Menuleft - MarinerThai.Net

หน้าแรก

เว็บบอร์ดชาวเรือ

สารบัญเว็บไซด์ชาวเรือ

เอกสารน่าอ่านไทย

เอกสารน่าอ่านอังกฤษ

สาระไอทีชาวเรือ

แหล่งคนหางานเรือไทย

บทความจากสมาชิก

นิทานชาวเรือ

คนเรือหัวหมอ

คู่มือปฏิบัติงานเรือ

ระบบสื่อสาร-เดินเรือ

พจนานุกรมศัพท์ทางเรือ

ความหมายคำย่อทางเรือ

ข่าวอัพเดทรายวัน

ข่าวสดราคาน้ำมันโลก

รวมข่าวโจรสลัด

รวมข่าวอุบัติเหตุทางเรือ

สนับสนุนเว็บเรา

สถิติผู้เข้าชมเว็บนี้

ติดต่อเรา

เปิดเว็บ 1 ตุลาคม 2545

 

ขณะนี้เวลา | Your Time
10:46:33

Nathalin Group

MarinerThai 2004

TOP Enginerring Group

 

 
 
 

 

 

TOP Engineering Group - VTOL UAV Thailand

Advertising in marinerthai.net Advertising in MarinerThai.Com

พระราชบัญญัติเรือไทย พุทธศักราช 2481

พระราชบัญญัติเรือไทย พุทธศักราช 2481

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - -- - - - - -

นพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล

คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

(ตามประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ 4 สิงหาคม พุทธศักราช 2480)

อาทิตย์ทิพอาภา พล.อ. เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน

ตราไว้ ณ วันที่ 7 เมษายน พุทธศักราช 2482

เป็นปีที่ 6 ในรัชกาลปัจจุบัน

 

โดยที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติว่า สมควรมีกฎหมายว่าด้วยเรือไทย จึงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำ และยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดังต่อไปนี้

 

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า "พระราชบัญญัติเรือไทย พุทธศักราช 2481"

 

มาตรา 2* ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้เมื่อพ้นกำหนดร้อยแปดสิบวันนับแต่วัน ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป *[รก.2482/-/230/10 เมษายน 2482]

 

มาตรา 3 ตั้งแต่วันใช้พระราชบัญญัตินี้ ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยการ จดทะเบียนและออกใบอนุญาตสำหรับเรือจับสัตว์น้ำไทย พุทธศักราช 2477 พระราชบัญญัติ ว่าด้วยการจดทะเบียนและออกใบอนุญาตสำหรับเรือจับสัตว์น้ำไทย (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2479 และบรรดากฎหมาย กฎและข้อบังคับอื่น ๆ ในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัด หรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้

 

มาตรา 4 เรือราชนาวีไทยเป็นเรือไทย แต่ไม่อยู่ภายใต้บังคับบทแห่งพระราช บัญญัตินี้

 

มาตรา 5 ในพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่จะมีข้อความแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น

1. "น่านน้ำไทย" หมายความถึง บรรดาน่านน้ำที่อยู่ภายใต้อธิปไตยของประเทศ ไทย

2. "เมืองท่า" หมายความถึง ทำเล หรือถิ่นที่ทอดจอดเรือเพื่อขนถ่ายคนโดยสาร หรือของ

3. "เรือ" หมายความถึง ยานพาหนะทางน้ำทุกชนิด

4. "เรือกล" หมายความถึง เรือที่เดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล จะใช้กำลังอื่นด้วยหรือ ไม่ก็ตาม

5. "เรือทะเล" หมายความถึง เรือที่มีลักษณะสำหรับใช้ในทะเล

6. "เรือลำน้ำ" หมายความถึง เรืออื่นที่มิใช่เรือทะเล

7. "การค้าในน่านน้ำไทย" หมายความถึง การขนส่งคนโดยสารหรือของ หรือ ลากจูง เพื่อหากำไร จากเมืองท่าหรือถิ่นที่แห่งหนึ่งภายในน่านน้ำไทยไปยังเมืองท่าหรือถิ่นที่ อีกแห่งหนึ่งหรือหลายแห่งภายในน่านน้ำไทย

