ข่าว:

ห้ามโพสโฆษณา สินค้าที่ดูแล้วขัดต่อ ศีลธรรม ประเพณี หรือกฏหมายของไทย เด็ดขาด หากพบจะแบนสมาชิกนั้นออกจากบอร์ดทันที

Main Menu

เคอรี่ สยามซีพอร์ต จัดเวทีระดมความคิดเห็นก่อสร้างท่าเทียบเรือ ระยะที่ 4

เริ่มโดย mrtnews, ม.ค 24, 15, 06:28:52 ก่อนเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

ศูนย์ข่าวศรีราชา - "เคอรี่ สยามซีพอร์ต" จัดเวทีระดมความคิดเห็นก่อสร้างท่าเทียบเรือ ระยะที่ 4 ขั้นตอนสุดท้าย ก่อนเสนอหน่วยงานรับผิดชอบพิจารณาอนุมัติ


วันนี้ (22 ม.ค. 58) ที่อาคารหอสมุดอนุสรณ์ 10 ปี ชั้น 4 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ศาสตราจารย์ ดร.เปี่ยมศักดิ์ เมนะเศรต ประธานกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (กอสส.) เป็นประธานเปิดเวทีสาธารณะระดมความคิดเห็น จัดทำความเห็นประกอบโครงการขยายท่าเทียบเรือ ระยะที่ 4 ของบริษัท เคอรี่ สยามซีพอร์ต จำกัด จ.ชลบุรี มีหน่วยงานราชการ นักวิชาการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนเข้าร่วมจำนวนมาก
       
ศาสตราจารย์ ดร.เปี่ยมศักดิ์ กล่าวว่า โครงการระยะที่ 4 ของบริษัท เป็นโครงการขยายเพิ่มจากเดิมอีก 750 เมตร ซึ่งถือว่าเป็นโครงการที่เข้าข่ายที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ตามประเภทกิจการท่าเทียบเรือ ที่มีความยาวหน้าท่าตั้งแต่ 300 เมตรขึ้นไป หรือมีพื้นที่ท่าเทียบเรือตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป ซึ่งเป็นโครงการที่ต้องให้ กอสส.ให้ความเห็นประกอบก่อนการดำเนินโครงการ จึงต้องมีการจัดทำประชาพิจารณ์ สอบถามความคิดเห็นจากหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ พร้อมทั้งประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากโครงการ

ที่ผ่านมา ได้จัดเวทีสอบถามความคิดเห็นประชาชนในชุมชนที่อยู่ใกล้เคียง 3 ครั้ง นอกจากนี้ กอสส.ได้ลงพื้นที่เพื่อรับฟังข้อมูล ซึ่งจากการรับฟังความคิดเห็น และการลงพื้นที่พูดคุยกับชาวบ้าน มีข้อกังวลในเรื่องการจราจรทั้งทางบก และทางน้ำ ปัญหามลพิษจากจำนวนรถที่จะเพิ่มขึ้น และจากการขนถ่ายสินค้า และผลกระทบอาชีพประมงพื้นบ้าน
       
ศาสตราจารย์ ดร.เปี่ยมศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนหน่วยงานภาครัฐกังวลเรื่องผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศทางทะเล และชายฝั่ง ขาดการบูรณาการแผนรองรับเหตุฉุกเฉินหากเกิดภัยพิบัติ เช่น เพลิงไหม้ เนื่องจากปัจจุบันการเดินทางเป็นไปด้วยความยากลำบาก และใช้เวลานาน หากเกิดปัญหาแล้วจะดำเนินการได้ทันท่วงทีหรือไม่ โดยต้องวางแนวทางแก้ไขไว้ด้วย

ในวันนี้ได้ระดมความคิดเห็นโดยแบ่งเป็นกลุ่มย่อย ประกอบด้วย 1.ภาคประชาชน และประชาสังคม 2.หน่วยงานราชการ นักวิชาการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และรัฐวิสาหกิจ และ 3.กลุ่มผู้ประกอบการ บริษัทที่ปรึกษา และสภาอุตสาหกรรม โดยข้อมูลจากทั้ง 3 กลุ่ม ทาง กอสส.จะรวบรวมอย่างรอบด้าน ก่อนจะนำเสนอหน่วยงานที่รับผิดชอบพิจารณาอนุมัติต่อไป
       
ด้าน นายวรพล สุวรรณสบาย ตัวแทนบริษัท เคอรี่ สยามซีพอร์ต จำกัด กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องขยายท่าเทียบเรือ เนื่องจากความเจริญเติบโตด้านการขนส่งสินค้าทางน้ำ ทำให้พื้นที่รองรับเรือมีไม่เพียงพอ ซึ่งการขยายท่าเทียบเรืออาจส่งผลกระทบต่อประชาชน และสิ่งแวดล้อม ทางบริษัทก็วางมาตรการ และแนวทางการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่างๆ ขึ้น และพร้อมดำเนินการตามข้อกังวลของประชาชน และหน่วยงานที่รับผิดชอบ
       
