ข่าว:

ห้ามโพสโฆษณา หาเงินทางเน็ต งาน Part-time MLM ทุกรูปแบบ ธุรกิจที่มี downline ปั่นลิก์ SEOเด็ดขาด หากพบจะแบนสมาชิกนั้นออกจากบอร์ดทันที

Main Menu

ทะเลจีนใต้: เมื่อมรสุมร้ายเริ่มก่อตัว - คอลัมน์: มิติโลกาภิวัตน์

เริ่มโดย mrtnews, ก.ย 07, 15, 19:37:27 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

เกียรติชัย พงษ์พาณิชย์
วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต


หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ -- จันทร์ที่ 7 กันยายน 2558 - คลื่นลมของการเมืองระหว่างประเทศในทะเลจีน ใต้ดูจะเริ่มก่อหวอดเป็นพายุร้ายยิ่งขึ้นทุกที กับกรณีการอ้างสิทธิ์ครอบครองหมู่เกาะในอาณาบริเวณเส้นทางที่มีผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ และผลประ โยชน์ทางเศรษฐกิจจากทรัพยากรธรรมชาติในทะเล รวมถึงแหล่งน้ำมันที่มีผลสำรวจว่ามีอยู่อย่างมหาศาล ที่จะขุดขึ้นมาใช้กับการพัฒนาเศรษฐกิจต่อไป


เคยเขียนเรื่องที่เกิดขึ้นในทะเลจีนใต้นี้มาหลายครั้งแล้ว แต่ก็จับเอาประเด็นที่เป็นเหตุการณ์แต่ละครั้งละคราวที่เกิดขึ้นมากระเดียดพูดวิเคราะห์กันไปตามเรื่อง และหาข้อสรุปไม่ได้ กำลังคิดว่าสักวันจะต้องเขียนกันให้ละเอียดเสียที เสนอผู้อ่านแฟนคลับบัญชรนี้เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ว่ากันยาว ๆ ให้ได้ความรู้ความเข้าใจกันเสียหน่อย ดีไหมครับ

เรารู้กันแล้วโดยพื้นฐานถึงเหตุเบาะแว้งในทะเลจีนใต้นั้น เป็นวิวาทะที่เกิดขึ้นระหว่างจีน (รวมถึงไต้หวันด้วย) กับสี่ประเทศในอาเซียน อันได้แก่ บรูไน, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม เรื่องมันเกิดมาแต่ปี 1946-1947-1974-1978-1983 เรื่อยมา มีเหตุปะทะปะทังใช้กำลังขับไล่กันไปมาในหลายช่วงเวลาเหล่านี้ แต่ละประเทศต่างก็เอ่ยอ้างสิทธิ์ครอบครองของตัว

การกล่าวอ้างสิทธิ์ครอบครองบริเวณหมู่เกาะต่างๆ ในทะเลจีนใต้ของแต่ละประเทศนั้น ตั้งอยู่บนเหตุผลพื้นฐานที่แตกต่างกันไป เช่น บรูไนกับมาเลเซียนั้น ดูจะใช้หลักการเป็นไปตามกฎหมายทะเลขององค์การสหประชาชาติ ปี ค.ศ.1982 อ้างสิทธิ์ครอบครองตามกรอบที่กำหนดอาณาเขตของประเทศในน่านน้ำทะเล ที่ถือเป็นอาณาบริเวณกำหนดเป็น "เขตเศรษฐกิจจำเพาะ" 200 ไมล์ทะเลจากชายฝั่งทะเลของตน

ฟิลิปปินส์นั้นอ้างสิทธิ์ครอบครองของตนในบางหมู่เกาะทะเลจีนใต้ โดยเฉพาะในอาณาบริเวณที่อยู่ติดกับหมู่เกาะปาลา วันของตน โดยเหตุผลจากคำประกาศของประธานาธิบดีในเดือนกรกฎาคม 1946  ซึ่งอาจสันนิษฐานว่าได้แรงหนุนจากสหรัฐด้วยก็เป็นได้ เพราะสหรัฐเองหลังจากชนะสงครามกับสเปนแล้วก็เข้าไปครอบครองฟิลิปปินส์มาแต่ปี ค.ศ.1930 จนมาสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองนี่เอง

