ข่าว:

รับสมัครเฉพาะชาวเรือและผู้ที่สนใจที่เป็นคนไทยเท่านั้น สมัครแล้วรออนุมัติประมาณ 2-3 วัน หากต้องการด่วนโปรดแจ้ง webmaster@marinerthai.net

Main Menu

ย้อนหลังเหตุการณ์ ‘เรือรบสหรัฐฯ’ ยิง ‘เครื่องบินโดยสารอิหร่าน’ ตก ‘ดับ’ 290

เริ่มโดย mrtnews, ส.ค 21, 14, 19:54:14 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 2 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

เก็บความจากช่วงต้นของข้อเขียนเรื่อง The charge of the Atlanticist Brigade By Peter Lee นำออกเผยแพร่ทาง เอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com 22/07/2014


ไม่มีคำบอกเล่าเหตุการณ์เที่ยวบิน MH17 ของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ถูกยิงตกที่ยูเครน ในเวอร์ชั่นที่น่าเชื่อถือใดๆ ซึ่งบ่งชี้ว่ามันเป็นการฆาตกรรมหมู่โดยเจตนา หรือเป็นการก่อการร้าย ในอีกด้านหนึ่งเรื่องนี้ชวนให้รำลึกย้อนไปถึงกรณีเรือรบ "วินเซนส์" ของกองทัพเรือสหรัฐฯ ยิงเครื่องบินโดยสารไอพ่นเที่ยวบิน 655 ของสายการบินอิหร่านแอร์ เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 1988 ทำให้ผู้อยู่บนเครื่องบินทั้ง 290 คนเสียชีวิตหมด

ละครนองเลือดเรื่องยาวในยูเครน เกิดการหักมุมอย่างน่าชิงชังอีกครั้งหนึ่ง ด้วยการที่เครื่องบินโดยสารในเที่ยวบิน MH17 ของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ถูกยิงตก

และถ้าเราจะลองขบคิดพิจารณากันอย่างน่าชิงชังเกี่ยวกับเรื่องนี้กันสักหน่อย สมมุตินะครับว่าฝ่ายกบฏเป็นผู้ที่ยิงเครื่องบินลำนี้ตก มันก็ไม่ควรที่จะเป็นเรื่องอะไรมากมายนอกจากว่าเป็นความวิบัติหายนะที่น่าสยดสยองและไม่เคยคาดหมายกันมาก่อนเรื่องหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นในพื้นที่สงคราม ตลอดจนเป็นโศกนาฏกรรมอันท่วมท้นอารมณ์ความรู้สึกสำหรับญาติมิตรของบรรดาเหยื่อบนเครื่องบินลำนี้ เราอาจจะเรียกมันว่าเป็นอุบัติเหตุ, เป็นความเสียหายข้างเคียง หรือ "ลูกหลง", เป็นการฆ่าคนตายโดยประมาท, แต่ไม่มีคำบอกเล่าเหตุการณ์เวอร์ชั่นที่น่าเชื่อถือใดๆ ซึ่งบ่งชี้ว่ามันเป็นการฆาตกรรมหมู่โดยเจตนา หรือเป็นการก่อการร้าย ไม่ว่าจะบอกว่าเป็นฝีมือการกระทำของพวกกบฏ หรือของพวกช่างเทคนิคชาวรัสเซีย ซึ่งตามคำแถลงของรัฐบาลยูเครนนั้นระบุว่า เป็นพวกที่มีความสามารถในการใช้ระบบจรวดต่อต้านอากาศยานรุ่นเก่าทว่าประณีตซับซ้อน ซึ่งถูกระบุว่าเป็นอาวุธที่ใช้ในการโจมตีคราวนี้

กรณีนี้ชวนให้ย้อนระลึกไปถึงกรณีที่สหรัฐฯยิงเครื่องบินโดยสารของสายการบินอิหร่านแอร์ เที่ยวบิน 655 ตกในปี 1988 โดยผู้ที่ทำการยิงคือ เรือรบของกองทัพเรือสหรัฐฯที่มีนามว่า "ยูเอสเอส วินเซนส์" (USS Vincennes)

