ข่าว:

รับสมัครเฉพาะชาวเรือและผู้ที่สนใจที่เป็นคนไทยเท่านั้น สมัครแล้วรออนุมัติประมาณ 2-3 วัน หากต้องการด่วนโปรดแจ้ง webmaster@marinerthai.net

Main Menu

ตัวประกัน ความหวัง และ เวิ้งฟ้า

เริ่มโดย mrtnews, ธ.ค 30, 13, 14:29:10 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 2 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

หลายคนคงนึกภาพออกถึงลักษณะของโจรสลัดเมื่อหลายร้อยปีก่อนจากภาพยนตร์เรื่องนั้นได้ ในศตวรรษนี้ โจรสลัดยังคงมีอยู่มิได้หายไปไหน ทุกวันนี้จะใช้เรือเล็กติดเครื่องยนต์กำลังแรง มีอาวุธร้ายแรงและอุปกรณ์ทันสมัยอย่างโซน่าห์ GPS โทรศัพท์ผ่านดาวเทียม ฯลฯ ติดตั้งไว้พร้อม และไม่แขวนธงหัวกะโหลกเป็นสัญลักษณ์อีกต่อไป


ในอดีตทะเลแคริบเบียนและเมดิเตอเรเนียน คือน่านน้ำที่มีโจรสลัดชุกชุม แต่ปัจจุบันนี้จุดเสี่ยงอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย เช่น บริเวณระหว่างช่องแคบมะละกา และประเทศสิงคโปร์ ซึ่งมีเรือพาณิชย์ผ่านประมาณ 50,000 ลำต่อปี ค่าเสียหายที่เกิดจากโจรสลัดปล้นในปัจจุบัน คาดว่าประมาณหลายแสนล้านบาทต่อปีทั่วโลก นับตั้งแต่ปี ค.ศ.2002 สำนักงานพาณิชยนาวีระหว่างประเทศ รายงานการปล้นของโจรสลัดในช่องแคบมะละกาและบริเวณใกล้เคียงว่ามีถึง 258 ครั้ง มีลูกเรือถูกจับเรียกค่าไถ่นับร้อยคน แม้กระทั่งในประเทศไทย ฝั่งบริเวณทะเลอันดามันก็ยังคงมีโจรสลัดอยู่ ซึ่งใช้เรือเร็วปล้นเรือสินค้าของผู้คนที่แล่นเรือผ่าน หรือในบางครั้งจะเก็บค่าคุ้มครอง หรือจ่ายเงินค่าผ่านทางแทน

ทว่าจุดที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดในช่วงหลายปีที่ผ่านมาคือ ในมหาสมุทรอินเดีย บริเวณอ่าวเอเดน ทางตอนเหนือของโซมาเลียซึ่งเป็นเส้นทางสู่คลองสุเอซ เป็นเส้นทางที่มีเรือสัญจรไปมาพลุกพล่านที่สุดแห่งหนึ่งของโลก พวกโจรปล้นหรือบุกเข้าไปยึดเรือเพื่อเรียกค่าไถ่ ไม่ว่าจะเป็นเรือขนสินค้า เรือบรรทุกน้ำมัน เรือประมง เรือยอชต์ ไม่เว้นแม้กระทั่งเรือของโครงการอาหารโลกในสังกัดของสหประชาชาติที่ขนส่งสิ่งของบรรเทาทุกข์ไปช่วยเหลือชาวโซมาเลียที่อยู่ในสภาวะที่ยากลำบากกว่า 3 ล้านคน

ในปี 2553 มีหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ A Captain's Duty เขียนโดย ริชาร์ด ฟิลลิปส์ ผู้เคยทำหน้าที่เป็นกัปตันเรือ Maersk Alabama เรือขนตู้คอนเทนเนอร์ลำหนึ่งของบริษัทเดินเรือยักษ์ใหญ่ เขียนบอกเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหนึ่งปีก่อนหน้านั้น ที่เรือลำดังกล่าวถูกโจรสลัดโซมาเลียกลุ่มหนึ่งบุกขึ้นไปยึดเพื่อเรียกค่าไถ่ ขณะที่กำลังมุ่งหน้าสู่เมืองมอมบาซา ประเทศเคนยา