8. "การประมง" หมายความถึง การจับสัตว์น้ำทุกชนิดรวมทั้งที่ใช้เรือไปทำการ จับสัตว์น้ำหรือเป็นพาหนะไปทำการจับสัตว์น้ำด้วย

9. "ผู้ควบคุมเรือ" หมายความถึง นายเรือ สรั่ง ไต้ก๋ง นายท้าย คนถือท้ายหรือ บุคคลใดอื่น ผู้มีหน้าที่บังคับเรือและรับผิดชอบในเรือ แต่ไม่หมายความถึงผู้นำร่อง

10. "คนประจำเรือ" หมายความถึง บรรดาคนที่มีหน้าที่ทำการประจำอยู่ในเรือ

11. "รัฐมนตรี" หมายความถึง รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

12. "เจ้าท่า" หมายความถึง อธิบดีกรมเจ้าท่าหรือผู้ทำการแทนอธิบดีกรมเจ้าท่า และหมายความถึงผู้ที่รัฐมนตรีแต่งตั้งให้เป็นเจ้าท่า หรือให้รักษาการแทนเจ้าท่า

13. "นายทะเบียนเรือ" หมายความถึง ผู้ที่รัฐมนตรีแต่งตั้งให้เป็นนายทะเบียนเรือ หรือให้รักษาการแทนนายทะเบียนเรือ

 

หมวด 1 การจดทะเบียนเรือไทย

 

มาตรา 6 การจดทะเบียนเรือไทยตามพระราชบัญญัตินี้ต้องจดต่อนายทะเบียนเรือ

 

มาตรา 7* ผู้ที่จะถือกรรมสิทธิ์เรือจดทะเบียนเป็นเรือไทยซึ่งทำการค้าในน่านน้ำ ไทยได้ตามมาตรา 47 ต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

(1) เป็นบุคคลธรรมดาซึ่งมีสัญชาติไทย

(2) เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนที่ผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดเป็นบุคคล ธรรมดาซึ่งมีสัญชาติไทย

(3) เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ

(4) เป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยดังต่อไปนี้

(ก) ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียนที่ผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดเป็นบุคคลธรรมดา ซึ่งมีสัญชาติไทย

(ข) ห้างหุ้นส่วนจำกัดที่ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดทั้งหมดเป็น บุคคลธรรมดาซึ่งมีสัญชาติไทย และทุนไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบเป็นของบุคคลซึ่งมิใช่คนต่างด้าว

(ค) บริษัทจำกัดที่กรรมการไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งมีสัญชาติไทย หุ้นอันเป็นทุน จดทะเบียนไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบเป็นของบุคคลซึ่งมิใช่คนต่างด้าวและไม่มีข้อบังคับอนุญาตให้ ออกใบหุ้นชนิดออกให้แก่ผู้ถือ

(ง) บริษัทมหาชนจำกัดที่กรรมการไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งมีสัญชาติไทยและหุ้น อันเป็นทุนชำระแล้วไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบเป็นของบุคคลซึ่งมิใช่คนต่างด้าว เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้

"คนต่างด้าว" หมายความว่า คนต่างด้าวตามกฎหมาย ว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว *[มาตรา 7 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติเรือไทย (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2540]

 

มาตรา 7 ทวิ* ผู้ที่จะถือกรรมสิทธิ์เรือจดทะเบียนเป็นเรือไทยซึ่งใช้ประกอบการ ขนส่งทางทะเลระหว่างประเทศโดยเฉพาะ และไม่ทำการค้าในน่านน้ำไทยตามมาตรา 47 ต้อง เป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยซึ่งกรรมการไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งมีสัญชาติไทย และมี คุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

(1) เป็นบริษัทจำกัดที่หุ้นอันเป็นทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ดเป็น ของบุคคลซึ่งมิใช่คนต่างด้าว และไม่มีข้อบังคับอนุญาตให้ออกใบหุ้นชนิดออกให้แก่ผู้ถือ

