ข่าว:

รับสมัครเฉพาะชาวเรือและผู้ที่สนใจที่เป็นคนไทยเท่านั้น สมัครแล้วรออนุมัติประมาณ 2-3 วัน หากต้องการด่วนโปรดแจ้ง webmaster@marinerthai.net

Main Menu

ปตท. เดินหน้าแผนลงทุน 5 ปี รุกธุรกิจก๊าซสร้างท่อเส้น-คลัง LNG เฟส 3

เริ่มโดย mrtnews, พ.ย 25, 14, 22:28:43 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

ปัจจุบันมีการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า อุตสาหกรรม ยานพาหนะ เป็นจำนวนมาก และมีแนวโน้มการขยายตัวเพิ่มมากขึ้นในอนาคต เนื่องจากเป็นแหล่งเชื้อเพลิงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสามารถแข่งขันด้านราคากับน้ำมันได้ ดังนั้น บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ต้องหาพลังงานดังกล่าว มารองรับความต้องการภายในประเทศต่อไป


โดยในปี 2013 ตลาดโลกมีปริมาณการซื้อ-ขาย LNG ตามสัญญาประมาณ 236.9 MTPA ซึ่งประเทศที่เป็นผู้ผลิตและส่งออกก๊าซธรรมชาติมีหลายประเทศแต่รายใหญ่ที่สุดคือ ประเทศกาตาร์ ส่งออกประมาณ 78MTPA รองลงมาคือประเทศ มาเลเซีย 24.6 MTPA ส่วนผู้ที่นำเข้า LNG มากที่สุดเป็นประเทศ ญี่ปุ่น 87.9 MTPA รองลงมาคือประเทศเกาหลีใต้ 40.4 MTPA

ปตท.เตรียมแผนลงทุนท่อก๊าซ

ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT กล่าวในระหว่างการพาสื่อมวลชนเยี่ยมชม Tokyo Gas ว่า ปตท.เตรียมเงินลงทุนตามแผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติ โดยคาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 2.19 แสนล้านบาท ในระยะเวลา 9 ปี (2558-2566) ที่คณะกรรมการบริษัท ปตท.เพิ่งมีมติอนุมัติไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาอนุมัติเห็นชอบการลงทุน ก่อนจะเสนอให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พิจารณาค่าผ่านท่อก๊าซ

สำหรับแผนการลงทุน ปตท.จะเน้นที่โครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติ คือ ท่อก๊าซหลักเส้นที่ 5 จาก จ.ระยอง-ไทรน้อย ผ่านเข้าไปยังโรงไฟฟ้าพระนครเหนือและโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ใช้เงินลงทุนประมาณ 1 แสนล้านบาท โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2564

นอกจากนี้ ยังมีโครงการผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวลอยน้ำ (FLNG) 2 ลำ วงเงินลงทุน 3 หมื่นล้านบาท/ลำ โดยจะตั้งบริเวณภาคใต้ 1 ลำ เพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานในภาคใต้และจะลงทุนในโครงการผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวลอยน้ำอีก 1 ลำ ในฝั่งพม่า

ขณะเดียวกัน จะมีการลงทุนเพิ่มหน่วยบริหารคุณภาพก๊าซธรรมชาติเหลวและท่อก๊าซในทะเล รวมทั้งลงทุนตั้งคลัง LNG เฟส 3 ขนาด 5 ล้านตัน

"แผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติของ ปตท.ทั้งหมดจะใช้งบลงทุน 2.19 แสนล้านบาท กำหนดแล้วเสร็จในปี 2566 โดยงบทั้งหมดจะลงทุนท่อเส้นที่ 5 กว่าครึ่งหนึ่ง"

ทั้งนี้ หากรัฐบาลปรับโครงสร้างราคาขายปลีกก๊าซ NGV ปตท.จะขยายสถานีหลัก NGV เพิ่มขึ้นตามแผนหลังจากที่ผ่านมาได้ชะลอการลงทุน เพราะยิ่งขายมากก็ยิ่งขาดทุนมาก เนื่องจากต้นทุนการผลิต NGV อยู่ที่ 16 บาท/กก. แต่ราคาขายปลีกอยู่ที่ 10.50 บาท/กก. แม้ว่าปัจจุบันจะมีการปรับขึ้นมาเป็น 11.50 บาท/กก.