กัปตันฟิลลิปส์และลูกเรือรู้ล่วงหน้าว่ามีเรือเล็กของโจรสลัดกำลังแล่นเข้าไปหาพวกเขา แต่เนื่องจากบนเรือไม่มีหน่วยคุ้มกันอยู่ด้วย จึงทำได้เพียงฉีดน้ำเข้าใส่เรือของโจร แต่ในที่สุดพวกโจรก็อาศัยความกล้าบวกความชำนาญใช้บันไดเกี่ยวข้างเรือและปีนขึ้นไปบนเรือของเขาจนได้ เมื่อรู้ว่าไม่สามารถไล่พวกโจรไปได้ เขาให้ลูกเรือทั้งหมดไปซ่อนตัว ส่วนตัวเองอยู่เผชิญหน้ากับโจรเพื่อเจรจาต่อรองเพียงลำพัง ก่อนที่จะถูกจับตัวลงเรือเล็กไปในที่สุด ซึ่งหากใครที่สนใจเรื่องนี้คงยังพอนึกออก เพราะข่าวการบุกขึ้นไปเพื่อยึดเรือ Maersk Alabama ครั้งนั้น เป็นข่าวใหญ่ที่รู้กันไปทั่วโลก

เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา คณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติได้ประกาศการใช้มาตรการชื่อว่า Resolution 2125 (2013) ต่อไป มาตรการซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ.2551 นี้ เป็นความร่วมมือของนานาชาติรวมทั้งจากประเทศไทยด้วย ในการต่อต้านและจัดการกับพวกโจรสลัดโซมาเลีย ด้วยการส่งเรือรบออกไปให้ความคุ้มครองเรือเดินสมุทรทั้งหลายที่ต้องแล่นผ่านน่านน้ำนั้น หลังจากที่เกิดการบุกยึดและปล้นเรือเดินสมุทรเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในน่านน้ำนั้น นับตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา


มีอีกข่าวที่เกี่ยวเนื่องกัน เมื่อต้นปีนี้เช่นกัน เป็นข่าวเล็กๆ ที่คนทั่วไปอาจไม่สนใจนัก แต่เป็นข่าวดีสำหรับนักเดินเรือ โดยเฉพาะเรือเดินสมุทรและเรือประมงที่ต้องใช้เส้นทางในมหาสมุทรอินเดีย ข่าวที่ว่าคือการประกาศวางมือของโจรสลัดเจ้าของฉายา Big mouth หรือ นายโมฮาเหม็ด อับดี ฮัสซาน ผู้เป็นหัวหน้าโจรสลัดโซมาเลียกลุ่มหนึ่ง โจรกลับใจผู้นี้เกี่ยวข้องกับการยึดเรือขนสินค้า MV Faina ของยูเครน ในปี พ.ศ.2552 บนเรือมีรถถังรุ่น T-72 สมัยโซเวียตถึง 33 คัน และการยึดเรือบรรทุกน้ำมันขนาดใหญ่ของซาอุฯ หลังการประกาศวางมือของนายฮัสซาน ก็ปรากฏว่าปี 2556 นี้ มีข่าวการปล้นเรือสำเร็จเพียงครั้งเดียวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ เป็นเรือบรรทุกน้ำมันสัญชาติฝรั่งเศส ผิดกับเมื่อหลายปีก่อนหน้านั้น ซึ่งข่าวการปล้นเรือเกิดขึ้นถี่มาก รวมทั้งเรือประมงของไทยที่ถูกจับตัวไปเรียกค่าไถ่หลายครั้งเช่นกัน ครั้งล่าสุดที่เกิดกับเรือไทยคือปลายปี 2553 เรือ ทอร์ เน็กซัส พร้อมลูกเรือไทย 27 คน ขณะอยู่ห่างจากชายฝั่งโอมาน ประมาณ 350 กิโลเมตร เรือดังกล่าวเดินทางออกจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อมุ่งหน้าไปปากีสถาน ต่อมาเรือและลูกเรือได้รับอิสรภาพหลังจากยอมจ่ายเงินค่าไถ่ให้พวกโจรสลัดจำนวน 5 ล้านดอลลาร์

บริษัทเดินเรือที่ต้องการหลีกเลี่ยงเส้นทางดังกล่าวต้องเดินเรืออ้อมแหลมกู๊ดโฮปของแอฟริกาใต้ ซึ่งเสียเวลาและแบกรับภาระค่าน้ำมันมากขึ้น ส่วนบริษัทเดินเรือที่ไม่ต้องการเสียเวลาและค่าน้ำมันเพิ่ม ก็ต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยเพิ่มขึ้นด้วย

