ข่าว:

คุณ ต้องลงทะเบียนสมัครสมาชิกก่อน ตอบกระทู้หรือตั้งคำถามใหม่ นะครับ

Main Menu

การแบ่งปันผลประโยชน์ของการผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทย

เริ่มโดย mrtnews, ก.ค 11, 13, 17:12:26 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 2 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

ประเด็นเรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์ (Fiscal Regime) ของการให้สัมปทานการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทยว่าเหมาะสมหรือไม่ สูงหรือต่ำจนเกินไปเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ยังคงเป็นประเด็นที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ และถกเถียงกันอยู่ในเวทีเสวนาต่างๆ รวมทั้งในสื่อสังคม (Social Media) ที่มีการเผยแพร่กันไปอย่างกว้างขวาง และยังหาข้อสรุปไม่ได้ เพราะทั้งสองฝ่ายต่างก็พยายามหาตัวเลขมาสนับสนุนข้ออ้างของตัวเอง จนสร้างความสับสนให้กับประชาชนและสังคมเป็นอย่างยิ่ง


แน่นอนว่าในฐานะเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติและในฐานะประชาชนที่เป็นเจ้าของประเทศ ย่อมไม่มีใครที่ต้องการจะได้ส่วนแบ่งต่ำๆจากการให้สัมปทานหรือการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ แต่การจะเรียกร้องส่วนแบ่งที่สูงๆ ก็ต้องพิจารณาในแง่ความเป็นไปได้เช่นเดียวกันว่าจะทำได้หรือไม่ โดยยังคงมีแรงจูงใจให้นักลงทุนมาลงทุนสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในบ้านเรา ซึ่งเรื่องอย่างนี้ถือเป็นเรื่องที่ต้องสร้างสมดุลให้เกิดขึ้นระหว่างการแบ่งปันผลประโยชน์และการสร้างแรงจูงใจ

การพูดว่าจะต้องสร้างความสมดุลนั้นพูดง่าย แต่เวลาจะทำจริงๆมีตัวแปรมากมายที่จะต้องนำมาพิจารณา ตั้งแต่ปริมาณสำรองปิโตรเลียมของประเทศ ซึ่งแต่ละประเทศมีมากน้อยแตกต่างกันออกไป ประเทศที่มีแหล่งสำรองมากก็สามารถตั้งเงื่อนไขขอแบ่งปันผลประโยชน์ได้สูงกว่าประเทศที่มีแหล่งสำรองน้อย ดังนี้เป็นต้น

ลักษณะทางกายภาพของแหล่งปิโตรเลียมที่แตกต่างกัน ก็มีส่วนสำคัญต่อการสร้างเงื่อนไขในการแบ่งปันผลประโยชน์และการลงทุนเช่นเดียวกัน แหล่งปิโตรเลียมบางแหล่งมีโครงสร้างทางกายภาพที่ง่ายต่อการขุดเจาะสำรวจและผลิต ลงทุนน้อยแต่ผลิตได้มาก อย่างเช่นแหล่งก๊าซยาดานาในพม่า มีจำนวนหลุมผลิต 12 หลุม แท่นหลุมผลิต 2 แท่น ผลิตก๊าซได้ 800 ล้าน ลบ.ฟุต/วัน

แต่แหล่งก๊าซบงกชในอ่าวไทย มีจำนวนหลุมผลิต 362 หลุม 28 แท่นหลุมผลิต ผลิตก๊าซได้ 800 ล้าน ลบ.ฟุต/วัน เหมือนกัน ดังนั้นการลงทุนในแหล่งบงกชในไทยของผู้ไดัรับสัมปทานจึงสูงกว่าแหล่งยาดานาของพม่าอย่างแน่นอน และทำให้ผลตอบแทนการลงทุนในไทยสู้การลงทุนในพม่าไม่ได้ จึงเป็นที่มาของการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ต่ำกว่าเมื่อนำมาเปรียบเทียบกัน

การเป็นประเทศผู้ส่งออกพลังงานหรือประเทศผู้นำเข้าพลังงานก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนในการนำมาพิจารณาสร้างสมดุลระหว่างการแบ่งปันผลประโยชน์และการลงทุน

ประเทศผู้ส่งออกพลังงานนั้นมีรายได้หลักจากการขายพลังงาน ดังนั้นประเทศเหล่านี้มักจะเลือกวิธีแบ่งปันรายได้หรือแบ่งปันผลิตภัณฑ์ (Production Sharing) มากกว่าวิธีให้สัมปทาน เพราะจะสามารถทำกำไร หรือแสวงหามูลค่าเพิ่มจากการขายพลังงานในตลาดโลก ได้มากกว่ารายได้จากค่าสัมปทาน

ส่วนประเทศผู้นำเข้าพลังงานนั้นต้องการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน และมีแรงกดดันที่จะต้องนำทรัพยากรธรรมชาติในประเทศมาใช้เพื่อลดการนำเข้า จึงเลือกที่จะเร่งรัดการลงทุนโดยให้สัมปทานเพื่อให้มีการนำทรัพยากรธรรมชาติในประเทศขึ้นมาใช้โดยเร็วเพื่อทดแทนการนำเข้า