เตรียมขายกำลังผลิตโรงแยกก๊าซ

นอกจากนี้ การปรับขึ้นราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LPG) ปตท.ก็มีโอกาสขยายกำลังการผลิตของโรงแยกก๊าซได้อีกประมาณ 1.5 แสนตัน/ปี โดยปัจจุบันราคาขายหน้าโรงแยกก๊าซถูกกำหนดไว้ที่ 333 เหรียญสหรัฐ/ตัน ที่ผ่านมา ปตท.ได้ขอปรับราคาขายที่ 500 เหรียญสหรัฐ/ตัน แต่ก็ยังไม่ได้รับคำตอบจากรัฐบาล ทั้งๆ ที่ราคานำเข้าก๊าซ LPG สูงถึง 900 เหรียญสหรัฐ/ตัน

ปัจจุบันต้นทุนเฉลี่ยก๊าซ LPG ของ ปตท.อยู่ที่ 540 เหรียญสหรัฐ/ตัน มาจาก 3 แหล่ง คือ โรงแยกก๊าซของ ปตท. ในสัดส่วน 46% โรงกลั่นของกลุ่ม ปตท.27% และมาจากการนำเข้าอีกประมาณ 27% ขณะที่ราคาขายก๊าซ LPG ในตลาดโลกขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 605 เหรียญสหรัฐ/ตัน

ก่อนหน้านี้ ปตท.ชี้แจงว่าเตรียมการก่อสร้างสถานีรับจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG Terminal ที่ประเทศพม่า บริเวณจุดที่ท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากแหล่งก๊าซยาดานาและเยตากุน และก๊าซจากแหล่งซอติก้ามาขึ้นฝั่ง เพื่อที่จะส่งต่อก๊าซมายังประเทศไทย

ทั้งนี้ หากรัฐบาลยังไม่รีบตัดสินใจเชิงนโยบายในการเลือกพื้นที่ให้ ปตท.สร้างสถานีรับจ่ายและคลัง LNG เฟส 3 อีก 5 ล้านตัน/ปี ในประเทศไทย ปตท.จะเดินหน้าสร้างสถานีรับจ่าย LNG ที่พม่า

สำหรับเงินลงทุนในปี 2558 จะใช้อยู่ประมาณ 5.29 หมื่นล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นจากปี 2557 ที่จะใช้เงินลงทุน 5.55 หมื่นล้านบาท โดยงบลงทุนดังกล่าวยังคงเป็นไปตามแผนลงทุน 5 ปี (ปี 2557-2561) ที่รวม 3.27 แสนล้านบาท

โดยทางบริษัทได้มีการปรับลดงบลงทุนในปี 2557 ลงเหลือ 5.55 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่จะลงทุน 8.69 หมื่นล้านบาท ดังนั้น ทำให้คงเหลืองบลงทุนในช่วงปี 58-61 อยู่ที่ประมาณ 2.39 แสนล้านบาท สำหรับงบลงทุน 5 ปีดังกล่าว ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ 42% เช่น การวางท่อส่งก๊าซเส้นที่ 4, การลงทุนในบริษัทร่วม รวมถึงการ M&A ประมาณ 24%

นอกจากนี้ ยังมีการก่อสร้างคลังก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) 14% ซึ่งปัจจุบันเป็นการสร้างคลังแห่งที่ 2 เพื่อรองรับการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น โดยขณะนี้มีการนำเข้าราว 1.9-2.0 ล้านตัน ธุรกิจน้ำมันและเทรดดิ้ง 17% ทั้งนี้ PTT มีสัดส่วนกำไรที่มาจากธุรกิจ ปตท. 45%, บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม 34%, ปิโตรเคมี 14%, โรงกลั่น 3% ส่วนที่เหลือมาจากธุรกิจอื่นๆ

ธุรกิจ LNG ในประเทศญี่ปุ่น

ประเทศญี่ปุ่นมีการนำเข้า LNG เป็นประเทศแรกของโลกตั้งแต่ปี 1969 และปัจจุบันเป็นประเทศที่นำเข้า LNG รายใหญ่ที่สุดของโลก ในปี 2013 มีการนำเข้าประมาณ 87.9 ล้านตัน คิดเป็น 37.1% สำหรับความต้องการ LNG ของโลกในปี 2013 โดยในปัจจุบันมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวจากแหล่งผลิตที่สำคัญ ได้แก่ ประเทศกาตาร์ ออสเตรเลีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และรัสเซีย

Tokyo Gas Negishi LNGTerminal ของ Tokyo Gas เป็นสถานีรับก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquefied Natural Gas) แห่งแรกของประเทศญี่ปุ่น ตั้งอยู่ที่ Negishi เมืองโยโกฮามา ก่อสร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1966 ใช้รับ LNG จากหลายประเทศ ได้แก่ กาตาร์ อลาสก้า ออสเตรเลีย บรูไน และ มาเลเซีย เป็นต้น

