ข่าว:

รับสมัครเฉพาะชาวเรือและผู้ที่สนใจที่เป็นคนไทยเท่านั้น สมัครแล้วรออนุมัติประมาณ 2-3 วัน หากต้องการด่วนโปรดแจ้ง webmaster@marinerthai.net

Main Menu

แฉเวียดนามถมดินเขตพิพาททะเลจีนใต้ก่อน แต่ 'จีน' ทำเร็วและใหญ่โตกว่าหลายเท่า

เริ่มโดย mrtnews, พ.ค 12, 15, 06:49:08 ก่อนเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 2 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

ภาพถ่ายดาวเทียมของดิจิตอลโกลบในสหรัฐระบุว่า เวียดนามได้ถมดินและมีสิ่งปลูกสร้างเพิ่มขึ้นบนพื้นที่ 2 แห่งในหมู่เกาะสแปรทลี ที่ตั้งอยู่ในน่านน้ำพิพาทของทะเลจีนใต้ โดยเวียดนามได้เริ่มดำเนินการก่อนที่จีนเริ่มโครงการถมดินเพื่อสร้างรันเวย์เมื่อปีที่แล้ว


สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตันประเทศสหรัฐ เมื่อวันที่ 8 พ.ค.ว่า สถาบันวิจัยของสหรัฐระบุภาพถ่ายดาวเทียมเมื่อไม่นานนี้เผยให้เห็นว่าเวียดนามได้ดำเนินการถมดินบนพื้นที่2 แห่งในน่านน้ำพิพาททะเลจีนใต้หลังจีนถูกกล่าวหาถมดินบนแนวปะการังเพื่อสร้างทางขึ้นลงของเครื่องบินในบริเวณพิพาทก็ตาม

ศูนย์ยุทธศึกษาระหว่างประเทศ(ซีเอสไอเอส)ในกรุงวอชิงตันของสหรัฐเผยแพร่ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงให้เห็นว่ามีการขยายที่ดินบริเวณแซนด์ เคย์ และเวสต์ ลอนดอน รีฟ ที่ควบคุมโดยเวียดนามในหมู่เกาะสแปรทลีและมีสิ่งปลูกสร้างเพิ่มขึ้น

มิราแรปป์-ฮูเปอร์ ผอ.ฝ่ายริเริ่มความโปร่งใสทางทะเลแห่งเอเชียของซีเอสไอเอสกล่าวว่า การทำงานของเวียดนามรวมทั้งการตั้งค่ายทหารในบริเวณดังกล่าวมีขึ้นก่อนที่จีนจะเริ่มโครงการถมดินบนแนวปะการังเพื่อสร้างรันเวย์เมื่อปีที่แล้ว สำหรับรูปเหล่านี้เป็นภาพถ่ายดาวเทียมจากดิจิตอลโกลบ บันทึกภาพเอาไว้ได้ระหว่างปี2553 ถึงวันที่30 เม.ย.ปีนี้ มิรากล่าวต่อไปว่า เวียดนามยังมีทางขึ้นลงของเครื่องบินในหมู่เกาะสแปรทลีอีกด้วย ขณะที่ กระทรวงกลาโหมและกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ยังไม่ได้ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับภาพถ่ายดาวเทียมล่าสุด

อย่างไรก็ตามการเร่งสร้างเกาะจำลองของจีนส่งสัญญาณไปถึงประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และสหรัฐ ที่มองว่าการกระทำของจีนเป็นภัยคุกคามต่อภูมิภาค ซึ่งมูลค่าการค้าทางทะเลตกปีละ5ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้จีนอ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่ในน่านน้ำทะเลจีนใต้ถึงร้อยละ90 โดยเชื่อกันว่า ทะเลจีนใต้อุดมไปด้วยน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ทับซ้อนกับการอ้างกรรมสิทธิ์เช่นกันของบรูไนมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนามและไต้หวัน

