ข่าว:

ห้ามโพสโฆษณา อาหาร ยา และเครื่องสำอางค์ รวมถึงสมุนไพรทุกชนิด ไม่ว่าจะมี อย. หรือไม่  เด็ดขาด หากพบจะแบนสมาชิกนั้นออกจากบอร์ดทันที

Main Menu

แผนขนส่งทะเล "เวียดนาม" เชื่อมโลจิสติกส์-หนุนการเติบโต

เริ่มโดย mrtnews, พ.ย 20, 14, 06:36:01 ก่อนเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

ตั้งแต่เวียดนามเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) เมื่อปี 2550 ปริมาณการนำเข้าและส่งออกสินค้าทางทะเลได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก จากสถิติของสมาคมท่าเรือเวียดนาม (Vietnam Seaport Association) ปริมาณสินค้าในปี 2550 มีมากกว่า 170 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาถึง 20% และคาดว่าปริมาณที่ขนส่งทางทะเลในอีก 2-3 ปีข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 25% ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่สูงมาก เมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยปีละ 13% ในช่วงปี 2544 - 2549


เวียดนามมีชายฝั่งทะเลยาว 3,260 กิโลเมตร มีจำนวนท่าเรือรวมทั้งสิ้น 126 แห่งเป็นท่าเรือระหว่างประเทศ 24 แห่ง ซึ่งในจำนวนนี้เป็นท่าที่ใช้เทียบเรือบรรทุกคอนเทนเนอร์ 16 แห่ง ท่าเทียบเรือเฉพาะสินค้า (เช่น น้ำมันและถ่านหิน) 8 ท่า และที่เหลือเป็นท่าเรืออเนกประสงค์

ข้อมูลจากเว็บไวต์ อาเซมคอนเน็คเวียดนาม รายงานถึงแผนพัฒนาการขนส่งทางทะเลของเวียดนามภายในปี 2563 เพื่อสร้างวิสัยทัศน์ที่ดีในปี 2573 โดยมีวัตถุประสงค์ในการพัฒนากองทัพเรือของเวียดนามให้สอดคล้องกับโครงสร้างสมัยใหม่ ซึ่งเริ่มมีการแข่งขันในตลาดต่างประเทศมากขึ้น อีกทั้งยังเน้นไปที่เรื่องของการลงทุนท่าเรือน้ำลึก ท่าเรือเพื่อการขนส่ง และเกตเวย์พอร์ตระหว่างประเทศ ให้เป็นไปอย่างยั่งยืนในอนาคตด้วย

มุมมองและเป้าหมาย

ทางการเวียดนามต้องการเพิ่มข้อได้เปรียบของทำเลที่ตั้งทางภูมิศาสตร์และสภาพทางธรรมชาติให้มีศักยภาพมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่ง"ทางทะเล" ให้ดำเนินการในรูปแบบการพัฒนาอย่างครอบคลุมและมีความก้าวหน้าในเรื่องของการขนส่งทางทะเล อันนำไปสู่ความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ทางทะเลของเวียดนามในปี 2563 ด้วยการพัฒนาท่าเรือที่สำคัญๆของเวียดนามให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อาทิ ท่าเรือกว๋างนิง ท่าเรือไฮฟอง ท่าเรือดานัง ท่าเรือไซง่อน ท่าเรือเกิ่นเทอ ท่าเรือก๋ายกุย และท่าเรือกวีเญิน เป็นต้น รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพเรื่องการรักษาความปลอดภัยและปกป้องประเทศ

นอกจากนี้ เวียดนามยังเน้นการพัฒนาการขนส่งทางทะเลให้มีความทันสมัย ราคาประหยัด ปลอดภัย จำกัดเรื่องมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และประหยัดพลังงาน ซึ่งเวียดนามต้องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการขนส่งทางทะเล และให้ความสำคัญต่อการขยายตลาดทั้งในภูมิภาคและนอกภูมิภาคด้วย

ทั้งนี้ รัฐบาลเวียดนามพยายามพัฒนาการขนส่งทางทะเลให้มีศักยภาพและสามารถเชื่อมโยงกับการขนส่งอื่น ๆ อาทิ ทางบก ทางน้ำ และทางรถไฟ เพื่อสร้างระบบขนส่งและโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ ต่อเนื่องและครอบคลุม

