ข่าว:

ห้ามโพสโฆษณา หาเงินทางเน็ต งาน Part-time MLM ทุกรูปแบบ ธุรกิจที่มี downline ปั่นลิก์ SEOเด็ดขาด หากพบจะแบนสมาชิกนั้นออกจากบอร์ดทันที

Main Menu

เชฟรอน เตรียมปล่อยแท่นเจาะ “กระทง” ลงอ่าวไทย เดือนมิ.ย.นี้

เริ่มโดย mrtnews, พ.ค 20, 17, 06:13:29 ก่อนเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

เชฟรอน เปิดตัวแท่นขุดเจาะปิโตรเลียมใหม่"กระทง"ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในแหล่งสัมปทานอ่าวไทยตั้งแต่เดือนมิ.ย.2560 นี้เป็นต้นไป เพื่อช่วยให้บริษัทสามารถที่จะขุดเจาะปิโตรเลียมอย่างมีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยในอ่าวไทย ซึ่งมีส่วนในการสนับสนุนนโยบายความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ


เมื่อวันที่15 พ.ค.2560 ที่ผ่านมา บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ได้นำสื่อมวลชนเข้าร่วมในพิธีตั้งชื่อและเยี่ยมชมแท่นขุดเจาะ "กระทง"   ซึ่งจัดขึ้นที่กรมอู่ทหารเรือ สัตหีบ จ.ชลบุรี โดยเปิดโอกาสให้หน่วยงานและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้มีโอกาสขึ้นไปเยี่ยมชมแท่นขุดเจาะปิโตรเลียม ที่สร้างขึ้นใหม่ ซึ่งดำเนินการโดยบริษัท Shelf Drilling หนึ่งในบริษัทที่ให้บริการงานด้านขุดเจาะให้กับเชฟรอน   โดยแท่นขุดเจาะกระทงมีกำหนดที่จะเริ่มดำเนินงานในเดือนมิ.ย.2560 นี้

นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เปิดเผยว่า เชฟรอนให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการขุดเจาะปิโตรเลียมที่จะช่วยให้การทำงานขุดเจาะปิโตรเลียม  มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น มีความรวดเร็ว และมีมาตรฐานความปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ช่วยให้มีต้นทุนที่ต่ำลง เพราะโครงสร้างทางธรณีวิทยาของแหล่งปิโตรเลียมในอ่าวไทย นั้นมีแหล่งกักเก็บปิโตรเลียมเป็นกระเปาะเล็กๆ กระจายกันอยู่ และหลุมที่มีการขุดเจาะใหม่นั้น จะมีขนาดที่เล็กลง และขุดยากขึ้นเรื่อยๆ  ทำให้ต้องมีการเจาะหลุมเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในแต่ละปีจะต้องมีการเจาะหลุมผลิตปีละประมาณ 300-400 หลุมเพื่อให้สามารถผลิตก๊าซได้เพียงพอกับความต้องการ

ทั้งนี้เชฟรอนมีการจัดส่งทีมไปทำงานร่วมกับบริษัทผู้ผลิตแท่นขุดเจาะปิโตรเลียม "กระทง" ตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อให้การออกแบบสอดคล้องกับความต้องการใช้งานและสภาพธรณีวิทยาในอ่าวไทย และมีประสิทธิภาพ มาตรฐานความปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น โดยแท่นขุดเจาะกระทง มีขาหยั่งยาว 477 ฟุต  เหมาะสำหรับการขุดเจาะในพื้นที่ที่มีน้ำลึกไม่เกิน 350 ฟุตและรองรับคนที่ขึ้นไปทำงานบนแท่นได้สูงสุดประมาณ160 คน  ใช้เวลาในการขุดเจาะแต่ละหลุมประมาณ 4 วัน

นายอาทิตย์ กล่าวว่า ในงานขุดเจาะปิโตรเลียม เชฟรอนได้นำระบบมาตรฐานความปลอดภัย ที่ชื่อว่า Well Safe มาใช้ ซึ่งระบบนี้เป็นระบบเดียวกับที่ใช้งานกับเรือดำน้ำของสหรัฐอเมริกาซึ่งทำให้การใช้งานเรือดำน้ำนั้นนานกว่า 50 ปี โดยที่ไม่เคยมีอุบัติเหตุเลย  ทำให้เกิดวัฒนธรมการทำงานภายในองค์กรที่พนักงานทุกคนจะให้ความสำคัญกับเรื่องของมาตรฐานความปลอดภัย โดยกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆที่เห็นว่าอาจจะเป็นจุดอ่อนเรื่องของความปลอดภัย และวางมาตรการป้องกัน

"เรามีความเชื่อว่า การป้องกันอุบัติเหตุเล็กๆน้อยๆในกระบวนการทำงานได้ จะเป็นการช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุใหญ่ได้ เพราะในอุตสาหกรรมการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมนั้นการมีอุบัติเหตุขึ้นจะสร้างความเสียหายที่มากเกินกว่าคาดคิด เหมือนกับเราจะสร้างบ้านสักหลัง ถ้าเราไปหย่อนเรื่องของมาตรฐานความปลอดภัย ตั้งแต่ตอนออกแบบ หรือจ้างผู้รับเหมา เพราะเห็นแต่เพียงว่าราคาถูก พออยู่ๆไปเกิดบ้านทรุด หลังคารั่ว จะมารื้อทำใหม่ หรือซ่อมแซมทีหลัง อาจจะไม่คุ้ม" นายอาทิตย์ กล่าว

