ข่าว:

รับสมัครเฉพาะชาวเรือและผู้ที่สนใจที่เป็นคนไทยเท่านั้น สมัครแล้วรออนุมัติประมาณ 2-3 วัน หากต้องการด่วนโปรดแจ้ง webmaster@marinerthai.net

Main Menu

พอล จี. อัลเลน กู้ระฆังเรือรบ “เอชเอ็มเอส ฮู้ด” ขึ้นจากทะเลได้สำเร็จ

เริ่มโดย mrtnews, ส.ค 11, 15, 19:15:34 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

ซีแอตเทิล และพอร์ทสมัธ, อังกฤษ-- 10 ส.ค. 58 -- พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์ - คณะนักวิจัยซึ่งนำโดยคุณพอล จี. อัลเลน (Paul G. Allen) นักธุรกิจผู้ใจบุญชาวสหรัฐ ประสบความสำเร็จในการกอบกู้ระฆังของเรือลาดตระเวนประจัญบาน "เอชเอ็มเอส ฮู้ด" (HMS Hood) ที่อับปางลงเมื่อปี 2484 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และเมื่อได้รับการบูรณะเสร็จสมบูรณ์แล้ว ระฆังใบนี้จะเป็นอนุสรณ์สำหรับระลึกถึงวีรชน 1,415 ชีวิตที่สูญเสียไป เมื่อครั้งที่เรืออับปางลงในทะเลแอตแลนติกเหนือโดยฝีมือของเรือประจัญบานบิสมาร์ค (Bismarck) ของเยอรมนี


ระฆังใบนี้ถูกกู้ขึ้นมาเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม โดยในปฏิบัติการนี้ ทีมค้นหาของคุณอัลเลนได้ใช้เรือยอทช์ M/Y Octopus ซึ่งติดตั้งยานยนต์ควบคุมระยะไกลอันทันสมัย

กระทรวงกลาโหมและราชนาวีอังกฤษรู้สึกซาบซึ้งใจในความกรุณาของคุณอัลเลน ที่ได้ช่วยกอบกู้ระฆังกลับคืนสู่กระทรวงกลาโหมโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ

"ปีนี้เป็นวาระครบรอบ 70 ปีของการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 และปฏิบัติการกอบกู้ครั้งนี้ถือเป็นการระลึกถึงทหารเรือผู้กล้าหาญนับพันชีวิตที่สูญสิ้นไปในครั้งนั้น" คุณอัลเลนกล่าว "ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งกับปฏิบัติการกอบกู้ระฆังจากเรือที่ได้รับฉายาว่า "ฮู้ดผู้ทรงอำนาจ" (Mighty Hood)"

ระฆังดังกล่าวถูกค้นพบและบันทึกภาพเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนกรกฎาคม 2544 โดยพบว่าจมอยู่ก้นทะเลไม่ห่างจากชิ้นส่วนอื่นๆของตัวเรือมากนัก ต่อมาในปี 2555 คุณอัลเลนได้ดำเนินการสำรวจเพื่อกู้ระฆังใบนี้ แต่จำต้องยุติภารกิจเนื่องจากสภาพอากาศไม่เป็นใจและประสบปัญหาทางเทคนิคมากมาย

สำหรับปฏิบัติการทั้งสองครั้งได้รับการสนับสนุนโดยบริษัท Blue Water Recoveries Ltd ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการค้นหาและสำรวจซากเรือ

ระฆังดังกล่าวถือว่าอยู่ในสภาพดี แต่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการบูรณะและอนุรักษ์โดยผู้เชี่ยวชาญนาน 1 ปี เนื่องจากจมอยู่ใต้น้ำทะเลลึกเป็นเวลานาน