ส่วนเวียดนามนั้นอ้างสิทธิ์ครอบครองหมู่เกาะของตน ในฐานะผู้รับช่วงต่อจากฝรั่งเศสสมัยที่เข้ามาครอบครองเวียดนาม ซึ่งเมื่อเวียดนามประสบชัยชนะขับไล่ฝรั่งเศสในช่วงสงครามอินโดจีนครั้งที่หนึ่งแล้ว ฝรั่งเศสซึ่งครอบครองหมู่เกาะในส่วนที่เวียดนามกล่าวอ้างมาแต่ปี ค.ศ.1933 แล้วปล่อยทิ้งไป และกลับมาครอบครองเกาะในทะเลจีนใต้ใหม่อีกในปี ค.ศ.1946 เวียดนามถึงอ้างสิทธิ์รับช่วงต่อมา

สำหรับจีนเองนั้นต้องแบ่งออกเป็นสองช่วงคือ ช่วงที่เจียงไคเช็ก มีอำนาจในจีนแผ่นดินใหญ่เข้าไปยึดเกาะใหญ่ที่สุดในเขตสแปรตลีตั้งแต่ปี ค.ศ.1946 ครั้นเมื่อรบแพ้ เหมาเจ๋อตงต้องยกทัพไปอยู่ไต้หวัน จีนคอมมิวนิสต์บนแผ่นดินใหญ่ถือว่าเป็นผู้ชนะ จึงอ้างสิทธิ์ครอบครองจีนต่อจากเจียงไคเช็ก และประกาศขยายเขตยึดครองไปมากขึ้นเรื่อยๆ

ที่ว่าจีนประกาศเขตยึดครอง (ต่างกันนะครับกับคำว่า สิทธิ์ครอบครอง) เพราะจีนประกาศเขตยึดครองของตนว่า อาณาบริเวณทะเลจีนใต้ทั้งหมดเป็นเขตในครอบครองของจีน "อย่างบิดพลิ้วเป็นอื่นไปไม่ได้" อีนี่กินรวบนะนาย ไม่ใช่อ้างสิทธิ์ครอบครองเฉพาะเกาะแก่งที่เคยยึดครองมาก่อนเท่านั้น แต่ล่อทีเดียวหมดทะเลจีนใต้เลยทูนหัว!

นักเรียนรัฐศาสตร์คงจะเรียกว่า นี่เป็นวิธีการของนักเลงโต ชี้ไปตรงโน้นก็ของอั๊ว ชี้ไปตรงนี้ก็ของอั๊ว และไอ้ที่ว่า "อย่างบิดพลิ้วเป็นอื่นไปไม่ได้" นั้น ง่ายๆ ก็คือว่าใครหือขัดขวางเป็นได้เจอดีกัน ซึ่งก็ได้เห็นกันแล้วว่าฟิลิปปินส์กับเวียดนามส่งเรือหาปลา หรือเรือส่งเสบียงไปยังเกาะที่ตัวเองอ้างครอบครอง ก็จะถูกกองกำลังทางเรือของจีนตีกระเจิงกลับมาทุกที


นักวิชาการด้านการเมืองต่างประเทศเรียกวิธีการกล่าวอ้างสิทธิ์ครอบครองดินแดนต่างๆ ของจีนแบบนี้ว่าเป็น "ยุทธศาสตร์ซาลามี" คงมองเห็นภาพออกนะครับคือ เนื้อแผ่นซาลามีที่ใช้โรยแปะหน้าพิซซานั่นแหละครับ อยากกินตรงไหนของพิซซาก็แปะลงไปตามใจ จีนก็ชี้ตรงโน้นตรงนี้แปะซาลามีไปทั่วทะเลจีนใต้ อ้างเป็นของจีนทั้งทะเลเลยทีเดียว

