อุตฯต่อเรือเดี้ยงพิษเศรษฐกิจโลก ธุรกิจขนส่งหันซื้อเรือมือสองจีน-ญี่ปุ่นลดต้นทุน

เริ่มโดย mrtnews, พ.ค 10, 13, 20:48:51 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 4 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

นายวิรัตน์ ชนะสิทธิ์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันธุรกิจอู่ต่อเรือและซ่อมเรือซบเซาต่อเนื่องมายาวนานกว่า 5 ปีแล้ว เนื่องจากผลกระทบของเศรษฐกิจโลก รวมถึงอุตสาหกรรมต่อเรือ เพื่อบริการแท่นขุดเจาะน้ำมันในทะเลได้รับผลกระทบด้วย เพราะส่วนมากจะส่งเรือไปยังประเทศแถบตะวันออกกลางและยุโรป คาดว่าถ้าเศรษฐกิจดีขึ้น อุตสาหกรรมต่อเรือน่าจะฟื้นตัวในปีหน้า


นอกจากนี้ ผู้ประกอบกิจการเรือขนส่งของไทยนิยมซื้อเรือมือสองจากประเทศจีนและจากประเทศญี่ปุ่นที่มีอายุการใช้งานประมาณ 21 ปี ซึ่งสภาพเรือไม่สมบูรณ์ แต่ราคาถูกว่าเรือเก่าจะมีราคาเพียง 50 ล้าน ถ้าซื้อเรือใหม่ราคาประมาณ 250 ล้าน เพื่อเป็นการลดต้นทุนของผู้ประกอบการ โดยจะใช้เรือไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะใช้ไม่ได้ ซึ่งกฎระเบียบของประเทศไทยยังไม่เข้มงวดในการตรวจสภาพเรือ

ทำให้เรือเหล่านี้สามารถตรวจสภาพผ่านได้ ซึ่งเข้าใจภาระต้นทุนของผู้ประกอบการ แต่อยากให้มีการตรวจสภาพเรือตามความเป็นจริง เพราะเป็นเรื่องของความปลอดภัยด้วย จึงอยากให้กรมเจ้าท่าตั้งมาตรฐานให้ชัดเจน ซึ่งก่อนหน้านี้มีการเข้มงวดเรื่องมาตรฐาน กลายเป็นไม่มีเรือใช้ และภาครัฐควรจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้ผู้ประกอบการด้วย เพื่อช่วยลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการ

ตอนนี้ต้องเน้นทำตลาดภายในประเทศ โดยมีโครงการปรับเปลี่ยนเรือขนส่งน้ำมันชายฝั่งประมาณ 200 ลำ ซึ่งปัจจุบันเรือเหล่านี้เป็นเรือเก่าทั้งหมด อายุเฉลี่ยประมาณ 30 ปี ซึ่งมาตรฐานทั่วไปอายุจะเฉลี่ย 21 ปี ถ้าเราปรับมาตรฐานอายุการใช้งานของเรือใหม่ จะทำให้เกิดการขยายตัวของการลงทุน อีกทั้งเรือส่วนมากที่ใช้ในอ่าวไทยจะเป็นเรือจากจีนและสิงคโปร์ จึงอยากให้ทางภาครัฐสนับสนุนการต่อเรือของไทยมากขึ้น เหมือนอย่างประเทศมาเลเซียจะมีโควตาให้กับเรือในประเทศตัวเองก่อนที่จะใช้เรือจากต่างประเทศ

"อุตสาหกรรมซ่อมและต่อเรือของไทยยังไม่เติบโต เพราะว่าเน้นใช้บริการทางด้านกองเรือต่างประเทศ โดยส่งเสริมสิทธิประโยชน์ทุกอย่าง เช่น การนำเข้าเรือไม่ต้องเสียภาษี บีโอไอให้สิทธิด้านภาษี 8 ปี แบบลำต่อลำ ซึ่งเรือสินค้าเหล่านี้ไม่ได้ส่งสินค้าไทย เพราะเรือเหล่านี้ออกจากท่าเมืองไทยไปรับสินค้าต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ เราเก็บภาษีอะไรไม่ได้ จึงไม่ได้เกิดประโยชน์กับประเทศโดยตรง แต่เกิดประโยชน์กับเรือมากกว่า

ภาครัฐควรส่งเสริมเรือที่แล่นในประเทศ อย่างเรือชายฝั่งและเรือในลำน้ำของไทย ซึ่งเงินทุกบาทยังหมุนเวียนอยู่ในประเทศ เพราะการซ่อมเรือ การจ้างงาน ที่สำคัญจะช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งในประเทศ

เพราะตอนนี้เน้นการขนส่งทางรถมากกว่าทางน้ำ ขณะที่ในต่างประเทศใช้การขนส่งในน้ำ 13-15% ขณะที่ท่าเรือแหลมฉบัง

ถ้าเรือในลำน้ำเข้าไปจะต้องผ่านกฎระเบียบมากมาย ต่างกับเรือสากล จึงควรแก้ตรงกฎเกณฑ์ให้สะดวกขึ้น ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบขนส่งของประเทศน่าจะเพิ่มการขนส่งทางน้ำจาก 15% เป็น 18%

ปัจจุบันอุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือในไทยมีผู้ประกอบการมากกว่า 100 ราย ส่วนมากเป็นธุรกิจครอบครัว แต่ที่ได้มาตรฐานมีประมาณ 23 ราย ในจำนวนนี้มี 3 รายมีต่างชาติเข้ามาร่วมทุน

อีก 1 รายเป็นบริษัทมหาชน ยังไม่มีบริษัทต่างชาติมาลงทุนโดยตรง ที่มาใช้ฐานการผลิตในประเทศไทย เหมือนเวียดนาม เพราะธุรกิจอู่ต่อเรือในไทยมีอัตราการเติบโตต่ำมาก จึงไม่มีแรงจูงใจที่ต่างชาติจะมาลงทุน อุตสาหกรรมจะอยู่ได้ต้องมีอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเข้ามาสนับสนุนอย่างรถยนต์ แต่อุตสาหกรรมต่อเรือของไทยยังผลิตน้อยอยู่ อุตสาหกรรมที่จะเข้ามาสนับสนุนจึงเกิดไม่ได้

อย่างไรก็ตาม การที่กรมศุลกากรออกประกาศผ่อนคลายหลักเกณฑ์และเงื่อนไขให้ผู้ประกอบกิจการอู่ต่อเรือ หรือผู้ที่ประกอบกิจการอู่เรือสามารถขอยกเว้นอากร


นำเข้าสำหรับส่วนประกอบ อุปกรณ์ประกอบ และวัสดุที่นำเข้ามา เพื่อใช้ซ่อมหรือสร้างเรือได้ โดยไม่ต้องจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนตามกฎหมายศุลกากร และไม่มีการจำกัดขนาดเรือ เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการอู่ต่อเรือขนาดเล็กในการแข่งกับเรือจากต่างประเทศ ก่อนหน้านี้อู่ต่อเรือขนาดเล็กต้องมีคลังสินค้าทัณฑ์บน กำหนดต้องมีสถานที่ตั้งชัดเจน มีธนาคารค้ำประกัน

กฎระเบียบค่อนข้างยุ่งยากเป็นภาระ โดยเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบทางบัญชีแทนว่าสินค้าที่นำเข้ามีอะไรบ้าง ทางอู่ต้องแจ้งกลับไปเจ้าหน้าที่จะมาตรวจอีกครั้ง

ที่มา -