เดวิด เมิร์นส์ ผู้อำนวยการบริษัท Blue Water Recoveries กล่าวว่า
"ผมรู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่เราสามารถทำตามความปรารถนาสุดท้ายของคุณเท็ด บริกส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสามผู้รอดชีวิตจากลูกเรือฮู้ดทั้งหมด 1,418 คน ที่ต้องการให้กู้ระฆังของเรือขึ้นมาเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่เพื่อนร่วมรบ แม้ว่าเรือลำนี้ได้จมลงในช่องแคบเดนมาร์กมานานถึง 74 ปี แต่ระฆังยังคงอยู่ในสภาพดีมาก ขณะเดียวกันข้อความที่จารึกบนระฆังยังแสดงให้เห็นชัดเจนว่า ระฆังใบนี้ถูกสงวนไว้เพื่อใช้กับเรือลาดตระเวนประจัญบานฮู้ด หลังจากที่เริ่มแรกนั้นถูกนำไปใช้เป็นระฆังของเรือประจัญบานฮู้ดในช่วงปี 2434-2457 ดังนั้น ระฆังใบนี้จึงถูกนำไปใช้บนเรือรบขนาดใหญ่ของราชนาวีอังกฤษถึงสองลำเป็นเวลานานถึง 50 ปี นอกจากนี้ ข้อความที่ปรากฎอยู่บนระฆังยังบันทึกคำปรารถนาของเลดี้ ฮู้ด ซึ่งปล่อยเรือลำนี้ลงน้ำเพื่อระลึกถึงพลเรือตรี เซอร์ โฮราซ ฮู้ด สามีผู้ล่วงลับในยุทธนาวีแห่งคาบสมุทรจัตแลนด์ ระฆังที่เรากู้ได้นั้นเป็นสิ่งล้ำค่าทางประวัติศาสตร์ที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของเรือฮู้ด ซึ่งทำหน้าที่เป็นเรือธงของกองเรือลาดตระเวนประจัญบานของราชนาวีอังกฤษ ระฆังใบนี้จึงเป็นระฆังพิเศษสำหรับเรือรบที่มีความพิเศษ และจะเป็นอนุสรณ์แด่เรือรบฮู้ดผู้ทรงอำนาจชั่วกาลนาน อีกทั้งยังเป็นเครื่องเตือนใจถึงการรับใช้ชาติและการเสียสละของเหล่าวีรชนบนเรือลำนี้ด้วย"

พลเรือเอก เซอร์ จอร์จ แซมเบลลัส ผู้บัญชาการทหารเรืออังกฤษ ให้ความเห็นต่อปฏิบัติการครั้งนี้ว่า

"เรือลาดตระเวนประจัญบาน "ฮู้ดผู้ทรงอำนาจ" ที่แสดงถึงแสนยานุภาพของราชนาวีอังกฤษในสมัยสงครามนั้น เป็นเรือรบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดลำหนึ่งในประวัติศาสตร์การเดินเรือที่ยาวนานและยิ่งใหญ่ของอังกฤษ เรือลำนี้อับปางลงขณะที่ยังคงสาดกระสุนเพื่อคุ้มกันเรือลำอื่นๆ ซึ่งถือเป็นเครื่องเตือนใจอันน่าเศร้าถึงการอุทิศตนเพื่อให้ประเทศชาติอยู่รอด มีเสรีภาพและความรุ่งเรืองมาจนทุกวันนี้ เรื่องราวการอุทิศตนของเรือลำนี้ยังคงสร้างแรงบันดาลใจให้กับราชนาวีอังกฤษมาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น การกู้ระฆังเรือรบจะทำให้มั่นใจว่า วีรชนทั้ง 1,415 คนและชื่อเสียงของเรือฮู้ดจะยังคงเป็นที่จดจำของคนในชาติ"

เอชเอ็มเอส ฮู้ด เป็นเรือรบลำใหญ่ที่สุดของราชนาวีอังกฤษที่ได้อับปางลง และส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดเท่าที่เรือรบอังกฤษเคยประสบ โดยปฏิบัติการกอบกู้นี้ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากสมาคมเอชเอ็มเอส ฮู้ด ซึ่งมีสมาชิกเป็นทหารผ่านศึกที่เคยปฏิบัติหน้าที่บนเรือดังกล่าวก่อนทำภารกิจครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2484 รวมถึงญาติของผู้ที่เสียชีวิตบนเรือลำนี้ด้วย

พลเรือตรี ฟิลิป วิลค็อกส์ ประธานสมาคมเอชเอ็มเอส ฮู้ด ซึ่งเป็นหลานของหนึ่งในผู้เสียชีวิตบนเรือลำนี้ กล่าวว่า

"ทางสมาคมเอชเอ็มเอส ฮู้ด ขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงต่อคุณพอล อัลเลน คุณเดวิด เมิร์นส์ และทีมงานบนเรือ M/Y Octopus ต่อความพยายามและความเป็นมืออาชีพในการกู้ระฆังเรือเอชเอ็มเอส ฮู้ด จากก้นบึ้งของช่องแคบเดนมาร์ก คุณพอล อัลเลน ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ และเราขอยกย่องความมุ่งมั่นของคุณอัลเลนในปฏิบัติการกอบกู้นี้"