(2) เป็นบริษัทมหาชนจำกัดที่หุ้นอันเป็นทุนชำระแล้วไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ด เป็นของบุคคลซึ่งมิใช่คนต่างด้าว เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ "คนต่างด้าว" หมายความว่า คนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว *[มาตรา 7 ทวิ แก้ไขโดยพระราชบัญญัติเรือไทย (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2540]

 

มาตรา 7 ตรี* ห้ามมิให้บุคคลธรรมดาซึ่งมีสัญชาติไทยและนิติบุคคลซึ่งสามารถ ถือกรรมสิทธิ์เรือจดทะเบียนเป็นเรือไทยได้ตามมาตรา 7 กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

(1) ถือกรรมสิทธิ์เรือจดทะเบียนเป็นเรือไทยตามมาตรา 7 แทนคนต่างด้าว

(2) เป็นหุ้นส่วนแทนคนต่างด้าวในห้างหุ้นส่วนที่เป็นนิติบุคคลซึ่งถือกรรมสิทธิ์ เรือจดทะเบียนเป็นเรือไทยตามมาตรา 7

(3) ถือหุ้นแทนคนต่างด้าวในบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดซึ่งถือกรรมสิทธิ์ เรือจดทะเบียนเป็นเรือไทยตามมาตรา 7 หรือมาตรา 7 ทวิ เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ คำว่า "คนต่างด้าว" ให้หมายความรวมถึงนิติบุคคล ซึ่งไม่สามารถถือกรรมสิทธิ์เรือจดทะเบียนเป็นเรือไทยได้ตามมาตรา 7 หรือมาตรา 7 ทวิ แล้วแต่ กรณี *[มาตรา 7 ตรี เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเรือไทย (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2534]

 

มาตรา 7 จัตวา* ห้ามมิให้บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดซึ่งสามารถ ถือกรรมสิทธิ์เรือจดทะเบียนเป็นเรือไทยได้ตามมาตรา 7 ทวิ กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

(1) ถือกรรมสิทธิ์เรือจดทะเบียนเป็นเรือไทยตามมาตรา 7 ทวิ แทนคนต่างด้าว

(2) ถือหุ้นแทนคนต่างด้าวในบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดซึ่งถือกรรมสิทธิ์ เรือจดทะเบียนเป็นเรือไทยตามมาตรา 7 ทวิ เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ คำว่า "คนต่างด้าว" ให้หมายความรวมถึงนิติบุคคล ซึ่งไม่สามารถถือกรรมสิทธิ์เรือจดทะเบียนเป็นเรือไทยได้ตามมาตรา 7 ทวิ *[มาตรา 7 จัตวา เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเรือไทย (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2534]

 

มาตรา 8 เรือดังจะกล่าวต่อไปนี้ เมื่อได้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว ให้ถือว่าเป็นเรือไทย สำหรับการค้าในน่านน้ำไทย

1. เรือกล ขนาดตั้งแต่สิบตันกรอสขึ้นไป

2. เรือทะเลที่มิใช่เรือกล ขนาดตั้งแต่ยี่สิบตันกรอสขึ้นไป

3. เรือลำน้ำที่มิใช่เรือกล ขนาดตั้งแต่ห้าสิบตันกรอสขึ้นไป

สำหรับการประมง

1. เรือกลทุกขนาด

2. เรือที่มิใช่เรือกลขนาดตั้งแต่หกตันกรอสขึ้นไป

 

มาตรา 9 เรือของบุคคลตามมาตรา 7 ซึ่งมิได้ใช้ประโยชน์ตามมาตรา 47 แม้จะ มีขนาดดังกล่าวไว้ในมาตราก่อน และเรือของบุคคลตามมาตรา 7 ขนาดต่ำกว่าที่กล่าวไว้ในมาตรา ก่อน สำหรับการค้าในน่านน้ำไทยหรือการประมงแล้วแต่กรณี ไม่ต้องจดทะเบียนตามพระราช บัญญัตินี้ เรือซึ่งกล่าวในมาตรานี้ ให้ถือว่าเป็นเรือไทยด้วย

