ข่าว:

ห้ามโพส ปั่นลิงก์ SEO ในส่วนของ ลายเซ็นสมาชิกเพื่อจะแสดงที่ด้านล่าง ของแต่ละข้อความที่ตอบกระทู้ เช่น คาสิโน บาคาร่า แทงบอล ฯลฯ เด็ดขาด หากพบจะแบนสมาชิกนั้นออกจากบอร์ดทันที

Main Menu

ปฏิบัติการค้นหาเรือดำน้ำเออาร์เอ ซานฮวน ของอาร์เจนตินา

เริ่มโดย mrtnews, พ.ย 30, 17, 06:26:54 ก่อนเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

เรือดำน้ำซานฮวนขาดการติดต่อเมื่อวันที่ 15 พ.ย. 60 พิกัดสุดท้ายระบุตำแหน่ง 430 กิโลเมตร นอกชายฝั่งอาร์เจนตินา โดยก่อนหน้าที่สัญญาณจะขาดไป หลังจากนั้นไม่มีการส่งสัญญาณฉุกเฉินหรือขอความช่วยเหลือใด ๆ


14 ชาติส่งทีมงานเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยว ชาญเข้าร่วมในปฏิบัติการค้นหาเรือดำน้ำซานฮวนของอาร์เจนตินา ที่ขาดการติดต่อไปร่วมสองสัปดาห์ ขณะกำลังมุ่งหน้ากลับไปยังฐานทัพเรือเมื่อวันที่ 15 พ.ย. 60 ที่ผ่านมา หลังผ่านไปหนึ่งสัปดาห์ ภารกิจนี้ถูกเปลี่ยนจากการกู้ภัยมาเป็นการค้นหาและกู้ซากเรือ ขณะที่ญาติพี่น้องของลูกเรือทั้ง 44 นาย ใจสลายและหมดหวังลงทุกที ด้วยเวลาที่เนิ่นนานผ่านไปและข้อมูลที่บ่งชี้ว่าเรืออาจระเบิดไปแล้ว

"เออาร์เอ ซานฮวน" (ARA San Juan) เป็นเรือดำน้ำชั้นทีอาร์-1700 (TR-1700) ใช้เครื่องยนต์ดีเซล-ไฟฟ้า ผลิตโดยเยอรมนีเมื่อปี 2526 และเริ่มเข้าประจำการเมื่อปี 2528 กองทัพเรืออาร์เจนตินาเผยว่า ซานฮวนเพิ่งเสร็จสิ้นภารกิจและกำลังเดินทางกลับไปยังฐานทัพเรือมาร์เดลปลาตา ทางตอนเหนือของประเทศ ถัดลงมาจากกรุงบัวโนสไอเรสราว 400 กิโลเมตร โดยออกเดินทางจากเมืองอูซัวยาซึ่งอยู่ทางใต้สุดเมื่อวันที่ 8 พ.ย. และมีกำหนดถึงที่หมายในวันจันทร์ที่ 20 พ.ย. ที่่ผ่านมา

เรือดำน้ำซานฮวนขาดการติดต่อไปเมื่อวันที่ 15 พ.ย. 60 พิกัดสุดท้ายที่ระบุตำแหน่งได้คือราว 430 กิโลเมตร นอกชายฝั่งอาร์เจนตินา โดยก่อนหน้าที่สัญญาณจะขาดไป ซานฮวนแจ้งเรื่องความผิดปกติที่เกิดกับแบตเตอรี่ แต่หลังจากนั้นก็ไม่ได้มีการส่งสัญญาณฉุกเฉินหรือขอความช่วยเหลือใด ๆ

ทีมค้นหานานาชาติระดมกำลังทั้งเรือรบ เครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์ และเรือสำรวจใต้ทะเล ร่วมค้นหาจากจุดที่เป็นเบาะแสสุดท้าย ขยายพื้นที่กินบริเวณราว 500,000 ตารางกิโลเมตร เบาะแสสัญญาณจากดาวเทียมก่อนหน้านี้ระบุว่าเพียงข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้อง เช่นเดียวกับเสียงที่บันทึกได้ก็เป็นเสียงจากสัตว์ทะเล

