ข่าว:

ห้ามโพสโฆษณา หาเงินทางเน็ต งาน Part-time MLM ทุกรูปแบบ ธุรกิจที่มี downline ปั่นลิก์ SEOเด็ดขาด หากพบจะแบนสมาชิกนั้นออกจากบอร์ดทันที

Main Menu

สภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือร้องถูกบริษัทเรือเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเดินเรือไม่เป็นธรรม

เริ่มโดย mrtnews, ธ.ค 09, 14, 23:22:32 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

กรุงเทพฯ 9 ธ.ค. 57 – สภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือ ขอกระทรวงพาณิชย์ตรวจสอบการปรับขึ้นค่าใช้จ่ายในท่าเรือ หวั่นกระทบผู้ประกอบการ ทำส่งออกปีหน้าไม่เป็นตามคาด


นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีที่บริษัทสายการเดินเรือ ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ 6 สาย อาทิ  China Shipping, Evergreen และ Yang Ming ประกาศปรับค่าใช้จ่ายในท่าเรือ หรือ THC สำหรับตู้สินค้าส่งออก ที่จะเริ่มในวันที่ 1 มกราคม 2558 เฉลี่ยกว่าร้อยละ 62-74 โดยเห็นว่าการปรับขึ้นค่าใช้จ่ายดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีให้สูงขึ้น จะทำให้ต้นทุนการขนส่งสินค้าทางทะเลสำหรับการส่งออกเพิ่มขึ้นถึง 7,050 ล้านบาท/ปี และเมื่อรวมค่าใช้จ่ายอื่นที่ปรับเพิ่มขึ้นจะทำให้ผู้ส่งออกต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเพิ่มถึง 9,920 ล้านบาท/ปี ทำให้ผู้ส่งออกกังวลว่าจะทำให้การส่งออกในไตรมาสที่ 1 ของปีหน้าขยายตัวต่ำกว่าที่คาด และเป้าการส่งออกในปีหน้าที่คาดว่าขยายตัวได้ร้อยละ 4 อาจเป็นไปได้ยาก

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการยังเป็นห่วงเรื่องความโปร่งใสและกระทบต่อการเอารัดเอาเปรียบผู้ประกอบการ ซึ่งจะส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขัน เนื่องจากต้นทุนผู้ประกอบการสูงขึ้น โดยไม่ได้เกิดจากการพัฒนาสินค้าส่งออก และยังเป็นอุปสรรคต่อการเป็นศูนย์กลางทางการค้า เพราะกฎระเบียบค่าบริการการส่งออกต่างๆ ยังไม่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาการส่งออก ซึ่งจะทำให้นักลงทุนต่างชาติย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้านได้

นายนพพร กล่าวอีกว่า หากต้องการให้การส่งออกเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ และช่วยเหลือผู้ประกอบการให้แข่งขันได้ จึงอยากให้กระทรวงพาณิชย์เข้ามาแก้ไข ทั้งในระยะเร่งด่วน ระยะปานกลาง และระยะยาว โดยในระยะเร่งด่วน ด้วยการให้กรมการค้าภายในเรียกบริษัทสายการเดินเรือมาชี้แจงเหตุผลและต้นทุนในการปรับขึ้นค่าบริการที่แท้จริง โดยต้องยกเลิกการปรับขึ้นอัตราค่าบริการใหม่ และเก็บในอัตราเดิมที่ประกาศโดยการท่าเรือแห่งประเทศไทย คือ 2,600 บาท และ 3,900 บาท ไปก่อนจนกว่าจะได้ข้อสรุป

ส่วนระยะปานกลาง บริษัทสายการเดินเรือต้องทำโครงสร้างต้นทุนการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศอย่างเป็นรูปธรรม และสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ต้องกำหนดดัชนีค่าระวางให้ชัดเจน และระยะยาวต้องกำหนดให้การคิดค่าบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศเป็นสินค้าควบคุม เพื่อให้การปรับขึ้นค่าบริการมีความเหมาะสมและเป็นธรรมมากที่สุด ทั้งนี้ ปัญหาดังกล่าวสภาผู้ส่งออกฯ จะเสนอเรื่องให้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3สถาบัน ภายในเดือนนี้ และจะนำปัญหาไปหารือกับทางคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) และคณะกรรมาธิการการพาณิชย์ สนช.ได้พิจารณากันต่อไป.

