ข่าว:

รับสมัครเฉพาะชาวเรือและผู้ที่สนใจที่เป็นคนไทยเท่านั้น สมัครแล้วรออนุมัติประมาณ 2-3 วัน หากต้องการด่วนโปรดแจ้ง webmaster@marinerthai.net

Main Menu

จีนเผยแผนถมที่สร้าง “หมู่เกาะ” กลางทะเลจีนใต้ ระบุใช้ในทางทหาร-ให้บริการพลเรือน

เริ่มโดย mrtnews, เม.ย 12, 15, 07:56:35 ก่อนเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

รอยเตอร์/เอเจนซีส์ - ทางการจีนออกมาแถลงในวันพฤหัสบดี (9 เม.ย. 58) ถึงแผนงานต่างๆ ที่เตรียมการเอาไว้สำหรับหมู่เกาะซึ่งตนกำลังสร้างขึ้นมา ด้วยการถมทะเลเชื่อมเกาะเล็กเกาะน้อยในทะเลจีนใต้เข้าด้วยกัน โดยระบุว่าพื้นที่นี้จะถูกใช้ทั้งเพื่อการป้องกันทางการทหาร และเพื่อให้บริการต่างๆ ในด้านพลเรือน ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศอื่นๆ ด้วย อย่างไรก็ตาม ทางด้านฟิลิปปินส์ได้ออกมาแสดงปฏิกิริยาตอบโต้ โดยเรียกร้องให้ปักกิ่งรื้อถอนการก่อสร้างต่างๆ ที่กระทำอยู่
       

หวา ชุนอิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน บอกกับที่ประชุมแถลงข่าวตามปกติในกรุงปักกิ่งว่า งานถมทะเลและการก่อสร้างๆต่าง ในบริเวณหมู่เกาะสแปรตลีย์ ของทะเลจีนใต้ ซึ่งจีนกำลังดำเนินการอยู่นี้ เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องกระทำ ส่วนหนึ่งเนื่องจากในบริเวณดังกล่าวซึ่งอยู่ห่างไกลจากผืนแผ่นดิน มีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายจากพายุไต้ฝุ่น ขณะที่มีเรือสินค้าแล่นไปมาจำนวนมาก
       
"เรากำลังสร้างทั้งที่พักหลบภัย, สิ่งต่างๆ ที่จะช่วยการเดินเรือ, การค้นหาและกู้ภัย, ตลอดจนบริการพยากรณ์อากาศพื้นที่ทางทะเล, บริการด้านประมง และบริการด้านการบริหารอื่นๆ" ทั้งสำหรับจีนและสำหรับประเทศเพื่อนบ้าน โฆษกหญิงผู้นี้กล่าว

นอกจากนั้นเธอระบุว่า แนวกาะเล็กเกาะน้อยและเกาะปะการังในบริเวณนี้ ยังสอดคล้องกับความต้องการในการป้องกันทางการทหารของจีนอีกด้วย ทว่าไม่ได้ให้รายละเอียดมากไปกว่านี้
       
เท่าที่ผ่านมาจีนยังแทบไม่ได้มีการแถลงแจกแจงรายละเอียดเกี่ยวกับแผนงานของตนที่เตรียมการไว้สำหรับหมู่เกาะซึ่งสร้างขึ้นมาใหม่นี้เลย ขณะที่การถมทะเลอย่างเร่งรีบซึ่งกำลังดำเนินอยู่บนเกาะปะการังรวม 7 เกาะ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะสแปรตลีย์ ก็สร้างความตื่นตัววิตกให้แก่ชาติอื่นๆ ซึ่งอ้างกรรมสิทธิ์เหนือบริเวณแถบนี้เช่นกัน อีกทั้งเรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสหรัฐฯ โดยล่าสุดคือจากรัฐมนตรีกลาโหม แอช คาร์เตอร์ ซึ่งกำลังเดินทางมาเยือนญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ในสัปดาห์นี้
       