Tokyo Gas Negishi LNG terminal แห่งนี้ถูกเชื่อมกับระบบ City Gas โดยที่ 80% ของ LNG จะถูกส่งไปใช้ในเมือง ส่วนที่เหลือ 20% จะถูกส่งไปที่ Tokyo Electric Power Co., Inc. (TEPCO) เพื่อผลิตไฟฟ้าระบบ City Gas สามารถจ่าย LNG เพื่อนำไปใช้ในภาคครัวเรือนผ่านระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติด้วยความดันระดับปานกลางและสูง ญี่ปุ่นขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่เกิดแผ่นดินไหวบ่อยๆ เรื่องความปลอดภัยจึงถือว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง หากเกิดปัญหาหรือมหันตภัยร้ายแรงขึ้น ระบบ City Gas จะหยุด ก๊าซก็จะไม่ถูกส่งต่อ และตามมาด้วยมาตรการรองรับต่างๆ ก่อนส่ง LNG เข้าระบบก็จะมีการตรวจสอบเพื่อให้ได้ก๊าซที่มีมาตรฐาน จากนั้นก็จะเปลี่ยน LNG ให้เป็นก๊าซผ่านกระบวนการทำให้เป็นไอโดยใช้น้ำทะเล นอกจากนี้ น้ำอุ่นที่ได้จากกระบวนการดังกล่าวยังสามารถนำกลับมาใช้ได้อีกในกระบวนการผลิตเพื่อประสิทธิภาพสูงสุด หลังจากที่ LNG ถูกเปลี่ยนเป็นก๊าซแล้วก็จะถูกจ่ายออกไปผ่านระบบท่อส่งก๊าซฯ รถบรรทุกก๊าซฯ และเรือบรรทุกก๊าซฯ

ประเทศญี่ปุ่นพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันในสัดส่วนที่สูงถึง 99.7% และมีสัดส่วนการนำเข้าจากแหล่งในตะวันออกกลางสูงถึง 87% ในขณะที่ประเทศไทยพึ่งพาการนำเข้าน้ำมัน 83% ดังนั้นประเทศญี่ปุ่นจึงมีความจำเป็นต้องพัฒนาอุตสาหกรรมต้นน้ำและปลายน้ำไปพร้อมกัน

ก๊าซธรรมชาติเหลวแข่งเดือด

การค้าระหว่างประเทศครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อญี่ปุ่นประสบกับวิกฤตการณ์น้ำมันเมื่อ 30 ปีที่แล้ว โดยผู้จำหน่ายหลักก๊าซธรรมชาติเหลวระดับโลกคือประเทศแอลจีเรีย ออสเตรเลีย บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย และกาตาร์


ประเทศญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างของการลดการนำเข้าน้ำมันเมื่อราคาน้ำมันสูงขึ้น โดยเฉพาะการนำเข้าจากประเทศตะวันออกกลาง ญี่ปุ่นหันมานำเข้าก๊าซธรรมชาติจากประเทศสหรัฐอเมริกาแทนในรูปของ LNG ที่ส่งด้วยเรือจากอลาสกา

ในทวีปเอเชีย มีการผลิตและส่งออก LNG จากประเทศบรูไน อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ไปยังประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยประเทศจีนและอินเดียได้เข้าร่วมในตลาด LNG ของเอเซียในช่วงต้นทศวรรษนี้ด้วย

ปัจจุบันญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีการนำเข้า LNG ใหญ่ที่สุด คิดเป็น 50 เปอร์เซ็นต์ของการซื้อขาย LNG ทั่วโลก โดยที่ประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน มีปริมาณการนำเข้า LNG คิดเป็น 65 เปอร์เซ็นต์ของความต้องการ LNG ทั่วโลก

LNG ถูกนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงโดยมีการขนส่งระหว่างประเทศเมื่อประมาณกว่า 30 ปีมาแล้ว โดยประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียที่มีการนำเข้า LNG ระหว่างช่วงวิกฤติการณ์น้ำมันครั้งที่ 1 (พ.ศ.2516)

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากแหล่งก๊าซธรรมชาติที่มีปริมาณมากอยู่ในประเทศทางแถบตะวันออกกลาง เช่น อิหร่าน กาตาร์ เยเมน ซึ่งยังมีแหล่งก๊าซฯ จำนวนมากในประเทศออสเตรเลียเช่นกัน แต่ประเทศเหล่านี้อยู่ห่างไกลจากประเทศไทยมากเกินกว่าการขนส่งก๊าซธรรมชาติจากแหล่งผลิตไปยังผู้ใช้ด้วยระบบท่อ ดังนั้นจึงต้องมีการขนส่งด้วยเรือโดยการแปลงสภาพก๊าซธรรมชาติให้กลายสภาพเป็นของเหลวก่อน ซึ่งจะช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่าการขนส่งด้วยระบบท่อ ทั้งนี้ เรือที่ใช้ในการขนส่ง LNG ได้รับการออกแบบไว้สำหรับขนส่ง LNG โดยเฉพาะ เพื่อเก็บกัก LNG ให้ปลอดภัยในการขนส่งและยังคงสภาพของเหลวมากที่สุด

