ข่าว:

ห้ามโพสโฆษณา อาหาร ยา และเครื่องสำอางค์ รวมถึงสมุนไพรทุกชนิด ไม่ว่าจะมี อย. หรือไม่  เด็ดขาด หากพบจะแบนสมาชิกนั้นออกจากบอร์ดทันที

Main Menu

รำลึกเหตุการณ์คลื่นสึนามิประเทศไทยครบรอบ 10 ปี

เริ่มโดย mrtnews, ธ.ค 25, 14, 21:05:59 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

เมื่อ 10 ปีที่แล้วในตอนเช้าของวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2547 ได้เกิดแผ่นดินไหวจากการยุบตัวของเปลือกโลกใต้มหาสมุทรเจดีย์ มีศูนย์กลางลึกลงไปในมหาสมุทรอินเดียใกล้ด้านตะวันตกของตอนเหนือเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย แรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว ทำให้เกิดคลื่นสึนามิสูงเข้าท่วมทำลายตามแนวชายฝั่งตั้งแต่จังหวัดภูเก็ตจนถึงจังหวัดพังงา


นับเป็นหนึ่งในภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยและของโลกเป็นบทเรียนที่แลกมาด้วยความสูญเสียมหาศาลทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ทำให้ประชาชนในภูมิภาคนี้และโดยเฉพาะประเทศไทยได้รู้จักกับคลื่นสึนามิ

ในเวลานั้น ผู้เขียนเป็นนิสิตของคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีโอกาสร่วมเป็นส่วนหนึ่งของคณะทำงานลงไปในพื้นที่พร้อมกับเจ้าหน้าที่ของกระทรวงยุติธรรม ณ จังหวัดพังงา เป็นระยะเวลา 1 สัปดาห์ เพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาทางกฎหมายของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติธรรมชาติ ได้เห็นสภาพความเสียหายที่บริเวณเขาหลัก สายตาสิ้นของหวังของประชาชนผู้มาขอรับความช่วยเหลือ กลิ่นอายของความตายและการทำหน้าที่อย่างเข้มแข็งของกองทัพในการกู้ภัย ค้นหาผู้รอดชีวิต และขุดค้นผู้เสียชีวิต การร่วมมือกัน ช่วยเหลือของบรรดาอาสาสมัคร ท่ามกลางความสับสนวุ่นวาย ชาวต่างชาติที่มาตามหาคนในครอบครัวด้วยความหวังว่าเป็นจากการกันด้วยการพลัดหลงกัน การทำงานของข้าราชการในพื้นที่ที่ต้องแบกรับความกดดัน โดยที่พวกเขาเหล่านั้นต่างก็เป็นผู้ประสบภัยเช่นเดียวกัน ภาพเหล่านี้ยังคงติดตรึงอยู่ในความทรงจำ

เหตุการณ์สึนามิในครั้งนั้น ก่อให้เกิดความร่วมมือร่วมใจจากคนไทยทุกหมู่เหล่าทั้งในประเทศ และต่างประเทศที่ร่วมกันระดมช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคสิ่งของ เงินทอง เพื่อไปบรรเทาทุกข์จากทุกภาคส่วน

แต่การค้นหาและให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยเกินกำลังที่ประเทศไทยจะแบกรับเอาไว้แต่เพียงผู้เดียว แม้ว่ารัฐบาลไทยในขณะนั้นจะปฏิเสธว่าไม่ขอรับความช่วยเหลือที่เป็นตัวเงิน เว้นแต่บริจาคเป็นสิ่งของ แต่ความช่วยเหลือจากต่างประเทศก็หลั่งไหลมา

หลังจากภัยพิบัติคลื่นสึนามิครั้งนั้น ทั่วโลกยังคงเผชิญกับภัยพิบัติธรรมชาติที่รุนแรงขึ้นและมีความถี่มากเพิ่มขึ้น สำหรับประเทศไทยยังคงเผชิญกับอุทกภัยและภัยแล้งตลอดมา

แรงสั่นสะเทือนของคลื่นสึนามิยังส่งผลกระทบถึงปัจจุบัน เป็นบทเรียนในการบรรเทาทุกข์ระหว่างประเทศที่ทั่วโลกต้องเผชิญกับอุปสรรคที่กีดขวางการบรรเทาทุกข์ให้เข้าไปถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะหัวใจสำคัญของการบรรเทาทุกข์คือการให้สิ่งของบรรเทาทุกข์ตรงกับความต้องการของผู้ประสบภัยตามแต่ละช่วงเวลา แต่ส่วนใหญ่เป็นการให้ตามความต้องการของผู้ให้ความช่วยเหลือ

ภาพลักษณ์ของการบรรเทาทุกข์จึงกลับกลายเป็นว่า ต่างคนต่างทำ เพื่อเป็นการแย่งพื้นที่สื่อ บริเวณใดที่ตกเป็นข่าวความช่วยเหลือก็จะหลั่งไหลมา บริเวณใดที่ไม่มีการกล่าวถึงความช่วยเหลือก็จะถูกลืมเช่นเดียวกัน หรือในบางครั้งสื่อก็เป็นผู้เล่นเสียเอง จึงไม่น่าแปลกใจที่มีกลุ่มคนจำนวนมากยอมบริจาคเงินเพื่อให้ได้ออกสื่อ การให้ความช่วยเหลือจึงไม่ถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มประสิทธิภาพ

หน่วยงาน ที่รับบริจาคสิ่งของบรรเทาทุกข์ ควรส่งมอบต่อให้สภากาชาดไทยเป็นผู้รับบริหารจัดการสิ่งของบรรเทาทุกข์เพื่อให้มีประสิทธิภาพ ลดความซ้ำซ้อน และปราศจากผลประโยชน์แอบแฝงใดๆ และให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นผู้ประสานงานในการแจกจ่ายสิ่งของบรรเทาทุกข์ในระดับพื้นที่