 

มาตรา 10 ในการขอจดทะเบียนเป็นเรือไทย ผู้ขอต้องปฏิบัติ ดังต่อไปนี้

1. ยื่นคำแสดงกรรมสิทธิ์ตามแบบพิมพ์ของกรมเจ้าท่า

2. ทำคำรับรองว่าเงื่อนไขในการที่จะถือกรรมสิทธิ์ได้เป็นไปตามมาตรา 7 และ นำพยานหลักฐานมาพิสูจน์คำรับรองนั้น ถ้าผู้ขอเป็นห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทจำกัด ต้องนำใบสำคัญ แสดงการจดทะเบียนของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นมาแสดง

3. ยื่นใบสำคัญแสดงการตรวจเรือ ซึ่งพนักงานตรวจเรือกรมเจ้าท่าได้ออกให้ตาม มาตรา 12

4. ยื่นรายการแสดงวัน เดือน ปี และตำบลที่ต่อเรือนั้นเสร็จ เท่าที่จะแสดงได้

5. ถ้าเรือนั้นเดิมเป็นของคนต่างด้าว ให้แจ้งชื่อเรือซึ่งใช้อยู่เดิมนั้นด้วย

6. แสดงชื่อผู้ควบคุมเรือ

 

มาตรา 11 เรือที่ขอจดทะเบียนเป็นเรือไทยให้มีเครื่องหมายถาวรเห็นได้ชัดเจน ไว้ที่ตัวเรือตามที่กำหนดในกฎกระทรวง เมื่อได้จดทะเบียนเป็นเรือไทยแล้ว และตราบใดที่การจดทะเบียนนั้นยังไม่ สิ้นไปให้เป็นหน้าที่ของผู้ควบคุมเรือที่จะรักษาเครื่องหมายดังกล่าวแล้วนั้นให้ถาวรอยู่เสมอ จะเปลี่ยนแปลงหรือปิดบังไม่ได้ นอกจากเพื่อปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่น

 

มาตรา 12 เรือที่จะขอจดทะเบียนเป็นเรือไทยต้องมีใบสำคัญแสดงการตรวจเรือ ไปแสดงต่อนายทะเบียนเรือว่าเรือนั้นได้รับการตรวจจากพนักงานตรวจเรือกรมเจ้าท่าถูกต้องตาม กฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย

 

มาตรา 13 ในการรับจดทะเบียนเป็นเรือไทย ให้นายทะเบียนเรือเก็บใบสำคัญ แสดงการตรวจเรือไว้ และถ้ามีใบสำคัญของผู้ต่อเรือหรือหนังสือสำคัญแสดงการโอนก็ให้เก็บ ไว้ด้วย

 

มาตรา 14 สมุดทะเบียนเรือไทยให้ทำตามแบบพิมพ์ของกรมเจ้าท่าและให้มี รายการดังต่อไปนี้ด้วย

1. ชื่อเรือ ชื่อเมืองท่าที่เรือนั้นจดทะเบียน และชื่อผู้ควบคุมเรือ

2. ประเภทของเรือ ชื่ออู่และชื่อเจ้าของอู่ที่ต่อเรือนั้น

3. รายการตรวจเรือ

4. รายการแสดงการได้กรรมสิทธิ์ตามที่ปรากฏในคำรับรอง

5. ชื่อ ที่อยู่ และอาชีพการงานของผู้ที่ลงทะเบียนเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ถ้าเป็นห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทจำกัด ให้มีชื่อและที่อยู่ของผู้จัดการหรือกรรมการ ด้วย

 

มาตรา 15 เรือลำใดได้จดทะเบียนเป็นเรือไทย ณ เมืองท่าใดเมืองท่านั้นเป็นเมือง ท่าขึ้นทะเบียนของเรือนั้น

 

หมวด 2 ใบทะเบียนเรือไทย

 

