ข่าว:

ห้ามโพสโฆษณา หาเงินทางเน็ต งาน Part-time MLM ทุกรูปแบบ ธุรกิจที่มี downline ปั่นลิก์ SEOเด็ดขาด หากพบจะแบนสมาชิกนั้นออกจากบอร์ดทันที

Main Menu

ล้างไพ่ทวายโปรเจ็กต์ ญี่ปุ่นเสียบ ITD ถอนยวง

เริ่มโดย mrtnews, พ.ย 21, 13, 19:12:13 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

"อิตาเลียน ไทย" ชะลอก่อสร้างโปรเจ็กต์ทวาย ขนคนงานกลับ หลังท่าทีพม่าเปลี่ยน รัฐบาลไทยเร่งหาข้อสรุปเรื่องการลงทุนก่อนประชุมเจซีซี 21 ธันวาคม 56 นี้ ชี้เกมพลิก รัฐบาลพม่าล้างไพ่ดึงญี่ปุ่นร่วมโครงการ เร่งประมูลถนนและท่าเรือกว่า แสนล้านบาท พ่วงพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม


แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2556 ทางประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทยได้หารือร่วมกันถึงการพัฒนาโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายที่ประเทศเมียนมาร์ เพื่อให้ได้ข้อสรุปก่อนการประชุม JCC ที่ประเทศไทย ในวันที่ 21 ธันวาคมนี้ ซึ่งการประชุมคณะกรรมการประสานงานไทย-พม่า หรือ JCC (Joint Coordination Committee) ญี่ปุ่นเตรียมประกาศชัดเจนว่าจะเข้าร่วมลงทุนโครงการทวายกับรัฐบาลไทยและเมียนมาร์ แต่จะเป็นรูปแบบไหนอย่างไรต้องรอดู

"หลังญี่ปุ่นแสดงความสนใจโครงการนี้ ทางพม่าก็มีแนวโน้มว่าไม่เห็นด้วยตามข้อเสนอของ บมจ.อิตาเลียนไทยฯ ที่จะลงทุนสร้างถนนและท่าเรือ พร้อมขอพัฒนานิคมอุตสาหกรรม 28,000 ไร่ โดยอิตาเลียนไทยได้จับมือกับนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ ตั้งใจจะเข้าไปพัฒนา แต่พม่าอยากให้อิตาเลียนไทยลงทุนแค่ถนนกับท่าเรือ ทำให้เมื่อวันที่ 6-7 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ทั้งสองประเทศได้ร่วมหารือกันที่ประเทศเมียนมาร์ แต่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป" แหล่งข่าวกล่าวและว่า

หลังจากบริษัทอิตาเลียนไทยฯเห็นท่าทีของประเทศเมียนมาร์เริ่มเปลี่ยนไป จึงยังไม่ได้ดำเนินการพัฒนาอะไรมากนัก ทำเท่าที่เงื่อนไขในบันทึกข้อตกลงกำหนดไว้ในครั้งแรก ๆ โดยประเทศเมียนมาร์ให้บริษัทอิตาเลียนไทยฯก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคระยะเริ่มต้น ได้แก่ ถนนลูกรัง ระยะทาง 132 กิโลเมตร เชื่อมระหว่างโครงการทวายกับด่านบ้านพุน้ำร้อน พัฒนาถนนภายในนิคม สร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก และพัฒนาท่าเรือขนาดเล็ก โดยใช้เงินค่าก่อสร้างไปแล้วประมาณ 6,000 ล้านบาท ล่าสุดได้ทยอยเคลื่อนย้ายแรงงานคืนกลับประเทศไทยแล้ว

ทั้งนี้ ญี่ปุ่นเห็นด้วยกับแนวคิดของรัฐบาลไทยที่จะตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจ หรือ SPV ซึ่งรัฐบาลไทยกับรัฐบาลเมียนมาร์ถือหุ้นคนละ 50% เพื่อเป็นหน่วยธุรกิจที่รับสัมปทานการพัฒนาโครงการทวาย และจัดตั้งบริษัทนิติบุคคลย่อย (SPCs) เพื่อพัฒนาโครงการทวายใน 7 สาขา ได้แก่ท่าเรือน้ำลึก ถนนเชื่อมโยงพื้นที่โครงการทวายกับชายแดนด่านบ้านพุน้ำร้อน นิคมอุตสาหกรรม ระบบไฟฟ้า ระบบประปา ระบบโทรคมนาคม โครงการที่พักอาศัย และห้างสรรพสินค้า มูลค่าลงทุน 213,000 ล้านบาท