ผลพวงจากมหันตภัยคลื่นสึนามิ รัฐบาลจึงได้ออกพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 จัดตั้งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานรับผิดชอบทำหน้าที่ดูแลสาธารณภัย จัดทำแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เพื่อประสานงาน และบูรณาการกับภาคส่วน ในการบริหารจัดการภัยพิบัติธรรมชาติของประเทศ แต่ในการดำเนินงานของคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติที่ผ่านมา ก็ไม่ได้มีบทบาทอย่างแท้จริงในการบริหารจัดการภัยพิบัติขนาดใหญ่

ขณะเดียวกัน ในเดือนพฤศจิกายน ปี พ.ศ.2550 สหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ (The Intdernational Federation of the Red Cross and Red Crescent Societies: IFRC) จึงได้อนุมัติรับรองแนวทางสำหรับการอำนวยความสะดวกภายในประเทศ และการกำกับดูแลบรรเทาภัยพิบัติ และให้ความช่วยเหลือเพื่อการฟื้นฟูในขั้นต้นระหว่างประเทศ (Guidelines for the Domestic Facilitation and Regulation of International Disaster Relief and Initial Recovery Assistance) ในการประชุมคณะกรรมการกาชาดและเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ ครั้งที่ 30

ประกอบกับการให้ความช่วยเหลือระหว่างประเทศที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้นในปัจจุบัน หากปราศจากกฎหมายเป็นการเฉพาะในเรื่องนี้แล้วย่อมจะทำให้เกิดความยุ่งยากอย่างมากในการบริหารจัดการสภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ จึงมีการนำเสนอกฎหมายต้นแบบการอำนวยความสะดวกภายในประเทศและการกำกับดูแลบรรเทาภัยพิบัติและการให้ความช่วยเหลือเพื่อการฟื้นฟูในชั้นต้นระหว่างประเทศ (Model Act for the Facilitation and Regulation of International Disaster Relief and Inital Recovery Assistance) ที่ได้รับรองจากสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในเดือนธันวาคม พ.ศ.2555 เพื่อเป็นต้นแบบให้กับประเทศต่างๆ นำมาปรับใช้และบัญญัติเป็นกฎหมายภายในของตน

แม้ว่าประเทศไทยยังมิได้มีการปรับแก้พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 ในประเด็นเรื่องการให้ความช่วยเหลือระหว่างประเทศตามที่สหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศนำเสนอ แต่ก็ได้มีการบรรจุเข้าไปในแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติฉบับใหม่ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการร่วมมือกันในการบริหารจัดการภัยพิบัติทางระหว่างประเทศต่อไปในอนาคต


การรำลึกเหตุการณ์คลื่นสึนามิครบรอบ 10 ปี ตามที่ปรากฏข่าวว่าจังหวัดภูเก็ตจัดประชุมฝึกซ้อมแผนรับมือสึนามิ และพิบัติภัย ในวันที่ 25-26 ธันวาคมเท่านั้น โดยเลื่อนการให้ประชาชนในพื้นที่และหน่วยงานซ้อมหนีภัยคลื่นสึนามิตามที่เคยปฏิบัติมา เพราะต้องการให้ชาวต่างชาติซึ่งเป็นญาติของผู้สูญเสียที่เดินทางมารำลึกถึงคนในครอบครัวที่ต้องจากไปด้วยเหตุการณ์ดังกล่าว โดยไม่มีเสียงไซเรน และภาพผู้คนวิ่งหนีหลบภัยคลื่นสึนามิ และจะจัดซ้อมหนีภัยคลื่นสึนามิใน 2-3 เดือนต่อไป ทั้งที่การฝึกซ้อมแผนหนีภัยคลื่นสึนามิเป็นสิ่งสำคัญยิ่งกว่าการเกรงว่าจะกระทบกระเทือนจิตใจของชาวต่างชาติ

มาตรการเตรียมความพร้อมของจังหวัดที่มีประสิทธิภาพ ประชาชนในพื้นที่ย่อมเข้าใจเส้นทางหนีภัยและอพยพอย่างมีระเบียบ ไม่ปรากฏภาพความสับสนวุ่นวาย เหตุใดจังหวัดไม่ใช้โอกาสนี้ เพื่อแสดงศักยภาพของตนในปัจจุบัน สร้างความมั่นใจให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศให้เห็นถึงความพร้อมในการรับมือคลื่นสึนามิอย่างเพียงพอ มีหอเตือนภัย 19 หอ ที่ใช้งานได้ ป้ายบอกทาง ได้รับการปรับปรุงแก้ไขให้มีความชัดเจน แสดงให้เห็นถึงความพร้อมของจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ในการป้องกันการเตือนภัย การอพยพหนีภัย และการฟื้นฟู ส่งผลให้หากเกิดภัยความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินจะลดทอนลงไปอย่างมาก

10 ปี จากเหตุการณ์คลื่นสึนามิ ความทรงจำของผู้คนอาจเลือนหายไป พร้อมกับสิ่งปลูกสร้างที่เกิดขึ้นใหม่ทดแทนซากปรักหักพัง แต่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยในครั้งนั้น ต่างเติบโตและดำรงชีวิตมาด้วยบาดแผลในจิตใจและความทรงจำที่ยังคงไม่เลือนหายไป

การสร้างความปลอดภัยด้วยการฝึกซ้อมแผนหนีภัยคลื่นสึนามิจึงเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนในพื้นที่และเป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์สึนามิได้ดีที่สุดในวาระนี้

โดย ภัทระ ลิมป์ศิระ

ที่มา -