ข่าว:

รับสมัครเฉพาะชาวเรือและผู้ที่สนใจที่เป็นคนไทยเท่านั้น สมัครแล้วรออนุมัติประมาณ 2-3 วัน หากต้องการด่วนโปรดแจ้ง webmaster@marinerthai.net

Main Menu

โรงไฟฟ้า"เฮกินัน" ต้นแบบพลังถ่านหินสะอาด - กรณีศึกษาดึง "ชุมชน" มีส่วนร่วม!

เริ่มโดย mrtnews, ก.ย 04, 13, 17:46:47 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

หลาก&หลาย - ชลระดา หมื่นไธสง / รายงาน

ท่ามกลางแนวโน้มที่ประเทศญี่ปุ่นต้องประสบปัญหาการขาดแคลนกระแสไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น หลังเจอมรสุมจากเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะ เกิดระเบิดเมื่อ 3 ปีก่อน โดยมีต้นตอจากแผ่นดินไหวที่รุนแรงระดับ 8.9 ริกเตอร์ ตามมาด้วยคลื่นสึนามิสูงกว่า 10 เมตร


จนเกิดการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสี เป็นเหตุให้ ณ ปัจจุบันญี่ปุ่นต้องหยุดเดินเครื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วประเทศจำนวน 55 โรง

ในสถานการณ์เช่นนี้ จึงจำเป็นต้องเสาะแสวงหาแหล่งพลังงานอื่นที่ดีกว่าและเกิดผลกระทบน้อยกว่า เพื่อมาหยุดวิกฤตดังกล่าว

"การจะผลิตกระแสไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพและราคาถูก คือ การใช้เชื้อเพลิงที่ได้จากถ่านหินซึ่งเป็นตัวเลือกที่ดี เนื่องจากถ่านหินหาซื้อได้จากทั่วโลก ซื้อได้ทุกช่วงเวลา มีความมั่นคง ที่สำคัญสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง เทียบเท่ากับเชื้อเพลิงนิวเคลียร์"

นายชูนิชิโร อิเดะ ผู้จัดการทั่วไป โรงไฟฟ้าเฮกินัน ให้ข้อมูลกับคณะสื่อมวลชนไทย ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำบินลัดฟ้าไปศึกษาดูงานที่โรงไฟฟ้าพลังความร้อนเฮกินัน เมืองเฮกินัน จังหวัดไอจิ ประเทศญี่ปุ่น

โรงไฟฟ้าเฮกินัน บริหารงานโดยบริษัท ชูบุ อีเล็กทริก พาวเวอร์ จำกัด ได้ชื่อว่าเป็นโรงไฟฟ้าเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น และยิ่งกว่านั้นยังเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีพื้นที่รวมทั้งหมดประมาณ 2,080,000 ตารางเมตร

แยกเป็นพื้นที่อาคารโรงไฟฟ้า 1,600,000 ตารางเมตร

ส่วนอีก 480,000 ตารางเมตร เป็นพื้นที่สำหรับจัดการและกำจัดเถ้าจากถ่านหิน


เมื่อมองจากภายนอกจะเห็นอาคารโรงไฟฟ้าทอดตัวเรียงกันจำนวน 5 อาคาร มีสีขาวตัดด้วยสีฟ้าสดใส ดูผิวเผินอาจคิดว่าเป็นอาคารพาณิชย์ทั่วไป ทั้งยังปลูกต้นไม้รายล้อมรอบบริเวณโรงไฟฟ้าเพื่อบดบังเครื่องจักรที่อยู่ภายในโรงไฟฟ้าและสร้างทัศนียภาพที่ดี

ตัวอาคารที่ 1 สร้างขึ้นในปี 2534 มีกำลังผลิต 700 เมกะวัตต์

อาคารที่ 2 สร้างขึ้นในปี 2535 มีกำลังผลิต 700 เมกะวัตต์

อาคารที่ 3 สร้างปี 2536 มีกำลังผลิต 700 เมกะวัตต์

อาคารที่ 4 สร้างขึ้นในปี 2544 มีกำลังผลิต 1,000 เมกะวัตต์

และอาคารที่ 5 สร้างปี 2545 มีกำลังผลิต 1,000 เมกะวัตต์

รวมทั้งหมด 4,100 เมกะวัตต์

แม้พื้นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าแห่งนี้จะเกิดขึ้นจากการถมทะเล และไม่ได้ก่อสร้างในพื้นที่ชุมชน แต่ทันทีที่มีกระแสข่าวว่าจะมีการสร้างโรงไฟฟ้า ก็มีเสียงคัดค้านและต่อต้านจากชาวบ้าน