ในคราวนั้นก็เป็นเรื่องน่าชิงชังเช่นเดียวกัน เครื่องบินโดยสารไอพ่นของอิหร่านแอร์ลำนั้นกำลังบินอยู่ในเส้นทางสำหรับเที่ยวบินพลเรือนมาตรฐาน โดยที่พวกอุปกรณ์รับส่งสัญญาณเรดาร์ (transponders) ก็เปิดใช้งานอยู่ ส่วนเรือวินเซนส์ เนื่องจากได้กระทำการอันฮึกห้าวเหิมหาญทางนาวีนิดๆ หน่อยๆ ในทางเป็นจริงแล้วจึงได้รุกล้ำเข้าไปน่านน้ำอาณาเขตของอิหร่าน เมื่อตอนที่มันยิงเครื่องบินตก (นี่เป็นสิ่งที่สหรัฐฯเพิ่งยอมรับภายหลังเหตุการณ์ผ่านพ้นไป 3 ปี) และทำให้ผู้คนบนเครื่องบิน 290 คนเสียชีวิต

สหรัฐฯนั้นไม่เคยแสดงการขอโทษในกรณีเลย แต่ในที่สุดแล้วได้ยอมจ่ายเงินบางส่วนเพื่อให้เรื่องราวผ่านพ้นไปอย่างราบรื่นสักหน่อย กระนั้น ก็ไม่ได้กระทำด้วยวิถีทางที่ดูมีชั้นเชิงน่านับถืออะไร ทั้งนี้ตามเรื่องราวที่มีผู้เขียนเอาไว้ในปี 2002 (ดูรายละเอียดได้ที่เว็บเพจ http://everything2.com/title/USS%2520Vincennes) ได้เขียนเอาไว้อย่างนี้ครับ:

สหรัฐฯได้จ่ายเงินชดเชยให้แก่บรรดาเหยื่อที่มิใช่คนอิหร่าน ไปเป็นจำนวนประมาณ 2.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (แต่ไม่ได้ยอมรับว่าตนเองจะต้องมีความรับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น) ทว่าไม่ได้ให้อะไรแก่พวกสมาชิกครอบครัวของเหยื่อที่เป็นชาวอิหร่านเลย กระทั่งถึงปี 1996 ได้มีการตกลงประนีประนอมยอมความกันได้ในวงเงิน 131.8 ล้านดอลลาร์ ซึ่งในนั้นรวมถึงเงินที่ให้แก่พวกครอบครัวซึ่งเคยถูกเพิกเฉยละเลย (เป็นจำนวน 61.8 ล้านดอลลาร์) สำหรับเงินจำนวนอีก 70 ล้านถูกนำไปใส่ไว้ในบัญชีธนาคารหลายบัญชี และถูกใช้ไปเพื่อ "จ่ายให้แก่พวกเอกชนสหรัฐฯซึ่งเรียกค่าเสียหายจากอิหร่าน ตลอดจนเป็นค่าใช้จ่ายของฝ่ายอิหร่านสำหรับการดำเนินงานของ "ศาลพิเศษคดีฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายอิหร่าน-สหรัฐฯ" (Iran-US Claims Tribunal) ซึ่งเป็นศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศพิเศษ ที่เป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวกับการเรียกค่าเสียหายเหล่านี้ "สหรัฐฯแถลงย้ำว่า มันเป็นการจ่ายค่าเสียหาย "ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องทางด้านการธนาคาร ไม่ใช่จ่ายในกรณีเครื่องบินโดยสารลำนั้น" ขณะที่อิหร่านบอกว่าเงิน 30 ล้านคือการจ่ายค่าเสียหายเรื่องเครื่องบินลำดังกล่าว

กรณีการยิงเครื่องบินตกคราวนั้น ยังติดตามมาด้วยเรื่องราวอย่างเคยๆ ของการปฏิเสธแบบโกหกหน้าตาย และการเบี่ยงเบนความผิดด้วยการหันไปประณามคนอื่น

ในวันรุ่งขึ้น เพนตากอน (กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ) ได้จัดการประชุมแถลงข่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์คราวนี้ หลังจากที่ในตอนแรกได้มีการปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงต่อเวอร์ชั่นบอกเล่าเหตุการณ์ของฝ่ายอิหร่าน โดยยืนยันว่าสหรัฐฯได้ยิงเครื่องบินขับไล่รุ่น F-14 ลำหนึ่งตก ไม่ใช่เครื่องบินพลเรือน ทว่าต่อมา กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ (ภายหลังจากได้ทำการสอบถามทบทวนหลักฐานต่างๆ แล้ว) ก็ ได้ยอมรับว่าเครื่องบินที่ถูกยิงตกคือเที่ยวบินอิหร่านแอร์ 655 แต่ทางกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯอ้างว่า เครื่องบินลำดังกล่าว "บินออกนอกเส้นทางปกติจนเข้าไปอยู่ใกล้เกินไปกับเรือรบของกองทัพเรือสหรัฐฯ 2 ลำซึ่งกำลังทำการสู้รบกับพวกเรือปืนของอิหร่าน และตามคำแถลงของโฆษกกระทรวงระบุว่า (เรือรบของสหรัฐฯ) ได้ดำเนิน "การปฏิบัติการป้องกันตัวที่เหมาะสม" เนื่องจาก "เครื่องบินต้องสงสัยได้บินอยู่นอกเส้นทางซึ่งกำหนดเอาไว้ให้แก่เครื่องบินพาณิชย์"
(จากวอชิงตันโพสต์)

