ข่าว:

คุณ ต้องลงทะเบียนสมัครสมาชิกก่อน ตอบกระทู้หรือตั้งคำถามใหม่ นะครับ

Main Menu

กฟผ.ปักธงคลังก๊าซลอยน้ำ FSRU - 6 ปีนำเข้า LNG ล็อตแรก

เริ่มโดย mrtnews, ก.ค 08, 17, 09:33:41 ก่อนเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

กฟผ.เสนอโปรเจ็กต์คลังก๊าซลอยน้ำ (FSRU) เสนอบอร์ดแล้ว ระบุกำลังผลิตที่ 5 ล้านตัน/ปี รองรับโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ-ใต้เป็นหลัก ยันเป็นระบบเสริมเมื่อท่อก๊าซ ปตท.มีปัญหา วางไทม์ไลน์คาดส่งก๊าซเข้าระบบปี 2566 เล็งอนาคตยาวอาจมีกองเรือไว้ขนส่งก๊าซ เพื่อลดต้นทุน


นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงความคืบหน้าโครงการคลังก๊าซธรรมชาติเหลวลอยน้ำ (Floating Storage Regasification Unit หรือ FSRU) บริเวณอ่าวไทยว่า หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้อนุมัติให้ กฟผ.เป็นผู้ดำเนินการโครงการล่าสุดได้นำเสนอรายละเอียดเบื้องต้นให้คณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) กฟผ.ไปแล้ว โดยโครงการนี้จะมีกำลังผลิตที่ 5 ล้านตัน/ปี จากเดิมที่ กฟผ.วางกำลังผลิตไว้ที่ 3 ล้านตัน เนื่องจากเมื่อประเมินงบลงทุนแล้วมีความแตกต่างด้านเงินลงทุนน้อยมาก ดังนั้น จึงให้ขยับกำลังผลิตก๊าซเพิ่มขึ้น

ขณะที่กระทรวงพลังงานได้ให้ความสำคัญใน 2 ประเด็นคือ 1) เพื่อป้อนก๊าซให้กับโรงไฟฟ้าของ กฟผ. 2) จากข้อสมมุติฐานที่ว่า ในกรณีที่ท่อก๊าซของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีปัญหา โครงการ FSRU ของ กฟผ.จะสามารถเข้ามาช่วยแก้ปัญหาได้ โดย กฟผ.จะวางท่อก๊าซใต้ทะเลผ่านอ่าวไทยมาขึ้นฝั่งและผ่านระบบท่อไปจนถึงจังหวัดระยอง จากนั้นก๊าซจะเข้าระบบท่อก๊าซเดิมของ ปตท. และส่งต่อมายังโรงไฟฟ้าพระนครใต้และโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ

กฟผ.ยังได้วางกรอบระยะเวลาในการพัฒนาโครงการ FSRU ไว้แล้ว เริ่มจากการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้กับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ภายในเดือนมกราคม 2561 และคาดว่าจะได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติภายในปี 2562 พร้อมกันนี้ กฟผ.จะดำเนินการคู่ขนานไปกับการทำ EIA การสำรวจและจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ด้วยการขอใบอนุญาตต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ใบอนุญาตเพื่อจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติเหลว ต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งได้รับอนุญาตแล้วเรียบร้อย

นอกจากนี้ กกพ.ยังอนุมัติให้ กฟผ.สามารถเข้าพื้นที่เพื่อศึกษาโครงข่ายระบบก๊าซธรรมชาติได้ตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยเร็ว ๆ นี้ กฟผ.จะดำเนินการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญแต่ละด้านของธุรกิจนี้ เช่น ด้านการออกแบบทางวิศวกรรม กับที่ปรึกษาด้านร่างสัญญาซื้อขายก๊าซ LNG

"นอกจากโครงการ FSRU จะช่วยเสริมความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศแล้ว ยังถือเป็นการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซธรรมชาติด้วย จากเดิมมีเพียง ปตท.รายเดียวที่ดูแลระบบอยู่จะมีผู้เล่นรายอื่นเช่น กฟผ. หรือบริษัทในกลุ่มกัลฟ์ เข้ามาในธุรกิจนี้มากขึ้น จะทำให้มีตัวเปรียบเทียบขึ้นมา โดยผู้เล่นทั้งหมดในธุรกิจนี้จะอยู่ภายใต้กฎกติกาเดียวกันตามที่กำหนดไว้ใน TPA หรือ Third Party Access"


นายสหรัฐกล่าวเพิ่มเติมว่า กฟผ.วางเป้าหมายว่า โครงการคลังก๊าซลอยน้ำ FSRU จะสามารถเริ่มส่งก๊าซได้ภายในปี 2566 โดยในช่วงเริ่มต้น กฟผ.จะนำเข้าก๊าซ LNG จากกลุ่มประเทศในตะวันออกกลางหรือมีความเป็นไปได้ที่อาจจะสั่งซื้อก๊าซจากแถบประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากแหล่งก๊าซยิ่งอยู่ห่างจากไทยเท่าไหร่ ต้นทุนการขนส่งยิ่งสูงขึ้นตามไปด้วย

"ช่วงเริ่มต้นเราจะใช้วิธีเช่ากองเรือที่มีอยู่แล้วในตลาดเป็นผู้ดำเนินการขนส่งก๊าซ LNG จากแหล่งผลิตมายังบริเวณอ่าวไทย หลังจากที่ กฟผ.เริ่มมีความเชี่ยวชาญในธุรกิจนี้แล้วอาจจะพิจารณาลงทุนสร้างกองเรือเป็นของตัวเอง แต่จะต้องดูว่าคุ้มค่าหรือไม่ก่อน" นายสหรัฐกล่าว

รายงานข่าวเปิดเผยว่า โครงการ FSRU จะใช้เงินลงทุน 30,000 ล้านบาท ได้มีการนำเรื่องนี้มาพิจารณาหลังเกิดความล่าช้าในการพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จังหวัดสงขลา ดังนั้นโรงไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นได้ง่ายที่สุดคือ โรงไฟฟ้าก๊าซ เพื่อมาทดแทน รวมถึงเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้าในภาคใต้ที่ปัจจุบันผลิตได้มากกว่าความต้องการใช้เพียงเล็กน้อยในอนาคตอาจจะมีความเสี่ยงคือไฟฟ้าตก-ดับกระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามหาทางออกด้วยวิธีอื่น ๆ ภายใต้แนวคิด 3 เหลี่ยมมั่นคงคือ 1) ราคาค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรม 2) ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และ 3) ต้องสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้ประเทศ



ที่มา Data & Images -





..