ข่าว:

รับสมัครเฉพาะชาวเรือและผู้ที่สนใจที่เป็นคนไทยเท่านั้น สมัครแล้วรออนุมัติประมาณ 2-3 วัน หากต้องการด่วนโปรดแจ้ง webmaster@marinerthai.net

Main Menu

กองทัพเรือปล่อย 'เรือหลวงแหลมสิงห์'ลำใหม่ มูลค่า 700 ล้าน

เริ่มโดย mrtnews, ส.ค 25, 15, 19:56:48 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

ผบ.ทร.เป็นประธานปล่อย "เรือหลวงแหลมสิงห์" ลำใหม่ ใช้งบ 700 ล้าน เตรียมทดสอบก่อนต่อลำใหม่ ยันบุคคลากรทัพเรือมีความสามารถ แต่ขาดงบ-เทคโนโลยี


เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 58 ที่กรมอู่ทหารเรือ พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) เป็นประธานในพิธีปล่อยเรือตรวจการณ์ปืน (เรือหลวงแหลมสิงห์) ลำใหม่ของกองทัพเรือลงน้ำ โดยกองทัพเรือได้จัดหาเรือตรวจการณ์ปืนลำใหม่เพื่อทดแทนเรือตรวจการณ์ระยะปานกลางตามยุทธศาสตร์กองทัพเรือ  พ.ศ. 2551-2560 ซึ่งทยอยปลดประจำการ สำหรับการสร้างเรือตรวจการณ์ปืนลำนี้จากบริษัท มาร์ซัน จำกัด ในลักษณะ Package Deal โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 699,459,000 บาท  อย่างไรก็ตามเรือตรวจการณ์ดังกล่าวจะเข้าประจำการในกองเรือตรวจอ่าว กองเรือยุทธการ ลาดตระเวนป้องกันการแทรกซึมในทะเล คุ้มครองเรือประมงและเรือพาณิชย์ ป้องกันและคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติในอ่าวไทย และทะเลอันดามัน รักษากฎหมายในทะเล การถวายความปลอดภัยแด่พระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดจนช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเลและชายฝั่ง ทั้งนี้เรือตรวจการณ์ปืนลำนี้ ได้ออกแบบมาให้มีพื้นที่ดาดฟ้าท้ายเรือกว้างขวาง เพื่อความพร้อมในการติดตั้งอุปกรณ์หรือยุทโธปกรณ์เสริมอื่นได้อีกในอนาคต

พล.ร.อ.ไกรสร กล่าวว่า ขอชื่นชมกรมอู่ทหารเรือ ที่ได้ต่อเรือตรวจการณ์ปืนสำเร็จ ตามยุทธศาสตร์ของกองทัพเรือ โดยหลังต่อเสร็จต้องทดลองใช้ว่ามีประสิทธิภาพอย่างไร ตอบโจทย์ความต้องการของกองทัพเรือหรือไม่ เพราะที่เราคิดไว้ต้องมีปืนประจำเรือที่ทันสมัยและสามารถปฎิบัติการในสภาวะทางทะเลในระดับ 4 และ 5 ได้ ในการคุ้มครองเรือตรวจการณ์ลาดตระเวณในอ่าวไทยและอันดามัน ตลอดจนถึงผลประโยชน์ทางทะเลทั้งหมด ส่วนการต่อเรือเพิ่มเติมนั้น ต้องดูผลการปฎิบัติงานของเรือชุดนี้ก่อน เพราะการสร้างครั้งเดียวจำนวนหลายลำ เราจะไม่ทราบว่าสามารถตอบโจทย์ตามความต้องการของเราหรือไม่ เราต้องทดลองใช้ในภารกิจต่าง ๆ ถ้าดีก็ต่อลำใหม่ขึ้นมาใช้งานอีก ทั้งนี้กรมอู่ทหารเรือมีบุคคลากรที่มีความสามารถในการต่อเรือ แต่ติดปัญหาที่เทคโนโลยี ที่เราผลิตเองไม่ได้ ต้องสั่งซื้อ รวมถึงเรื่องงบประมาณด้วย."



