ข่าว:

คุณ ต้องลงทะเบียนสมัครสมาชิกก่อน ตอบกระทู้หรือตั้งคำถามใหม่ นะครับ

Main Menu

กระทรวงแรงงานหนุนเปิดหลักสูตรอบรม ช่างซ่อมเรือยอชต์ภูเก็ต

เริ่มโดย mrtnews, ส.ค 23, 18, 15:57:05 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

ภูเก็ตกระทุ้งกระทรวงแรงงานแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานท่องเที่ยว-บริการ ด้าน รมว.แรงงานเปิดหลักสูตร "ช่างซ่อมบำรุงเรือยอชต์" รับนักท่องเที่ยวต่างชาติ


พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาทิศทางการพัฒนาศักยภาพกำลังแรงงานในธุรกิจท่องเที่ยวและบริการในพื้นที่อันดามันในยุค 4.0 จังหวัดภูเก็ตว่า รัฐบาลมีนโยบายขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี และท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต และเสริมสร้างขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันมีรายได้จากการท่องเที่ยวอันดับ 1 ของประเทศ จำนวน 364,165 ล้านบาท โดยภูเก็ตสร้างรายได้การท่องเที่ยวมากที่สุดตามแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (ระนอง-พังงา-ภูเก็ต-กระบี่-ตรัง) พ.ศ. 2561-2564 แต่ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานภาคบริการท่องเที่ยว ก่อสร้าง อุตสาหกรรมประมง ปัจจุบันภูเก็ตกำลังดำเนินการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางทะเลเรือสำราญและการกีฬา มีท่าเทียบเรือ 38 แห่ง มีท่าเรือสำราญมารีน่า 5 แห่ง มีเรือยอชต์และเรือครุยส์ใช้บริการ 1,500 ลำต่อปี มีความจำเป็นที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันพัฒนาศักยภาพแรงงานเพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรม

"ที่ผ่านมากระทรวงแรงงานส่งเสริมบูรณาการกับหลายฝ่าย จัดหลักสูตรช่างฝีมือในการซ่อมบำรุงเกี่ยวกับเรือยอชต์ขึ้นมา ทั้งแรงงานด้านการทำสี ซ่อมเครื่องยนต์ ระบบเฟอร์นิเจอร์ในเรือ เชื่อมโยงเรือที่มาจอด ให้แรงงานมีฝีมือ มีความเป็นมาตรฐานสากล ใช้เทคโนโลยีที่ดี มีความตรงเวลาในการนัดส่งงานและให้มีจิตบริการ รวมทั้งความปลอดภัยของการปฏิบัติการด้วย นอกจากนี้ ทางกระทรวงแรงงานจะเข้ามาตอบสนองแก่ผู้ประกอบการที่มีปัญหาขาดแคลนแรงงาน ด้านบริการ ท่องเที่ยว ประมง ก่อสร้าง โดยเฉพาะประมงขาดแคลนแรงงานกว่า 50,000 คน จะอนุญาตให้คนที่จะครบกำหนด 30 ก.ย.นี้ให้อยู่ได้อีก 2 ปี จำนวน 11,000 คนให้มารายงานตัวตามขั้นตอน"

นายวิวัฒน์ ตังหงส์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานโดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้ดำเนินการพัฒนาฝีมือแรงงานกลุ่มท่องเที่ยว/บริการ ด้านสุขภาพ กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม โดยปี 2561 มีผู้ผ่านการอบรมจำนวน 3,277 คน ได้บูรณาการร่วมกับบริษัท ภูเก็ตโบ๊ทลากูน จำกัด พัฒนาศักยภาพแรงงานในธุรกิจท่าเทียบเรือสำราญสาขาอาชีพต่าง ๆ ได้แก่ ช่างไม้เฟอร์นิเจอร์เรือ ช่างบำรุงรักษาเครื่องยนต์เรือ ภาษาอังกฤษสำหรับพนักงานประจำเรือ ช่างสีเรือ ช่างซ่อมไฟเบอร์เรือ และพนักงานประจำท่าเรือ เป้าหมายจำนวน 100 คน เพื่อยกระดับฝีมือให้สอดคล้องความต้องการตลาดแรงงาน โดยผู้ร่วมสัมมนาประกอบด้วยผู้แทนจาก ภาครัฐ/เอกชน สมาคมหรือองค์กรวิชาชีพสถานประกอบกิจการและบุคลากรด้านท่องเที่ยว และหน่วยงานเครือข่ายพัฒนาฝีมือแรงงานในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันจำนวน 300 คน