มาตรา 16 เมื่อได้จดทะเบียนเรือแล้ว ให้นายทะเบียนเรือออกใบสำคัญแสดงการ จดทะเบียนตามแบบพิมพ์ของกรมเจ้าท่าให้แก่ผู้ขอจดทะเบียนใบสำคัญนี้ให้เรียกว่า "ใบทะเบียน"

 

มาตรา 17 ในระหว่างเวลาที่คงใช้เรือนั้น ใบทะเบียนให้ใช้เป็นเอกสารประจำ เรือ และผู้ควบคุมเรือต้องรักษาไว้ในเรือเสมอผู้ใดจะเอาไปเสียจากเรือไม่ได้ นอกจากเพื่อปฏิบัติ ตามพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่น และเมื่อเจ้าพนักงานขอตรวจ ผู้ควบคุมเรือต้องนำออก แสดงทันที

 

มาตรา 18 ถ้าใบทะเบียนสูญหายหรือเป็นอันตรายไปด้วยประการอื่นหรือชำรุด ในสาระสำคัญ ให้ผู้ควบคุมเรือขอใบทะเบียนใหม่แทนใบเก่าจากนายทะเบียนเรือประจำเมืองท่าขึ้น ทะเบียนของเรือนั้น ถ้ากรณีดังกล่าวแล้วเกิดขึ้นนอกเมืองท่าขึ้นทะเบียนของเรือนั้นให้ผู้ควบคุมเรือขอ ใบทะเบียนชั่วคราวที่เมืองท่าแรกถึง ซึ่งมีนายทะเบียนเรือหรือเจ้าพนักงานกงสุลไทย แล้วแต่กรณี เมื่อเรือมาถึงเมืองท่าขึ้นทะเบียนของเรือ ผู้ควบคุมเรือต้องนำใบทะเบียนชั่วคราว ส่งนายทะเบียนเรือประจำเมืองท่านั้นภายในกำหนดสิบวันนับแต่วันเรือถึง เพื่อนายทะเบียนเรือจะ ได้ออกใบทะเบียนใหม่แทนใบเก่า ในกรณีที่ใบทะเบียนไม่มีที่ว่างสำหรับกรอกรายการต่าง ๆ ได้ต่อไปให้ นายทะเบียนเรือหรือเจ้าพนักงานกงสุลไทย แล้วแต่กรณี ออกใบประจำต่อตามที่กำหนด ในกฎกระทรวง

 

มาตรา 19 เมื่อได้ออกใบทะเบียนใหม่แทนใบเก่าแล้ว ถ้าใบเก่ายังมีอยู่ในกรณี ที่ชำรุดในสาระสำคัญ หรือได้พบในภายหลังในกรณีที่สูญหายให้ผู้ควบคุมเรือส่งแก่นายทะเบียน เรือประจำเมืองท่าขึ้นทะเบียนของเรือโดยด่วน เพื่อจัดการตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

มาตรา 20 เมื่อมีการเปลี่ยนตัวผู้ควบคุมเรือให้ผู้ควบคุมเรือคนใหม่นำใบทะเบียน กับประกาศนียบัตรหรือใบอนุญาตประจำตัวของตนไปแสดงต่อเจ้าท่าหรือนายทะเบียนเรือหรือ เจ้าพนักงานกงสุลไทย แล้วแต่กรณีก่อนเรือออก เมื่อเจ้าพนักงานดังกล่าวมานั้นได้พิจารณาเป็นที่พอใจแล้ว ให้หมายเหตุการเปลี่ยนตัวผู้ควบคุมเรือในใบทะเบียนและลงนามกำกับไว้ เมื่อมีการเปลี่ยนตัวผู้ควบคุมเรือนอกเมืองท่าขึ้นทะเบียนของเรือนั้นให้ เจ้าพนักงานผู้หมายเหตุรายงานไปยังนายทะเบียนเรือประจำเมืองท่าขึ้นทะเบียนของเรือนั้น โดยด่วน ให้รัฐมนตรีมีอำนาจยกเว้นเรือไทยที่จดทะเบียนแล้วบางขนาดมิต้องปฏิบัติตาม บทแห่งมาตรานี้ โดยออกเป็นกฎกระทรวง