เจ้าหน้าที่ของบริษัท ชูบุ อีเล็กทริก พาวเวอร์ ต้องเข้าไปพูดคุยทำความเข้าใจและให้ความรู้กับประชา ชน และเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมสร้างความเชื่อมั่นและเชื่อใจ โดยทุ่มงบประมาณจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถึง 1 ใน 4 มาทำระบบจัดการที่ดีด้วยการติดตั้งวัสดุอุปกรณ์จัดการมลภาวะ ร่วมกับการติดตั้งเครื่องตรวจสอบมลภาวะในอากาศ และรายงานผลเป็นประจำทุกเดือนส่งไปยังที่ว่าการเมือง เปิดกว้างชาวบ้านสามารถขอดูผลการตรวจสอบได้


นอกจากนี้ ชุมชนยังเป็นผู้ทำข้อตกลงเรื่องการปล่อยมลภาวะในอากาศ

โดยตั้งค่ามาตรฐานที่เข้มงวดกว่ากฎหมายของญี่ปุ่นกำหนดไว้

แต่โรงงานก็สามารถควบคุมมลพิษออกมาสู่อากาศได้ต่ำกว่าค่ามาตรฐาน

จะสังเกตได้ว่าการสร้างโรงไฟฟ้าอาคารที่ 1-3 เกิดขึ้นช่วงปี 2534-2536 ระยะเวลาห่างจากการสร้างโรงไฟฟ้าอาคารที่ 4-5 นานถึง 8 ปี

ผู้จัดการทั่วไปบอกว่า เนื่องจากในพื้นที่มีความต้องการการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น ประกอบกับความไว้ใจในการบริหารจัดการด้านมลภาวะ ทางเมืองเฮกินันจึงขอให้เปิดโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก 2 โรง

ระหว่างเดินชมภายในโรงไฟฟ้า เจ้าหน้าที่อธิบายขั้นตอนการกำจัดมลพิษที่เกิดจากการเผาไหม้ว่า สำหรับฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ "ขี้เถ้าเบา" จะใช้เครื่องดักจับฝุ่นไฟฟ้าสถิต แยกฝุ่นออกจากก๊าซร้อน ก่อนจะปล่อยก๊าซออกทางปล่องควัน

ส่วน "ขี้เถ้าหนัก" จะตกลงสู่ก้นเตาและถูกลำเลียงออกจากเตาโดยระบบสายพานเหล็ก


ขณะที่กระบวนการกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ออกมาพร้อมก๊าซทิ้งใช้ระบบแบบเปียก ซึ่งก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์จะทำปฏิกิริยากับของผสมระหว่างน้ำกับหินปูนที่ฉีดเข้าไปในระบบก๊าซทิ้ง จะทำให้เกิดเป็นยิปซัม ซึ่งเป็นสารประกอบที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์อื่นได้

ส่วนกระบวนการกำจัดก๊าซไนโตรเจนออก ไซด์ในก๊าซทิ้ง จะใช้แอมโมเนียทำปฏิกิริยากับก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ จนเกิดเป็นไนโตรเจนและน้ำ

เนื่องจากตัวโรงไฟฟ้ามีพื้นที่กว้างขวาง การเข้าชมแต่ละสถานที่ จึงต้องใช้รถในการเดินทาง

เจ้าหน้าที่พาคณะของเรานั่งรถบัสไปยังจุดที่วางถ่านหิน พร้อมกับชี้ให้ดูกำแพงสูงสีฟ้าที่กั้นโดยรอบบริเวณ มีขนาดความสูง 18-20 เมตร ยาว 600 เมตร จัดตั้งไว้เพื่อลดความแรงของกระแสลม ร่วมกับการติดตั้งสปริงเกลอร์ฉีดน้ำใส่ถ่านหินอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันฝุ่นผงถ่านหินปลิวลงทะเล

สำหรับถ่านหินที่นำมาผลิตกระแสไฟฟ้าของญี่ปุ่นจะนำเข้าจากประเทศอินโดนีเซีย 55% และจากประเทศออสเตรเลีย 45% ใช้การขนส่งทางเรือ เมื่อถ่านหินมาเทียบท่าจะมีเครื่องลำเลียงที่เป็นแบบปิดทั้งหมด เพื่อป้องกันไม่ให้ฝุ่นฟุ้งกระจาย

