ข่าว:

คุณ ต้องลงทะเบียนสมัครสมาชิกก่อน ตอบกระทู้หรือตั้งคำถามใหม่ นะครับ

Main Menu

111 ปี กิจการขนส่งกองทัพเรือ เริ่มต้นจากฝีพาย เรือพระที่นั่ง

เริ่มโดย mrtnews, ก.พ 19, 14, 20:07:44 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

อาจกล่าวได้ว่า "กิจการขนส่ง" คือสิ่งที่จะขาดเสียมิได้สำหรับทุกองค์กร เพราะการขนส่ง คือ กลไกของการเชื่อมโยงส่งผ่านทุกสรรพสิ่งที่จำเป็นต่อการดำเนินภารกิจให้สำเร็จลุล่วงตามความมุ่งหมาย


โดยเฉพาะอย่างยิ่งภารกิจทางทหาร ซึ่งการขนส่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนภารกิจทั้งในยามสงบและภาวะสงคราม

สำหรับกองทัพเรือ กิจการขนส่งได้เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมครั้งแรก เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2446 อันเป็นวันที่ได้มีการก่อตั้ง "กองพาหนะ กรมบัญชาการทหารขึ้นบกในกรุงเทพ" ในยุคที่ พลเรือตรี สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมขุนนครสวรรค์วรพินิต (ยศในขณะนั้น) ทำหน้าที่ผู้บัญชาการกรมทหารเรือ หรือผู้บัญชาการทหารเรือในปัจจุบัน

ในห้วงเวลาดังกล่าว ทหารเรือที่สังกัดกองพาหนะ จะทำหน้าที่เป็น "ฝีพาย" เรือพระที่นั่งดูแลรักษาเรือในแม่น้ำทั้งเรือใช้สอยและเรือพระราชพิธี ตลอดจนเป็น "พลบริการ" สนับสนุนการลำเลียงและกิจการต่างๆ ของกรมทหารเรือตามที่ได้รับมอบหมาย

ความเป็นไปข้างต้นถือเป็นรากฐานอันสำคัญของกิจการขนส่งกองทัพเรือที่ได้มีการสืบสานควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงและพัฒนากองพาหนะ ให้มีความเจริญก้าวหน้ามาเป็นลำดับ จนกระทั่งกองพาหนะ กรมทหารบัญชาการทหารขึ้นบก ซึ่งมีหลวงพลพิฆาฏ (แว ไวณุนาวิน) ทำหน้าที่ผู้บังคับการคนแรกกลายมาเป็น กรมการขนส่งทหารเรือ หรือ ขส.ทร. ในเวลาต่อมา และสืบทอดภาระหน้าที่ของภารกิจลำเลียงขนส่งของกองทัพเรือ ให้ดำรงคงอยู่ตราบจนวันนี้ โดยมี พลเรือตรี สมประสงค์ นิลสมัย ทำหน้าที่เจ้ากรมการขนส่งทหารเรือ คนที่ 43 ในปัจจุบัน

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากองทัพเรือต้องพึ่งพากิจการขนส่ง ในการขับเคลื่อนภารกิจในทุกมิติให้สำเร็จลุล่วง

ทั้นี้ กำลังพลส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นทหารขนส่ง ได้เข้าไปมีส่วนร่วมและเกี่ยวข้องกับงานด้านยุทธการ กิจการพลเรือน สวัสดิการ การฝึกหัดศึกษา การรักษาความปลอดภัย การข่าว การแพทย์ การพลาธิการ การจัดพาหนะทั้งยวดยานบกและเรือในแม่น้ำ เพื่อสนับสนุนกิจการพิเศษ ของกองทัพเรือ ตลอดจนองค์กรภาคเอกชน ที่ร้องขอความอนุเคราะห์เพื่อดำเนินกิจกรรมสาธารณกุศลต่างๆ

เหนืออื่นใดก็คือการรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทของกรมการขนส่งทหารเรือ ด้วยการจัดรถยนต์พระที่นั่ง และเรือพระที่นั่ง เพื่อเป็นพระราชพาหนะในโอกาสที่มีการเสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงปฏิบัติพระราชกรณีกิจที่กองทัพเรือมีส่วนเกี่ยวข้อง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค โดยขบวนเรือพระราชพิธี และเรือพระที่นั่ง กรมการขนส่งทหารเรือ เป็นหน่วยรับผิดชอบในการเตรียมเรือ การฝึกฝีพาย นายเรือ นายท้าย เพื่อให้การพายและการเคลื่อนขบวนเรือถูกต้องตามโบราณราชประเพณี

