ข่าว:

ห้ามโพส ปั่นลิงก์ SEO ในส่วนของ ลายเซ็นสมาชิกเพื่อจะแสดงที่ด้านล่าง ของแต่ละข้อความที่ตอบกระทู้ เช่น คาสิโน บาคาร่า แทงบอล ฯลฯ เด็ดขาด หากพบจะแบนสมาชิกนั้นออกจากบอร์ดทันที

Main Menu

นโยบายพลังงาน ที่น่าสนใจของประเทศมาเลเซีย

เริ่มโดย mrtnews, ก.ย 05, 13, 20:21:40 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

ประเทศมาเลเซียเป็นประเทศเพื่อนบ้านของไทย และเป็นประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน ได้รับการกล่าวถึงและนำมาอ้างอิงอยู่เสมอๆในสื่อสังคม (Social Media) ว่าราคาพลังงานของเขา โดยเฉพาะน้ำมันนั้นมีราคาถูกกว่าประเทศไทยมาก โดยไม่ได้บอกข้อเท็จจริงทั้งหมดว่า มาเลเซียนั้นเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติไปขายในตลาดโลก มีรายได้จากการส่งออกผลืตภัณฑ์ปิโตรเลียมมากมาย จนสามารถนำเงินมาอุดหนุนราคาน้ำมันในประเทศให้ถูกกว่าราคาในตลาดโลกได้ โดยรัฐบาลมาเลเซียใช้เงินงบประมาณแผ่นดินในการอุดหนุนราคาน้ำมันเป็นเงินถึงปีละประมาณ 200,000 ล้านบาท


นอกจากเรื่องนโยบายราคาน้ำมันถูกในประเทศแล้ว มาเลเซียยังมีนโยบายทางด้านพลังงานอื่นๆที่น่าสนใจ อย่างเช่น การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติด้านพลังงานของประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด หรือการเลือกใช้ทรัพยากรที่เหมาะสมมาเป็นแหล่งเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ ซึ่งเรื่องอย่างนี้คนไทยเราไม่ค่อยมีความรู้หรือสนใจว่าเขาบริหารกันอย่างไร (เพราะมัวแต่ไปสนใจเรื่องราคาน้ำมันถูกกันเสียหมด) ดังนั้นวันนี้เราจะเอาเรื่องเหล่านี้มาเล่าสู่กันฟังนะครับ

ก่อนอื่นเรามาดูเรื่องตัวเลขและสถิติต่างๆกันก่อนครับ

อย่างที่เกริ่นกันมาแต่แรกแล้วว่ามาเลเซียเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกพลังงานสุทธิ (Net Exporter) คือส่งออกมากกว่านำเข้า ในขณะที่ประเทศไทยเป็นประเทศผู้นำเข้าพลังงานสุทธิ (Net Importer) คือนำเข้ามากกว่าส่งออก (หมายความว่าเราใช้มากกว่าที่ผลิตได้ในประเทศนั่นเอง)

มาเลเซียมีปริมาณน้ำมันดิบสำรองที่พิสูจน์แล้ว (Proven Reserve) 4,000 ล้านบาร์เรล มากที่สุดในอาเซียน (เทียบกับประเทศไทย 435 ล้านบาร์เรล) มีปริมาณก๊าซธรรมชาติสำรองที่ 83 ลล.ลบ.ฟุต สูงเป็นอันดับสองในอาเซียน (ประเทศไทย 11 ลล.ลบ.ฟุต)

ในด้านการส่งออกพลังงาน มาเลเซียติดอันดับผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ของโลก โดยติดอันดับ 10 ของประเทศที่ส่งออกก๊าซมากที่สุดในปีค.ศ. 2011 ตามรายงานของทบวงพลังงานระหว่างประเทศ (IEA)

ในด้านการนำเข้าพลังงาน มาเลเซียก็ติดอันดับโลกเช่นกัน โดยมาเลเซียนำเข้าถ่านหินสูงเป็นอันดับ 10 ของโลกในปีค.ศ. 2011 ตามรายงานของทบวงพลังงานระหว่างประเทศ (IEA)

คำถามคือมาเลเซียนำเข้าถ่านหินมาทำไมจำนวนมากมายจนติดอันดับโลก ?

ก่อนจะตอบคำถามนี้ ผมขอชวนท่านผู้อ่านไปดูตัวเลขสัดส่วนเชื้อเพลิงที่มาเลเซียใช้ในการผลิตไฟฟ้าในประเทศกันก่อนนะครับ

ในปีค.ศ. 2012 มาเลเซียผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงที่หลากหลาย โดยมีสัดส่วนดังต่อไปนี้

- ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก สัดส่วน 52.16%
- ถ่านหิน 39.51%
- พลังน้ำ 5.11%
- น้ำมัน 2.03%
- ชีวมวล 1.01%
- พลังงานอื่นๆ 0.20%

จะเห็นได้ว่าเชื้อเพลิงหลักสองชนิดที่มาเลเซียใช้ในการผลิตไฟฟ้า คือ ก๊าซธรมชาติซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่ค้นพบในประเทศ กับถ่านหินซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศ

มาถึงตรงนี้เราคงได้คำตอบแล้วนะครับว่า มาเลเซียเขานำเข้าถ่านหินมาผลิตกระแสไฟฟ้าครับ !

