ข่าว:

ห้ามโพสโฆษณา อาหาร ยา และเครื่องสำอางค์ รวมถึงสมุนไพรทุกชนิด ไม่ว่าจะมี อย. หรือไม่  เด็ดขาด หากพบจะแบนสมาชิกนั้นออกจากบอร์ดทันที

Main Menu

ผอ.ทลฉ.คนใหม่ประกาศนโยบายหลักพัฒนาระบบขนถ่ายสินค้าทางราง และน้ำ

เริ่มโดย mrtnews, พ.ค 09, 13, 21:34:22 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 4 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

ผอ.ทลฉ.คนใหม่ ประกาศนโยบายยกระดับการขนถ่ายสินค้าทางน้ำ และทางราง โดยจะเร่งผลักดันโครงการพัฒนาศูนย์ขนถ่ายตู้สินค้าทางรถไฟ และโครงการท่าเทียบเรือชายฝั่งใหม่ มูลค่ากว่า 5 พันล้านบาท ที่จะลงทุนเองทั้งหมดเข้าสู่ ครม.หวังลดปัญหาความล่าช้าจากขั้นตอนต่างๆ หากว่าจ้างเอกชน จุดประสงค์สำคัญเพื่อรองรับจำนวนตู้สินค้าที่จะมีมากถึง 10.6 ล้านทีอียูในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า หลังพบปริมาณตู้สินค้าขนถ่ายผ่านท่าฯ ในปี 55 มีมากถึง 6 ล้านทีอียู


ร.อ.สุทธินันท์ หัตถวงษ์ ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ได้แถลงถึงนโยบายในการบริหารท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อพัฒนาศักยภาพการเป็นท่าเรือขนถ่ายสินค้าระดับโลกว่า นอกจากจะกำหนดวิสัยทัศน์ด้านการบริหารให้ต่อยอดจากวิสัยทัศน์ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ที่มุ่งสู่การเป็นประตูการค้าของกลุ่มประเทศภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งจะต้องมีความใส่ใจในเรื่องของสิ่งแวดล้อม และการเป็นท่าเรือที่มีความสะอาด หรือ Green Port ที่จะมีการนำนวัตกรรม และกลยุทธ์ต่างๆ เข้ามาใช้อย่างเป็นรูปธรรมแล้ว

นโยบายสำคัญอีกประการคือ การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน และวางแผนก่อสร้างท่าเรือในเฟสที่ 3 เพื่อรองรับการขนถ่ายสินค้าในอนาคต

เนื่องจากปัจจุบันขีดความสามารถของท่าเรือแหลมฉบัง ในการรองรับตู้สินค้าอยู่ที่ 10 ล้านทีอียูต่อปี และในปี 2555 ที่ผ่านมา มีตู้สินค้าขนถ่ายผ่านท่ามากกว่า 6 ล้านทีอียู จึงเหลือพื้นที่ว่างไม่ถึง 4 ล้านทีอียูต่อปี และจากการประมาณการยังคาดว่าในอีกไม่กี่ปีจะมีตู้สินค้าผ่านท่าเรือแหลมฉบังมากถึง 10 ล้านทีอียูต่อปี

ซึ่งขั้นตอนการดำเนินการในการก่อสร้างท่าเรือฯ เฟส 3 นั้น ปัจจุบัน ขั้นตอนการศึกษาออกแบบรายละเอียดโครงการได้เสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงการเตรียมการด้านสิ่งแวดล้อม ที่จะต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ว่ามีความคิดเห็นขัดแย้งประการใด เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาดำเนินการ รวมทั้งพยายามทำความเข้าใจเพื่อให้ประชาชนเห็นความจำเป็น และความสำคัญของการดำเนินโครงการดังกล่าว

โดยการก่อสร้างท่าเรือเฟส 3 จะใช้เวลาประมาณ 3 ปี หลังจากนั้น จึงจะสรรหาเอกชนเข้ามาบริหาร และประกอบการ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาทั้งหมดอีกประมาณ 2 ปี รวมเป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 5 ปี

