ข่าว:

ห้ามโพสโฆษณา หาเงินทางเน็ต งาน Part-time MLM ทุกรูปแบบ ธุรกิจที่มี downline ปั่นลิก์ SEOเด็ดขาด หากพบจะแบนสมาชิกนั้นออกจากบอร์ดทันที

Main Menu

รายงานพิเศษ..มะละกาช่องแคบอันตรายของเรือเดินสมุทร

เริ่มโดย mrtnews, มิ.ย 04, 14, 19:28:32 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

แม้ว่าช่องแคบมะละกาจะเป็นเส้นทางที่ผู้ประกอบการเดินเรือเลือกใช้ เพราะความสะดวกในหลายประการ แต่จุดนี้ก็ยังเป็นจุดที่อันตรายอยู่ดีสำหรับนักเดินเรือ ถึงแม้จะมีความพยายามในการปราบปรามก็ตาม


ช่องแคบมะละกา ถือเป็นทั้งจุดยุทธศาสตร์ และทำเลทองของวงการธุรกิจโลก เนื่องจากเป็นรอยต่อของ 3 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย เป็นเส้นทางเดินเรือที่ใช้ขนถ่ายสินค้าและน้ำมันที่สำคัญ ในแต่ละวันจะมีเรือสินค้าผ่านช่องแคบ ที่มีระยะทางประมาณ 600 ไมล์ทะเลแห่งนี้ ไม่ต่ำกว่า 900 ลำ หรือ ประมาณ 50,000 ลำต่อปี

หลักของผู้ประกอบการเดินเรือสินค้า เมื่อคำนวณจากต้นทางจนถึงปลายทางแล้ว มักเลือกเส้นทางที่ประหยัดเวลาที่สุด ระยะทางสั้นที่สุด และ ประหยัดค่าใช้จ่ายที่สุด ช่องแคบมะละกาจึงเป็นเส้นทางที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เพราะเป็นเส้นทางตัดตรงจากมหาสมุทรอินเดียมายังทะเลจีนใต้ ขณะเดียวกันก็เป็นทำเลทองในการทำมาหากินของกลุ่มทุจริตในอุตสาหกรรมขนส่ง และ โจรสลัดที่ปล้นสะดมเรือสินค้า

เรือโทสุพล นวลมณี อดีตกัปตันเรือน้ำมันชาวไทย ที่มีประสบการณ์ตรงในการถูกโจรสลัดช่องแคบมะละกาปล้นเรือน้ำมันเมื่อ 10 ปีก่อน บอกว่า สลัดทะเลทำงานเป็นทีม มีวิธีการปฏิบัติที่รวดเร็ว เชี่ยวชาญ และ ต้องได้ผลแม่นยำ

เหตุผลที่เรือน้ำมันเป็นเป้าหมายของนักปล้นมากกว่าเรือสินค้าชนิดอื่น ก็เนื่องจากเป็นเรือที่แล่นด้วยความเร็วไม่เกิน 12 น็อต เมื่อเรือบรรทุกหนักจะทำให้เรือมีระดับที่ต่ำลงอีกจึงง่ายต่อการจู่โจม ที่สำคัญน้ำมันเป็นสินค้าที่ขายง่าย มีตลาดมืดรองรับในทุกประเทศ หรือ สามารถนำไปขายให้กับเรือประมงกลางทะเลน่านน้ำสากลได้

ที่ผ่านมานานาประเทศ รวมถึงกองทัพเรือไทย มีความพยายามในการประสานความร่วมมือเพื่อต่อต้าน และปราบปรามโจรสลัดเหล่านี้ แต่ก็ยังทำได้เพียงการปราม ยังไม่สามารถปราบให้หมดสิ้นลงไปได้

ตราบใดที่น้ำมันเชื้อเพลิง ยังเป็นความต้องการที่จำเป็นสำหรับทุกประเทศทั่วโลก และไม่เลือกวิธีของการได้มา และตราบใดที่กลุ่มโจรสลัดยังมองเห็นผลกำไรมหาศาลที่ได้จากการปล้น ช่องแคบมะละกาก็ยังเป็นจุดอันตรายสำหรับผู้ประกอบการเรือน้ำมัน

ที่มา -




เจอสลัด - โดย...ตะวัน หวังเจริญวงศ์

ข่าวเรือ อรพิน 4 ของไทยถูกโจรสลัดเข้าปล้นน้ำมันไป 3 ล้านลิตร ระหว่างทางจากท่าเรือสิงคโปร์มุ่งหน้าไปเมืองปอนติอานักของอินโดนีเซีย ดูจะไม่ใช่เรื่อง "จี้ปล้น" ชวน "จั๊กจี้" ธรรมดา


แม้ลูกเรือทั้ง 14 คน จะไม่มีใครบาดเจ็บเสียชีวิต แต่ทรัพย์สินที่สูญไปก็มิใช่น้อย นำไปสู่คำถามถึงความปลอดภัยในการขนส่งทางเรือในอนาคต