 

มาตรา 21 ในกรณีที่มีการเปลี่ยนกรรมสิทธิ์เรือ ให้นายทะเบียนเรือประจำเมือง ท่าขึ้นทะเบียนของเรือนั้นเป็นผู้หมายเหตุไว้ในใบทะเบียน ในกรณีที่มีการเปลี่ยนกรรมสิทธิ์เรือนอกเมืองท่าขึ้นทะเบียนของเรือให้ นายทะเบียนเรือหรือเจ้าพนักงานกงสุลไทยประจำเมืองท่าที่มีการเปลี่ยนกรรมสิทธิ์หรือที่เรือแรก ถึง แล้วแต่กรณี เป็นผู้หมายเหตุในใบทะเบียนแต่จะต้องแจ้งให้นายทะเบียนเรือประจำเมืองท่า ขึ้นทะเบียนของเรือนั้นทราบและได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนเรือนั้นก่อน

 

มาตรา 22 ในกรณีที่เรือไทยที่ได้จดทะเบียนแล้วได้สูญหายไปถูกข้าศึกคร่า ถูกเพลิงเผาผลาญ อับปาง ทำลายหรือถูกละทิ้ง ให้เจ้าของเรือแจ้งแก่นายทะเบียนเรือประจำเมืองท่า ขึ้นทะเบียนของเรือนั้น ภายในสามสิบวันนับตั้งแต่วันที่ตนทราบเหตุการณ์ และให้นายทะเบียนเรือ นั้น บันทึกข้อความที่ได้รับแจ้งลงไว้ในสมุดทะเบียนเป็นหลักฐาน ในกรณีดังกล่าวแล้วในวรรคก่อน ถ้าใบทะเบียนไม่สูญหายหรือไม่ถูกทำลาย ให้ผู้ควบคุมเรือคืนใบทะเบียนแก่นายทะเบียนเรือหรือเจ้าพนักงานกงสุลไทยประจำเมืองท่าที่ เกิดเหตุหรือที่แรกถึง แล้วแต่กรณี

 

มาตรา 23 ให้นายทะเบียนเรือหรือเจ้าพนักงานกงสุลไทย แล้วแต่กรณี ส่ง ใบทะเบียนที่ได้รับไว้ตามมาตราก่อนไปยังนายทะเบียนเรือประจำเมืองท่าขึ้นทะเบียนของเรือ

 

มาตรา 24* ถ้าเรือได้เปลี่ยนกรรมสิทธิ์ หรือต่อขึ้นใหม่นอกราชอาณาจักรไทย และเป็นเรือของบุคคลผู้มีลักษณะที่จะเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เรือจดทะเบียนเป็นเรือไทยได้ตาม มาตรา 7 เจ้าพนักงานกงสุลไทยหรือพนักงานตรวจเรือกรมเจ้าท่า อาจออกใบทะเบียนชั่วคราว ให้แก่ผู้ควบคุมเรือ และให้เจ้าพนักงานกงสุลไทยหรือพนักงานตรวจเรือกรมเจ้าท่า ผู้ออก ใบทะเบียนชั่วคราวส่งสำเนาใบทะเบียนชั่วคราวนั้นไปยังนายทะเบียนเรือประจำเมืองท่าซึ่งมี ความจำนงจะจดทะเบียนโดยด่วน ข้อความในใบทะเบียนชั่วคราวต้องมีรายการดังต่อไปนี้

1. ชื่อเรือ และชื่อเก่า ถ้ามี

2. ชื่อผู้ควบคุมเรือ

3. ชื่อเจ้าของเรือ และชื่อเจ้าของเก่า ถ้ามี

4. เหตุที่ได้กรรมสิทธิ์เรือนั้น

5. วัน เดือน ปี และตำบลที่ได้กรรมสิทธิ์

6. รายการเกี่ยวด้วยขนาดเรือ การต่อเรือ และรายการอื่น ๆ เท่าที่แสดงได้

7. ชื่อเมืองท่าซึ่งมีความจำนงจะจดทะเบียนเป็นเรือไทย *[มาตรา 24 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติเรือไทย (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2521]

