ข่าว:

ห้ามโพสโฆษณา อาหาร ยา และเครื่องสำอางค์ รวมถึงสมุนไพรทุกชนิด ไม่ว่าจะมี อย. หรือไม่  เด็ดขาด หากพบจะแบนสมาชิกนั้นออกจากบอร์ดทันที

Main Menu

แจง กม.แรงงานทางทะเลช่วยผู้ทำงานเรือได้รับสิทธิตามมาตรฐานสากล

เริ่มโดย mrtnews, ก.ค 19, 16, 14:07:58 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

กระทรวงแรงงาน เผย พ.ร.บ.แรงงานทางทะเล ทำให้ผู้ที่ทำงานบนเรือ กว่า 4 หมื่นคน ได้รับการคุ้มครองตามมาตราฐานสากล


เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 59 นายธีรพล  ขุนเมือง  ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน อธิบายสาระสำคัญของพระราชบัญญัติแรงงานทางทะเล พ.ศ.2558 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 59 ที่ผ่านมา ว่า กฎหมายฉบับนี้จะทำให้ผู้ที่งานประจำเรือเดินทะเลได้รับประโยชน์ และได้รับการคุ้มครองกว่า 40,000 คน นอกจากนี้เจ้าของเรือที่มีขนาด 200 ตันกรอสขึ้นไปกว่า 1,000 ลำ จะได้ประโยชน์ทั้งในเรื่องการรับรองว่าการปฏิบัติถูกต้องตามมาตรฐานสากลภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล พ.ศ.2559 ขององค์การแรงงาน (ไอแอลโอ) ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันการค้าระหว่างประเทศได้ดียิ่งขึ้น

สำหรับเนื้อหาสำคัญของกฎหมายฉบับนี้จะเน้นการดูแลคุ้มครองผู้ที่ทำงานประจำเรือ ทั้งด้านสภาพการทำงานบนเรือเดินทะเล สภาพการจ้าง ความปลอดภัย และสุขอนามัย ตลอดจนการคุ้มครองด้านการประกันสังคม อาทิ ห้ามใช้งานผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 16ปีทำงานประจำเรือ ต้องจัดให้ผู้ที่ทำงานมีเวลาพักผ่อนไม่น้อยกว่า 1 ชม. มีสิทธิในการลาขึ้นฝั่ง ลาคลอด รวมถึงต้องมีหนังสือข้อตกลงการจ้าง ระบบการรักษาพยาบาล การคุ้มครองชีวิต ป้องกันอุบัติเหตุ ค่าล่วงเวลาต้องไม่น้อยกว่า 1.5 เท่าต่อ ชม. และต้องจัดหาคนประจำเรือให้เพียงพอกับงานให้เป็นตามมาตรฐานสากลอย่างชัดเจน

นอกจากนี้ โฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวอีกว่า พล.อ.ศิริชัย  ดิษฐกุล  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้เน้นย้ำให้กระทรวงแรงงาน ทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอย่างใกล้ชิดทั้ง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข และเจ้าของเรือ เพื่อทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดในกิจการเดินเรือทะเล และทำให้เกิดการคุ้มครองแรงงานทางทะเลตามกฎหมายเพื่อส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของไทย



ที่มา Data & Images -




คอลัมน์: พัฒนาคน พัฒนาชาติ: พระราชบัญญัติแรงงานทางทะเล

หนังสือพิมพ์บ้านเมือง - จันทร์ที่ 18 กรกฎาคม 2559 - พระราชบัญญัติแรงงานทางทะเล พ.ศ.2558 มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2559 มีทั้งหมด 14 หมวด 125 มาตรา เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัตินี้ เนื่องจากสภาพการจ้างงาน  การทำงานบนเรือเดินทะเลมีความเสี่ยงภัยทางทะเลและมีระยะเวลาการทำงานที่ต่อเนื่องยาวนานประกอบกับสภาพการจ้าง สภาพการทำงานของคนทำงานบนเรือบางส่วนมิได้เป็นไปตามสัญญาจ้างแรงงาน เพื่อให้การทำงานของคนประจำเรือได้รับความเป็นธรรมตามอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล พ.ศ.2549 (MaritimeLabourConvention,2006) ขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (InternationalLabour Organization)


ประเทศไทยภายใต้รัฐบาลชุดปัจจุบันจึงได้ตรากฎหมายดังกล่าวขึ้นเพื่อกำหนดมาตรฐานสภาพการทำงาน สภาพการจ้างความปลอดภัยและสุขอนามัยของคนประจำเรือและการคุ้มครองด้านประกันสังคม โดยกำหนดมาตรการให้มีการออกใบรับรองแรงงานทางทะเลแก่เรือที่ชักธงไทยเพื่อรับรองว่าคนประจำเรือจะได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมตามมาตรฐานสากล เพื่อป้องกันการใช้มาตรการของรัฐเมืองท่าต่อเรือไทยที่เดินทางระหว่างประเทศ เช่นการกักเรือการตรวจเรือการสั่งให้แก้ไขข้อบกพร่อง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ 3 ฝ่าย คือ เจ้าของเรือ มีใบรับรองด้านแรงงานทางทะเล ขนส่งสินค้า อีกทั้งสร้างความเชื่อมั่นผู้ว่าจ้าง คนประจำเรือ ได้รับการคุ้มครองสภาพการทำงานบนเรือ ค่าจ้าง เวลาพัก วันหยุด ลาคลอด การรักษากรณีเจ็บป่วย อุบัติเหตุ ฯลฯ รัฐบาล จะมีรายได้จากการจดทะเบียนเรือ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันการค้าระหว่างประเทศด้วย โดยพระราชบัญญัตินี้กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานมีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อปฏิบัติการตามกฎหมายซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้แต่งตั้งข้าราชการจากหลายหน่วยงาน อาทิ ข้าราชการกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรมการจัดหางาน และสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานเป็นต้น

วันก่อนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้เป็นประธานเปิดโครงการอบรมให้ความรู้ตามพระราชบัญญัติแรงงานทางทะเล พ.ศ.2558 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้และเผยแพร่สาระสำคัญเกี่ยวกับพระราชบัญญัติแรงงานทางทะเล พ.ศ.2558 และเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับแต่งตั้งนำความรู้ที่ได้รับไปบังคับใช้กฎหมายอย่างถูกต้อง โดยผู้เข้าร่วมการอบรมประกอบไปด้วย ข้าราชการในสังกัดกระทรวงแรงงานส่วนกลางและส่วนภูมิภาค 23 จังหวัดชายฝั่งทะเลข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข ข้าราชการกระทรวงคมนาคม ข้าราชการกรมเจ้าท่า ข้าราชการกรมการกงสุล ฝ่ายเจ้าของเรือฝ่ายคนประจำเรือ สถาบันการศึกษา และผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมกว่า 200 คน

หวังว่าผู้เข้ารับการอบรมจะได้มีความรู้เรื่องพระราชบัญญัติแรงงานทางทะเล พ.ศ.2558 เพิ่มมากขึ้น และสามารถนำไปขยายผล เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ และสร้างการรับรู้ให้เข้าใจตรงกันโดยนำกลไก "ประชารัฐ" มาบูรณาการความร่วมมือระหว่าง "ประชาชน" กับ "เจ้าหน้าที่รัฐ" เพื่อบริหารกฎหมายให้เกิดประโยชน์สูงสูดต่อกิจการขนส่ง และการคุ้มครองแรงงาน ทางทะเล ตลอดจนการพัฒนากิจการพาณิชย์นาวีของประเทศไทยด้วย

ธีรพล ขุนเมือง



ที่มา Data & Images -