ตามระเบียบปฏิบัติ หากเรือดำน้ำขาดการติดต่อกับฐานทัพภาคพื้นดิน กัปตันจะต้องนำเรือขึ้นสู่ผิวน้ำ ในกรณีนี้ น.ท.เอนริเก้ บัลบี โฆษกกองทัพเรือ กล่าวว่า อาจเป็นเพราะปัจจัยด้านสภาพอากาศ ซึ่งขณะนั้นมีคลื่นสูง 6 เมตร ทำให้ซานฮวนต้องดำลงสู่ใต้น้ำเพื่อความปลอดภัย เสบียงอาหาร ออกซิเจน และเชื้อเพลิงในเรือดำน้ำ เพียงพอที่จะช่วยให้ลูกเรือทั้งหมดยังชีพได้นานราว 90 วัน ในระดับผิวน้ำ แต่หากเรือจมลงสู่ใต้น้ำโดยที่ลำตัวเรือยังสมบูรณ์ไม่ฉีกขาด ออกซิเจนที่มีนั้นเพียงพอสำหรับการอยู่รอดเพียง 7-10 วัน

เมื่อวันที่ 23 พ.ย. องค์กรสนธิสัญญาการห้ามทดสอบทางนิวเคลียร์อย่างครอบคลุม (ซีทีบีทีโอ) องค์กรระหว่างประเทศที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงเวียนนาของออสเตรีย ซึ่งมีสถานีตรวจจับเสียงใต้ทะเล เผยว่า สถานีตรวจจับของซีทีบีทีโอ 2 แห่ง ใกล้จุดที่เรือซานฮวนขาดการติดต่อไป สามารถตรวจจับเสียงระเบิดสั้น ๆ แต่รุนแรงได้หนึ่งครั้ง ราว 3 ชั่วโมงหลังสัญญาณจากซานฮวนขาดไป ซึ่งจากการวิเคราะห์สรุปได้ว่า เสียงนั้นไม่ใช่เสียงที่มาจากการทดสอบทางนิวเคลียร์ จึงเกิดข้อสันนิษฐานว่าอาจมาจากการระเบิดของเรือซานฮวน


ถึงกระนั้น กองทัพเรืออาร์เจนตินาก็พยายามไม่ด่วนสรุปจนกว่าจะพบหลักฐานที่ชัดเจน น.ท.บัลบี ยอมรับว่า สถานการณ์ดูเหมือนจะแย่กว่าที่คาดการณ์ไว้ในเบื้องต้น และชี้แจงต่อคำถามที่ว่า หากเกิดการระเบิด เหตุใดจึงไม่มีซากชิ้นส่วนของเรือดำน้ำลอยขึ้นสู่ผิวน้ำ น.ท.บัลบี กล่าวว่า เหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะการระเบิดในลักษณะนั้นเป็นการระเบิดจากภายใน

นายกุสตาโว เมาเวชิน ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์ไฮเปอร์บาริคในเมืองมาร์เดลปลาตา อธิบายว่า ไฮโดรเจนเป็นปัญหาใหญ่สำหรับเรือดำน้ำพลังงานไฟฟ้าเสมอ ในเรือซานฮวนมีแบตเตอรี่ตะกั่ว-กรดน้ำหนัก 500 ตัน ซึ่งจะปล่อยไฮโดรเจนออกมาเมื่อเกิดการชาร์จเกินปริมาณ และการเจอกันระหว่างไฮโดรเจนและออกซิเจนจะนำไปสู่การระเบิด

บรรดาครอบครัวของลูกเรือที่โศกเศร้า โกรธเกรี้ยว และสิ้นหวัง บางส่วนกล่าวโทษต้นเหตุความผิดพลาดว่ามาจากการเรือมีอายุการใช้งานยาวนานถึง 34 ปี ซึ่งสะท้อนสภาวะที่ร่อยหรอลงของทรัพยากรกองทัพหลังการสิ้นสุดรัฐบาลเผด็จการทหาร ขณะที่ น.ท.บัลบี กล่าวว่า สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่อายุการใช้งาน แต่เป็นการบำรุงรักษา โดยซานฮวนอยู่ในสภาพดีพร้อมใช้เพราะเพิ่งผ่านการยกเครื่องครั้งใหญ่เมื่อปี 2557



ที่มา Data & Images -







..