 

มาตรา 25* ใบทะเบียนชั่วคราวซึ่งเจ้าพนักงานกงสุลไทยหรือพนักงานตรวจเรือ กรมเจ้าท่าออกให้ตามมาตรา 24 ให้ใช้ได้เช่นเดียวกับใบทะเบียน และให้ใช้ได้จนกว่าเรือนั้นมาถึง เมืองท่าซึ่งมีความจำนงจะจดทะเบียน แต่ห้ามมิให้ใช้เกินกำหนดหกเดือนนับแต่วันออกใบทะเบียน ชั่วคราวนั้น ให้ผู้ควบคุมเรือส่งใบทะเบียนชั่วคราวแก่นายทะเบียนเรือภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ เรือนั้นมาถึงเมืองท่าซึ่งมีความจำนงจะจดทะเบียน *[มาตรา 25 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติเรือไทย (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2521]

 

มาตรา 26 ภายในน่านน้ำไทย เมื่อเรือลำใดจะออกไปยังเมืองท่าหนึ่งเมืองท่าใด เพื่อจะจดทะเบียนเป็นเรือไทย และประสงค์จะรับประโยชน์ตามพระราชบัญญัตินี้ในระหว่างเดิน ทางนั้น ให้ผู้ควบคุมเรือขอใบผ่านเมืองท่าชั่วคราวจากเจ้าท่าผู้ควบคุมถิ่นที่ที่เรือจะออกไป ใบผ่านเมืองท่าชั่วคราวนี้ให้ใช้ได้เสมือนใบทะเบียนภายในกำหนดเงื่อนไข อันระบุไว้ในใบผ่านเมืองท่าชั่วคราวนั้น ในการขอใบผ่านนี้ เมื่อเจ้าท่าได้พิจารณาไม่เห็นสมควรจะไม่อนุญาตก็ได้

 

หมวด 3 การโอนกรรมสิทธิ์เรือไทยที่ได้จดทะเบียนแล้ว

 

มาตรา 27 การโอนโดยนิติกรรมซึ่งกรรมสิทธิ์เรือไทยที่ได้จดทะเบียนแล้ว ให้ ยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนเรือประจำเมืองท่าขึ้นทะเบียนของเรือนั้น เพื่อขอให้จัดการโอนไว้ใน สมุดทะเบียน สัญญาโอนกรรมสิทธิ์เรือตามมาตรานี้ ให้ทำเป็นหนังสือตามแบบพิมพ์ของ กรมเจ้าท่า ต่อหน้านายทะเบียนเรือดังกล่าวมาแล้ว ถ้ามีการโอนกรรมสิทธิ์เรือดังกล่าวมาแล้วนอกเมืองท่าขึ้นทะเบียนของเรือ ให้ นายทะเบียนเรือหรือเจ้าพนักงานกงสุลไทยประจำเมืองท่าที่มีการโอนกรรมสิทธิ์เรือนั้น แล้วแต่ กรณี ทำหน้าที่เป็นนายทะเบียนเรือประจำเมืองท่าขึ้นทะเบียนของเรือ โดยหมายเหตุการโอน ไว้ในใบทะเบียนและส่งสำเนาสัญญา ถ้าจำเป็นก็รวมทั้งคำแปลสัญญาอันรับรองว่าถูกต้องไปยัง นายทะเบียนเรือประจำเมืองท่าขึ้นทะเบียนของเรือนั้นโดยด่วน เมื่อได้รับเอกสารเช่นว่านั้นและ เห็นว่าถูกต้องแล้ว ให้นายทะเบียนเรือจดการโอนไว้ในสมุดทะเบียน

 

มาตรา 28 ในกรณีดังกล่าวมาแล้วในมาตราก่อน เมื่อปรากฏว่าผู้รับโอนไม่ต้อง ด้วยลักษณะที่จะเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เรือไทยได้ตามมาตรา 7

