ข่าว:

รับสมัครเฉพาะชาวเรือและผู้ที่สนใจที่เป็นคนไทยเท่านั้น สมัครแล้วรออนุมัติประมาณ 2-3 วัน หากต้องการด่วนโปรดแจ้ง webmaster@marinerthai.net

Main Menu

"เชลออยล์" ยอมลดกำลังผลิต กลยุทธ์ "OPEC" บรรลุผล?

เริ่มโดย mrtnews, ต.ค 26, 15, 19:45:23 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

เกือบหนึ่งปีหลังกลุ่มผู้ส่งน้ำมันเป็นสินค้าออกหรือ OPEC ตัดสินใจคงปริมาณการผลิตน้ำมันของทั้งกลุ่มไว้เท่าเดิม เพื่อกดดันราคาน้ำมันในตลาดโลกให้ลดลง หวังบีบคู่แข่งนอกกลุ่มโดยเฉพาะผู้ผลิตเชลออยล์ในสหรัฐให้ล่าถอยออกจากตลาด ดูเหมือนจะประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่โอเปกจะกลับมาครอบงำตลาดน้ำมันโลกได้เช่นเดิมหรือไม่อาจเร็วเกินไปที่จะฟันธง


บลูมเบิร์กระบุว่ากำลังการผลิตเชลออยล์หรือน้ำมันจากชั้นหินดินดานในสหรัฐลดสู่ระดับเดียวกับเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่กลุ่มโอเปกนำโดยโต้โผใหญ่อย่างซาอุดีอาระเบียประกาศไม่ลดกำลังการผลิตของสมาชิก แม้ว่าราคาน้ำมันกำลังเป็นขาลง เพื่อทวงคืนส่วนแบ่งตลาดจากคู่แข่งในสหรัฐ

เชลออยล์ถอยทัพ

ณ ระดับราคาน้ำมันปัจจุบัน ซึ่งต่ำกว่าพฤศจิกายนปี 2557 ราว 33% โดยราคาน้ำมันดิบเบรนต์อยู่ที่ 48-49 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ได้ส่งผลให้กำลังการผลิตเชลออยล์ในสหรัฐลดลง 500,000 บาร์เรลต่อวัน จากระดับสูงสุดในรอบทศวรรษเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาเหลือ 9.1 ล้านบาร์เรลต่อวันในสัปดาห์ที่แล้ว

ด้านสำนักงานข้อมูลพลังงานของสหรัฐ (EIA) ประเมินว่า ปริมาณการผลิตเชลออยล์จะลดลงอีก 390,000 บาร์เรลต่อวันในปีหน้าเหลือ 8.86 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งจะส่งผลให้กลุ่มโอเปกกลับมามั่งคั่งอีกครั้ง เพราะดีมานด์ต่อน้ำมันของกลุ่มโอเปกจะขยับเป็นวันละ 31.1 ล้านบาร์เรลในปี 2559 จาก 29.3 ล้านบาร์เรลต่อวันในปีนี้ได้แผลกันทั่วหน้า

ทว่าไม่ใช่เฉพาะบริษัทเชลออยล์ในสหรัฐที่ต้องลดกำลังการผลิตหรือถึงขั้นปิดกิจการจากกลยุทธ์กดราคาน้ำมันของกลุ่มโอเปกสมาชิกกลุ่มดังกล่าวเองก็ต้องกลืนเลือดเช่นกันน้ำมันดิบบางประเภทที่สมาชิกโอเปกส่งออกมีราคาลดลงจากปีที่แล้วถึง 46% ทำให้รายได้จากการขายน้ำมันหายไปราว 370,000 ล้านดอลลาร์

