale Oil/Shale Gas ที่พูดๆกันในรายงานของ EIAฉบับนี้นั้น ไม่ใช่ปริมาณสำรองที่พิสูจน์แล้ว (Proved Reserve) นะครับ เพราะยังไม่มีการขุดเจาะและสำรวจกันแต่อย่างใด จึงป็นแค่การคาดการว่าน่าจะมี ซึ่งต้องทำการสำรวจยืนยันกันอีกครั้ง ว่ามีจริงหรือไม่ และถ้ามีจริง จะมีมากอย่างที่คาดการกันหรือเปล่า

เรื่องปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่พูดกันอยู่ในบ้านเรานี่ทำเอาคนไทยสับสนกันมากนะครับ เพราะเอาคำว่า Recoverable Resources ซึ่งหมายความถึงทรัพยากรที่คาดว่าจะค้นพบได้ มาปนกับคำว่า Petroleum Reserve ซึ่งหมายถีงปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่มีการสำรวจและค้นพบแล้ว แล้วเอาไปพูดทำให้คนเข้าใจผิดไข้วเขวกันไปหมด


ในทางวิชาการปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่มีการสำรวจและค้นพบแล้วยังแบ่งออกได้เป็นสามประเภท คือ

1. Proved Reserve (P1) คือ ปริมาณสำรองที่สำรวจแล้วมีความมั่นใจ 90% ว่ามีแน่นอนตามที่ได้ประเมินเอาไว้ ซึ่งตัวเลขนี้เมื่อประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ จะได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย รวมทั้งสำนักงานการบัญชี ผู้ตรวจสอบ และสถาบันทางการเงิน ยอมให้ประเมินเป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์สิน (Asset) ของบริษัท

2. Probable Reserve (P2) คือ ปริมาณสำรองที่ผู้สำรวจมีความมั่นใจ 50% ว่ามีแน่ตามที่ประเมินเอาไว้ ซึ่งเอาไปใช้ประเมินเป็นทรัพย์สินไม่ได้ แต่ยังสามารถเอาไปใช้เป็นหลักทรัพย์ในการค้ำประกันเงินกู้ได้

3. Possible Reserve (P3) คือ ปริมาณสำรองที่ผู้สำรวจมีความมั่นใจเพียง 10% ว่ามีแน่ และไม่สามารถนำไปใช้เป็นหลักประกันใดๆทางการเงินได้ แต่ก็ถือว่ามีการสำรวจแล้ว มีความมั่นใจในระดับหนึ่งว่าได้ค้นพบแหล่งปิโตรเลียมแล้ว

จะเห็นได้ว่าแม้แต่ปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่สำรวจและค้นพบแล้ว ยังมีการแบ่งแยกออกเป็นประเภทต่างๆตามความไม่แน่นอนในผลของการสำรวจ ซึ่งนี่ก็คือความเสี่ยงในการทำธุรกิจสำรวจและขุดเจาะปิโตรเลียม ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงนั่นเอง

ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ถ้าในชั้นของการสำรวจทางธรณีวิทยาและสภาพทางกายภาพของชั้นหินจะบ่งบอกว่าที่ใดมีความเป็นไปได้หรือมีศักยภาพที่จะเป็นแหล่งกักเก็บปิโตรเลียมจำนวนมาก แต่พอไปทำการสำรวจจริงๆกลับไม่พบ หรือพบในจำนวนไม่มากอย่างที่คาด ดังนั้นในกรณีรายงานของ EIA ที่ว่านี้ เราจึงยังไม่ควรตื่นเต้นกันมากจนเกินไปนัก จนกว่าจะมีการเปิดให้สัมปทานสำรวจและขุดเจาะกันอย่างจริงจัง

ข้อสำคัญผมไม่อยากให้มีการใช้ประโยชน์ จากการให้ข่าวที่ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่า เราเป็นประเทศที่ร่ำรวยพลังงาน มีแหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่มาก สำรองเยอะ ทั้งๆที่ยังไม่ได้ลงมือสำรวจด้วยซ้ำไป จึงอยากให้รับฟังข้อมูลอย่างระมัดระวังและรู้จริงครับ

สำหรับผู้ที่รับข้อมูลมา ถ้ามีโอกาส คงต้องฝากให้ช่วยถามแทนด้วยว่า ที่บอกว่ามีปริมาณสำรองเยอะ มากกว่าซาอุดิอาเรเบียนั้นน่ะ ท่านหมายถึง P1 P2 P3 หรือหมายถึงอะไร !!!

มนูญ ศิริวรรณ

ที่มา -