หวาระบุในการแถลงข่าวคราวนี้โดยย้ำจุดยืนเดิมของจีน นั่นคือ "การก่อสร้างที่เกิดขึ้นอย่างสมเหตุสมผลเหล่านี้ เป็นเรื่องที่อยู่ภายในขอบเขตของอำนาจอธิปไตยของจีนอย่างสิ้นเชิง เป็นการกระทำที่ยุติธรรม, มีเหตุมีผล, ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ได้สร้างความกระทบกระเทือนและไม่ได้พุ่งเป้าหมายเพื่อเล่นงานประเทศใดๆ ทั้งสิ้น เป็นสิ่งที่พ้นวิสัยที่จะมาตำหนิวิจารณ์"
       
จีนนั้นประกาศอ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่แทบจะตลอดทั้งทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นเส้นทางเดินเรือทะเลที่สำคัญที่สุดเส้นทางหนึ่งของโลก ขณะที่ ฟิลิปปินส์, เวียดนาม, มาเลเซีย, บรูไน และไต้หวัน ก็อ้างกรรมสิทธิ์ในพื้นที่ซึ่งทับซ้อนกับทางแดนมังกร

ผู้อ้างกรรมสิทธิ์รายอื่นๆ เหล่านี้ทุกๆ รายยกเว้นบรูไน ต่างก็ไปก่อสร้างที่มั่นเล็กที่มั่นน้อยเอาไว้ในหมู่เกาะสแปรตลีย์ ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากแผ่นดินใหญ่จีนราวๆ 1,300 กม. แต่อยู่ใกล้ชาติอื่นๆ ที่อ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนอยู่มากกว่า
       
ขณะที่หมู่เกาะถมทะเลของจีนนี้ จะไม่มีผลทำให้ฐานะความเหนือล้ำกว่าในทางการทหารในภูมิภาคนี้ของสหรัฐฯต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงไป ทว่าการที่คนงานจีนกำลังสร้างทั้งท่าเรือและคลังน้ำมัน ตลอดจนอาจจะมีสนามบิน 2 แห่งด้วยเช่นนี้ ก็ทำให้พวกผู้เชี่ยวชาญมองว่า หมู่เกาะสร้างใหม่นี้จะเปิดทางให้ปักกิ่งสามารถแผ่อำนาจอิทธิพลลึกเข้าไปในบริเวณที่ถือเป็นหัวใจทางทะเลของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้
       
พวกเจ้าหน้าที่ทางนาวีของตะวันตกและเอเชียยังพูดเป็นการภายในว่า จีนอาจเกิดความรู้สึกหาญกล้ามากขึ้น จนกระทั่งอาจพยายามที่จะจำกัดการเดินอากาศและการเดินเรือของประเทศอื่นๆ ในบริเวณนี้ ในทันทีที่หมู่เกาะซึ่งสร้างใหม่นี้เสร็จสิ้นสมบูรณ์
       
สำหรับปฏิกิริยาจากประเทศอื่นๆ นั้น รายที่ตอบโต้รวดเร็วที่สุดคือฟิลิปปินส์ โดยที่ ปีเตอร์ พอล กัลเวซ โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงว่า จีนจะต้อง "รื้อถอน" การถมทะเลและการก่อสร้างในบริเวณเกาะปะการัง มิสชีฟ รีฟ ซึ่งแดนตากาล็อกอ้างกรรมสิทธิ์อยู่ อีกทั้งอยู่ห่างจขากเกาะปาลาวันของฟิลิปปินส์ไปทางตะวันตก 216 กม.

เขาระบุว่า การกระทำเช่นนี้ของจีนส่งผลกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งชาติของฟิลิปปินส์ และไม่เพียงฟิลิปปินส์หรือภูมิภาคนี้เท่านั้นที่บังเกิดความกังวล แต่ประชาคมระหว่างประเทศโดยรวมก็มีความวิตก
       
การออกมาแถลงแจกแจงของโฆษกระทรวงการต่างประเทศจีนคราวนี้ บังเกิดขึ้นไม่กี่ชั่วโมงภายหลังที่ "ศูนย์เพื่อยุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศศึกษา" (CSIS) อันเป็นกลุ่มคลังสมองในกรุงวอชิงตัน เผยแพร่ภาพถ่ายจำนวนหนึ่งในวันพุธ (8 เม.ย. 58) ซึ่งระบุว่าเป็นแนวโครงข่ายเชื่อมต่อทางพื้นดินที่เกิดจากการถมทะเล ตลอดจนโครงสร้างใหม่ๆ ของจีน ในบริเวณรอบๆ เกาะปะการัง มิสชีฟ รีฟ