ทั้งนี้ ปัจจุบันท่าเทียบเรือเคอรี่ สยามซีพอร์ต มีความยาว 786.30 เมตร ขยายเพิ่ม 750 เมตร รวม 1,536.30 เมตร ปริมาณเรือที่เข้าเทียบท่าเดิม 763 ลำ ขยายท่าเพิ่มขึ้นจะรองรับเรือได้ 953 ลำ รวมเรือใช้บริการ 1,716 ลำ ปริมาณสินค้าบรรจุตู้คอนเทนเนอร์ปัจจุบัน 260,000 ตู้ ขยายเพิ่มสามารถรองรับได้อีก 234,000 ตู้ รวม 494,000 ตู้ ปริมาณรถขนส่งสินค้าปัจจุบัน 960 คันต่อวัน หากขยายรองรับได้เพิ่ม 320 คันวัน รวม 1,280 คันต่อวัน


ที่มา -




ระดมความเห็นชาวชลบุรี ขยายท่าเทียบเรือหวั่นรถติด-มลพิษ

ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี นายวีระ ทองประไพ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.ชลบุรี เป็นประธานในการเปิดเวทีสาธารณะระดมความคิดเห็น เพื่อจัดทำความเห็นประกอบโครงการขยายท่าเทียบเรือ ระยะที่ 4 ของบริษัท เคอรี่ สยามซีพอร์ต จำกัด จัดโดยคณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (กอสส.) โดยมีตัวแทนจากภาครัฐ เอกชน และประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมระดมความคิดเห็นประมาณ 200 คน


นายเปี่ยมศักดิ์ มะนะเศวต ประธานกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (กอสส.) กล่าวว่า โครงการขยายท่าเทียบเรือ ระยะที่ 4 ของบริษัท เคอรี่ สยามซีพอร์ต จำกัดจากเดิม 786 เมตรเพิ่มอีก 750 เมตร ซึ่งอาจเกิดผลกระทบต่อชุมชน จึงต้องจัดระดมความคิดเห็นของประชาชนทุกภาคส่วน จากการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนมาแล้ว 3 ครั้งพบว่า ประชาชนวิตกกังวลในเรื่องปัญหาการจราจร ประมงพื้นบ้าน และปัญหาการเกิดอุบัติเหตุหรืออุบัติภัยจะต้องมีแผนการอพยพประชาชน รวมทั้งปัญหามลภาวะที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน

"ในส่วนของปัญหาจราจรนั้น อยากให้รัฐบาลสนับสนุนในเรื่องการขนส่งทางรถไฟ หรือระบบราง ซึ่งลดปัญหารถบรรทุกที่จะวิ่งเข้ามาขนส่งหรือรับสินค้าบริเวณท่าเรือได้อย่างมากมาย และทราบว่าจะมีการก่อสร้างทางรถไฟตั้งแต่หนองคาย โคราช แหลมฉบังถือว่าเป็นเรื่องที่ดีและอยากให้มีการสร้างโดยเร็ว เพื่อความมั่งคงทางเศรษฐกิจของประเทศด้วย" นายเปี่ยมศักดิ์กล่าวและว่า การระดมความคิดเห็นจะต้องเร่งดำเนินการสรุปและส่งเรื่องให้กรมเจ้าท่าพิจารณาวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2558 ซึ่งมีเวลาการทำงานเพียง 60 วันเท่านั้น" นายเปี่ยมศักดิ์กล่าว

นายวรพล สุวรรณสบาย ผู้จัดการชุมชนสัมพันธ์ บริษัท เคอรี่ สยาม ซีพอร์ต จำกัด กล่าวว่า การขยายท่าเรือในครั้งนี้ เนื่องมาจากมีเรือขนส่งสินค้าจำนวนมาก ที่ต้องมาจอดรอเทียบท่าเพื่อขนถ่ายสินค้าจำนวนมาก ท่าเรือเดิมไม่เพียงพอที่จะรองรับ ส่วนผลกระทบที่ประชาชนร้องเรียนส่วนใหญ่จะมาจากเรื่องการจราจร ซึ่งในเรื่องนี้ทุกฝ่ายจะต้องเข้ามาร่วมกันแก้ไขปัญหา และอยากให้ภาครัฐสนับสนุนในเรื่องการขนส่งทางราง โดยการสร้างรางรถไฟฟ้าเข้ามารับ-ส่งสินค้า ส่วนเรื่องผลกระทบกับชุมชนขณะนี้ได้มีการเตรียมการช่วยเหลือในระยะห่างจากจุดก่อสร้าง 10 กิโลเมตร โดยร่วมกับชุมชน รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาร่วมการพิจารณาปัญหาและหาแนวทางแก้ไข หากรับฟังความคิดเห็นไม่ผ่าน เชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ เพราะขณะนี้ทางขนส่งทางน้ำถือว่ามีความสำคัญมาก

ที่มา -