ที่มา -




ผู้ส่งออกแบกต้นทุนเกือบหมื่นล้าน เหตุสายเรือขึ้นค่า THC กว่า 74%

ในวันนี้ 9 ธ.ค. 2557 สภาผู้ส่งออก เผยสายเรือ SITC, Hanjin, Yang Ming, OOCL, Evergreen, China Shipping, และ Wan Hai ได้ประกาศปรับขึ้นค่า THC สำหรับตู้สินค้าส่งออก ขณะที่สายเรือและตัวแทนสายเรืออื่นอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับขึ้นค่าใช้จ่ายในอัตราเดียวกัน

- ตู้ Dry ขนาด 20 ฟุต จากเดิม 2,600 บาท เป็น 4,400 บาท เพิ่มขึ้น 69.23%
- ตู้ Dry ขนาด 40 ฟุต จากเดิม 3,900 บาท เป็น 6,800 บาท หรือเพิ่มขึ้น 74.36%
- ตู้ Reefer ขนาด 20 ฟุต จากเดิม 3,200 บาท เป็น 4,650-5,250 บาท หรือเพิ่มขึ้น 64.06%
- ตู้ Reefer ขนาด 40 ฟุต จากเดิม 5,000 บาท เป็น 8,100 บาท หรือเพิ่มขึ้น 62%

ค่าใช้จ่าย THC ที่เพิ่มขึ้นนี้จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการขนส่งสินค้าทางทะเลสำหรับการส่งออกที่เพิ่มขึ้นถึง 7,050 ล้านบาทต่อปี และเมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ปรับเพิ่มขึ้นโดยผู้ให้บริการโลจิสติกส์ในปัจจุบัน อาทิ ค่า Document Fee ค่า Seal ตู้คอนเทนเนอร์ ค่า Lift on / off Charge ค่า Administration Fee และค่า Reefer Monitoring Fee เป็นต้น จะทำให้ผู้ส่งออกต้องแบกรับค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มสำหรับการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศถึงกว่า 9,920 บาทต่อปี

ทั้งนี้ ค่า THC ถือว่าเป็น Cost Recovery Item หรือการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพื่อชดเชยต้นทุนที่สายเรือ/ตัวแทนเรือต้องจ่ายจริงให้กับการท่าเรือแห่งประเทศไทย และผู้ประกอบการท่าเทียบเรือ ณ ท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือเอกชน ซึ่งไม่ใช่ค่าใช้จ่ายสำหรับให้สายเรือ/ตัวแทนเรือเรียกเก็บเพื่อหากำไร หรือนำไปชดเชยการขาดทุนจากต้นทุนด้านอื่น

จากการหารือกับผู้บริหารระดับสูงของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ทราบว่ายังคงอัตราการเรียกเก็บเท่าเดิม ขณะที่ข้อมูลจากผู้ประกอบการท่าเทียบเรือคอนเทนเนอร์ ณ ท่าเรือแหลมฉบังพบว่า มีการเรียกเก็บค่า THC จากสายเรือ/ตัวแทนเรือ ในส่วนที่ผู้ส่งออกต้องรับผิดชอบไม่เกินอัตราตามที่การท่าเรือแห่งประเทศไทยเรียกเก็บ นอกจากนี้ผู้ประกอบการท่าเทียบเรือส่วนใหญ่ยังมีการให้ส่วนลดกับสายเรืออีกส่วนหนึ่ง ดังนั้น จึงไม่มีเหตุผลสมควรที่สายเรือประกาศปรับขึ้นค่า THC ในครั้งนี้

ทั้งนี้ จากเป้าหมายของกระทรวงพาณิชย์ที่ต้องการผลักดันให้การส่งออกไทยในปี 2558 เติบโต 4% การปรับเพิ่มขึ้นค่า THC และการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม โดยไม่สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริง ถือเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับผู้ส่งออกไทย เพราะผู้ซื้อคงไม่ยอมรับกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นโดยไม่มีเหตุผลสมควร ซึ่งหากไม่มีการดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วนจะส่งผลกระทบต่อเป้าหมายการส่งออกที่กำหนดไว้