ซึ่งระบบการให้สัมปทานกับระบบการแบ่งปันรายได้ก็มีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกันไป แล้วแต่จะนำไปใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของแต่ละประเทศที่แตกต่างกันออกไป

ในปัจจุบันก็ไม่มีประเทศใดที่ใช้ระบบใดระบบหนึ่งแบบเดียวอีกต่อไปแล้ว แต่มีการใช้ทั้งสองระบบผสมผสานกันไปในแบบที่เรียกว่า Hybrid System เพราะจะให้ผลประโยชน์ที่ดีที่สุดต่อประเทศเจ้าของทรัพยากรมากกว่า

สำหรับประเทศไทย ต้องยอมรับว่าย้อนหลังไปเมื่อ 40 ปีแล้ว ประเทศไทยขาดแคลนทั้งเงินทุน บุคคลากร และเทคโนโลยีด้านการสำรวจขุดเจาะและผลิตปิโตรเลียม อีกทั้งยังไม่มีใครรู้เลยว่าในประเทศไทยจะมีแหล่งสำรองปิโตรเลียมในเชิงพาณิชย์หรือไม่

ดังนั้นการเปิดสัมปทานให้เอกชนเข้ามาทำการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมโดยรัฐบาลไม่ต้องลงทุนเลย จึงถือเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในขณะนั้น และเงื่อนไขในการแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างรัฐบาลกับผู้ประกอบการก็ถูกกำหนดขึ้นตามสถานการณ์ด้านพลังงานของประเทศและของโลกเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ซึ่งอาจเหมาะสมกับสถานการณ์ในขณะนั้น ซึ่งก็คือการแบ่งปันผลประโยชน์ตามระบบ Thailand 1 ซึ่งมีทั้งการเก็บค่าสัมปทาน 12.5% ตามมูลค่าปิโตรเลียมที่ผลิตได้ และภาษีรายได้จากธุรกิจปิโตรเลียมที่เก็บสูงถึง 50%

อย่างไรก็ตามเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติก็ได้ปรับระบบใหม่ให้รัฐได้รับผลประโยชน์มากขึ้นตามระบบ Thailand 2 แต่ก็ปรากฏว่าผู้รับสัมปทานทั้ง 7 รายไม่สามารถทำการผลิตภายใต้ระบบการแบ่งปันผลประโยชน์แบบนี้ได้เลย เพราะไม่คุ้มทุน เนื่องจากแหล่งปิโตรเลียมที่ได้สัมปทานในระบบ Thailand 2 นั้นเป็นแหล่งเล็กๆเป็นส่วนใหญ่

กรมเชื้อเพลิงฯจึงต้องปรับระบบใหม่อีกครั้งเป็นระบบ Thailand 3 ซึ่งอยู่กลางๆระหว่าง Thailand 1 กับ Thailand 2 และเป็นระบบที่ใช้มาจนถึงทุกวันนี้

ปัจจุบันประเทศไทยมีรายได้จากระบบสัมปทานโดยแยกตามระบบ Thailand 1 กับ Thailand 3 ตามข้อมูลของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติดังนี้


ซึ่งถ้ามองกันอย่างไม่มีอคติแล้ว ผมคิดว่าก็ไม่ได้น้อยจนเกินไป แต่ก็ไม่ได้มากเหมือนกับบางประเทศที่เขามีศักยภาพทางแหล่งสำรองปิโตรเลียมสูงกว่าประเทศไทย อย่างเช่น เวเนซูเอล่า ซาอุดิอาเรเบีย อินโดนีเซีย หรือมาเลเซีย เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เรื่องการให้สัมปทาน การแบ่งปันผลประโยชน์ การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ เป็นเรื่องที่ปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลาครับ และควรปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมและสอดคล้องกับกาลเวลาและยุคสมัย ตลอดจนสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป อะไรที่เหมาะสมและดีสำหรับยุคหนึ่ง อาจไม่ดีหรือไม่เหมาะกับอีกยุคหนึ่งก็ได้

ดังนั้นผมจึงเห็นด้วยกับการที่ภาคประชาสังคมจะเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และมีบทบาทในการร่วมตัดสินใจกับภาครัฐในเรื่องของการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ ในฐานะที่มีส่วนเป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติเหล่านั้นด้วย

แต่เราควรเสนอแนะมุมมองและความคิดเห็นของเราอย่างสร้างสรรค์ ด้วยเหตุและผล ไม่ใช่ไปชี้นิ้วว่ากล่าวคนอื่นที่เขาเห็นต่าง ว่าโง่เง่า ไม่รักชาติ เป็นขึ้ข้านายทุน คอร์รัปชั่นต่างๆนานา ซึ่งนอกจากไม่สร้างสรรค์แล้ว ยังทำให้ไม่เกิดความร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาอีกด้วย

อย่าผูกขาดความรักชาติไว้แต่เพียงกลุ่มของตัวเองเพียงกลุ่มเดียวเลยครับ !!!

มนูญ ศิริวรรณ

ที่มา -