ข้อมูลจากรายงานประจำปี 2556 ของศูนย์รายงานการโจรกรรมทางทะเล สำนักงานการเดินเรือระหว่างประเทศ (ไอเอ็มบี) ระบุว่า ในปี 2556 มีการโจรกรรมทางทะเลทั้งที่ปล้นสำเร็จและทำได้แค่พยายามปล้น รวม 264 ครั้ง ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครองแชมป์โลก ด้วยสถิติ 128 ครั้ง หรือเกือบครึ่งหนึ่ง

ไปดูภูมิภาคอื่น เรียกว่าห่างชั้นเราอย่างรุนแรง แอฟริกา 79 ครั้ง อนุทวีปแถบอินเดีย 26 ครั้ง แถบอเมริกา 18 ครั้ง แถบตะวันออกไกลน้อยที่สุด ด้วยสถิติ 13 ครั้ง หรือน้อยกว่าเราประมาณ 9 เท่า

ไล่ดูสถิติรายพื้นที่ อินโดนีเซีย แชมป์โลก มีผู้สนใจเข้าปล้นทั้งที่สำเร็จและไม่สำเร็จรวม 106 ครั้ง ทิ้งห่างอันดับ 2 อย่างไนจีเรีย ซึ่งมีแค่ 31 ครั้ง แบบไม่ติดฝุ่น อันดับ 3 อินเดีย 14 ครั้ง อันดับ 5 บังกลาเทศ 12 ครั้ง อันดับ 6 ร่วม ประกอบด้วยมาเลเซีย 9 ครั้ง ช่องแคบสิงคโปร์อีก 9 ครั้ง และถ้าไม่นับเวียดนามอยู่ในตะวันออกไกล แต่นับอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็จะมีเวียดนามด้วยอีก 9 ครั้ง

สรุปว่าท็อปเทน เป็นอาเซียนไปซะ 4

เรื่องน่าสนใจคือ สถิติการโจรกรรมทางทะเลในภูมิภาคของเราไม่ได้มีแนวโน้มลดลง มีแต่จะเพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น และเพิ่มขึ้น สถิติเมื่อปี 2555 มีการปล้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (แบ่งตามไอเอ็มบี) 104 ครั้ง ปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 128 ครั้ง หรือเพิ่มราว 20%

ถ้าเทียบกับสถิติปี 2552 จะยิ่งเห็นภาพชัด เพราะปีนั้นมีสถิติเพียงแค่ 46 ครั้งเท่านั้น นั่นหมายความว่าภายในระยะเวลา 5 ปี มีการก่อโจรกรรมทางทะเลในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้นถึงเกือบ 3 เท่าตัว

การ "เจอสลัด" เป็นประจำเช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องน่ายินดีเหมือนคุณผู้หญิงไปเจอ "สลัดบาร์" มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เศรษฐกิจภูมิภาคที่ควรจะเติบโตอ้วนท้วนสมบูรณ์ อาจจะต้องผอมแห้งแรงน้อยเหมือนเดิม หากการขนส่งทางทะเลไม่ปลอดภัย จนทำให้ต่างชาติ "ซ่าแต่แบบสั่นๆ และยังไม่ค่อยมั่นใจ"

เพราะหากดูสัญชาติของเรือที่ประสบพบเจอสลัด จะพบว่า ชาติที่เจอประจำมักไม่ใช่ชาติในอาเซียน ในปี 2556 สิงคโปร์เจอไป 39 ครั้ง มาเลเซีย 10 ครั้ง ไทย 5 ครั้ง ฟิลิปปินส์ 2 ครั้ง รวมกันได้แค่ 56 ครั้ง

หมายความว่าอาเซียนเองเจอไม่ถึงครึ่งหนึ่งของที่โดนโจรกรรมทั้งหมดในพื้นที่ภูมิภาค

ความปลอดภัยในการขนส่งระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะขนส่งคนหรือสินค้า ควรเป็นปัจจัยสำคัญที่รัฐบาลในอาเซียนต้องให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วน เพราะที่ผ่านมาเราก็มีข้อกังขาในการขนส่งทางอากาศมาครั้งหนึ่งแล้ว กับเครื่องบิน MH370 ของมาเลเซีย เราน่าจะต้องมีมาตรการดูแลอย่างเข้มงวด และหาช่องทางจัดการไม่ว่าจะสลัดทะเลหรือสลัดอากาศให้ลดลง สร้างความเชื่อมโยง หรือคอนเนกทิวิตี้ ให้มีเสถียรภาพ

แสนยานุภาพทางทะเลที่แต่ละประเทศมีอยู่ ไม่ควรเลยครับที่จะนำมาใช้รบกันเองหรือรบกับเพื่อนร่วมเอเชีย แต่ควรจะใช้จัดการอาชญากรเหล่านี้ให้สิ้นซากต่างหาก

ที่มา -




..-