"ส่วนเงินลงทุนที่อิตาเลียนไทยฯใช้จ่ายในด้านการก่อสร้างไป 6,000 ล้านบาท โดยสำรองจ่ายไปก่อนนั้น ทาง SPV จะชำระคืนให้ โดยให้อิตาเลียนไทยฯเข้ามาถือหุ้นในแต่ละบริษัทที่พัฒนาโครงการทั้ง 7 สาขาที่กล่าวมา ซึ่งอิตาเลียนไทยฯสนใจจะถือหุ้นในสัดส่วน 25%" แหล่งข่าวกล่าวและว่า

แต่กว่าจะถึงขั้นตอนดังกล่าว ทางญี่ปุ่นต้องการให้รัฐบาลไทยและเมียนมาร์ได้ประมูลก่อสร้างโครงการถนนและท่าเรือเฟสแรกให้แล้วเสร็จเต็มโครงการวงเงินลงทุนกว่า1 แสนล้านบาท ซึ่งผู้เข้าร่วมประมูลจะเป็นอิตาเลียนไทยฯ หรือเอกชนจากญี่ปุ่นก็ได้ โดยให้ผู้ชนะประมูลมีสิทธิ์บริหารพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ถ้าอิตาเลียนไทยฯประมูลได้ ก็ไม่ต้องจ่ายเงินค่าก่อสร้างให้ เนื่องจากบริษัทได้ลงทุนก่อสร้างไปแล้วก่อนหน้านี้ แต่หากรายอื่นชนะประมูล จะต้องหาเงินมาลงทุนสร้างถนนและท่าเรือ และได้พื้นที่นิคมไปบางส่วน

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สำหรับบันทึกข้อตกลงเดิมที่เคยเซ็น 3 ฝ่าย คือไทย เมียนมาร์ และอิตาเลียนไทยฯนั้น ทางรัฐบาลเมียนมาร์ให้บริษัทอิตาเลียนไทยฯก่อสร้างตามข้อตกลงเดิมไปก่อน อย่าได้หยุด หากหารือกับประเทศญี่ปุ่นและได้ข้อสรุปแล้ว อาจมีแนวโน้มยกเลิกข้อตกลงเดิม พร้อมกับคืนค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด เหมือนเป็นการล้างไพ่การลงทุนโครงการใหม่

แหล่งข่าวจากบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทยังคงมีความหวังกับโครงการทวาย แต่ตอนนี้บริษัทขอเวลาพักสักระยะหนึ่ง จนกว่าทุกอย่างจะนิ่ง คาดว่าไม่เกินภายใน 2 เดือนนี้ บริษัทอาจจะกลับเข้าไปดำเนินการใหม่ ภายใต้ข้อตกลงใหม่ เนื่องจากเป็นเรื่องละเอียดอ่อน


ปัจจุบัน บริษัทได้ขนแรงงานก่อสร้างคืนกลับมายังประเทศไทยแล้ว โดยกระจายไปตามไซต์ก่อสร้างต่าง ๆ เช่น รถไฟสายสีแดง เป็นต้น

ด้านนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเปิดเผยว่า จากการหารือระหว่างไทยกับเมียนมาร์ ล่าสุดจะมีการแต่งตั้งบริษัทที่ปรึกษาประเมินมูลค่าลงทุนในส่วนที่ บมจ.อิตาเลียนไทยฯ ลงทุนก่อสร้างสาธารณูปโภคในระยะเริ่มต้น ขณะเดียวกันจะประมูลพัฒนาโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายช่วงต้นปี 2557 โดยเปิดให้นักลงทุนที่สนใจเข้ามาลงทุน ซึ่งจะให้สิทธิ์อิตาเลียนไทยฯ เข้าร่วมประมูลด้วย

ส่วนการเข้าร่วมลงทุนโครงการทวายของญี่ปุ่น เบื้องต้นองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือเจโทรระบุว่า บริษัทอุตสาหกรรมยานยนต์รายใหญ่อย่างโตโยต้าสนใจเข้าไปลงทุน แต่อยู่ระหว่างเตรียมการในรายละเอียด รวมทั้งกรอบเวลาดำเนินการ

ทั้งนี้ วงเงินลงทุนท่าเรือน้ำลึกทวายเฟสแรกในส่วนท่าเรือเล็ก ถนน และพื้นที่พัฒนานิคมอุตสาหกรรม คาดว่าต้องใช้เงินลงทุนรวม 120 ล้านเหรียญสหรัฐ จะเปิดประมูลแบบนานาชาติ ส่วนการพัฒนาโรงไฟฟ้าระยะแรกจะเป็นเรื่องของผู้พัฒนานิคมอุตฯ กำลังผลิตกระแสไฟฟ้าเพียง 100 เมกะวัตต์ สำหรับการลงทุนโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยน่าจะดำเนินการในระยะต่อไป

ที่มา -