อย่างไรก็ตาม จากความพยายามในการปรับขึ้นค่า THC ของสายเรือ โดย Intra-Asia Discussion Agreement (IADA) ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มอย่างไม่เป็นทางการของสายเรือที่ให้บริการในเส้นทางภายในเอเชียกว่า 40 สายเรือ ได้แจ้งข้อมูลว่า สายเรือมีความพยายามปรับขึ้นค่า THC ให้เป็น 7,812 บาท ต่อตู้ 20 ฟุต และ 12,285 ต่อตู้ 40 ฟุต ซึ่งเมื่อพิจารณารายละเอียดพบว่า หลายรายการเป็นการผลักภาระค่าใช้จ่ายที่สายเรือควรรับผิดชอบและรวมอยู่ในค่าระวางการขนส่งมาให้กับผู้ส่งออกเป็นผู้รับภาระแทน ซึ่งผลจากการปรับเพิ่มค่า THC ตามข้อมูลของ IADA จะส่งผลให้ผู้ส่งออกไทยแข่งขันในตลาดโลกได้ยากลำบากยิ่งขึ้น และนักลงทุนจากต่างชาติจะมีเหตุผลมากขึ้นในการตัดสินใจย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านหากภาครัฐไม่มีมาตรการหรือแนวทางในการสร้างความชัดเจนของโครงสร้างต้นทุนและควบคุมไม่ให้มีการปรับขึ้นค่าใช้จ่ายดังกล่าว

เนื่องจากการปรับขึ้นค่า THC ในครั้งนี้ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อผู้ส่งออกไทย สภาผู้ส่งออก จึงได้ส่งจดหมายแจ้งอย่างเป็นทางการให้กรมการค้าภายในทราบถึงความพยายามของสายเรือและตัวแทนสายเรือในการปรับเพิ่มขึ้นค่า THC และเรียกผู้บริหารสายเรือและตัวแทนสายเรือเข้าพบโดยเร็วที่สุด เพื่อชี้แจงเหตุผลในการปรับขึ้นค่า THC พร้อมทั้งขอให้สายเรือ/ตัวแทนสายเรือ ยกเลิกประกาศการปรับขึ้นค่า THC ก่อนวันที่ 30 ธันวาคม 2557 เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบและความสับสนเมื่อถึงวันที่ประกาศของสายเรือมีผลบังคับใช้ ตลอดจนผลักดันให้มีการปรับลดค่าใช้จ่ายที่มีความสัมพันธ์กับราคาน้ำมันในตลาดโลกและยกเลิกค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มค่าน้ำมัน (Bunker Adjustment Factor: BAF) เนื่องจากเมื่อพิจารณาสถานการณ์ต้นทุนพลังงานในปัจจุบันพบว่า ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ได้มีการปรับลดลงอย่างต่อเนื่องจากค่าเฉลี่ยประมาณ 90 USD/Barrel ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มาอยู่ที่ประมาณ 65-70 USD/Barrel ในปัจจุบัน หรือลดลงประมาณ 25% จากช่วงเวลาที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามสายเรือกลับไม่ได้ลดค่าระวางตามสัดส่วนต้นทุนพลังงานที่ลดลง ขณะที่สายเรือบางรายยังคงมีการเรียกเก็บค่า BAF ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการพิจารณาความเหมาะสมของอัตราค่าระวางและบริการที่เกี่ยวข้องกับต้นทุนพลังงาน

ทั้งนี้ สภาผู้ส่งออก ได้นำเสนอแนวคิดในการแก้ไขปัญหาทั้งระบบต่อกรมการค้าภายใน และกระทรวงพาณิชย์แบ่งเป็น 3 ระยะ ดังต่อไปนี้