ทิศทางการพัฒนา

ในปี 2563 ระบบการขนส่งของเวียดนามจะสามารถตอบสนองความต้องการได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งอัตราการเติบโตที่เชื่อว่าในอนาคตจะขยายตัวอย่างรวดเร็วจะสร้างความเชื่อมั่นได้ว่า ระบบการขนส่งเปี่ยมไปด้วยคุณภาพ ราคาที่เหมาะสม และการป้องกันการเกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม โดยจะจำแนกเป็น 4 สาขาหลัก ได้แก่ การจัดส่งสินค้า ระบบท่าเรือ ระบบอุตสาหกรรมเรือ และบริการทางทะเลด้านการจัดส่งสินค้าจะเน้นการพัฒนาศักยภาพเพื่อตอบสนองความต้องการในการบริการทางทะเลที่มากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มส่วนแบ่งตลาดของการนำเข้า-ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์เป็น 27-30%รวมไปถึงการขนส่งสินค้าต่างประเทศในเส้นทางทางทะเลที่ไกลออกไป

ส่วนการพัฒนาระบบท่าเรือ เวียดนามตั้งเป้าว่า ในกรอบเวลาของแผนพัฒนาท่าเรือภายในปี 2563 และวิสัยทัศน์ปี 2573จะมุ่งพัฒนาท่าเรือให้สอดรับกับความต้องการทั้งยังเน้นย้ำความสำคัญต่อการลงทุนท่าเรือและการก่อสร้างโดยเร็วที่สุดซึ่งการลงทุนถือเป็นกุญแจดอกสำคัญในการใช้ประโยชน์จากท่าเรือและตอบสนองตามนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศด้วย

อีกหนึ่งสาขาที่สำคัญคือ การพัฒนาอุตสาหกรรมเรือ เวียดนามวางเป้าหมายจะพัฒนารัฐวิสาหกิจต่อเรือ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า "วีนาชิน" (Vinashin) ให้ก้าวไกลที่สุดในภูมิภาคภายในปี 2563

เวียดนามต้องการสร้างเรือบรรทุกสินค้าที่มีขนาดระวางบรรทุกรวม 300,000 เดทเวทตัน ซึ่งรวมไปถึงการเพิ่มเรือโดยสาร, เรือบรรทุกน้ำมัน, เรือกู้ภัย, เรือสำหรับการค้นหา และเรือที่ใช้ปกป้องความปลอดภัยทางทะเล ซึ่งจะตอบสนองดีมานด์ได้ราว 65-70% ของทั้งหมด ระหว่างช่วงเวลา 2553-2563


สุดท้ายคือ ภาคบริการทางทะเล เวียดนามพยายามผลักดันเรื่องการสนับสนุนภาคการบริการ โดยเฉพาะการบริการด้านโลจิสติกส์ที่มีหลากหลายรูปแบบ ซึ่งทุก ๆ รูปแบบจะพัฒนาคุณภาพสูงอย่างเท่าเทียม เวียดนามมุ่งมั่นที่จะพัฒนาด้านโลจิสติกส์แบบครบวงจร และขยายความต้องการในต่างประเทศด้วย ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

เวียดนามต้องการพัฒนาประเทศเป็นศูนย์กลางขนส่งทางทะเลเพราะมีชายฝั่งทะเลยาวกว่า3,000 กิโลเมตร โดยทางเหนือจะใช้ท่าเรือไฮฟอง ส่วนกลางของประเทศจะมีท่าเรือดานัง หรือท่าเรือดองฮาและทางใต้ก็จะมีท่าเรือเซียงไฮ้ หากดูจากแผนที่แล้ว เวียดนามจะตั้งอยู่ในภูมิรัฐศาสตร์ที่เหมาะสมในการใช้ประโยชน์จากการเป็น "RIMLAND" คือ ประเทศที่มีชายฝั่งทะเลติดกับผืนแผ่นดินใหญ่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเส้นทางโลจิสติกส์ขนส่งทางทะเลผ่านทางเส้นทางมหาสมุทรแปซิฟิกไปสู่ประเทศจีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย รวมทั้งสหรัฐอเมริกา

อย่างไรก็ตาม แม้การพัฒนาโลจิสติกส์ของเวียดนามจะยังไม่พัฒนาเท่าที่ควร กรอบเวลาในการพัฒนาจึงอาจต้องใช้เวลานานกว่าจะเห็นอย่างเป็นรูปธรรม แต่หากแผนการพัฒนาดังกล่าวบรรลุผลตามกรอบเวลาที่วางไว้ เชื่อว่า ในระยะยาวเวียดนามอาจกลายเป็นฮับในเรื่องการขนส่งทางทะเล ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจในประเทศเติบโตได้อย่างสวยหรู

ที่มา -