ต่อมาคณะได้เข้าชม "ห้องควบคุมเครื่องกำเนิดไฟฟ้า" ภายในมีจอมอนิเตอร์ที่แสดงภาพจากเตาเผาและจากปลายปล่องควันไฟ เพื่อตรวจสอบอุณหภูมิและสีของการเผาไหม้ รวมถึงสังเกตควันที่ออกจากปล่องควันไฟ ในส่วนนี้จะมีเจ้าหน้าที่ทำงานผลัดเปลี่ยนกันตลอด 24 ชั่วโมง

เมื่อถามถึงมาตรการ "ป้องกันเหตุผิดพลาด" ที่อาจเกิดขึ้น


นายชูนิชิโร ผู้จัดการโรงไฟฟ้าเฮกินัน กล่าวว่า ทางโรงงานติดตั้งเครื่องวัดอุณหภูมิตรวจสอบความผิดปกติ พร้อมกับมีเครื่องตรวจจับก๊าซที่สามารถเผาไหม้ได้ และตรวจสอบการรั่วไหลของก๊าซ รวมถึงจัดเตรียมรถดับเพลิงที่ใช้สารเคมีในการดับเพลิง

ถ้าเกิดเหตุ "น้ำมันรั่วไหล" หัวหน้าผู้รับผิดชอบจะสั่งการให้แก้ไขทันที และติดต่อรถดับเพลิงให้เข้าปฏิบัติหน้าที่

หรือถ้าเกิดอุบัติเหตุจากอุปกรณ์ต่างๆ จะรีบแลกเปลี่ยนข้อมูลกันระหว่างโรงไฟฟ้าแต่ละแห่งของ บริษัทเพื่อร่วมมือจัดการปัญหาด้วยกัน

ภายหลังการเกิดอุบัติเหตุแล้วก็มีขั้นตอนนำสาเหตุมาศึกษาวิจัยต่อ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุขึ้นอีก

สุดท้ายเมื่อเกิดเหตุที่ใดที่หนึ่ง จะแบ่งปันข้อมูลไปยังโรงไฟฟ้าอื่นๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้นที่อื่นด้วย

หลังจากการเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ใหญ่ที่สุดของโลกแล้ว คณะดูงานยังมีโอกาสพบปะกับ นายมาซาโนบุ เนงิตะ นายกเทศ มนตรีเมืองเฮกินัน เพื่อซักถามข้อคิดเห็นและความรู้สึกของประชาชนที่มีต่อโรงไฟฟ้าแห่งนี้

นายมาซาโนบุกล่าวว่า สิ่งที่ทำให้ประชาชนมีความไว้ใจและไม่กังวลเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เพราะโรงไฟฟ้าเปิดเผยข้อมูลให้กับประชาชนได้รับทราบ โดยไม่ปิดบังหรือมีอะไรที่เป็นความลับ

อีกทั้งกฎหมายเกี่ยวกับการก่อตั้งโรงไฟฟ้าของญี่ปุ่นได้ระบุให้รัฐบาลกลางต้องมอบงบประมาณให้พื้นที่ที่ตั้งโรงไฟฟ้าและเมืองใกล้เคียง

ส่วนโรงไฟฟ้าจะต้องเสียภาษีสังคมให้แก่ชุมชนเพื่อนำไปพัฒนา โดยเก็บจากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

สิ่งที่เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรมจากการได้รับงบประมาณดังกล่าว ทำให้เมืองเฮกินันสามารถสร้างโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่สุดของชุมชนได้

"ชาวเมืองเฮกินันมีความภูมิใจที่มีเทคโนโลยีในการสร้างโรงไฟฟ้าที่ก้าวหน้าเป็นอันดับ 1 ของโลก อยากให้บริษัทชูบุฯ พัฒนาเทคโนโลยีตลอดเวลา และรักษาความเป็นอันดับ 1 ตลอดไป เพื่อให้คนทั่วโลกได้มาศึกษาเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าที่สุดในโลกที่ญี่ปุ่น" มาซาโนบุกล่าว

ยามประสบกับปัญหาขาดแคลนกระแสไฟฟ้า โรงไฟฟ้าถ่านหินอาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ

แต่สิ่งสำคัญคือต้องสร้างความไว้วางใจให้กับประชาชน ด้วยการเปิดเผยข้อมูลที่แท้จริงและมีระบบจัดการที่เป็นมาตรฐาน!

ที่มา -