สมาชิกโอเปกหลายประเทศประสบปัญหารายได้ภาครัฐดิ่งหนัก ขาดดุลงบประมาณสูงขึ้น ค่าเงินสกุลท้องถิ่นร่วงอย่างรุนแรง รัฐบาลขาดเสถียรภาพและคะแนนนิยมตก โดยเฉพาะ 5 ประเทศที่ถูกขนานนามว่า "Fragile Five" ประกอบด้วย แอลจีเรีย อิรัก ลิเบีย ไนจีเรีย และเวเนซุเอลา ที่ถูกรุมเร้าทั้งมรสุมการเมืองและเศรษฐกิจจนอาการร่อแร่

แม้แต่ซาอุดีอาระเบียพี่เบิ้มของกลุ่มยังออกอาการเป๋จากที่เคยมั่นใจว่าจะเอาตัวรอดผ่านสถานการณ์น้ำมันถูกไปได้ไม่ยากเพราะมีสายป่านยาวด้วยทุนสำรองระหว่างประเทศประมาณ1 ล้านล้านดอลลาร์ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่าปีนี้ซาอุฯต้องใช้งบประมาณขาดดุล 20% ของจีดีพี

โอเปกเดินหน้ากดดัน

เริ่มมีบทวิเคราะห์ออกมาหลายกระแสว่า ในการประชุมใหญ่ของกลุ่มโอเปกในเดือนธันวาคมนี้ จะมีการตัดสินใจลดกำลังการผลิตเพื่อกระตุ้นราคาน้ำมันหรือไม่ หลังจากบีบให้ผู้ผลิต

เชลออยล์ออกจากตลาดไปบางส่วนแล้ว ประกอบกับสมาชิกที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักอย่างเวเนซุเอลาพยายามวิ่งเต้นให้ทางกลุ่มหาทางเพิ่มราคาในตลาดโลกแต่ผู้เชี่ยวชาญในวงการพลังงานส่วนใหญ่มองว่าโอเปกน่าจะคงกำลังการผลิตไว้เช่นเดิมต่อไป เพราะแม้ผู้ผลิตเชลออยล์ในสหรัฐระงับการผลิตไปบางส่วนแต่ก็พร้อมกลับมาเปิดสายการผลิตใหม่อีกครั้งถ้าราคาปรับตัวดีขึ้น

นายเจมส์ แคลด อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาด้านพลังงาน เชื่อว่าโอเปกจะยังไม่ลดกำลังการผลิตในอนาคตอันใกล้ "ถ้ากลุ่มดังกล่าวลดการผลิต สัดส่วนซัพพลายของกลุ่มในตลาดโลกก็จะลดลง และผู้ผลิตชาวอเมริกันจะมีสัดส่วนสูงขึ้นและได้รับอานิสงส์จากราคาที่ขยับขึ้นด้วย"


อิหร่านผงาด

อีกปัจจัยที่เอเปกต้องพิจารณาคือการกลับสู่ตลาดน้ำมันโลกอย่างเต็มตัวของอิหร่านหลังชาติตะวันตกยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่าจะมีผลช่วงต้นปีหน้า รัฐบาลอิหร่านเผยว่า สามารถเพิ่มกำลังการผลิตอีก 500,000 บาร์เรลต่อวันได้ภายในสัปดาห์แรกที่นานาชาติยกเลิกมาตรการลงโทษ และจะทยอยปรับเพิ่มขึ้นจนกว่าจะเต็มศักยภาพการผลิต

ขณะนี้อิหร่านผลิตน้ำมันได้วันละ 1.1 ล้านบาร์เรล ต่ำกว่าครึ่งของช่วงก่อนเจอมาตรการคว่ำบาตรในปี 2555 ซึ่งอยู่ที่ 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน

แน่นอนว่า การกลับมาของอิหร่านจะทำให้ซัพพลายเพิ่มขึ้น และราคาน้ำมันทรุดลงอีก ซึ่งน่าจะช่วยให้กลยุทธ์ "กดราคา-บีบคู่แข่ง-ครอบงำตลาด" ของโอเปกประสบความสำเร็จเร็วขึ้นถ้าสมาชิกบางประเทศไม่ล้มละลายไปเสียก่อน



ที่มา Data & Images -