ข่าว:

ห้ามโพส ปั่นลิงก์ SEO ในส่วนของ ลายเซ็นสมาชิกเพื่อจะแสดงที่ด้านล่าง ของแต่ละข้อความที่ตอบกระทู้ เช่น คาสิโน บาคาร่า แทงบอล ฯลฯ เด็ดขาด หากพบจะแบนสมาชิกนั้นออกจากบอร์ดทันที

Main Menu

“องค์กรอนุรักษ์ท้องทะเล” เผยแนวทางแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกในทะเลลง 45% ภายในปี 2568

เริ่มโดย mrtnews, ต.ค 02, 15, 19:48:16 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

นิวยอร์ก - 1 ต.ค. 58 - พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์ - รายงานฉบับใหม่ล่าสุดนำเสนอแนวทางในการลดปริมาณขยะพลาสติกในทะเลลง 45% ภายในปี 2568


องค์กรอนุรักษ์ท้องทะเล (Ocean Conservancy) เผยแพร่รายงาน "Stemming the Tide: Land-based strategies for a plastic-free ocean" ที่จัดทำร่วมกับ McKinsey Center for Business and Environment เพื่อแนะแนวทางในการแก้ปัญหาขยะพลาสติกในท้องทะเล โดยพุ่งเป้าไปที่ต้นตอขยะบนบก เริ่มจากการลดปริมาณขยะพลาสติกจาก 5 ประเทศหลักๆ (จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทย)

"นับเป็นครั้งแรกที่มีการระบุแนวทางที่ชัดเจนในการลดปริมาณและการกำจัดขยะพลาสติกในท้องทะเลให้หมดไป" Andreas Merkl ซีอีโอขององค์กรอนุรักษ์ท้องทะเล กล่าว "ข้อมูลในรายงานช่วยยืนยันสิ่งที่เราคิดกันมาตลอด นั่นคือ การแก้ปัญหาขยะพลาสติกในทะเลต้องเริ่มจากบนบก ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคอุตสาหกรรม หน่วยงานเอ็นจีโอ ตลอดจนภาครัฐ เพื่อแก้ปัญหาที่กำลังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมมากขึ้นทุกวัน"

ทุกปีจะมีขยะพลาสติกราว 8 ล้านเมตริกตันรั่วไหลลงสู่ท้องทะเลทั่วโลก และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หากประชาคมโลกไม่ร่วมมือกัน ภายในปี 2568 อาจมีพลาสติก 1 ตัน ต่อปลาที่จับได้ทุกๆ 3 ตัน อันจะนำไปสู่ปัญหาใหญ่ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสุขภาพ ทั้งนี้ เนื่องจากขยะพลาสติกในทะเลอย่างน้อย 80% มาจากบนบก รายงานนี้จึงนำเสนอแนวทาง 4 ขั้นในการลดขยะพลาสติกในทะเลลง 45% ภายใน 10 ปีข้างหน้า ซึ่งจะนำไปสู่เป้าหมายสูงสุดในการกำจัดขยะพลาสติกในทะเลให้หมดสิ้นภายในปี 2578 และรายงานได้ประเมินว่าค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการดำเนินงานตามแนวทางจะอยู่ที่ 5 พันล้านดอลลาร์ต่อปี แต่จะให้ผลตอบแทนมหาศาลต่อเศรษฐกิจทั่วโลก

Dr. Martin Stuchtey ผู้อำนวยการ McKinsey Center for Business and Environment กล่าวว่า "เมื่อมองว่าปัญหานี้เป็นความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมในระดับโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขอนามัย สุขภาพ มูลค่าที่ดิน แหล่งโปรตีนสำคัญของโลก รวมถึงการเติบโตของอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภคและบรรจุภัณฑ์แล้ว การทุ่มงบประมาณ 5 พันล้านดอลลาร์ในการแก้ปัญหาก็ถือว่าคุ้มค่า"

รายงานนี้ได้เน้นย้ำถึงบทบาทความสำคัญของภาคอุตสาหกรรมในการนำแนวทางแก้ปัญหามาใช้ รวมถึงกระตุ้นให้ทั้งภาครัฐและเอกชนหันมาลงทุนเพื่อแก้ปัญหาการรั่วไหลของพลาสติกลงสู่ทะเล

"เรามีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำให้ท้องทะเลปราศจากพลาสติก" Jeff Wooster ผู้อำนวยการด้านความยั่งยืนทั่วโลกของบริษัท Dow Packaging and Specialty Plastics ซึ่งเป็นพันธมิตรของรายงานนี้ กล่าว "บรรดาบริษัทผลิตพลาสติกไม่ได้ต้องการให้พลาสติกไปกองอยู่ในทะเล และเราตระหนักดีว่าภาคอุตสาหกรรมต้องรับบทบาทสำคัญในการช่วยกำจัดขยะพลาสติกให้หมดไปจากท้องทะเลภายในปี 2578"

ภายในระยะสั้นและระยะกลาง รายงานดังกล่าวได้เรียกร้องให้มีการเร่งพัฒนาการเก็บขยะและป้องกันการรั่วไหลของขยะหลังการเก็บ ตามด้วยการพัฒนาและใช้วิธีการกำจัดขยะที่มีประสิทธิภาพและเอื้อต่อธุรกิจ ส่วนในระยะยาว รายงานดังกล่าวได้มุ่งเน้นความสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการบำบัดและฟื้นฟู ตลอดจนการพัฒนาวัสดุและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆที่เอื้อต่อการนำกลับมาใช้ใหม่และการรีไซเคิล

