ข่าว:

ห้ามโพสโฆษณา สินค้าที่ดูแล้วขัดต่อ ศีลธรรม ประเพณี หรือกฏหมายของไทย เด็ดขาด หากพบจะแบนสมาชิกนั้นออกจากบอร์ดทันที

Main Menu

บางจากพร้อมชิงสัมปทานรอบ21รอรัฐประกาศกลางปีหน้าแต่ไม่สนประมูลแหล่งบงกช/เอราวัณ

เริ่มโดย mrtnews, มิ.ย 30, 16, 06:22:14 ก่อนเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

บางจากยันไม่ทิ้งธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ชี้ต้นทุนยังแข่งขันได้ 30 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล เตรียมพร้อมเข้าร่วมประมูลสัมปทานรอบ 21 หากมีความชัดเจนจากทางภาครัฐ แต่ไม่ขอสู้ ปตท.สผ.-เชฟรอนร่วมประมูลแหล่งบงกชและเอราวัณที่หมดอายุ "ชัยวัฒน์" ชี้อีบิตดาปีนี้เติบโต จากยอดใช้นํ้ามัน 9% พร้อมสนใจลงทุนโรงงานเอทานอลเพิ่ม


นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการติดตามความคืบหน้าในการประกาศใช้พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และพ.ร.บ.ภาษีปิโตรเลียม ที่ได้เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ที่ผ่านมา เพ่อนำไปสู่การประกาศเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 21 จำนวน 29 แปลง ในช่วงกลางปีหน้านั้น ซึ่งในส่วนนี้ทางบางจากมีความสนใจที่จะเข้าร่วมประมูลแหล่งปิโตรเลียม จำนน 2 แปลง ผ่านบริษัท นิโด้ ปิโตรเลียม จำกัด ที่บริษัทได้เข้าไปซื้อหุ้นไว้ในสัดส่วน 81.41% ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ประเทศออสเตรเลีย

ทั้งนี้ แม้ว่าปัจจุบันราคาน้ำมันดิบขณะนี้จะยังไม่สูงมากนักเฉลี่ย 48-50 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล แต่ต้นทุนผลิตของบริษัทย่อยเฉลี่ยอยู่ที่ 30 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ทำให้ธุรกิจนี้ยังไปได้อยู่ อีกทั้ง มองว่าในอนาคตราคาน้ำมันจะปรับตัวสูงขึ้นคุ้มกับต้นทุนที่จะทำการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมขึ้นมา เป็นการสร้างรายได้ให้กับบริษัทอีกทางหนึ่ง ซึ่งหากทางรัฐบาลประกาศเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ได้ บางจากก็มีความพร้อมทันที่ เพราะได้เตรียมข้อมูลมาพร้อมแล้วตั้งแต่ปีที่ผ่านมา แต่รัฐบาลให้ชะลอการเปิดประมูลออกไปก่อน

ส่วนกรณีที่ทางคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) มีมติให้เปิดประมูลแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมที่หมดอายุช่วงปี 2556-2566 ของแหล่งเอราวัณ ดำเนินการโดยบริษัท เชฟรอนฯ และแหล่งบลกชของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน)หรือปตท.สผ.นั้น ทางบางจากคงจะไม่เข้าไปร่วมประมูล เนื่องจากเห็นว่าเป็นบริษัทรายใหญ่ ที่ดำเนินการในแหล่งดังกล่าวอยู่แล้ว จึงมีความได้เปรียบที่จะทราบว่าแหล่งของตัวเองเป็นอย่างไร และสามารถบริหารจัดการต้นทุนที่จะมาแข่งขันได้ ขณะที่รายใหม่จะเข้าไปและมีโอกาสชนะจึงค่อนข้างยาก

นายชัยวัฒน์ กล่าวอีกว่า ส่วนความคืบหน้าการนำบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) บริษัทย่อย (บางจากถือหุ้น 99.9%) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) นั้น ขณะนี้ได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แล้ว คาดว่าจะสามารถเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปครั้งแรก(ไอพีโอ) จำนวนไม่เกิน 600 ล้านหุ้น ภายในเดือนกันยายน-ตุลาคมนี้ แต่ต้องขึ้นกับสภาวะตลาดด้วย โดยมี บล.กสิกรไทย บล.ฟินันซ่า และธนาคารทิสโก้ เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

ปัจจุบันบีซีพีจี ประกอบธุรกิจผลิต และจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน รวมถึงลงทุนในบริษัทที่ประกอบธุรกิจผลิต และจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยวัตถุประสงค์ของการระดมทุนในครั้งนี้เพื่อใช้เป็นเงินทุนสำหรับการขยายธุรกิจทั้งใน และต่างประเทศ และเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานของบริษัท


ส่วนแนวโน้มกำไรก่อนหักดอกเบี้ยภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย(อีบิทด้า) ในปีนี้ คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้น สาเหตุมาจากยอดใช้น้ำมันในประเทศที่เติบโตขึ้น 9% จากปีก่อน รวมทั้งยังรับรู้รายได้จากบริษัท บางจากไบโอฟูเอล จำกัด ที่จะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น จาก 3.6 แสนลิตรต่อวัน เป็น 8.1 แสนลิตรต่อวัน คาดว่าจะสามารถเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ได้ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ ปัจจุบันบางจากมีความต้องการใช้น้ำมันบี100 อยู่ที่ 5-6 แสนลิตรต่อวัน ส่วนที่เหลือจะขายให้กับลูกค้ารายใหญ่ 3-4 ราย ขณะที่รายได้จากธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์(โซลาร์ฟาร์ม) ก็ดีขึ้นเช่นกัน

นอกจากนี้บางจากยังรับรู้กำลังการผลิตจากการซื้อหุ้นบริษัท สีมาอินเตอร์โปรดักส์ จำกัด ที่ฉะเชิงเทรา กำลังการผลิต 1.5 แสนลิตรต่อวัน ในช่วงเดือนสิงหาคมนี้ จากปัจจุบันบางจากถือหุ้นในบริษัท อุบล ไบโอเอทานอล จำกัด 21.28% กำลังการผลิต 4 แสนลิตรต่อวัน รวมทั้งยังมองหาโอกาสลงทุนโรงงานเอทานอลแห่งใหม่เพิ่มขึ้น เนื่องจากเห็นว่าแนวโน้มความต้องการใช้เอทานอล เพื่อผลิตเป็นแก๊สโซฮอล์ในอนาคตสูงขึ้น และหากรัฐยกเลิกแก๊สโซฮอล์อี10 เพื่อส่งเสริมแก๊สโซฮอล์อี20 ยิ่งทำให้ยอดใช้เอทานอลเพิ่มขึ้นอีก 2-3 ล้านลิตรต่อวัน จากปัจจุบันยอดใช้เอทานอลอยู่ที่ 3.5 ล้านลิตรต่อวัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,169 วันที่ 26 – 29 มิถุนายน พ.ศ. 2559



ที่มา Data & Images -