ข้อมูลจากสำนักงานกิจการนาวีระหว่างประเทศ พบว่าแนวโน้มที่ลดลงอย่างต่อเนื่องมาทุกปีแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของมาตรการที่นานาชาติร่วมมือกันป้องกันและจัดการกับพวกโจรอย่างจริงจัง

สาเหตุที่ทำให้โซมาเลียเกิดโจรสลัดขึ้นเป็นจำนวนมากนั้นน่าจะมาจากปัญหาการปกครองในประเทศเอง เพราะหลังจากได้รับเอกราชจากอังกฤษและอิตาลี เมื่อปี 2503 ประเทศโซมาเลียมีรัฐบาลพลเรือนเพียงระยะสั้นๆ นับจากปี 2512 เป็นต้นไป รัฐบาลก็ถูกยึดอำนาจโดยทหาร คือ พล.อ.โมฮัมเหม็ด ซีอาด บาร์ และบริหารประเทศแบบเผด็จการสังคมนิยม ต่อมาผู้นำเผด็จการก็ถูกโค่นลงจากอำนาจในปี 2534 ตามมาด้วยสงครามกลางเมือง โดยกองกำลังต่างๆมากมาย เนื่องจากกลุ่มที่เคยต่อต้านรัฐบาลหันมาจับอาวุธสู้รบเพื่อแย่งชิงอำนาจกันเอง สงครามกลางเมืองครั้งนั้นทำให้มีคนเสียชีวิตไปไม่น้อยกว่าสามแสนคน หลังสงครามแม้ว่าจะมีรัฐบาลแต่ก็เหมือนไม่มี เพราะไม่สามารถบริหารประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่สามารถรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมืองไว้ได้ บ้านเมืองเสียหายอย่างหนักรวมทั้งเรือกสวนไร่นาและที่ทำกินต่างๆ นั่นคือสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการก่อตัวขึ้นของโจรสลัด

นอกจากนั้นในรายงานของสหประชาชาติเกี่ยวกับเรื่องนี้ เปิดเผยว่าการกระทำอันเป็นโจรสลัดนอกชายฝั่งโซมาเลียบางส่วนเกิดขึ้นจากการลักลอบทำประมงผิดกฎหมายโดยเรือจากต่างชาติ รวมทั้งมีเรือต่างประเทศเข้าไปทิ้งขยะของเสียในน่านน้ำโซมาเลีย มีข้อมูลระบุว่าเพียง 10 ปี โซมาเลียสูญเสียรายได้กว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้กับการลักลอบทำประมงปลาทูน่าและกุ้งอย่างผิดกฎหมายโดยเรือจับปลาของต่างประเทศ ซึ่งสาเหตุเหล่านั้นมีส่วนทำให้หลายคนต้องผันตนเองไปเป็นโจรสลัดแทน โจรบางคนบอกว่า การขาดหน่วยยามฝั่งแห่งชาติที่มีประสิทธิภาพและกองกำลังดูแลน่านน้ำที่เข้มแข็ง ทำให้พวกเขาต้องไปเป็นโจรสลัดเพื่อปกป้องน่านน้ำของพวกตน

ในช่วงแรกการปล้นนั้นทำไปเพื่อความอยู่รอด แต่เมื่อพบว่าสามารถทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำ จึงกลายเป็นอาชีพหลักของกลุ่มติดอาวุธ เพราะสร้างความมั่งคั่งให้กับกลุ่มโจรสลัดโซมาเลียมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งมีข่าวออกมาว่าอาชีพโจรสลัดเป็นที่ยอมรับของผู้คนที่นั่น และโจรสลัดหนุ่มก็เป็นที่หมายปองของสาวๆ เพราะมีเงินมีทองใช้มากมาย