ปตท.โต้ สตง.คืนท่อก๊าซฯ ครบ

นายไพรินทร์ เปิดเผยถึงกรณีที่นายพิสิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินระบุว่า ปตท.ยังคืนท่อก๊าซธรรมชาติให้แผ่นดินไม่ครบนั้น ยืนยันว่าได้ดำเนินการตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดครบถ้วนแล้วตั้งแต่ 22 ธันวาคม 2551 พร้อมได้รายงานไปยังศาลฯ ซึ่งต่อมาวันที่ 26 ธันวาคม 2551 และ 20 กุมภาพันธ์ 2552 สตง.ได้ทำหนังสือท้วงติงไปและศาลฯ เองได้ทำหนังสือตอบกลับ สตง. ลงวันที่ 10 มีนาคม 2552 ระบุว่าผู้ถูกฟ้องได้ดำเนินการตามคำพิพากษาเรียบร้อยแล้ว

"ปตท.ยึดตามคำสั่งศาลเราทำอะไรมากไปกว่านี้ไม่ได้ผมเองก็ถามศาลฯ มาตลอดและได้รับการยืนยันว่ามีหนังสือถึง สตง.นานแล้ว ผมเองก็เพิ่งรู้ว่ามีหนังสือถึงเมื่อ ต.ค.นี้เอง แต่ไม่เข้าใจว่าทำไม สตง.เก็บเรื่องนี้ไม่เอาหนังสือนี้มาเปิดเผยและได้คุยกับคุณพิสิทธิ์แล้วซึ่งก็มีสิทธิ์จะชี้ประเด็นได้และเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องของ สตง.กับศาลฯ และหากยึดกฎหมายสูงสุดที่มีฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ ศาลฯ ก็เป็นอำนาจสูงสุดที่ ปตท.ยึดซึ่งถ้าศาลฯ ตัดสินใหม่ก็ไม่มีปัญหา" นายไพรินทร์ กล่าว

นายไพรินทร์ กล่าวว่า ศาลฯ ได้มีคำสั่ง 14 ธันวาคม 2550 ให้ ปตท.ดำเนินการโอนทรัพย์สินที่ได้จากอำนาจมหาชนในการรอนสิทธิ์โดยให้เวลา 3 เดือน ซึ่งท่อก๊าซฯ ในทะเลอยู่ในทะเลห่างจากฝั่ง 400 กิโลเมตรเกิน 12 ไมล์ทะเลตามหลักสากลจึงไม่ต้องรอนสิทธิ์และ ปตท.ก็ใช้เงินลงทุนของตนเองจึงไม่ต้องคืนรัฐ ซึ่งวันที่ 18 ม.ค.50 ครม.รับทราบคำสั่งศาลและให้ ปตท.ไปดำเนินการแต่ช่วงนั้นกำลังจะมี พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงานซึ่งการดำเนินโอนท่อให้กรมธนารักษ์จึงล่าช้าและขอขยายเวลา 4 ครั้งใช้เวลาดำเนินการปประมาณ 1 ปี กว่าจะแล้วเสร็จ

ทั้งนี้ ปตท.ได้รายงานศาลฯ ตลอดการทำงานรวมถึงผู้เกี่ยวข้องได้รายงานความคืบหน้าให้ศาลรับทราบตลอดรวม 9 ครั้ง จนกระทั่งดำเนินการโอนได้เสร็จสิ้น และเสนอต่อศาลครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2551

อย่างไรก็ตาม กรณีของนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง ตนยอมรับว่าได้ดำเนินการยื่นฟ้องไปแล้วกรณีระบุว่า ปตท.ให้ข้อมูลเท็จกับศาลฯ ทำให้เกิดการคืนท่อก๊าซฯ ไม่ครบ ซึ่งตรงนี้ถือเป็นการละเมิด ปตท.จึงต้องฟ้องฯ และหาก ปตท.ผิดจริงทำไมคุณธีระชัยไม่ไปฟ้องร้องที่ศาลฯ

"ผมยืนยันว่าได้ให้ข้อมูลศาลฯ ไปหมดแล้วตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งถ้าคุณธีระชัยละเมิดศาลฯ ก็เป็นเรื่องของศาลฯ แต่ถ้าละเมิด ปตท.ผมก็ต้องฟ้องซึ่งเรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อรัฐบาลสมัยนายชวน หลีกภัย ได้กำหนดพระราชบัญญัติการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ซึ่ง ปตท.เป็น 1 ใน 4 ที่ได้ถูกแปรรูปซึ่งการแปรรูป ปตท.มาสำเร็จได้ในรัฐบาลทักษิณ โดยกระทรวงการคลังยังคงถือหุ้นใหญ่" นายไพรินทร์ กล่าว

ที่มา -