ข่าว:

ห้ามโพสโฆษณา อาหาร ยา และเครื่องสำอางค์ รวมถึงสมุนไพรทุกชนิด ไม่ว่าจะมี อย. หรือไม่  เด็ดขาด หากพบจะแบนสมาชิกนั้นออกจากบอร์ดทันที

Main Menu

ขุดเจาะก๊าซอ่าวไทย..ใครว่าหมูๆ ! เรื่องเล่าจาก “แท่นอาทิตย์”

เริ่มโดย mrtnews, ส.ค 26, 14, 21:52:49 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 3 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

"สมปรารถนา คล้ายวิเชียร"

ท่ามกลางกระแสร้อนแรงของปฏิบัติการ "ทวงคืน" หรือ "ปฏิรูป" ฯลฯ พลังงานไทย


หนึ่งในประเด็นที่มักถูกหยิบยกมานำเสนอ ด้วยข้อเขียน ด้วยภาพกราฟิก หรือข้อมูลชาร์ตตาราง เพื่อโน้มน้าวให้เห็นความไม่ปกตินั่นคือ

-มีการทำกำไรมหาศาลจากการสำรวจ ขุดเจาะทรัพยากรปิโตรเลียมในอ่าวไทย ?

-การเปิดประมูลสัมปทานสำรวจ ขุดเจาะก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ที่ทำกันมา รัฐได้ประโยชน์น้อย เอกชนที่ลงทุนได้ประโยชน์มหาศาล ?

นั่นนำมาซึ่งคำถามว่า แท้จริงแล้ว บรรดาผู้รับสัมปทานสำรวจ ขุดเจาะก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต, กลุ่มบริษัท นอร์ธเทิร์น กัลฟ์ ออย (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน)หรือ ปตท.สผ. ฯลฯ ต่างเข้ามาลงทุนรับสัมปทานได้โดยง่ายและ ทำกำไรเป็นกอบเป็นกำกันทั้งนั้นด้วยหรือเปล่า

ผู้เขียนและ คณะผู้เข้าร่วมอบรมหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านวิทยาการพลังงาน รุ่นที่ 5 (วพน.5) มีโอกาสเดินทางไปดูงานและรับฟังข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ ฐานปฏิบัติการผลิตก๊าซธรรมชาติโครงการอาทิตย์ ของ ปตท.สผ.หรือที่เรียกกันว่า "แหล่งอาทิตย์"

นั่นทำให้ได้เห็นการปฏิบัติงาน และข้อมูลอีกมุมหนึ่งที่น่าสนใจ เกี่ยวโยงกับหลายๆ ประเด็นที่กำลังเป็นข้อถกเถียงเรื่อง "ปฏิรูปพลังงานไทย" อยู่ในขณะนี้

คุณพิเชษฐ์ แสงจันทร์ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายปฏิบัติการ โครงการอาทิตย์ และทีมวิศวกรที่ทำงานประจำแท่นร่วมกันให้ข้อมูล ตอบข้อซักถามในทุกๆ แง่มุม

ทำให้ได้รู้ว่า จากจุดเริ่มต้นในปี 2541 ที่ ปตท.สผ.เริ่มสำรวจโครงสร้างของแหล่งอาทิตย์ ใช้เวลานาน 10 ปีจึงได้เริ่มดำเนินการผลิตก๊าซธรรมชาติส่งผ่านท่อให้กับ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ในวันที่ 26 มีนาคม 2551

และเป็นฐานผลิตแหล่งแรกที่ดำเนินการทุกขั้นตอนโดย "คนไทย" ตั้งแต่การออกแบบ ดำเนินการจนถึงปฏิบัติการที่ต่อเนื่องมาจนทุกวันนี้

ทำให้ได้รู้ว่า เมื่อเริ่มขุดเจาะ นำก๊าซขึ้นมาใช้จริง ปริมาณที่ได้จากแต่ละหลุมเจาะ ไม่ได้มากหรือรวบรวมได้ง่ายเหมือนแหล่งก๊าซแห่งอื่นในต่างประเทศ หรือแม้กระทั่งในอ่าวไทยด้วยกันเอง

แน่นอนว่ามีบางจุดที่ขุดเจาะโดยมูลค่าการลงทุน 1 หลุมเจาะอาจสูงถึง 10-15-20 ล้านเหรียญสหรัฐ แล้วที่สุดก็ไม่พบก๊าซในปริมาณที่คุ้มค่าจะนำขึ้นมาใช้ในเชิงพาณิชย์

"บางครั้งต้องเจาะลงไปในความลึก 4 กิโลเมตร ในแหล่งที่ค่อนข้างกระจายตัวนั้น อาจไม่พบหรือพบน้อย ก็ต้องพัฒนาต่อ บางหลุมหากไม่ใช้อุปกรณ์ช่วยเพิ่มแรงดันก็ทำต่อไม่ได้ ก็ต้องมีการลงทุนเพิ่ม ดังนั้น นอกจากฐานใหญ่ที่นี่แล้ว เรายังต้องกระจายการขุดเจาะหลุมออกไปเรื่อยๆ บางจุดไกลจากที่นี่กว่า 50 กิโลเมตร ซึ่งด้วยการทำงานแบบนี้ จึงยังทำให้เรายังมีปริมาณการผลิตก๊าซได้อย่างต่อเนื่อง" เป็นคำบอกเล่าจากคุณพิเชษฐ์