ในปฏิบัติการบุกยึดเรือสินค้า ซึ่งโดยมากจะเป็นเรือขนาดใหญ่ โจรสลัดจะใช้เรือเร็วที่ทันสมัย 2-3 ลำ โอบล้อมเป้าหมาย ก่อนจะบุกขึ้นเรือแบบไม่ให้ลูกเรือรู้ตัวโดยใช้ตะขอและบันไดเกี่ยวและเชือกสำหรับปีนขึ้นเรือ บางครั้งอาจมีการยิงขู่เพื่อให้เป้าหมายหยุดเรือ เมื่อยึดเรือได้แล้วก็จะนำเรือที่ยึดได้ไปจอดทอดสมอที่เมืองอิลล์ ในเขตกึ่งปกครองตนเองปุนท์แลนด์ทางตอนเหนือของประเทศ ตามปกติจะนำตัวประกันขึ้นบกไปดูแลจนกว่าจะได้รับค่าไถ่ ช่วงแรกๆ พวกลูกเรือที่ได้รับการปล่อยตัวออกมาบอกว่า พวกโจรสลัดควบคุมตัวไว้โดยไม่ได้กักขังหรือทำร้ายแต่อย่างใด เมื่อได้รับเงินค่าไถ่ก็ปล่อยตัว แต่ช่วงหลังๆ การดูแลลูกเรือใช้ความรุนแรงมากขึ้น หรือมีแม้กระทั่งใช้เรือที่ยึดมาได้ออกไปปล้นหรือยึดเรือลำอื่นต่อ โดยบังคับให้ลูกเรือออกร่วมไปด้วย อย่างที่เรือประมงไทยหลายลำเจอมาแล้ว


เรารับทราบแต่การจับกุมและปล่อยตัว แต่น้อยนักที่จะรู้ถึงความทุกข์ทรมานที่ตัวประกันได้รับ การอดอาหาร น้ำที่มีให้ดื่มใช้อย่างจำกัด การถูกกระทำต่างๆนานา รวมถึงการข่มขู่ กัปตันเรือของเวียดนามเคยเสียข้อมือหนึ่งข้าง เพียงเพราะโจรต้องการข่มขวัญลูกเรือที่เหลือ เรื่องแบบนี้เป็นชะตากรรมที่ไม่มีใครอยากพบเจอ

และจากหน้ากระดาษก็มาสู่โลกภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นจากเหตุการณ์จริงในครั้งนั้น ในชื่อเรื่อง Captain Phillips ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับคำชมว่าสร้างได้สมจริงสมจังและใกล้เคียงกับเหตุการณ์จริงมาก เป็นภาพยนตร์ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ที่น่าดูเรื่องหนึ่ง โดยเฉพาะเมื่อมีดาราใหญ่คือ ทอม แฮงค์ แสดงเป็นตัวกัปตันฟิลลิปส์เอง

สิ่งที่นักเดินเรือทั่วโลกหวาดกลัวหาใช่มรสุมร้าย ทว่าเป็นโจรสลัด ชีวิตที่มีเพียงเวิ้งฟ้าและท้องน้ำไพศาล กับวันเวลาที่อาจล่วงรู้ได้ว่าชะตา กรรมใต้น้ำมือเหล่าโจรสลัดเป็นเช่นไร พวกเขาคิดหรือหวังถึงสิ่งใดในนาทีนั้น เราไม่อาจล่วงรู้ได้.

โดย ลุงดำ - ทีมงานนิตยสาร ต่วย'ตูน

ที่มา -




Review: Captain Phillips (กัปตันฟิลิปส์ ฝ่านาทีระทึกโลก)

Captain Phillips กว่าจะ 3 เขียว มันช่างกดดัน บีบคั้นนอารมณ์ คนดูแทบขาดใจ เกินคุ้มจริงๆ คอหนัง ดราม่า ไม่ควรพลาดโอกาสปฎิบัติการจริงของ Navy SEALS

Captain Phillips สร้างมาจากเรื่องจริงที่เป็นข่าวครึกโครมเป็นที่สนใจไปทั่วโลกเมื่อปี 2009 เรื่องราวสุดยอดฮีโร่อย่าง กัปตัน ริชาร์ด ฟิลลิปส์ (Richard Phillips) กัปตันเรือบรรทุกสินค้า Maersk Alabama ถูกโจรสลัดโซมาเลียบุกยึด พร้อมจับกัปตันและลูกเรือเป็นตัวประกัน นับเป็นเรือสัญชาติอเมริกันลำแรกในรอบ 200 ปีที่ถูกยึด

