ข่าว:

รับสมัครเฉพาะชาวเรือและผู้ที่สนใจที่เป็นคนไทยเท่านั้น สมัครแล้วรออนุมัติประมาณ 2-3 วัน หากต้องการด่วนโปรดแจ้ง webmaster@marinerthai.net

Main Menu

ณัฐชาติ จารุจินดา เคลียร์ "แทปไลน์" เร่งมือวางท่อน้ำมัน

เริ่มโดย mrtnews, พ.ค 14, 13, 08:08:21 ก่อนเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

ภาพของกิจการโรงกลั่นน้ำมันยังไปได้ดี จากราคาน้ำมันตลาดโลกที่ยืนราคาที่ 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล "ประชาชาติธุรกิจ" สัมภาษณ์ณัฐชาติ จารุจินดา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ฉายภาพทิศทางโรงกลั่นในประเทศ รวมถึงการพัฒนาโครงการวางท่อส่งน้ำมันขึ้นภาคอีสาน-เหนือ ที่กำลังจะเริ่มนับหนึ่งแล้ว


- ภาพรวมการกลั่น
กำลังการกลั่นรวม 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน ส่วนใหญ่จาก 4 โรงกลั่นในเครือ คือ ไทยออยล์, พีทีที โกลบอล, สตาร์ฯ และบางจากฯ ในขณะที่ความต้องการใช้อยู่ที่ 84,000 บาร์เรล/วัน เท่ากับว่าการผลิตสูงกว่าความต้องการ ภาพใหญ่คือมีการกลั่นน้ำมันที่มาจากน้ำมันดิบในประเทศที่ 200,000 บาร์เรล/วัน ซึ่งจำนวนนี้ส่งออกอยู่ที่ 40,000 บาร์เรล/วัน ที่เป็นการผลิตจากแหล่งน้ำมันดิบที่มีคุณภาพและราคาแพง ซึ่งโรงกลั่นในประเทศไม่ต้องการ เพราะโรงกลั่นน้ำมันในประเทศถูกออกแบบให้รับน้ำมันที่มีซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ค่อนข้างสูง และมีราคาถูกกว่าซึ่งต้องนำเข้า อีกประมาณ 160,000 บาร์เรลจะป้อนโรงกลั่นในประเทศ

ฉะนั้น การกลั่นที่ 1.2 ล้านบาร์เรล จะต้องนำเข้าน้ำมันดิบอีก 870,000 บาร์เรล/วัน เพื่อให้โรงกลั่นเดินเครื่องได้เต็มกำลัง ในขณะที่นำเข้าน้ำมันดิบแต่ก็ส่งออกในรูปของน้ำมันสำเร็จรูปที่ 200,000 บาร์เรล/วัน ไปในตลาดเพื่อนบ้านทั้งกัมพูชา, ลาว และพม่า เพราะประเทศเหล่านี้ยังไม่มีโรงกลั่นน้ำมัน

- ราคาส่งออกแข่งขันได้หรือไม่
สำหรับลาว ถือเป็นตลาดพรีเมี่ยมเพราะยังไม่มีซัพพลายจากทางอื่น แต่สำหรับกัมพูชาที่นำเข้าทางเรือได้ และมีคลังน้ำมันที่กัมปงโสม ฉะนั้นการส่งออกของเราจึงถูกล็อกด้วยราคาที่ต้องเทียบจากที่อื่น และน้ำมันจากโรงกลั่นในไทยถือว่ามาตรฐานสูงเพราะเป็นมาตรฐานยูโร 4

- ยกเลิกเบนซิน 91 ส่งผลต่อการกลั่นหรือไม่
ตอนนี้ต้องส่งออกน้ำมันเบนซิน 91 ออกบ้าง และต้องนำเข้าจีเบสเพื่อนำมาผสมในน้ำมันแก๊สโซฮอล์ ซึ่งจะเป็นตัวที่ลดความดันไอลงมา เพราะน้ำมันเบนซินเมื่อมาผสมกับเอทานอลที่เป็นแอลกอฮอล์ จะทำให้มีค่าดันไอสูงกว่าสเป็ก และเมื่อยกเลิกเบนซิน 91 ไป ตอนนี้จึงดูเทรนด์การใช้น้ำมันว่าจะใช้เบนซิน 95 มากขึ้นหรือไม่ แต่หากเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์ โรงกลั่นน้ำมันในเครือ อาจจะต้องลงทุนปรับปรุงการกลั่นให้สามารถผลิตจีเบสได้

- ซัพพลายล้น แต่บางจากจะสร้างโรงกลั่นใหม่
จุดสำคัญของบางจาก คือ 1) เสียเปรียบในเรื่องที่ตั้งโรงกลั่นอยู่ติดแม่น้ำ ที่เมื่อนำเข้าน้ำมันดิบมาแล้วปั๊มเข้าถัง จากนั้นมาลงเรือเพื่อส่งเข้าโรงกลั่น มีต้นทุนสูง 2) ชุมชนขยายเข้าใกล้ จากกรณีอุบัติเหตุเพลิงไหม้ครั้งก่อนถือเป็นตัวเร่งให้บางจากต้องคิดเร็ว ส่วน ปตท.จะลงทุนเพิ่มเติมในฐานะผู้ถือหุ้นหรือไม่นั้น ต้องดูว่า ปตท.จะสามารถร่วมใช้ประโยชน์ได้หรือไม่