ท่านผู้อ่านฟังแล้ว คงสงสัยและถามต่อไปว่า ทำไมต้องทำอย่างนั้น ในเมื่อตัวเองมีก๊าซเหลือตั้งเยอะแยะ ทำไมไม่เอาก๊าซธรรมชาติมาผลิตไฟฟ้าให้มากขึ้น กลับเอาไปส่งออกทำไม ?

ตรงนี้แหละครับที่เขาเรียกว่าวิสัยทรรศน์แห่งการพัฒนาประเทศ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติของประเทศให้ได้ประโยชน์สูงสุด

ก๊าซธรรมชาตินั้นเป็นทรัพยากรธรรมชาติด้านปิโตรเลียมที่ทรงคุณค่ายิ่ง เอาไปทำประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้มากมาย และถ้าบริหารจัดการดีๆ สามารถเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจได้หลายสิบเท่า เช่น แยกเอาก๊าซที่สามารถป้อนเป็นวัตถุดิบให้โรงงานปิโตรเคมี เอาไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นกลางน้ำและปลายน้ำ ตลอดจนเป็นผลิตภัณฑ์ทางอุตสาหกรรมต่างๆ เป็นต้น

ซึ่งหลังจากแยกก๊าซที่สามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบทางอุตสาหกรรมปิโตรเคมีออกไปแล้ว ถ้านำไปเผาเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าทั้งหมดก็ยังเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะก๊าซธรรมชาติเหล่านั้นถ้าไม่นำไปเผาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ยังสามารถนำไปอัดภายใต้ความดันสูงให้กลายเป็นก๊าซธรรมชาติอัดเหลว (LNG) และส่งออกไปขายต่างประเทศได้ราคาดีกว่าเอามาเผาเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแลไฟฟ้า

ดังนั้นมาเลเซียจึงใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตกระแสไฟฟ้าในระดับหนึ่งเท่าที่จำเป็นเท่านั้น และสงวนก๊าซธรรมชาติอีกจำนวนหนึ่งเอาไว้ส่งออกในรูป LNG ในราคาสูง เพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศ

แล้วนำรายได้จากการส่งออกก๊าซ LNG นั้นแหละไปนำเข้าถ่านหินซึ่งมีราคาถูกกว่ามาผลิตไฟฟ้าแทนก๊าซธรรมชาติ


ผลจากการดำเนินนโยบายพลังงานที่ชาญฉลาดดังกล่าว ทำให้มาเลเซียได้ประโยชน์ดังต่อไปนี้ คือ

1. มีรายได้จากการขายก๊าซธรรมชาติในราคาที่สูงขึ้น แทนที่จะเอามาเผาทำเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าแต่เพียงอย่างเดียว

2. นำรายได้บางส่วนมานำเข้าถ่านหินที่มีราคาถูกกว่ามาผลิตไฟฟ้า ทำให้ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าของมาเลเซียถูกลง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมของมาเลเซีย

3. สร้างความมั่นคงให้กับระบบเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าของมาเลเซีย โดยมีการกระจายความเสี่ยงด้านเชื้อเพลิงออกไป ไม่พึ่งพาเชื้อเพลิงตัวใดตัวหนึ่งมากจนเกินไป (ใช้ก๊าซ 51.16%, ถ่านหิน 39.51%) ผิดกับของไทยที่พึ่งพาก๊าซถึง 68% ทั้งๆที่เรามีสำรองก๊าซน้อยกว่ามาเลเซียถึง 8 เท่า

ที่น่าสังเกตคือ แม้ว่ามาเลเซียจะติดอันดับ 10 ของผู้ส่งออกก๊าซรายใหญ่ของโลกตามรายงานของ IEA แต่ปรากฏว่าไม่ติดอันดับประเทศที่ใช้ก๊าซในการผลิตไฟฟ้ามากเลย ในขณะที่ประเทศไทยไม่ติดอันดับประเทศผู้ส่งออกก๊าซ แต่กลับติดอันดับ 8 ของประเทศที่ใช้ก๊าซในการผลิตไฟฟ้ามากที่สุดในโลก ตามรายงานของ IEA ในปีค.ศ. 2010 ครับ

ผมก็หวังว่าบทความนี้คงทำให้ท่านผู้อ่านได้เห็นความแตกต่างของนโยบายพลังงาน และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติด้านพลังงานของทั้งสองประเทศได้ตามสมควรนะครับ

แน่นอนครับ แต่ละประเทศก็มีพื้นฐานของปัญหาแตกต่างกันออกไป มีข้อจำกัดในการดำเนินนโยบายที่แตกต่างกัน มีความยากง่ายในการบริหารจัดการที่ไม่เหมือนกัน ประชาชนก็มีความรู้ ความคิด ความเข้าใจ และความพร้อมในการแก้ไขปัญหาไม่เท่ากัน

แต่ถ้าเรายังอยากอยู่ในสังคมโลก เรายังต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถแข่งขันกับคนอื่นให้ได้ โดยเฉพาะในการที่จะรวมกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอีกสองปีข้างหน้านี้ เราคงหลีกเลี่ยงที่จะเรียนรู้จากประสพการณ์ของประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้

ก็ได้แต่หวังว่า เราคงตระหนักว่าวันนี้เรายืนอยู่ตรงจุดไหน เพื่อนบ้านเราเขาอยู่ตรงจุดไหน และคงมีความพยายามที่จะเดินให้ทันกัน

ยังไงๆ ก็อย่าให้เขาทิ้งห่างเรามากจนเกินไปก็แล้วกัน !!!

มนูญ ศิริวรรณ

ที่มา -