การดำเนินการบนมิสชีฟ รีฟ ที่จีนเข้ายึดครองตั้งแต่ปี 1995 นี้ ถือเป็นการถมทะเลจุดที่ 7 ในบริเวณหมู่เกาะสแปรตลีย์ โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า การถมทะเลมีความคืบหน้าอย่างชัดเจนในแนวเกาะปะการังอีก 6 แห่งของหมู่เกาะแห่งนี้
       
ภาพถ่ายที่นำมาเผยแพร่ล่าสุดของ CSIS เผยให้เห็นบริเวณที่มีการถมที่เป็นเกาะจำลองขนาดเล็ก ตลอดจนโครงสร้างใหม่ แนวกำแพงกั้นคลื่น และอุปกรณ์ก่อสร้าง อาทิ เรือขุด ตามแนวเกาะปะการังมิสชีฟ ทั้งนี้เปรียบเทียบกับภาพถ่ายในเดือนตุลาคมปีที่แล้วที่ยังไม่มีการถมทะเลแต่อย่างใด จะมีก็แต่เพียงอาคาร 3 ชั้น, กังหันลม. และแผงพลังงานแสงอาทิตย์ บนเกาะปะการังรูปวงแหวนแห่งนี้เท่านั้น
       
ขณะที่ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์แสดงให้เห็นเรือสะเทินน้ำสะเทินบกลำหนึ่งของจีน จอดอยู่ห่างจากทางเข้าเกาะปะการังแห่งนี้หลายร้อยเมตร โดย CSIS ระบุว่า เรือดังกล่าวสามารถขนทหาร 800 นาย ตลอดจนยานยนต์หุ้มเกราะสะเทินน้ำสะเทินบกอีก 20 ลำ
       
ก่อนที่ฝ่ายจีนจะออกมาแถลงรายละเอียดครั้งนี้ รัฐมนตรีกลาโหมคาร์เตอร์ของสหรัฐฯ เมื่อถูกผู้สื่อข่าวสอบถามเกี่ยวกับภาพถ่ายการถมทะเลและการก่อสร้างบนมิสชีฟ รีฟ ที่ทาง CSIS นำออกเผยแพร่ เขาตอบว่าเขาไม่ต้องการคาดเดาเกี่ยวกับแผนการที่จีนคิดจะดำเนินการในอนาคต แต่ก็กล่าวต่อไปว่า การทำให้ข้อพิพาทเรื่องดินแดนในทะเลจีนใต้เข้าสู่กระบวนการแห่งการเป็นกรณีพิพาททางการทหารเช่นนี้ อาจจะนำไปสู่ "เหตุการณ์ที่เป็นอันตราย"
       
"มันไม่ใช่เป็นแค่ความกังวลของฝ่ายอเมริกันเท่านั้น แต่ยังเป็นความกังวลของแทบจะทุกๆ ประเทศในตลอดภูมิภาคนี้" คาร์เตอร์กล่าว ก่อนที่จะเดินทางออกจากญี่ปุ่น เพื่อต่อไปเยือนเกาหลีใต้ในวันพฤหัสบดี (9 เม.ย. 58)

ที่มา -




โอบามาสับ "จีน" ใช้อิทธิพลข่มเหงเพื่อนบ้าน หลังผุดโครงการ "ถมทะเล" เชื่อมหมู่เกาะในทะเลจีนใต้

รอยเตอร์ – ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ระบุสหรัฐฯ เป็นกังวลที่จีนใช้ "ขนาดและอิทธิพล" ข่มเหงประเทศเพื่อนบ้าน หลังจากที่ปักกิ่งเผยรายละเอียดโครงการถมทะเลเชื่อมเกาะเล็กเกาะน้อยในทะเลจีนใต้ โดยอ้างว่าเพื่อใช้ป้องกันทางทหารและบริการพลเรือนซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศอื่นด้วย

       
การที่จีนรีบเร่งถมทะเลบริเวณเกาะปะการัง 7 จุดในหมู่เกาะสแปรตลีย์สร้างความหวั่นวิตกต่อประเทศอื่นๆ เช่น ฟิลิปปินส์ และ เวียดนาม ซึ่งอ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่ดังกล่าวเช่นกัน และยังเรียกเสียงติเตียนจากผู้นำทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนของสหรัฐฯ
       