1.ระยะเร่งด่วน
1.1.    ขอให้กรมการค้าภายในใช้อำนาจในการจัดประชุมแก้ไขปัญหาการขึ้นค่า THC โดยเชิญผู้บริหารระดับสูงของสายเรือ/ตัวแทนสายเรือเข้าชี้แจงเหตุผลและต้นทุนที่แท้จริงในการเรียกเก็บ และขอให้มีการประกาศยกเลิกการปรับอัตราใหม่ ภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2557 และให้สายเรือและตัวแทนเรือทุกสายเรียกเก็บค่า THC ตามอัตราที่ประกาศโดยการท่าเรือแห่งประเทศไทย (2,600 บาท/3,900 บาท) เท่านั้น
1.2.    เร่งหาข้อยุติการเรียกเก็บค่าใช้จ่าย Lift on Charge ภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2557
1.3.    พิจารณาต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับค่าน้ำมันและปรับลดให้เหมาะสม

2. ระยะปานกลาง
2.1.    เร่งรัดจัดทำโครงสร้างต้นทุนการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศ เพื่อให้ทราบถึงต้นทุนและผู้ที่จัดเก็บแท้จริงในปัจจุบัน และทำให้ทุกฝ่ายเข้าใจถึงที่มาการปรับขึ้นค่าใช้จ่ายในแต่ละครั้ง
2.2.    เร่งรัดโครงการดัชนีค่าระวาง ซึ่งดำเนินการโดยสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เพื่อให้มีแนวโน้มค่าระวางและค่าใช้จ่ายการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศที่ชัดเจน
2.3.    สร้างแนวทางและกลไกในการหารือร่วมกันเพื่อกำหนดค่าระวางและค่าบริการที่เกี่ยวเนื่องให้เป็นที่ยอมรับทุกฝ่าย

3. ระยะยาว
3.1.    กำหนดให้ค่าบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการขนส่งสินค้าทะเลระหว่างประเทศในส่วนที่เป็นต้นทุนภายในประเทศ เป็นบริการควบคุม โดยอาศัยอำนาจตาม พระราชบัญญัติราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542
3.2.    กำหนดอัตราค่าใช้จ่ายที่สามารถเรียกเก็บตามสัญญาสัมปทานท่าเรือ สถานีบรรจุตู้สินค้ากล่อง (ICD) และกิจการในลักษณะเดียวกันให้มีโครงสร้างอัตราเดียวกัน เพื่อสามารถเทียบเคียงและประเมินต้นทุนได้อย่างชัดเจน

นอกจากนี้ สภาผู้ส่งออก มีความวิตกกังวลถึงการประกาศเรียกเก็บค่าใช้จ่าย Document & Administration Fee ซึ่งผู้ประกอบการท่าเทียบเรือคอนเทนเนอร์ ณ ท่าเรือแหลมฉบัง มีการเรียกเก็บในอัตรา 20 บาทต่อ shipment และเรียกเก็บค่าใช้จ่าย Reefer Monitoring Fee ในอัตรา 200 บาทต่อตู้ สำหรับบริการตรวจสอบอุณหภูมิของตู้ควบคุมอุณหภูมิ ระหว่างการจัดเก็บตู้สินค้าในท่าเรือ ซึ่งแม้ว่าจะมีการเรียกเก็บจากสายเรือหรือตัวแทนเรือ แต่ในท้ายที่สุด ค่าใช้จ่ายดังกล่าวจะมีการผลักภาระมายังผู้ส่งออก เนื่องจากผู้ประกอบการท่าเทียบเรือฯ มีแนวโน้มในการบังคับให้บริการและเรียกเก็บค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องอื่นๆ อาทิ การซ่อมตู้ การต่อและถอดปลั๊ก การทำ Pre-cooling ตู้ควบคุมอุณหภูมิ เป็นต้น ซึ่งสภาผู้ส่งออกจะทำหนังสือหารือไปยังการท่าเรือแห่งประเทศไทย และกระทรวงคมนาคม ถึงรายละเอียดและความชอบธรรมในการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายดังกล่าวตามเงื่อนไขในสัญญาสัมปทานระหว่างการท่าเรือแห่งประเทศไทยและผู้ประกอบการท่าเทียบเรือฯ และยับยั้งแนวคิดในการบังคับบริการดังกล่าว เพราะจะทำให้เกิดความซ้ำซ้อนและกลายเป็นต้นทุนส่วนเพิ่มสำหรับผู้ส่งออกของไทย ในขณะที่ประสิทธิภาพในการให้บริการกลับไม่ได้พัฒนาให้ดีขึ้นแต่อย่างใด

ที่มา -