เนื่องจากหนังเป็นหนังแนวชีวประวัติที่ยากเอาการที่จะสามารถส่งคนดูอินตาม ซึ่งปกติหนังแนวอิงจากเรื่องจริงมักจะยืดยาว คนมีเบื่อ มีเซ็ง แต่เรื่องนี้ พอล กรีนกราสส์ (Paul Greengrass) รับหน้าที่ผู้กำกับ ทำออกมาได้ถือว่าสุดยอดมาก ทำคนดูน้ำตาเล็ด และบทจบของหนังสมบูรณ์ อารมณ์ ดราม่า ลุ้น ระทึก อัดอัด ตามเรื่องราวกว่าจะผ่านพ้นนาทีระทึกสมชื่อ


นักแสดงมากฝีมือเจ้าของ 2 รางวัลออสการ์(Cast Away, 2000 และ Forrest Gump, 1994) ทอม แฮงค์ส (Tom Hanks) รับบทกัปตันเดินเรือที่ต้องเผชิญโจรสลัดโซมาเลีย ด้วยชื่อเสียง และฝีมือหายห่วง และยังมีนักแสดง แคทธารีน คีนเนอร์, แม็กซ์ มาร์ตินี ร่วมสมบท

เรื่องนี้ ทอม แฮงค์ส รับบทเอก ซึ่งถ่ายทอดอารมณ์ดราม่า ได้ยอดเยี่ยมสมราคา ยิ่งก่อนหนังจบราวสิบกว่านาที ทอม แฮงค์ส เข้าบทกับ แคทธารีน คีนเนอร์ แฮงค์ส ส่งคนดูน้ำตาซึมตามไปด้วยถือว่าได้อารมณ์แบบสมบูรณ์หลังอัดอั้นน้ำตามาซะนาน

ส่วนกลุ่มโจรสลัดโซมาเลียใช้นักแสดงหน้าใหม่ หัวหน้ากลุ่มโจรสลัดโซมาเลีย "มูเซ่" (นำแสดงโดย Barkhad Abdi) ก็แสดงดีมากอาจมีคว้ารางวัลออสการ์ สาขานักแสดงสมทบชาย ก็เป็นได้

หนังไม่มีกั๊ก 2 ชั่วโมงกว่าๆ สนุกตั้งแต่ต้นเรื่อง และด้วยเรื่องราวแน่นอนเป็นการเผชิญหน้าบนท้องทะเลทั้งหมด หนังเพิ่มความสนุก ลุ้น ระทึก บวกความอึดอัด ที่ตัวละครถ่ายทอดถึงคนดู ตั้งแต่กลุ่มโจรก้าวขึ้นมาบนเรือสินค้าได้ จากนั้นเรื่องราวก็ยิ่งลุ้นมากขึ้นหลังกัปตันถูกจับเป็นตัวประกันเพื่อเรียกค่าไถ่ต้องตกอยูบนสภาวะความกดดันกับโจรทั้ง 4 หนังเดินเรื่องไปแบบลุ้นระทึก ด้วยเสียงประกอบ ยิ่งทำให้ลุ้นไปใหญ่ว่าจะรอดไหมนี่กัปตันเรา

ส่วนความยิ่งใหญ่อลังการประทับใจต้องยกให้หนังที่ถ่ายทอดปฏิบัติการของหน่วยรบพิเศษทหารหน่วยนาวีซีล(Navy SEALS) ที่กว่าจะทำให้สัมผัสกับคำว่า 3 เขียวทำคนดูแทบหยุดหายใจ ชื่อหนังฟังดูคงบู้ล้างพลาน แต่บอกเลยว่า กระสุนใช้น้อยมากๆ แต่อย่างที่บอกว่าหนังเรื่องนี้ให้อารมณ์ดราม่า ที่มาพร้อมๆ กับความระทึก ลุ้นตาม

และสิ่งที่รู้สึกได้ในหนังเรื่องจริงเรื่องนี้ เรื่องราวของหนังให้รู้สึกถึงความไม่เอนเอียง หนังทำให้คนดูรู้สึกลุ้นให้ กัปตันฟิลิปส์ รอดปลอดภัยจากโจร แต่หนังก็ยังให้เราลุ้นให้กลุ่มโจรสลัดรอดพ้น โดยไม่มีการฆ่าจากหน่วยนาวีซีลด้วย ซึ่งหนังทำออกมาให้คนดูรู้สึกเป็นกลางมากๆ ซึ่งหนังถ่ายทอดพื้นเพของตัวละคร อย่างฉากปะทะคมรมณ์ 2 บทเอก กันระหว่าง กัปตัน กับ หัวหน้าโจร หนังสื่อถึงคนดูว่า จริงๆ คนโลกที่สามเหล่านี้ก็ใช่ว่าจะอยากเป็นคนไม่ดี หนังแสดงให้เห็นชัดเจนว่าพวกโจรเหล่านี้ไม่ได้เลวโดยสันดาน แต่พวกเขาทำเพราะไม่มีทางเลือกมากเหมือนประเทศทุนนิยม เขาทำเพื่อปากท้องเท่านั้น ขอปรบมือดังๆ ให้กับเรื่องราวที่ถือว่าดีเยี่ยมจริงๆ