ที่มา Data & Images -




รู้จัก! 'รล.แหลมสิงห์' เรือตรวจการณ์ปืนลำใหม่ของ ทร.ไทย

ผบ.ทร.ควงหลังบ้าน และบิ๊กทหารน้ำ ทำพิธีปล่อยเรือตรวจการณ์ปืนลำใหม่ 'เรือหลวงแหลมสิงห์' ที่จะเข้าประจำการแทนเรือเก่า โดยมี "ณุฉัตรา" ภริยามาเป็นสตรีผู้ประกอบพิธีปล่อยเรือตามประเพณีโบราณกาล เพื่อให้เกิดสวัสดิมงคลแก่ตัวเรือ โดยให้สุภาพสตรีเป็นผู้ประกอบพิธีโดยวิธีปล่อยขวดแชมเปญกระทบหัวเรือ


เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 58 เวลา 10.00 น. พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีปล่อยเรือตรวจการณ์ปืนลำใหม่ของกองทัพเรือลงน้ำ โดยมีนางณุฉัตรา จันทร์สุวานิชย์ ภริยาผบ.ทร.เป็นผู้ประกอบพิธีปล่อยเรือ ณ อู่แห้งหมายเลข 1 กรมอู่ทหารเรือ โดยกองทัพเรือ ได้จัดหาเรือตรวจการณ์ปืนลำใหม่ของกองทัพเรือในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อทดแทนเรือตรวจการณ์ระยะปานกลางตามยุทธศาสตร์กองทัพเรือ พ.ศ.2551-2560 ซึ่งได้ทยอยปลดประจำการ และใช้ปฏิบัติงานร่วมกับเรือ อากาศนาวี หน่วยกำลังต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง หน่วยกำลังนาวิกโยธิน และหน่วยสงครามพิเศษทางเรือ ตั้งแต่ในภาวะปกติ โดยมีขีดความสามารถปฏิบัติการรบ 2 มิติ ได้แก่ การปฏิบัติการสงครามผิวน้ำ และการต่อสู้ภัยคุกคามทางอากาศ จากบริษัท มาร์ซัน จำกัด ใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้น 699,459,000 บาท มอบหมายให้ กรมอู่ทหารเรือ เป็นหน่วยรับผิดชอบในการสร้างเรือ หลังจากที่ประสบความสำเร็จในการต่อเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุด เรือ ต.991 และนำไปสู่การปรับปรุงเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุด เรือ ต.994 ที่ได้มีการขยายแบบเรือ และรูปทรง ตามพระบรมราชวินิจฉัย และล่าสุดคือ เรือหลวงกระบี่ ซึ่งเป็นเรือประเภทเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง ที่มีขนาดใหญ่ และสมรรถนะสูง

ในขั้นตอนของการสร้างเรือตรวจการณ์ปืนลำใหม่นี้ กรมอู่ทหารเรือ ได้ดำเนินการต่อเอง โดยแบ่งการสร้างเรือ ออกเป็น 2 ระยะ ระยะแรกทำการต่อเฉพาะตัวเรือ รวมถึงระบบเครื่องจักร มีระยะเวลาในการดำเนินการประมาณ 13 เดือน และหลังจากที่ได้ปล่อยเรือลงน้ำแล้ว จะนำตัวเรือไปทำการประกอบในส่วน superstructure (หอบังคับการเรือ เสาสื่อสาร) รวมถึงระบบอาวุธ ระยะที่ 2 นี้ มีระยะเวลาในการดำเนินการประมาณ 10 เดือน (ถึงกลางเดือนมิถุนายน 2559) จึงอาจกล่าวได้ว่า กองทัพเรือ ได้ใช้ศักยภาพและความรู้ความสามารถของกำลังพลกองทัพเรือ ในการดำเนินการติดตั้ง ทดสอบ ได้อย่างเต็มภาคภูมิ แม้ว่าจะใช้แบบเรือของบริษัทเอกชน แต่ถือเป็นการดำเนินการในการสร้างเรือขนาดใหญ่อีกลำด้วยการพึ่งพาตนเอง

ตามระเบียบของ กองทัพเรือ ได้กำหนดหลักเกณฑ์การตั้งชื่อเรือรบ ตามประเภทของเรือ โดยในส่วนของเรือตรวจการณ์ (ปืน) กำหนดให้ตั้งชื่อตามอำเภอชายทะเล โดยเรือตรวจการณ์ปืนลำใหม่นี้ ได้รับพระราชทานชื่อจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่า "เรือหลวงแหลมสิงห์" คาดว่าจะดำเนินการสร้างแล้วเสร็จ ประมาณเดือนมิถุนายน 2559 มีคุณลักษณะที่สำคัญคือ ยาว 58 เมตร กว้าง 9.30 เมตร กินน้ำลึก 2.50 เมตร ระวางขับน้ำสูงสุด 520 ตัน ทำความเร็วสูงสุดได้ไม่น้อยกว่า 23 นอต (ที่ระวางขับน้ำสูงสุด) มีระยะปฏิบัติการในทะเลไม่น้อยกว่า 2,500 ไมล์ทะเล