นางเดือนเต็ม วรเดชวิเศษไกร ผู้จัดการฝ่ายวิศวกรรมการขุดเจาะ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิตจำกัด กล่าวอธิบายเพิ่มเติมว่า ระบบ Well Safe ที่เชฟรอนนำมาใช้ในงานขุดเจาะ นั้นเป็นระบบที่ทำให้มั่นใจได้ว่ากระบวนการขุดเจาะหลุมสำรวจและผลิตปิโตรเลียม จะมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่ได้มาตรฐานสากล โดยจะให้ความสำคัญใน 4 เรื่อง คือ 1. เรื่องของบุคลากร ที่จะต้องผ่านการอบรมและปฎิบัติตามแนวทางการทำงานตามคู่มือความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด  2. เรื่องของอุปกรณ์ ที่จะต้องได้มาตรฐานและสามารถใช้งานได้ดี มีการซ่อมบำรุงรักษาตามกำหนด  3. การออกแบบ วางแผน การขุดเจาะ ให้เกิดการปฎิบัติหรือการใช้อุปกรณ์ได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และ 4. การติดตามตรวจสอบจากคนกลางว่าในระหว่างการดำเนินการขุดเจาะ นั้นมีการปฎิบัติตามแผนที่วางเอาไว้จริง

โดยระบบ Well Safe จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดเหตุ หรือหากเกิดเหตุการณ์ผิดปกติก็จะทำให้บริษัทสามารถที่จะแก้ไขป้องกันเหตุการณ์ต่างๆ ได้ท่วงที


กระบวนการขุดเจาะหลุมสำรวจและหลุมผลิต

สำหรับกระบวนการขุดเจาะหลุมสำรวจและหลุมผลิตนั้น จะเป็นขั้นตอนที่ดำเนินการต่อจากงาน สำรวจทางธรณีวิทยาและธรณีฟิสิกส์ด้วยการวัดคลื่นไหวสะเทือน (Seismic Survey) โดยเมื่อรู้แล้วว่า ตรงส่วนใดบ้างใต้พื้นทะเลที่น่าจะมีปิโตรเลียมอยู่   เจ้าหน้าที่ฝ่ายขุดเจาะ ก็จะทำการเจาะ "หลุมสำรวจ" (Exploration Well) โดยใช้วิธีเจาะสุ่ม เพื่อสำรวจหาปิโตรเลียมในบริเวณที่ยังไม่เคยมีการเจาะพิสูจน์เลย จากนั้นเมื่อถึงขั้นตอนของการประเมินคุณค่าทางเศรษฐกิจและหาขอบเขตของแหล่งกักเก็บปิโตรเลียม ก็จะมีการเจาะ"หลุมประเมินผล" (Delineation Well) โดยหากแน่ใจแล้วว่ามีแหล่งกักเก็บปิโตรเลียมในปริมาณที่มากพอในเชิงพาณิชย์ จึงจะมีการเจาะ "หลุมเพื่อการผลิตปิโตรเลียม" (Development Well) เพื่อนำปิโตรเลียมที่สะสมตัวอยู่ใต้พื้นดินขึ้นมาใช้ประโยชน์ต่อไป

การขุดเจาะหลุมเพื่อสำรวจและผลิตปิโตรเลียมนั้นเป็นงานที่ท้าทายและมีความสำคัญอย่างยิ่งเนื่องจากเราต้องขุดไปที่ความลึกประมาณ 3-4 กิโลเมตรใต้พื้นทะเล ในสมัยก่อนการขุดเจาะหลุม 1 หลุมนั้นต้องใช้เวลากว่า 60 วัน โดยใช้งบประมาณกว่า 5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อหลุม ซึ่งถือว่าเป็นการลงทุนที่สูงและมีความเสี่ยงมาก เพราะหากขุดไปแล้วพบปริมาณน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติที่ไม่คุ้มค่าในเชิงพาณิชย์ ก็ถือเป็นการลงทุนที่สูญเปล่า แต่ในปัจจุบัน ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาและทันสมัยมากยิ่งขึ้น ระยะเวลาในการขุดเจาะลดลงเหลือเพียง 4-5 วันต่อ 1 หลุม และใช้งบประมาณน้อยลงกว่าเดิม เหลือประมาณ 2 ล้านเหรียญต่อหลุม ซึ่งพัฒนาการทั้งทางด้านระยะเวลาการขุดและงบประมาณที่ลดลงนี้เกิดขึ้นจากการที่เชฟรอนไม่เคยหยุดนิ่งที่จะนำความรู้และประสบการณ์จากการดำเนินการในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกมาพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อช่วยลดปัญหาและความเสี่ยงในการสำรวจและขุดเจาะ รวมถึงลดระยะเวลาในการทำงานลงแต่ได้งานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น



ที่มา Data & Images - energynewscenter.com





..