ข่าว:

รับสมัครเฉพาะชาวเรือและผู้ที่สนใจที่เป็นคนไทยเท่านั้น สมัครแล้วรออนุมัติประมาณ 2-3 วัน หากต้องการด่วนโปรดแจ้ง webmaster@marinerthai.net

Main Menu

รับมือ!สัมปทานเอราวัณ-บงกชหมดอายุ ช่วงรอยต่อกำลังผลิตก๊าซลด-สั่งเพิ่มคลังนำเข้า

เริ่มโดย mrtnews, เม.ย 25, 17, 06:27:25 ก่อนเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

ก.พลังงาน หวั่นการผลิตก๊าซจากแหล่งบงกช-เอราวัณดิ่งลงต่ำสุดปี64 ดันแผนรองรับฉุกเฉินสั่ง ปตท.ขยายคลังก๊าซ LNG ระยะที่ 1 เพิ่ม 3.5 ล้านตัน เจรจา ปตท.สผ.-เชฟรอน ให้คงกำลังผลิตไว้ที่ไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุต พร้อมเตรียมนำเสนอ "อนันตพร" พิจารณาอนุมัติภายในเดือน เม.ย. 60 นี้


จากนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้กระทรวงพลังงานต่ออายุสัญญาแหล่งปิโตรเลียม 2 แหล่งสำคัญคือ เอราวัณและบงกช ที่จะทยอยหมดสัญญาในปี 2565 และ 2566 ด้วยการใช้วิธี "เปิดประมูล" แทนการให้สิทธิ์รายเดิมเพื่อความโปร่งใสนั้น ในกรณีที่ได้ผู้รับสิทธิ์รายใหม่เข้ามาดำเนินการ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติมีความกังวลว่าการผลิตจะไม่มีความต่อเนื่อง และส่งผลต่อปริมาณการผลิตที่ลดลง โดยเฉพาะในช่วงปี 2564 ดังนั้นกรมเชื้อเพลิงฯ จึงได้เจรจาขอให้ผู้รับสัมปทานเดิมคือ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือปตท.สผ.ให้คงการผลิตระดับเดิมไว้ก่อน และขณะนี้ได้เตรียมเจรจากับบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด เพิ่มเติมด้วย นอกเหนือจากนี้ยังเตรียมแผนรองรับในกรณีฉุกเฉินไว้ด้วย

นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้กรมเชื้อเพลิงฯ กำลังอยู่ในระหว่างประเมินเบื้องต้นว่าในช่วงปี 2564 การผลิตก๊าซธรรมชาติจากทั้งแหล่งเอราวัณและบงกชนั้นจะยืนอยู่ที่ระดับใด ซึ่งในกรณีเลวร้ายสุด (Worse Case) อาจมีกำลังผลิตก๊าซต่ำกว่า 1,500 ล้าน

ลูกบาศก์ฟุต/วัน จะต้องมีแผนรองรับฉุกเฉิน (Emergency Plan) เข้ามารองรับ และในขณะนี้อยู่ในระหว่างศึกษาความเหมาะสมโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) คือ การขยายคลังก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG Terminal ในระยะที่ 1 เพิ่มเติมจากแผนอีก 3.5 ล้านตัน รวมเป็น 15 ล้านตัน จากเดิมที่คลังก๊าซมีศักยภาพสูงสุดที่เพียง 11.5 ล้านตัน นั่นหมายถึงว่าจะต้องมีการนำเข้าก๊าซ LNG เพิ่มขึ้น

สาเหตุที่ต้องมีแผนรองรับกรณีฉุกเฉิน เนื่องจากในปี 2564 เป็นช่วงรอยต่อของการหมดอายุสัญญาสัมปทาน ซึ่งโดยปกติทั่วไปผู้รับสัมปทานรายเดิมจะไม่มีการลงทุนขุดเจาะเพิ่มในช่วงท้ายสัญญา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เปิดประมูลแหล่งดังกล่าวและได้ผู้รับสิทธิ์รายใหม่ก็ยังต้องใช้เวลาในการขุดเจาะหลุมผลิตเพิ่มอย่างน้อยต้องใช้เวลาอีก2-3 ปี กว่าที่จะกลับมาผลิตในระดับเดิม ดังนั้นเพื่อไม่ให้มีปัญหาขาดแคลนก๊าซธรรมชาติจึงต้องมีแผนรองรับดังกล่าว


"เบื้องต้นหารือกับ ปตท.สผ.ในฐานะผู้รับสัมปทานในแหล่งบงกชให้ดึงกำลังผลิตไว้เท่าเดิมจนถึงปี 2563 จากเดิมที่จะดึงปริมาณการผลิตได้จนถึงแค่ปี 2561 ซึ่ง ปตท.สผ.ก็ยืนยันว่าดำเนินการได้ ส่วนเชฟรอนฯ เตรียมที่จะเจรจาเร็ว ๆ นี้ ต้องยอมรับว่าปริมาณการผลิตก๊าซมันต้องตกลงมาแน่ ๆ แต่จะตกและกินเวลายาวนานแค่ไหนต้องรอดูสถานการณ์อีกครั้ง"

นายวีระศักดิ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการเปิดประมูลให้ผู้สนใจเข้ามาขอสิทธิ์ในการสำรวจและผลิตแหล่งเอราวัณและบงกชนั้น ในเบื้องต้นเงื่อนไขประมูล (TOR) จะมีการกำหนดว่าในช่วงเริ่มต้นจะต้องคงระดับการผลิตทั้ง 2 แหล่งไว้ที่ 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน หรืออาจจะมากกว่า ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดทั้งแผนรองรับฉุกเฉินและเงื่อนไขการเปิดประมูลจะนำเสนอต่อพลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเพื่อพิจารณาเห็นชอบเร็ว ๆ นี้

รายงานข่าวเพิ่มเติมจากกรมเชื้อเพลิงฯ ระบุว่า ข้อมูลล่าสุดในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แหล่งเอราวัณ มีกำลังผลิตอยู่ที่ 1,200 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ในขณะที่แหล่งบงกช มีกำลังการผลิตที่ 1,062 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน รวมกำลังผลิตก๊าซธรรมชาติจากทั้ง 2 แหล่งอยู่ที่ 2,356 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน



ที่มา Data & Images -





..