ข้อเอ่ยอ้างสำคัญของจีนอีกเรื่องหนึ่งคือ การอ้างถึงสิทธิ์อันมีมาแต่ประวัติศาสตร์ว่า ทะเลจีนใต้เป็นเส้นทางการค้าที่จีนใช้เดินทางทะเลมาแต่สมัยจักรพรรดิฮั่นโบราณ เพราะฉะนั้นทะเลจีนใต้ก็จึงเป็นของจีนทั้งหมด ที่ใครจะมาอ้างสิทธิ์ครอบครองและแย่งไปจากจีนไม่ได้

ความยิ่งใหญ่เติบโตอย่างกล้าแข็งของจีนปัจจุบัน ดูจะยิ่งทำให้เห็นความกร้าวกระด้างของจีนมากยิ่งขึ้น จากการเบาะแว้งแย่งชิงสิทธิ์ครอบครองหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ที่เริ่มรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยมา จีนก้าวรุกถึงขั้นสร้างเกาะเทียมขยายพื้นที่เกาะและสร้างสนามบินขึ้นมาแล้ว ทำเอาประเทศคู่กรณีรวมทั้งสหรัฐร้อนรนปนบ้าขึ้นมาทันที

นี่เองคือเหตุซึ่งผมเริ่มต้นข้อเขียนนี้ว่า พายุในทะเลจีนใต้เริ่มก่อตัวรุนแรงขึ้นอย่างน่าเป็นข้อกังวลขึ้นอีกครั้งหนึ่ง แน่ละหลายประเทศเริ่มเห็นเค้าของพายุนี้และต่างกุลีกุจอเตรียมตัวรับกับพายุร้ายที่จะมีมา ความเคลื่อนไหวที่เห็นเช่นการซ้อมรบร่วมกันอย่างเอาจริงเอาจังทั้งระหว่างฟิลิปปินส์ เวียดนาม ญี่ปุ่นกับสหรัฐ และการทำสัญญาตกลงเป็นพันธมิตรกันแนบแน่นขึ้น

ใกล้กับบ้านเรานี่เอง มีความเคลื่อนไหวที่น่าจับตามองอย่างไม่ควรวางตาทีเดียว ก็คือข่าวที่ว่ามาเลเซียกับสหรัฐกำลังมีการเจรจาลับ ที่จะมีการตกลงให้เครื่องบินสืบความลับของสหรัฐใช้ฐานทัพในมาเลเซียเพื่อบินติดตามตรวจสอบความเคลื่อนไหวด้านต่างๆ ของจีนในทะเลจีนใต้  ซึ่งจีนกำลังก่อสร้างสิ่งต่างๆ ขึ้นมาตามหมู่เกาะต่างๆ

จะตกลงกันไปแล้วแค่ไหนยังไม่รู้ เพราะข่าวเดินขบวนขับไล่นาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในข้อกล่าวหาความไม่โปร่งใสของเขาดูจะกลบข่าวนี้ไปหมด จุดอันน่าสนใจอยู่ที่ว่า ข่าวดังกล่าวกำลังจะบอกจุดยืนของมาเลเซียในการคานและสมดุลอำนาจระหว่างสหรัฐกับจีนอย่างไรหรือไม่ และแน่ละอาเซียนเองจะง่อนแง่นเกี่ยวก้อยไปในทิศทางเดียวกันยังไง

เรื่องนี้คงทำให้ผู้อ่านจำเรื่องที่สหรัฐพยายามขอเข้ามาใช้สนามบินอู่ตะเภาได้ โวยวายกันทั่วทีเดียว ช่วงนั้นการเมืองเรื่องทะเลใต้ไม่ต่างกับภูมิทัศน์ทางการเมืองในอาเซียนหรอกครับ และเมื่อไรที่มีชาติมหาอำนาจเข้ามายุ่งด้วย ยุ่งครับ ทะเลจีนใต้นับวันจะยิ่งยุ่งขึ้นทุกที.



ที่มา Data & Images -