รายงานดังกล่าวยังเน้นย้ำว่าทุกแนวทางต้องถูกนำมาใช้ในระดับภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 5 ประเทศที่มีขยะพลาสติกรั่วไหลลงทะเลรวมกันมากถึงครึ่งหนึ่งของปริมาณทั้งหมดทั่วโลก แม้ว่าหลายประเทศจะมีความก้าวหน้าไปมากในการควบคุมปริมาณการรั่วไหลของขยะพลาสติก แต่ทั่วโลกยังต้องให้การสนับสนุนเพิ่มเติมแก่กลุ่มประเทศที่มีขยะพลาสติกในทะเลมากที่สุด

"ปัญหาขยะพลาสติกในมหาสมุทรส่งผลกระทบอย่างหนักต่อชีวิตความเป็นอยู่และสุขภาพของประชาชนในเมืองดากูปัน" Belen Fernandez นายกเทศมนตรีเมืองดากูปัน ซึ่งเป็นเมืองชายฝั่งของประเทศฟิลิปปินส์ กล่าว "เมืองของเราใช้ชายหาดเป็นที่ทิ้งขยะมานานกว่า 50 ปี เรากำลังพยายามปิดที่ทิ้งขยะนี้และเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการขยะของเมืองดากูปันให้มากยิ่งขึ้น การแก้ปัญหาขยะพลาสติกในทะเลจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชน โดยเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคน หวังว่าเมืองของเราและสิ่งที่เราทำจะเป็นต้นแบบในการสร้างความเปลี่ยนแปลงทั่วโลก"

รายงานนี้ยังย้ำด้วยว่า 10 ปีข้างหน้าจะเป็นช่วงเวลาสำคัญในการแก้ปัญหาขยะพลาสติกในทะเลอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงปัญหาระดับท้องถิ่น แต่เป็นปัญหาระดับโลก และเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จ รายงานดังกล่าวได้เรียกร้องให้ประชาคมโลกร่วมมือกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทต่างๆ หน่วยงานรัฐ และหน่วยงานเอ็นจีโอ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้บรรดาผู้นำทางการเมืองเข้ามามีส่วนร่วม ทำให้ได้พิสูจน์แนวคิด ได้รับการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีกำจัดขยะ ตลอดจนผลักดันปัญหาขยะพลาสติกในทะเลเป็นวาระด้านสิ่งแวดล้อมและมหาสมุทรที่มีความสำคัญในระดับโลก

รายงานดังกล่าวเป็นผลงานชิ้นสำคัญของกลุ่ม Trash Free Seas Alliance ซึ่งเป็นความพยายามขององค์กรอนุรักษ์ท้องทะเลในการรวมตัวผู้นำจากภาคอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ และการอนุรักษ์ ที่มีจุดมุ่งหมายเดียวกันในการทำให้ท้องทะเลปราศจากขยะ รายงานนี้สำเร็จลุล่วงลงได้โดยได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรมากมาย ได้แก่ The Dow Chemical Company, The Coca-Cola Company, American Chemistry Council, REDISA และ World Wildlife Fund รวมถึงผู้สนับสนุนเงินทุนซึ่งประกอบด้วย Adessium Foundation, 11th Hour Racing, Hollomon Price Foundation, Forrest C. & Frances H. Lattner Foundation และ Mariposa Foundation


สามารถดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็มและข้อมูลประกอบอื่นๆได้ที่
http://www.oceanconservancy.org/our-work/marine-debris/mckinsey-report-files/full-report-stemming-the.pdf

ติดต่อ: Julia Roberson อีเมล: jroberson@oceanconservancy.org
รายงาน Stemming the Tide เป็นโครงการริเริ่มของกลุ่ม Trash Free Seas Alliance(R) ซึ่งจัดตั้งโดยองค์กรอนุรักษ์ท้องทะเลในปี 2555 โดยเป็นการรวมตัวกันของผู้นำในแวดวงอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ และการอนุรักษ์ และมีจุดมุ่งหมายเพื่อแสวงหาโอกาสในการแก้ปัญหาร่วมกันของทุกภาคส่วน ซึ่งจะนำไปสู่การลงมือปฏิบัติและการพัฒนานวัตกรรมเพื่อทำให้ท้องทะเลปราศจากขยะ

เกี่ยวกับองค์กรอนุรักษ์ท้องทะเล
องค์กรอนุรักษ์ท้องทะเลร่วมมือกับทุกคนเพื่อปกป้องท้องทะเลจากปัญหาที่ท้าทายที่สุดในโลกยุคปัจจุบัน เมื่อร่วมมือกัน เราสามารถหาทางแก้ปัญหาท้องทะเลโดยอิงตามหลักวิทยาศาสตร์ เพื่อประโยชน์ของทั้งมนุษย์และสัตว์ที่ต้องพึ่งพาอาศัยทะเล รับชมข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.oceanconservancy.org

เกี่ยวกับ McKinsey Center for Business and Environment
McKinsey Center for Business and Environment ทำงานร่วมกับภาคธุรกิจ ภาครัฐ และองค์กรไม่แสวงผลกำไรต่างๆ เพื่อต่อสู้กับปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญและกดดันที่สุด โดยใช้แนวทางต่างๆที่จะช่วยยกระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการใช้ทรัพยากร รับชมข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.mckinsey.com/client_service/sustainability/mckinsey_center_for_business_and_environment



ที่มา Data & Images -