ด้านนายสนิท ศรีวิหค รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จังหวัดภูเก็ตมีผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) ประจำปี 2559 เท่ากับ 191,695 ล้านบาท เศรษฐกิจหลักสำคัญมาจากการบริการที่พักแรมและบริการด้านอาหาร การขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดต่อคนต่อปีเท่ากับ 357,498 บาท สูงเป็นอันดับ 1 ของภาคใต้ และเป็นอันดับ 8 ของประเทศ จังหวัดภูเก็ตมีกำลังแรงงานจำนวน 317,093 คน มีงานทำ 314,419 คน ผู้ว่างงาน 2,674 คน อัตราผู้ว่างงานคิดเป็น 0.84% มีการจ้างแรงงานต่างด้าวทำงานในพื้นที่จำนวน 81,859 คน คิดเป็น 26.04% จำนวนผู้ทำงานทั้งหมด ทั้งนี้ ปัญหาความต้องการแรงงานและการขาดแคลนแรงงานในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นงานด้านบริการที่พักแรมและบริการด้านอาหาร


ทางจังหวัดภูเก็ตได้กำหนดทิศทางพัฒนาจังหวัดไปสู่เมืองเศรษฐกิจ เพิ่มค่าและบริการมูลค่าสูงระดับนานาชาติทันสมัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (smart city) รวมทั้งการพัฒนาคน สังคมมุ่งสู่วิสัยทัศน์ "ศูนย์กลางการท่องเที่ยว การศึกษานวัตกรรมบริการในระดับนานาชาติ และการพัฒนาที่ยั่งยืนมุ่งสู่จังหวัดที่พัฒนาแล้วภายในปี พ.ศ. 2579" โดยเฉพาะการพัฒนาคน ทางจังหวัดมีมาตรการพัฒนาแรงงานคุณภาพในระดับนวัตกรรม สนับสนุนการสร้าง startup ในกลุ่มบริการที่มีคุณภาพสูงในกลุ่มอาชีพธุรกิจอาหาร ธุรกิจโรงแรม และการบริการธุรกิจท่องเที่ยว และสร้างแรงงานคุณภาพเพื่อป้อนให้กับตลาดอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

มีการจัดทำแผนพัฒนากำลังคนจังหวัดภูเก็ต 4 ปี (พ.ศ. 2560-2564) เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนในกลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยว (ธุรกิจโรงแรม) กลุ่มบริการสุขภาพ (ธุรกิจสปา) และอุตสาหกรรมมารีน่า (ธุรกิจเรือ/ท่าเทียบเรือ) โดยปีงบประมาณ 2561 จังหวัดได้สนับสนุนงบประมาณให้แก่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 21 ภูเก็ต จำนวน 3,989,600 บาท และต่อเนื่องปีงบประมาณ 2562 อีก 2,976,000 บาท เพื่อร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการพัฒนาศักยภาพแรงงานด้านธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ และแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในพื้นที่

"จังหวัดภูเก็ตหวังว่ากระทรวงแรงงานจะส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพแรงงานกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและบริการให้มีศักยภาพสูงขึ้น จะส่งผลให้การท่องเที่ยวของจังหวัดสามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและบริการในระดับโลก" นายสนิทกล่าว



ที่มา Data & Images -





..