แม้หมู่เกาะใหม่ไม่อาจทำลายแสนยานุภาพของสหรัฐฯ ที่ยังเป็นต่อจีนในภูมิภาคนี้ แต่ท่าเรือ คลังน้ำมัน ตลอดจนรันเวย์เครื่องบิน 2 จุดที่คนงานจีนกำลังเร่งก่อสร้างนั้น ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าจะเปิดทางให้ปักกิ่งแผ่อิทธิพลทางทะเลเข้ามาได้ถึงใจกลางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
       
"ประเด็นที่เรากังวลคือการที่จีนไม่ปฏิบัติตามระเบียบและกฎเกณฑ์นานาชาติ แต่กลับใช้ขนาดและอิทธิพลที่เหนือกว่าบีบให้ประเทศอื่นๆ ตกเป็นเบี้ยล่าง" โอบามา กล่าวปาฐกถาที่จาเมกาเมื่อวานนี้ (9 เม.ย. 58) ก่อนจะเดินทางไปร่วมประชุมสุดยอดผู้นำประชาคมแคริบเบียนที่ปานามา
       
"สหรัฐฯ เชื่อว่าปัญหานี้ต้องแก้ไขด้วยวิธีทางการทูต การที่ฟิลิปปินส์และเวียดนามไม่มีพื้นที่ใหญ่โตเท่าจีนก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะถูกเขี่ยทิ้งไปง่ายๆ"
       
จีนอ้างกรรมสิทธิ์เหนือน่านน้ำเกือบทั้งหมดในทะเลจีนใต้ ซึ่งแต่ละปีจะมีสินค้าที่ถูกขนส่งทางเรือผ่านน่านน้ำแถบนี้เป็นมูลค่าถึง 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย บรูไน และไต้หวัน ก็อ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่ทับซ้อนนี้เช่นกัน

จีนเรียกร้องให้สหรัฐฯ วางตัว "เป็นกลาง" ในเรื่องนี้ และระบุว่ายินดีที่จะเจรจาแบบทวิภาคีกับประเทศคู่กรณี
       
ก่อนหน้านี้ หัว ชุนอิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ได้แถลงโครงการถมทะเลเชื่อมเกาะปารังบริเวณหมู่เกาะสแปรตลีย์ โดยอ้างวัตถุประสงค์ด้านการป้องกันประเทศและบริการพลเรือน ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านจะได้รับประโยชน์ด้วย
       
หัว ไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ทางทหารของหมู่เกาะใหม่ แต่ระบุว่า การแปรสภาพเกาะปะการังและงานก่อสร้างทั้งหมดมีความจำเป็น เนื่องจากน่านน้ำบริเวณนั้นมีเรือสินค้าแล่นผ่านมาก และเสี่ยงต่ออันตรายจากพายุไต้ฝุ่นเนื่องจากห่างไกลแผ่นดิน
       
"เราจะสร้างที่พัก ศูนย์ช่วยเหลือด้านการเดินเรือ ศูนย์ค้นหาและช่วยชีวิต ตลอดจนมีบริการพยากรณ์สภาพอากาศในทะเล บริการด้านการประมง และอื่นๆ" ซึ่งจีนและประเทศเพื่อนบ้านจะสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ หัว กล่าว
       
"การก่อสร้างทั้งหมดอยู่ในขอบเขตอำนาจอธิปไตยของจีน มันเป็นโครงการที่ยุติธรรม มีเหตุผล และอยู่ในกรอบของกฎหมาย ไม่ได้กระทบหรือจงใจคุกคามประเทศใดๆ เพราะฉะนั้นไม่มีใครตำหนิเราได้ในเรื่องนี้"
       
ทุกประเทศที่อ้างกรรมสิทธิ์ยกเว้นบรูไนได้เข้าไปสร้างฐานที่มั่นเล็กๆ ไว้บนหมู่เกาะสแปรตลีย์ ซึ่งอยู่ห่างจากจีนแผ่นดินใหญ่ราว 1,300 กิโลเมตร

ที่มา -