คำแถลงที่ระบุว่าเครื่องบินลำนี้บินออกนอกเส้นทางปกติที่กำหนดเอาไว้สำหรับเที่ยวบินนั้น เป็นคำแถลงที่ไม่ถูกต้องในทางข้อเท็จจริง เช่นเดียวกับข้อกล่าวอ้างที่ว่าเครื่องบินลำนี้กำลังมุ่งหน้าตรงไปยังเรือรบ และ "กำลังลดระดับ" (การใส่เครื่องหมายคำพูดเพื่อเน้นย้ำในที่นี้ ผู้เขียน คือ ปีเตอร์ ลี เป็นผู้กระทำ) ลงไปที่เรือรบ เพราะที่จริงแล้วมันกำลังบินไต่ขึ้นมาต่างหาก "ความผิดพลาด" อีกประการหนึ่งได้แก่การแถลงยืนยันว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในน่านน้ำระหว่างประเทศ (มันไม่ใช่เช่นนั้นเลย ข้อเท็จจริงเรื่องนี้รัฐบาลสหรัฐฯเพิ่งมายอมรับเอาในภายหลัง) นอกจากนั้นในระหว่างการบรรยายสรุปให้รัฐสภาฟังเกี่ยวกับเหตุการณ์คราวนี้ ก็มีการใช้แผนที่ซึ่งไม่ถูกต้องหลายๆ ฉบับ

ตรงนี้ผมขอเล่าแทรกเรื่องที่ถือเป็นเครื่องเคียงซึ่งน่าสนใจสักเรื่องหนึ่งนะครับ การกุเรื่องเท็จขึ้นมาเล่ากันเป็นตุ๊เป็นตะที่ว่า "บนเครื่องบินเต็มไปด้วยศพตัวเปลือยเปล่า" (ซึ่งเป็นเรื่องที่พวกนักหนังสือพิมพ์ฝ่ายตะวันตกหยิบยกเอามาล้อเลียนหัวหน้านักรบกบฏยูเครนผู้หนึ่งชนิดไม่ยอมเลิกรา ทั้งนี้เป็นที่เข้าใจกันว่าหัวหน้านักรบกบฎผู้นั้นคงอยู่ในอาการตื่นตะลึงงงงันไปหมดจากการที่เครื่องบินตก ซึ่งมีคนจำนวนมากสิ้นชีวิตไปอย่างพิสดารผิดธรรมดา) ตอนแรกสุดเลยนั้นได้ถูกนำเอามาใช้โดยพวกคอมเมนเตเตอร์ทางวิทยุสหรัฐฯที่เป็นพวกฝ่ายขวาครับ พวกเขากุเรื่องนี้ขึ้นมาก็เพื่อใช้กล่าวหาอิหร่านว่า กำลังพยายามยั่วยุสร้างสถานการณ์ ด้วยการนำเอาเครื่องบินที่ภายในเต็มไปด้วยศพตัวเปลือยเปล่า บินเข้าไปหาเรือวินเซนส์

กรณีการยิงเครื่องบินของอิหร่านแอร์ตกนี้ ถูกจัดชั้นให้เป็น "ความผิดพลาดอย่างงี่เง่า" (goof) ถึงแม้ฝ่ายอิหร่านประกาศว่ามันเลวร้ายอยู่ในระดับ "การจงใจประพฤติมิชอบที่ถือเป็นอาชญากรรม" (criminal misconduct) ต่างหาก (แล้วอิหร่านก็ถูกกล่าวหาต่อไปอีกว่า เพื่อเป็นการแก้แค้นเหตุการณ์คราวนี้ จึงได้เข้าร่วมวางแผนวางระเบิดบนเครื่องบินโดยสารของสายการบินแพนแอมของสหรัฐฯ ซึ่งตกลงมาขณะบินอยู่เหนือเมืองล็อกเคอบี, สกอตแลนด์ ในวันที่ 21 ธันวาคม 1988) --นอกจากนั้นยังมีเพื่อนนายทหารของ นาวาเอก วิลล์ รอเจอร์ส (Captain Will Rogers) ผู้บังคับการเรือวินเซนส์ กล่าวประณาม น.อ.รอเจอร์ส ว่าเป็นคนงี่เง่าสุดสะเพร่าเลินเล่อ ทั้งนี้ วิกิพีเดีย (ดูรายละเอียดที่เว็บเพจ http://en.wikipedia.org/wiki/Iran_Air_Flight_655) เขียนเอาไว้อย่างนี้ครับ:

นาวาโท เดวิด คาร์ลสัน (Commander David Carlson) นายทหารที่เป็นผู้บังคับการเรือ ยูเอสเอส ไซด์ส (USS Sides) เรือรบที่แล่นอยู่ใกล้ๆ กับเรือวินเซนส์ เมื่อตอนที่เกิดเหตุการณ์คราวนี้ขึ้น ได้ถูกระบุว่าได้พูดถึงการยิงทำลายเครื่องบินโดยสารของอิหร่านลำนี้ว่า "เป็นหลักหมายแสดงถึงจุดไคลแม็กซ์อันน่าสยดสยอง จากพฤติกรรมความก้าวร้าวของ นาวาเอก รอเจอร์ส ซึ่งได้พบเห็นครั้งแรกสุดเมื่อ 4 สัปดาห์ก่อนหน้านั้น" [39] ทั้งนี้คำพูดของเขาเป็นการพาดพิงถึงเหตุการณ์ในวันที่ 2 มิถุนายน (1988) เมื่อ รอเจอร์ส ได้นำเรือวินเซนส์ แล่นเข้าไปใกล้กับเรือรบฟริเกตลำหนึ่งของอิหร่านจนเกินไป โดยที่เรือฟริเกตอิหร่านลำนั้นกำลังดำเนินการตรวจค้นเรือบรรทุกสินค้าลำหนึ่ง ซึ่งเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องตามกฎหมาย แล้วเรือวินเซนส์ยังได้ส่งเฮลิคอปเตอร์ลำหนึ่ง ซึ่งขึ้นบินเข้าไปใกล้ภายในระยะแค่ 2-3 ไมล์ (3.2 – 4.8 กิโลเมตร) จากยานขนาดเล็กของอิหร่านลำหนึ่ง ถึงแม้ตามกฎการปะทะ (rules of engagement) กำหนดเอาไว้ว่าจะต้องให้ห่างจากกัน 4 ไมล์ (6.4 กิโลเมตร) และจากนั้นก็เปิดฉากยิงใส่พวกเรือทหารลำเล็กๆ ของฝ่ายอิหร่าน

เกี่ยวกับเหตุการณ์เหล่านี้ คาร์ลสัน แสดงความเห็นว่า "ทำไมคุณต้องใช้เรือลาดตระเวนติดตั้งระบบเอจิส (Aegis cruiser) อย่างเรือวินเซนส์ ออกไปที่นั่นเพียงแค่เพื่อจะยิงใส่เรือเล็กๆ? มันไม่ใช่เรื่องฉลาดอะไรเลยที่จะทำแบบนั้น" เขายังกล่าวด้วยว่า พวกกองกำลังของฝ่ายอิหร่านที่เขาเคยเจอในพื้นที่แถบนี้เมื่อประมาณ 1 เดือนก่อนหน้าเหตุการณ์นี้ "... ชัดเจนว่าไม่ได้มีท่าทีคุกคาม" และมีความเป็นมืออาชีพ ในขณะที่ รอเจอร์ส รายงานหน่วยเหนือว่า เขากำลังจะยิงเครื่องบินลำดังกล่าว มีรายงานว่าคาร์ลสันอยู่ในอาการพิศวงงงงวย โดยเขาพูดว่า "ผมบอกกับบรรดาคนที่อยู่รอบๆ ตัวผมว่า 'ทำไม เขากำลังจะทำนรกอะไรของเขานะ?' ผมพลิกอ่านคู่มือการฝึกอีกครั้ง F-14 นี่ เขากำลังบินไต่สูงขึ้น ถึงตอนนี้ไอ้เจ้าเครื่องบินเวรนี่อยู่ในระดับ 7,000 ฟุตแล้ว" คาร์ลสันคิดว่าเรือวินเซนส์อาจจะมีข้อมูลข่าวสารมากกว่าเขา และไม่ได้ตระหนักเลยว่า รอเจอร์ส กำลังได้รับรายงานอย่างผิดๆ ว่าเครื่องบินลำนั้นกำลังบินดำดิ่งลงมา