สรุป ทอม แฮงค์ส นักแสดงตีบทแตกกระจาย ซึ่งน้อยมากที่จะมีโอกาสเห็นบทมีน้ำตา(อย่างโฮ) และเรื่องราวทำออกมาได้สมบูรณ์ ความเป็นกลางของกลุ่มคน 2 กลุ่ม บวกความยิ่งใหญ่จากหน่วยนาวีซีลให้ความประทับใจกับภารกิจนาทีระทึกสมจริง สุดท้ายได้ความประทับใจเรื่องราวจริงของ ริชาร์ด ฟิลลิปส์ ที่เสียสละนอกเหนือจากหน้าที่หลักที่ต้องส่งสินค้าให้ถึงฝั่งแล้ว เขายังรักษาชีวิตลูกเรื่อของเขาทั้ง 20 คนให้ปลอดภัย

คะแนน 10/10
เกร็ดความรู้ Navy SEALs คือหน่วยงานในสังกัดกองทัพเรือ (U.S. Navy) เป็นหน่วยปฏิบัติการพิเศษ เป็นส่วนหนึ่งของ Naval Special Warfare Command (NSWC) และเป็นหน่วยปฏิบัติการพิเศษของสหรัฐที่เรียกว่า United States Special Operations Command (USSOCOM) ทำงานได้ทั้งทางทะเล อากาศ และบนภาคพื้นดิน หน่วยรบนี้จึงจัดได้ว่าเป็นหน่วยที่มีประสบการณ์การรบที่เป็นแบบสะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก ที่มีประสบการณ์มากที่สุดในโลก


และปฏิบัติการที่โด่งดังไปทั่วโลก เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ คือการสังหารโอซามา บินลาเดน (Osama bin Laden) ซึ่งหน่วยรบ U.S. Navy SEALs ปฏิบัติการภายใต้กิจการลับของหน่วยสืบราชการลับของสหรัฐ CIA และด้วยความเห็นชอบของประธานาธิบดีของสหรัฐคือ บารัค โอบามา ปฏิบัติการสังหารโอซามา บินลาเดน มีชื่อเรียกว่า "ปฏิบัติการเจโรนิโม" ใช้เวลาในการปฏิบัติการ 40 นาที ที่เมืองบิราล (Bilal Town) ในเขตแอบบอตตาบัด (Abbott?bad) ประเทศปากีสถาน (Pakistan) โดยเกิดขึ้นในวันที่ 2 พฤษภาคม ค.ศ.2011 ในเวลา 1:00 น. ตามเวลากลางของปากีสถาน หลังสังหารบินลาเดนแล้ว หน่วยปฏิบัติการนำร่างของบินลาเดนกลับไปยังอัฟกานิสถานเพื่อตรวจหาหลักฐาน ก่อนนำไปฝังในทะเล

ส่วนปฏิบัติการที่เป็นข่าวไปก่อนหน้านี้คือการช่วยเหลือเรือเดินสมุทรขนส่งสินค้า Maersk Alabama และตัวประกันจากโจรสลัดโซมาเลีย (Somali pirates) ห่างจากเมืองอิล (Eyl) อันเป็นเมืองท่าของโซมาเลียไปทางตะวันออกเฉียงใต้ 440 กิโลเมตร ในวันที่ 12 เมษายน ค.ศ. 2009 ผลคือช่วยตัวประกันได้ทั้งหมด ยืดเรือคืน และสังหารโจรสลัดไป 3 คน จับเป็นได้ 1 คน นับเป็นการสู้รบกับโจรสลัดโดยหน่วยทัพภายใต้ธงสหรัฐเป็นครั้งแรก หลังจากศตวรรษที่ 19 ที่มีการใช้กองทัพเรือเพื่อปราบปรามโจรสลัด จึงเป็นที่มาของหนังเรื่อง Captain Phillips

ที่มา -