ข่าว:

รับสมัครเฉพาะชาวเรือและผู้ที่สนใจที่เป็นคนไทยเท่านั้น สมัครแล้วรออนุมัติประมาณ 2-3 วัน หากต้องการด่วนโปรดแจ้ง webmaster@marinerthai.net

Main Menu

ญี่ปุ่นล่าวาฬมิงก์ 30 ตัวในมหาสมุทรแปซิฟิก หลังเปิดฉากล่าวาฬ “เชิงวิจัย”

เริ่มโดย mrtnews, มิ.ย 18, 14, 20:17:55 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

ทางการญี่ปุ่นเผยสามารถล่าวาฬมิงก์ในมหาสมุทรแปซิฟิกได้แล้ว 30 ตัว ถือเป็นการล่าวาฬอย่างเปิดเผยครั้งแรก นับตั้งแต่ศาลโลกพิพากษาห้ามเมื่อเดือนมี.ค. แต่เป็นคำสั่งห้ามเฉพาะในทะเลในแถบทวีปแอนตาร์กติกา หรือซีกโลกใต้เท่านั้น


สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 57 ว่ากระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงของญี่ปุ่นออกแถลงการณ์ระบุ เรือล่าวาฬที่ออกเดินทางจากท่าในเมืองอายุกาวะ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ เมื่อปลายเดือนเม.ย.  2557 เพื่อออกล่าวาฬประจำปีในมหาสมุทรแปซิฟิก เดินทางกลับเข้าเทียบเท่าแล้ว พร้อมวาฬมิงก์ 30 ตัว แบ่งเป็นตัวผู้ 16 ตัว และตัวเมีย 14 ตัว ซึ่งแต่ละตัวมีขนาดราว 6 เมตร

ทั้งนี้ การล่าวาฬดังกล่าวถือเป็นครั้งแรกหลังคณะตุลาการศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ( ไอซีเจ ) หรือศาลโลก มีคำวินิจฉัยเมื่อเดือนมี.ค. ห้ามญี่ปุ่นล่าวาฬ เนื่องจากเป็นการล่าเชิงพาณิชย์ ไม่ใช่เพื่อจุดประสงค์ทางวิทยาศาสตร์

อย่างไรก็ตาม คำสั่งของไอซีเจครอบคลุมเฉพาะทะเลในแถบทวีปแอนตาร์กติกา หรือซีกโลกใต้เท่านั้น ซึ่งญี่ปุ่นประกาศยกเลิกโครงการล่าวาฬในบริเวณดังกล่าวระหว่างปีนี้ถึงปีหน้า ตามคำสั่งศาล แต่ยืนยันจะเดินหน้าโครงการล่าวาฬเพื่อ "วิทยาศาสตร์" ของตัวเองในมหาสมุทรแปซิฟิก หรือซีกโลกเหนือต่อไป ขณะที่นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ผู้นำญี่ปุ่น ยืนยันจะทำทุกวิถีทางให้ญี่ปุ่นกลับมาล่าวาฬในซีกโลกใต้ได้อีกครั้ง

ที่มา -




ญี่ปุ่นฆ่าวาฬ 30 ตัว หลังเปิดฉากล่าวาฬ "เชิงวิจัย" ครั้งแรก นับแต่ถูกศาลโลกสั่งห้ามล่าแถบขั้วโลกใต้

เอเอฟพี - รัฐบาลญี่ปุ่นเผยว่า แดนอาทิตย์อุทัยได้สังหาร "วาฬมิงกี" ในน่านน้ำนอกชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงเหนือไปแล้ว 30 ตัว ในปฏิบัติการล่าวาฬที่เปิดฉากขึ้นเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ตั้งแต่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศของสหประชาชาติ มีคำสั่งให้โตเกียวยุติการฆ่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดนี้ ในแถบขั้วโลกใต้


สำนักการประมงญี่ปุ่นระบุว่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กองเรือล่าวาฬของแดนอาทิตย์อุทัย ซึ่งแล่นออกจากเมืองประมงอายูกาวะ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไปตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา ได้ดำเนินภารกิจเสร็จสิ้นแล้ว

ภารกิจครั้งนี้คือการออกล่าวาฬครั้งแรก นับตั้งแต่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) มีคำตัดสินว่า ภารกิจล่าวาฬประจำปีในมหาสมุทรใต้ (Southern Ocean) ของญี่ปุ่นเป็นการล่าวาฬเชิงพาณิชย์ที่อ้างจุดประสงค์เพื่อการวิจัยบังหน้า

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังอ้างว่า การล่าวาฬตามน่านน้ำแถบชายฝั่ง และทางตะวันตกเฉียงเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิกในฤดูใบไม้ผลิ และฤดูใบไม้ร่วงเป็น "การล่าวาฬเพื่อการวิจัย" เช่นกัน แต่ศาลโลกไม่ได้มีคำสั่งให้โตเกียวระงับโครงการดังกล่าว

หน่วยงานแห่งนี้ระบุว่า ขบวนการล่าวาฬได้สังหารวาฬตัวผู้ 16 ตัว และตัวเมีย 14 ตัว โดยสัตว์น้ำเหล่านี้มีความยาวเฉลี่ยราว 6 เมตร

ญี่ปุ่นได้อาศัยช่องโหว่ของข้อห้ามล่าวาฬเพื่อการค้าปี 1986 ซึ่งอนุญาตให้ล่าวาฬเพื่อรวบรวมข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ได้ แต่ยอมรับว่า เมื่อกลับไปถึงญี่ปุ่นเนื้อวาฬจะถูกนำไปทำเป็นอาหารในภัตตาคาร หรือนำออกจำหน่ายตามตลาดขายปลา

โตเกียวได้ยุติการล่าวาฬแถบขั้วโลกใต้ในช่วงปี 2014 ถึง 2015 และกล่าวว่าจะปรับเปลี่ยนแผนโครงการล่าวาฬซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์เสียใหม่ เพื่อให้มีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์ยิ่งขึ้น

ในเดือนนี้ นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ แห่งญี่ปุ่นได้จุดชนวนให้บรรดาชาติที่ต่อต้านการล่าวาฬโกรธเคือง ด้วยการกล่าวกับรัฐสภาแดนอาทิตย์อุทัยว่า จะผลักดันให้ญี่ปุ่นสามารถกลับมาล่าวาฬเชิงพาณิชย์ได้อีกครั้ง

บรรดานักวิจารณ์ชี้ว่า แม้ว่าครั้งหนึ่งเนื้อวาฬจะเคยเป็นแหล่งสารอาหารประเภทโปรตีนที่สำคัญ แต่ก็แทบไม่มีชาวญี่ปุ่นรับประทาน แม้ว่ารัฐบาลจะออกเงินอุดหนุนเพื่อรักษาระดับราคาเอาไว้

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจความคิดเห็นซึ่งจัดทำโดยหนังสือพิมพ์เจ้าสำคัญของญี่ปุ่นชี้ว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่สนับสนุนกิจกรรมล่าวาฬ

ผู้สังเกตการณ์ต่างกล่าวว่า กลยุทธ์ขององค์กรต่อต้านการล่าวาฬอย่าง "ซี เชพเพิร์ด" ซึ่งส่งเรือเข้าขัดขวางขบวนการล่าวาฬในมหาสมุทรใต้ สามารถเรียกเสียงสนับสนุนจากประชากร ในประเทศที่บางครั้งเกิดความเคลือบแคลงว่า ข้อเรียกร้องให้ยุติภารกิจล่าวาฬเป็นการรุกรานทางวัฒนธรรมของลัทธิจักรวรรดินิยม

ที่มา -