ร.อ.สุทธินันท์ ยังกล่าวถึงนโยบายเร่งด่วนอีกประการที่ตนมีความตั้งใจจะเร่งพัฒนาให้สำเร็จโดยเร็ว นั่นก็คือ การผลักดันโครงการพัฒนาศูนย์ขนถ่ายตู้สินค้าทางรถไฟ โดยจะใช้พื้นที่ว่างเปล่าบริเวณด้านหลังท่าเทียบเรือ B และ C ประมาณ 600 ไร่ ให้เป็น One Stop ของการขนถ่ายทางรถไฟ ณ จุดเดียวในท่าเรือแหลมฉบัง และรองรับจำนวนสินค้าส่วนใหญ่ที่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งทางบกสู่ทางราง ลดปัญหาด้านการจราจร และสิ่งแวดล้อม โดยโครงการนี้ใช้งบประมาณจำนวน 3 พันล้านบาท แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 เฟส

โครงการที่ 2 คือ โครงการท่าเทียบเรือชายฝั่งใหม่ ที่จะมีขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้า จำนวน 3 แสนทีอียูต่อปี ซึ่งประโยชน์ของโครงการนี้จะสามารถตัดการขนส่งทางรถยนต์ในพื้นที่ภาคใต้ มาขึ้นที่ท่าเรือแหลมฉบังโดยไม่ผ่านกรุงเทพฯ


"ทั้ง 2 โครงการนี้ท่าเรือแหลมฉบังจะว่าจ้างเอกชนเข้ามาประกอบการโดยไม่มีการร่วมทุน เพราะเราจะลงทุนเองทั้งหมดเพื่อลดขั้นตอนต่างๆ ที่จะทำให้เกิดความล่าช้า ที่สำคัญเป็นการลงทุนที่ไม่แสวงหาผลกำไร และทั้ง 2 โครงการนี้กำลังจะถูกนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งหากผ่านความเห็นชอบก็สามารถดำเนินการได้ในทันที "

ร.อ.สุทธินันท์ เผยว่า สำหรับปริมาณตู้สินค้าที่คาดว่าจะมีการขนถ่ายผ่านท่าฯ ในปี 2556 น่าจะเติบโตจากปริมาณตู้สินค้าในปีก่อนประมาณ 8% หรือคิดเป็นจำนวนรวมที่ 6.4 ล้านทีอียู และคาดว่าในปี 2563-2564 จำนวนตู้สินค้าที่มีจะเต็มขีดความสามารถที่ 10 ล้านทีอียู

"จำนวนตู้สินค้าที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้เรามีความจำเป็นที่จะต้องผลักดันให้โครงการก่อสร้างท่าเรือเฟส 3 เกิดขึ้นให้ได้ โดยได้ออกแบบท่าเรือในลักษณะของการถมทะเลออกไปโดยไม่ใช้ที่เวนคืน ซึ่งก็ต้องศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้เกิดน้อยที่สุด เช่นเดียวกับเฟสที่ 1 และ 2 ผมพูดในฐานะตัวแทนของรัฐ และตัวแทนของประชาชน รวมทั้งในฐานะคนชลบุรี ว่า สิ่งที่จะดำเนินการเราห่วงใยในสิ่งแวดล้อมมากอยู่แล้ว และในอนาคต ทลฉ.ก็จะเชิญผู้เชี่ยวชาญเอกชนให้เข้ามาศึกษาลักษณะทางภูมิศาสตร์ของท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อกำหนดรูปแบบการพัฒนาที่ดีที่สุด และสร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด รวมทั้งยังจะมีการขยายช่องทางจราจรในจุดต่างๆ ที่เป็นปัญหาเพื่อให้รถบรรทุกตู้สินค้ามีช่องทางออกสู่มอเตอร์เวย์ให้มากที่สุดด้วยเช่นกัน" ร.อ.สุทธินันท์กล่าว

ที่มา -