มีความคงทนทะเลจนถึงสภาวะทะเลระดับ 4 (SEA STATE 4) โดยที่ตัวเรือมีความแข็งแรงเพียงพอที่สภาวะทะเลระดับ 5 (SEA STATE 5) มีสถานที่จัดเก็บเสบียงอาหาร และระบบน้ำจืดเพียงพอสำหรับการปฏิบัติงานในทะเลต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 7 วัน โดยไม่ต้องรับการส่งกำลังบำรุง มีห้องพักและที่อาศัยเพียงพอสำหรับกำลังพลประจำเรือ จำนวน 53 นาย ในส่วนของระบบอาวุธประจำเรือที่สำคัญ คือ ปืนขนาด 76/62 มิลลิเมตร จำนวน 1 กระบอก ปืนกลขนาด 30 มิลลิเมตร จำนวน 1 กระบอก ปืนกล ขนาด .50 นิ้ว จำนวน 2 กระบอก ทั้งนี้ ในการออกแบบได้จัดให้มีพื้นที่ดาดฟ้าท้ายเรือกว้างขวาง ซึ่งสามารถติดตั้งอุปกรณ์หรือยุทโธปกรณ์อื่น ๆ อาทิ อาวุธนำวิถีได้ในอนาคต

เมื่อดำเนินการสร้างแล้วเสร็จ เรือตรวจการณ์ปืนลำใหม่นี้ จะเข้าประจำการในกองเรือตรวจอ่าว กองเรือยุทธการ มีภารกิจในการตรวจการณ์ ลาดตระเวน ป้องกันการแทรกซึมในทะเล คุ้มครองเรือประมงและเรือพาณิชย์ ป้องกันและคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติในอ่าวไทย และทะเลอันดามัน รักษากฎหมายในทะเลตามอำนาจหน้าที่ที่กองทัพเรือได้รับมอบหมาย การถวายความปลอดภัยแด่ พระบรมวงศานุวงศ์ รวมทั้งสนับสนุนการปฏิบัติการทางเรือสาขาต่าง ๆ ตลอดจนการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเลและชายฝั่ง


อนึ่ง พิธีปล่อยเรือลงน้ำ เป็นพิธีที่มีมาตั้งแต่ครั้นโบราณกาล เมื่อถึงเวลาปล่อยเรือเดินทะเลลงน้ำจะต้องทำพิธี เพื่อให้เกิดสวัสดิมงคลแก่ตัวเรือเสียก่อน ในสมัยปัจจุบันพิธีปล่อยเรือลงน้ำ แบบสากล ให้สุภาพสตรีเป็นผู้ประกอบพิธีโดยวิธีปล่อยขวดแชมเปญกระทบหัวเรือ การนี้สืบเนื่องมาจากการดื่มอวยพรด้วยถ้วยเงิน เมื่อดื่มแล้วก็ขว้างถ้วยขึ้นไปบนเรือปรากฏว่าสิ้นเปลืองมาก จึงเปลี่ยนเป็นขว้างขวดกับหัวเรือแทน คราวหนึ่งสุภาพสตรีผู้ประกอบพิธีได้ขว้างขวดแชมเปญไม่ถูกหัวเรือ แต่กลับไปถูกแขกที่มาในงานพิธีบาดเจ็บ จึงได้ใช้เชือกผู้คอขวดเสียก่อนเสมอ

จนถึงปัจจุบันนี้พิธีปล่อยเรือลงน้ำของราชนาวี เฉพาะที่มีหลักฐานปรากฏในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพิธีปล่อยเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ลงน้ำ เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2454 ส่วนเรือหลวงที่สร้างจากต่างประเทศที่มีหลักฐานปรากฏ ได้แก่ เรือหลวงเสือคำรณสินธุ์ ประเภทเรือพิฆาต มีพิธีปล่อยเรือลงน้ำ เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2453 ณ อู่กาวาซากิ เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น สำหรับเรือหลวง ตัวเรือเป็นเหล็ก สร้างโดยกรมอู่ทหารเรือ ที่มีพิธีปล่อยเรือลงน้ำเป็นครั้งแรก คือ เรือหลวงสัตหีบ (ลำที่ 1) ซึ่งมีคุณหญิงวิจิตรา ธนะรัชต์ ภริยา จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (ในขณะนั้น) เป็นสุภาพสตรีผู้ประกอบพิธีปล่อยเรือลงน้ำ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2500.



ที่มา Data & Images -