รวมถึงการควบคุมขบวนเรือ โดยเจ้ากรมการขนส่งทหารเรือจะทำหน้าที่ผู้ควบคุมเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ในทุกครั้งที่มีพระราชพิธีดังกล่าว นับเป็นการสืบสานภาระหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ของบรรพชนทหารเรือเหล่าขนส่งที่ได้ดำเนินมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล

นอกจากนี้ กำลังพลทหารขนส่งยังได้เข้าร่วมปฏิบัติหน้าที่เคียงบ่าเคียงไหล่กับทหารเรือที่ปฏิบัติงานชายแดนด้านจังหวัดจันทบุรีและตราด หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง รวมทั้ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ป้องกันและปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมาย

ตลอดจนให้การคุ้มครองความปลอดภัยแก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่อันตรายแม้กำลังพลบางนายจะต้องเสียชีวิต และบาดเจ็บแต่เหล่าทหารขนส่งแห่งกองทัพเรือยังคงมุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่ด้วยความกล้าหาญโดยไม่ย่อท้อหวาดหวั่น

รวมทั้งทหารเรือเหล่าขนส่งยังมีส่วนร่วมในการให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนทั่วทุกภูมิภาค เมื่อมีภัยพิบัติร้ายแรงเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นครั้งที่เกิดพายุเกย์ ที่จังหวัดชุมพร การเกิดสึนามิ ที่จังหวัดพังงา และภูเก็ต รวมทั้งการเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ เมื่อปี 2554

ทุกเหตุการณ์ที่กล่าวมานี้ กรมการขนส่งทหารเรือได้จัดส่งยวดยาน และเรือเข้าสู่พื้นที่ประสบภัยพิบัติ เพื่อนำความช่วยเหลือไปยังพี่น้องประชาชนทั้งการอพยพการลำเลียงสิ่งอุปกรณ์ เครื่องผลักดันน้ำ กระสอบทราย เครื่องอุปโภคบริโภค บริการด้านการแพทย์ ตลอดจนการสร้างขวัญกำลังใจ การฟื้นฟูพื้นที่ซึ่งได้รับความเสียหายให้กลับคืนสู่สภาพเดิม

ภาพที่ยังคงอยู่ในความทรงจำของพี่น้องประชาชนก็คือ ยวดยานของ กรมการขนส่งทหารเรือ ที่เปรียบเสมือน "ตัวแทน" ของกองทัพเรือ และทหารเรือทั้งมวล แล่นฝ่าเข้าไปในทุกพื้นที่ โดยไม่ย่อท้อ ตั้งแต่เช้าจรดค่ำพร้อมกับการนำความช่วยเหลือทุกรูปแบบไปยังผู้ประสบภัยพิบัติ

ความเป็นไปเหล่านี้คือสิ่งที่ย้ำคำมั่นให้สังคมไทยได้ประจักษ์ว่า ทหารเรือไม่เคยทอดทิ้งและอยู่เคียงข้างประชาชนเสมอมา

อีกบริบทหนึ่งของกิจการขนส่งกองทัพเรือ ก็คือการเป็นตัวอย่างในด้านความสามัคคีร่วมมือระหว่างกองทัพกับหน่วยงานของรัฐ โรงเรียน ชุมชน วัด ตลอดจนผู้ประกอบธุรกิจเอกชน ซึ่งได้ร่วมกับกรมการขนส่งทหารเรือดำเนินโครงการต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม อาทิ โครงการค่ายคุณธรรมเยาวชนบางกอกน้อย โครงการตรวจสภาพรถยนต์ก่อนเดินทางไกลให้แก่ประชาชน โครงการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตชุมชนริมคลอง โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวในท้องถิ่น


รวมทั้งการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีทางศาสนา ในเทศกาลต่างๆ เช่น ประเพณีชักพระวัดนางชี โดยมีกรมการขนส่งทหารเรือ เป็นแกนหลักและศูนย์รวมความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ

ทั้งหมดนี้ คือ บทบาทและภาระหน้าที่ของกรมการขนส่งทหารเรือ ในยามสงบ นอกเหนือไปจากการเตรียมกำลังพลและยวดยานทุกประเภทให้มีความพร้อมที่จะขับเคลื่อนภารกิจการลำเลียงขนส่งทางยุทธวิธีเมื่อเกิดภาวะสงคราม

กิจการขนส่งของกองทัพเรือ ที่ดำเนินมาจนครบ 111 ปี ในวันนี้นับเป็นสิ่งที่ยืนยันถึงความเสียสละและอุทิศตนอย่างยิ่งยวดบรรพชนทหารเรือเหล่าขนส่งในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถจนเป็นรากฐานอันมั่นคงแข็งแกร่งของกิจการขนส่งทหารเรือ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กองทัพเรือมีความพร้อมในการขับเคลื่อนภารกิจเพื่อการปกป้องชาติ ดูแลประชาชน เทิดทูนไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์

ที่มา -