ที่มา -




ภาพฟ้อง 'ฮานอย' ถมทะเลก่อน 'ปักกิ่ง' แต่ 'จีน' ทำเร็วและใหญ่โตกว่าหลายเท่า

เอเจนซีส์ – อเมริกาเปรียบเทียบภาพถ่ายดาวเทียม ระบุจีนถมที่สร้างเกาะในทะเลจีนใต้คืบหน้ากว่าเวียดนามหลายเท่า ทั้งที่ฮานอยลงมือก่อนนานหลายปี ด้านปักกิ่งยืนกรานปกป้องโครงการของตนเองว่า เป็นส่วนหนึ่งของพันธะผูกพันต่อนานาชาติในการรักษาความปลอดภัยในการเดินเรือ ตลอดจนส่งเสริมด้านวิทยาศาสตร์และการวิจัย

       
เจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุว่า โครงการก่อสร้างบนเกาะเทียมในทะเลจีนใต้ของจีนนั้นครอบคลุมพื้นที่ 2,000 เอเคอร์ (5,000 ไร่) โดยที่ 75% ลุล่วงในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา ทั้งนี้วอชิงตันอ้างว่าไม่ได้รับรองการถมทะเลโดยประเทศหนึ่งประเทศใดที่อ้างสิทธิ์อธิปไตยในทะเลจีนใต้ แต่ก็กล่าวหาว่า อัตราความเร็วและขอบเขตในการถมทะเลของจีนในช่วงหลายปีมานี้เกินหน้าทุกประเทศที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนกัน
       
ทะเลจีนใต้เป็นเส้นทางขนส่งสินค้าสำคัญของเอเชีย รวมทั้งคาดกันว่าเป็นแหล่งทรัพยากรก๊าซและน้ำมันใต้ทะเลแหล่งสำคัญ ประเด็นที่หลายฝ่ายกังวลคือการที่จีนอ้างสิทธิอธิปไตยเหนือทะเลแห่งนี้เกือบทั้งหมด ทำให้มีกรณีพิพาทกับหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ บรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม รวมถึงไต้หวัน นอกจากนี้อเมริกายังกังวลว่า ความพยายามในแผ่ขยายอิทธิพลทางทหารของจีน อาจบ่อนทำลายอำนาจทางทะเลและเศรษฐกิจของตนในแถบแปซิฟิก
       
การเปิดเผยเรื่องนี้ของเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ซึ่งมีขึ้นเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว เกิดขึ้นไล่เลี่ยกับที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) เสนอรายงานประจำปีว่าด้วยสถานะทางทหารของแดนมังกร ต่อรัฐสภาในวันศุกร์ (8 พ.ค.) ที่ผ่านมา ซึ่งย้ำข้อกล่าวหาว่า ปักกิ่งทำการโจมตีทางไซเบอร์เพื่อล้วงความลับโครงการกลาโหมของอเมริกา รวมทั้งระบุว่า จีนมีความคืบหน้าสำคัญในด้านดาวเทียม ซึ่งรวมถึงการส่งสัญญาณรบกวนดาวเทียม
       
รายงานของเพนตากอนฉบับล่าสุดนี้ ยังระบุว่า โครงการถมทะเลในเขตทะเลจีนใต้ 4 แห่งของจีน คืบหน้าชัดเจนจากการขุดลอกกลายเป็น "การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน" ที่อาจครอบคลุมท่าเรือ ระบบสื่อสารและสอดแนม ระบบสนับสนุนด้านการส่งกำลังบำรุง และสนามบินอย่างน้อยหนึ่งแห่ง
       
วัตถุประสงค์สำคัญที่สุดของความพยายามเหล่านี้ยังคงไม่ชัดเจน แต่นักวิเคราะห์นอกประเทศจีนระบุว่า ปักกิ่งกำลังพยายามเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงภาคพื้นดิน ด้วยการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านกลาโหมในทะเลจีนใต้
       