- คืบหน้าลงทุนท่อน้ำมันเหนือ-อีสาน
เป็นโครงการที่บริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย จำกัด (แทปไลน์) จะต้องลงทุน ท่อน้ำมันที่ขึ้นไปอีสานสิ้นสุดที่จังหวัดขอนแก่น ส่วนทางภาคเหนืออาจจะสิ้นสุดที่จังหวัดพิษณุโลกหรือลำปาง ทั้งสองเส้นจะมี Return ที่ไม่เหมือนกัน เบื้องต้นทางอีสานน่าจะให้ Return ที่ดีกว่าเพราะความต้องการใช้สูง ประเด็นที่ต้องเคลียร์ในขณะนี้คือ โครงสร้างผู้ถือหุ้นที่เป็นบริษัทข้ามชาติอาจจะมองไม่เหมือนกัน คือ เขามองที่ตัว Return เป็นหลัก และฟิกซ์ไว้ที่ 15% ของการลงทุน ซึ่งในความเป็นจริงการลงทุนที่แบบนี้จะมี Return แค่ 10-11% เท่านั้น

ในบางผู้ถือหุ้น ปตท.ได้ขอซื้อหุ้นไปแล้วที่ 2-5% เป้าหมายคือจะต้องมีผู้ถือหุ้นเห็นด้วยที่จะลงทุนต่อที่ 75% เพราะปัจจุบันเมื่อรวมหุ้นของ ปตท.และในเครือแค่ 43% เท่านั้น ทั้งนี้ต้องทำให้เสร็จภายในไตรมาส 3 นี้

- BOI เลิกสิทธิประโยชน์ท่อน้ำมัน
มันเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ถ้าไม่ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีมันเกิดลำบาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งแทปไลน์ที่ดำเนินกิจการมา 23 ปี แต่เริ่มมีกำไรใน 2 ปีนี้ที่ผ่านมา ซึ่งโครงการแบบนี้จะให้ผลตอบแทนดีที่สุดก็ต่อเมื่อใช้ศักยภาพของท่อส่งอย่างเต็มที่ หากไม่ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี กระทบต่ออัตราค่าผ่านท่อแน่นอน เว้นแต่รัฐจะเข้ามาแทรกแซงด้วยวิธีการเหมาะสม

- แทรกแซงอย่างไร
มันตรงกับนโยบายรัฐที่ต้องการให้ราคาน้ำมันหน้าคลังในต่างจังหวัดเท่ากัน และการขนส่งน้ำมันผ่านท่อช่วยได้ คงไม่มีใครแบกค่าขนส่ง อาจต้องกำหนดให้ผู้ใช้น้ำมันในเขตกรุงเทพฯช่วยแบกให้คนใช้น้ำมันต่างจังหวัด รัฐแค่จ่ายมือนี้ ไปเก็บมือนั้น กำลังทำโมเดลทางการเงินด้วยการคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำมันผ่านท่อเท่าไหร่ และคำนวณออกมาเป็นรายได้ จำนวนที่ต้องคืนเงินกู้ให้แบงก์ แล้วนำโมเดลนี้ให้แบงก์วิเคราะห์ ก็คิดว่าแบงก์น่าจะให้กู้เงินลงทุนในโครงการนี้


- ค่าผ่านท่ออาจแพงขึ้น
ไม่แน่ อาจจะถูกกว่าหรือขยับขึ้นเล็กน้อย แต่ถ้าภาครัฐพยายามที่จะกำหนดราคาหน้าคลังทั่วประเทศเท่ากัน สมมติว่าค่าขนส่งน้ำมันไปถึงจังหวัดขอนแก่นเก็บที่ 50 สตางค์ อาจจะลดราคาให้หน้าคลังที่ขอนแก่น และมาเพิ่มหน้าคลังที่ กทม.เพิ่มอีก 30 สตางค์ ในขณะที่ขอนแก่นเก็บแค่ 20 สตางค์ กลไกเข้ามาแทรกแซงเหมือนกับก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ที่มีราคาหน้าคลังใหญ่ทั้งหมดเท่ากัน และแม้จะมีค่าขนส่งรัฐก็ชดเชย

-เริ่มวางท่อลงทุนได้เลยหรือไม่
ปีนี้คงชัดเจนในรายละเอียด และดำเนินการเรื่องแบบประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้เสร็จอย่างเร็วคง 8 เดือน ช้าที่สุดคง 1-2 ปี ต่อจากนี้ แต่ตอนนี้เริ่มสำรวจแนวท่อคร่าว ๆ ที่ต้องขนานทั้งแนวรถไฟและทางหลวงเพื่อให้กระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด การลงทุนทั้ง 2 เส้นทางรวมกันที่เคยประเมินไว้อยู่ที่ 30,000 ล้านบาท ที่ยังไม่ได้รวมแฟ็กเตอร์อื่น ๆ เช่น ขนาดของคลังน้ำมันในปลายทางที่อาจจะต้องเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์สำรองน้ำมัน หรือ Energy Bridge ด้วยว่าจะเป็นอย่างไร

ที่มา -