"ผู้สูญเสียชีวิตในท้องทะเลต่างไม่มีหลุมฝังศพประดับดอกไม้ไว้ให้ระลึกถึง ดังนั้น สำหรับลูกเรือ 1,415 คนที่ต้องจบชีวิตบนเรือเอชเอ็มเอส ฮู้ด เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2484 แล้ว การกู้ระฆังเรือขึ้นมาและนำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ราชนาวีอังกฤษ (NMRN) ที่พอร์ทสมัธ จะเปิดโอกาสให้บุตรหลานสามารถมองดูระฆังและระลึกถึงวีรกรรม ความกล้าหาญ และความเสียสละของวีรชนบนเรือฮู้ด ซึ่งเสียชีวิตลงขณะรับใช้ประเทศชาติ"


เมื่อตัวระฆังได้รับการบูรณะแล้ว จะถูกนำไปจัดแสดงในนิทรรศการพิเศษที่ถ่ายทอดความยิ่งใหญ่ของกองทัพเรือยุคศตวรรษที่ 20 และ 21 ซึ่งเริ่มเปิดนิทรรศการ ณ พิพิธภัณฑ์ราชนาวีอังกฤษ บริเวณท่าเรือโบราณพอร์ทสมัธตั้งแต่ปีที่แล้ว ซึ่งนับเป็นสถานที่ที่สมเกียรติอย่างยิ่ง เนื่องจากเรือเอชเอ็มเอส ฮู้ด ประจำการที่พอร์ทสมัธ

ศาสตราจารย์ โดมินิก ทเวดเดิล ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ราชนาวีอังกฤษ กล่าวถึงความสำเร็จในการกู้ระฆังใบนี้ว่า
"ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับโอกาสในการจัดแสดงระฆังจากเรือเอชเอ็มเอส ฮู้ด พื้นที่จัดแสดงใหม่ของเราได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์และระลึกถึงวีรกรรม หน้าที่ และความเสียสละของทหารเรือแห่งราชนาวีอังกฤษในช่วงศตวรรษที่ 20 และ 21 ระฆังของเรือเอชเอ็มเอส ฮู้ด สามารถแสดงเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นอย่างที่วัตถุอื่นทำไม่ได้ นอกเหนือจากระฆังเรือเอชเอ็มเอส ฮู้ดแล้ว เรายังมีระฆังของเรือเอชเอ็มเอส ปรินซ์ ออฟ เวลส์ (HMS Prince of Wales) ที่ได้สู้รบกับเรือประจัญบานบิสมาร์คเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2484 เช่นกัน จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่ได้นำจิตวิญญาณของเรือทั้งสองลำกลับมาอยู่ด้วยกันอีกครั้ง"

ทั้งนี้ ซากเรือเอชเอ็มเอส ฮู้ด ได้รับความคุ้มครองภายใต้กฎหมาย Protection of Military Remains Act 1986 ซึ่งป้องกันไม่ให้วัตุที่กอบกู้ขึ้นมาถูกครอบครองอย่างผิดกฎหมายในฐานะสมบัติส่วนตัว เช่นเดียวกับการนำไปเป็นอนุสรณ์



เกี่ยวกับพอล จี. อัลเลน
พอล จี. อัลเลน เป็นนักลงทุน นักธุรกิจ และผู้ใจบุญคนดัง ซึ่งบริจาคเงินกว่า 2 พันล้านดอลลาร์ให้แก่องค์กรการกุศลมาตลอดทั้งชีวิต เขาได้ก่อตั้งบริษัท วัลแคน อิงค์ (Vulcan Inc.) เมื่อปี 2529 ร่วมกับคุณโจดี้ อัลเลน เพื่อดูแลธุรกิจและกิจกรรมการกุศลของเขาเอง นอกจากนั้นยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิพอล จี. อัลเลน แฟมิลี่ ฟาวน์เดชั่น ปัจจุบัน วัลแคน อิงค์ ทำหน้าที่ดูแลการลงทุนและโครงการของคุณอัลเลนทั่วโลก ในปี 2546 เขาได้ก่อตั้งสถาบัน Allen Institute for Brain Science เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสมองของมนุษย์ในแง่ของสุขภาพและโรคภัย และหลังจากนั้น 10 ปี เขาได้ก่อตั้งสถาบัน Allen Institute for Artificial Intelligence เพื่อสำรวจโอกาสในการพัฒนาด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในปี 2557 เขาได้บริจาคเงิน 100 ล้านดอลลาร์เพื่อก่อตั้ง Allen Institute for Cell Science และบริจาคเงินอีก 100 ล้านดอลลาร์เพื่อต่อสู้กับวิกฤตอีโบลา คุณอัลเลนยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์ รวมถึงเจ้าของทีมอเมริกันฟุตบอล Seattle Seahawks และทีมบาสเก็ตบอล Trail Blazers ด้วย รับชมข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.paulallen.com และ www.vulcan.com



ที่มา Data & Images -