รายงานฉบับนี้ครอบคลุมข้อมูลการสำรวจจวบจนถึงเดือนธันวาคม 2014 และระบุว่า จีนถมทะเลรวมเป็นเนื้อที่ 500 เอเคอร์ (1,250 ไร่) ในน่านน้ำที่มีข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ ทว่า เจ้าหน้าที่อเมริกันให้ข้อมูลเพิ่มเติมแก่พวกผู้สื่อข่าว โดยระบุว่า นับจากนั้นมา ปักกิ่งเดินหน้าถมทะเลต่ออีกและครอบคลุมเนื้อที่รวมเป็น 1,500 เอเคอร์ (3,750 ไร่)

ในอีกด้านหนึ่ง ภาพถ่ายดาวเทียมที่ถ่ายเมื่อเดือนที่แล้วและโพสต์บนเว็บไซต์ของสถาบัน เซนเตอร์ ฟอร์ สเตรทเทอจิก แอนด์ อินเตอร์เนชันแนล สตัดดีส์ (CSIS) แสดงให้เห็นว่า จีนสร้างเกาะเทียมในหลายพื้นที่ ซึ่งรวมถึงการก่อสร้างรันเวย์บนแนวปะการัง "เฟียรีครอสส์" ในหมู่เกาะสแปรตลีย์ ความยาว 3.1 กิโลเมตรโดยประมาณ และลุล่วงไปแล้วมากกว่า 1 ใน 3

สัปดาห์ที่ผ่านมา CSIS ยังเปิดเผยภาพการถมทะเลของเวียดนามที่แนวปะการัง "แซนดี้ เคย์" และ "เวสต์ลอนดอน" ในหมู่เกาะสแปรตลีย์เช่นเดียวกัน โดยระบุว่า การดำเนินการดังกล่าวระหว่างเดือนสิงหาคม 2011 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ทำให้พื้นที่ที่มีการถมขยายจาก 41,690 ตารางเมตร เป็น 62,970 ตารางเมตร และยังดูเหมือนฮานอยเพิ่ม "โครงสร้างทางทหาร" ซึ่งรวมถึงสนามเพลาะและปืนใหญ่ รวมทั้งสร้างท่าเรือใหม่ที่แนวปะการัง "เวสต์" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มแนวปะการัง "ลอนดอน" ทางตะวันตกของสแปรตลีย์

โครงการดังกล่าวดูเหมือนเริ่มต้นในเดือนสิงหาคม 2012 ก่อนที่จีนจะเริ่มถมทะเลเมื่อปีที่แล้ว อย่างไรก็ดี CSIS สำทับว่า ทั้งขนาดและความคืบหน้าของโครงการถมทะเลของเวียดนามถือว่า เล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับโครงการของจีน
       
กระทรวงการต่างประเทศเวียดนามไม่ได้แสดงความเห็นใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้

ขณะที่ เกิง เหยียนเซิง โฆษกกระทรวงกลาโหมจีนแถลงตอบโต้รายงานของเพนตากอนเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (9) ว่า บิดเบือนข้อเท็จจริงและมุ่งตีไข่ใส่ความว่า จีนเป็นภัยคุกคามทางทหาร
       
ปักกิ่งยังประณามการกระทำของเวียดนาม พร้อมย้ำว่า โครงการของตนเป็นส่วนหนึ่งของภาระผูกพันต่อประชาคมนานาชาติในการปรับปรุงความปลอดภัยในการเดินเรือ ตลอดจนส่งเสริมด้านวิทยาศาสตร์และการวิจัย ซึ่งรวมถึงการสร้างแท่นสังเกตการณ์ 5 จุดจาก 200 จุดเพื่อติดตามระดับน้ำทะเล
       
ด้าน หวา ชุนอิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนสำทับว่า เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และประเทศอื่นๆ เดินหน้าถมทะเลมานานหลายปี ซึ่งถือเป็นการเข้ายึดครองเกาะของจีนโดยผิดกฎหมาย ปักกิ่งจึงเรียกร้องให้ประเทศเหล่านั้นยุติกิจกรรมที่ถือเป็นการละเมิดอธิปไตยและสิทธิของจีน

ที่มา -