(แดน) เคร็ก (Dan Craig), (แดน) มอเรลส์ (Dan Morales) , และ (ไมก์) โอลิเวอร์ (Mike Oliver) ได้ร่วมกันจัดทำสไลด์ชุดหนึ่ง ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่อยู่ใน "วิทยาศาสตร์การบินและอากาศยานศาสตร์" (Aeronautics & Astronautics) ของสถาบันเอ็มไอที (M.I.T.) ฉบับฤดูใบไม้ผลิปี 2004 โดยใช้ชื่อว่า "เหตุการณ์เรือยูเอสเอส วินเซนส์" (USS Vincennes Incident) ในนั้นได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับตัว น.อ.รอเจอร์ส เอาไว้ว่า เป็นผู้ที่ " ความโน้มเอียงไปในทางที่ผมขอเรียกว่า 'พวกชอบหาเรื่องต่อยตี' อย่างไม่อาจปฏิเสธได้เลยและอย่างปราศจากความเคลือบคลุมสงสัยด้วย" ด้วยการริเริ่มของตัวเขาเอง รอเจอร์ส ได้เคลื่อนเรือวินเซนส์ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ 50 ไมล์ (80 กิโลเมตร) เพื่อเข้าไปเข้าร่วมกับเรือ ยูเอสเอส มอนต์โกเมอรี (USS Montgomery) ทว่าทาง นาวาเอก ริชาร์ด แมคเคนนา (Captain Richard McKenna) หัวหน้าฝ่ายสงครามผิวน้ำ ของกองบัญชาการหน่วยเฉพาะกิจร่วม ซึ่งอยู่ในอาการขุ่นเคือง ได้ออกคำสั่งให้ รอเจอร์ส กลับมายัง อบู มูซา (Abu Musa) แต่ เรือโท มาร์ก คอลเยอร์ (Lt Mark Collier) นักบินของเฮลิคอปเตอร์ประจำเรือวินเซนส์ ก็ได้ไล่ติดตามพวกเรือเร็วของอิหร่าน ขณะที่เรือเหล่านั้นล่าถอยไปทางเหนือ ในที่สุดก็ได้ทำการยิงอยู่บ้าง:

... เรือวินเซนส์กลับเข้าไปในการสู้รบอีก แต่ถึงแม้พยายามมุ่งหน้าไปยังบริเวณที่มีเรือเร็ว (อิหร่าน) ส่วนใหญ่รวมกันอยู่ เขาก็ไม่สามารถหาเป้าหมายชัดๆ ได้ นอกจากนั้น ถึงตอนนี้พวกเรือเร็วเหล่านั้นก็เพียงแค่วิ่งเตร็ดเตร่อย่างช้าๆ ภายในน่านน้ำอาณาเขตของพวกเขาแล้ว แต่ทั้งๆ ที่ข้อมูลข่าวสารอันชัดเจนเป็นไปในทางตรงกันข้ามเช่นนี้แล้ว รอเจอร์ส ก็ยังคงรายงานหน่วยเหนือว่า พวกเรือปืนกำลังรวมตัวกันแล่นด้วยความเร็ว และกำลังแสดงเจตนาเป็นปรปักษ์ จากนั้นจึงได้รับอนุมัติให้ทำการยิงใส่เรือเหล่านั้นได้ในเวลา 09.39 น. ท้ายที่สุด ในการตัดสินใจที่กลายเป็นการชี้ชะตาอีกครั้งหนึ่ง เขานำเรือแล่นข้ามเข้าไปในพื้นที่ห่างจากชายฝั่งไม่ถึง 12 ไมล์ทะเล (22 กิโลเมตร) อันเป็นการเข้าสู่น่านน้ำของอิหร่านอย่างผิดกฎหมาย [42]

นาวาเอกรอเจอร์ส ไม่เคยถูกตำหนิโทษอย่างเป็นทางการจากการยิงเครื่องบินโดยสารลำนั้นตกเลย ตรงกันข้าม อีก 2 ปีให้หลัง เขากลับได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ "ลีเจียน ออฟ เมอริต" (Legion of Merit) สำหรับการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้บังคับการเรือวินเซนส์ แล้วหลังจากนั้นไม่นานเขาก็เกษียณจากราชการ

ปีเตอร์ ลี เป็นนักเขียนที่สนใจเรื่องกิจการเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ ตลอดจนจุดตัดกันระหว่างภูมิภาคเหล่านี้กับนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ

ที่มา -