นั่นคือ "ความเสี่ยง" ที่ผู้รับสัมปทานขุดเจาะปิโตรเลียมต้องเผชิญ บางรายที่โชคดี พบแหล่งที่มีปริมาณมาก และอาจไม่ต้องลงทุนเพิ่มมากนัก แต่กระนั้นก็ยังต้องดำเนินกระบวนการในขั้นตอนต่างๆ เพื่อให้ได้คุณภาพของก๊าซธรรมชาติตามมาตรฐานที่ผู้ซื้อหรือ ปตท.กำหนดไว้

คณะผู้ดูงานจาก วพน.5 ยังได้ทราบข้อมูลรายละเอียดการปฏิบัติงานที่จะต้องมีคนกว่า 100 ชีวิตทำงานอยู่ที่แท่นและหลุมเจาะต่างๆ ซึ่งห่างจากฝั่ง จ.สงขลาถึง 250 ก.ม. ตลอด 24 ชั่วโมงใน 365 วัน มีค่าใช้จ่ายที่ต้องขนย้ายส่ง อุปกรณ์ที่จำเป็นต่างๆ มีค่าซ่อมบำรุงรักษา ตลอดจนการลงทุนเพิ่มเติมเพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปตามมาตรฐาน ข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมทุกประการ

เมื่อได้รับรู้ข้อมูลรายละเอียดดังกล่าวแล้ว จึงเข้าใจได้ว่า เพราะเหตุใด ในบรรดาแปลงสัมปทานที่มีการเปิดประมูลมาก่อนหน้านี้ จึงมีทั้งเอกชนที่ประสบความสำเร็จ และมีไม่น้อยเหมือนกันที่ "ล้มเหลว" ไม่พบก๊าซหรือปิโตรเลียมมากอย่างที่คาดการณ์ไว้ จนต้องล้มเลิกโครงการ หรือคืนพื้นที่สัมปทานไปในที่สุด

ประเด็นที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันนั่นคือ นอกจากระบบสัมปทานที่ผ่านมาจะโยนความเสี่ยงให้ภาคเอกชนเป็นผู้รับภาระแล้ว อีกด้านหนึ่งรัฐบาลไทยก็ได้ประโยชน์จากค่าสัมปทาน จากการจัดเก็บค่าภาคหลวง รวมไปถึงการจัดเก็บภาษี ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้

ซึ่งภายใต้ระบบสัมปทานและการแบ่งผลประโยชน์ดังกล่าว ทำให้ประเทศไทยสามารถนำเอาทรัพยากรปิโตรเลียมมาใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เสริมความมั่นคงทางด้านพลังงาน นำไปใช้ทั้งในรูปของพลังงานเพื่อการผลิตไฟฟ้า รวมถึงพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ฯลฯ


ขณะเดียวกันก็ได้พัฒนาความรู้ ความสามารถในการบริหารจัดการ การสำรวจ-ขุดเจาะ หาแหล่งปิโตรเลียมได้ด้วยตัวเอง ทั้งยังนำเอาองค์ความรู้ที่เกิดขึ้น ขยายออกไปสำรวจ แสวงหาแหล่งพลังงานในภูมิภาคอื่นๆ ของโลกด้วยในขณะนี้

นี่คือส่วนหนึ่งของเรื่องราวและเรื่องเล่าจากผู้ปฏิบัติงาน "แท่นอาทิตย์" ซึ่งน่าจะมีประโยชน์ไม่น้อยสำหรับผู้ที่ติดตามรับฟังข้อมูลอย่างรอบด้านเกี่ยวกับทิศทางการปฏิรูปพลังงานไทย

บนความต้องการที่จะให้รัฐได้ประโยชน์หรือผลตอบแทนสูงสุดนั้น ถึงที่สุดแล้วจะตอบโจทย์สำหรับผู้ที่ต้องการเข้ามาลงทุนเพื่อพัฒนาแหล่งปิโตรเลียม ซึ่งต้องรับความเสี่ยง ในระยะยาวหรือไม่(มีข้อมูลในหลายประเทศที่เลือกใช้ระบบสัมปทาหรือการแบ่งสัดส่วนรายได้เพื่อให้รัฐได้ประโยชน์สูง แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่มีเอกชนสามารถเข้ามาพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมได้)

หรือท้ายที่สุดแล้ว อาจต้องพิจารณาควบคู่กันไปทั้งผลประโยชน์ของรัฐที่คุ้มค่า เหมาะสม และยังคงตอบโจทย์ด้านการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานไปพร้อมๆ กัน

ที่มา -