1. ถ้าทำการโอน ณ เมืองท่าขึ้นทะเบียนของเรือ ให้นายทะเบียนเรือประจำเมืองท่า ที่กล่าวนั้นเรียกใบทะเบียนคืน และให้ถอนทะเบียนเรือนั้นเสีย

2. ถ้าทำการโอนนอกเมืองท่าขึ้นทะเบียนของเรือ ให้นายทะเบียนเรือ หรือ เจ้าพนักงานกงสุลไทย แล้วแต่กรณี เรียกใบทะเบียนคืนและให้ส่งรายงานเกี่ยวกับเหตุการณ์และ ใบทะเบียนนั้น พร้อมทั้งเอกสารต่าง ๆ ที่ระบุไว้ในวรรคสามแห่งมาตราก่อนไปยังนายทะเบียนเรือ ประจำเมืองท่าขึ้นทะเบียนของเรือเพื่อให้ถอนทะเบียนเรือนั้นเสีย

 

มาตรา 29 เมื่อกรรมสิทธิ์ในเรือไทยที่ได้จดทะเบียนแล้วได้ตกไปเป็นของผู้ใด โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ให้ผู้นั้นส่งใบทะเบียนพร้อมทั้งคำรับรองและพยานหลักฐานเกี่ยวกับ สัญชาติของตนต่อนายทะเบียนเรือประจำเมืองท่าขึ้นทะเบียนของเรือนั้นภายในเก้าสิบวัน นับแต่วัน ที่เรือได้ตกไปเป็นของผู้นั้น เพื่อการนี้ให้นายทะเบียนเรือมีอำนาจออกหมายเรียกบุคคลและพยานหลักฐานอื่น ที่เกี่ยวข้องมาสอบถามได้

 

มาตรา 30 เมื่อเรือไทยที่ได้จดทะเบียนแล้ว ได้ตกไปโดยทางอื่น นอกจาก นิติกรรมเป็นของบุคคลที่จะถือกรรมสิทธิ์เรือไทยได้ตามมาตรา 7 ให้ผู้ที่ได้กรรมสิทธิ์เรือนั้นยื่น คำร้องเป็นหนังสือต่อนายทะเบียนเรือประจำเมืองท่าขึ้นทะเบียนของเรือ เพื่อขอจดทะเบียนเรือนั้น ในนามของตน ภายในกำหนด เวลาที่ระบุไว้ในมาตราก่อนพร้อมทั้งนำพยานหลักฐานมาแสดงว่า ตนได้กรรมสิทธิ์ และเป็นผู้ที่จะถือกรรมสิทธิ์เรือไทยได้ เมื่อได้รับคำร้องและพยานหลักฐานดังกล่าวข้างต้นแล้วถ้ามีมูลพอเชื่อฟังได้ ภายในเจ็ดวัน ให้นายทะเบียนเรือจัดให้ปิดประกาศคำร้องนั้นไว้ ณ เมืองท่าขึ้นทะเบียนของเรือและ โฆษณาในหนังสือพิมพ์โดยผู้ร้องต้องออกค่าใช้จ่ายตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ถ้าพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ปิดประกาศไว้แล้วไม่มีผู้ใดคัดค้านต่อ นายทะเบียนเรือ ให้นายทะเบียนเรือเรียกใบทะเบียนจากผู้ร้อง และเมื่อได้สอบพยานหลักฐานเป็น ที่ถูกต้องแล้ว ให้นายทะเบียนเรือบันทึกรายการไว้ในสมุดทะเบียนและหมายเหตุใบทะเบียนตาม คำร้องนั้น ถ้ามีผู้คัดค้านภายในสามสิบวันนั้น ให้นายทะเบียนเรือแจ้งให้ผู้คัดค้านนำคดี ไปฟ้องศาลภายในสิบห้าวัน และในระหว่างสิบห้าวันนี้ให้นายทะเบียนเรืองดการบันทึกรายการ หรือหมายเหตุไว้ก่อน ถ้าผู้คัดค้านไม่นำคดีไปฟ้องศาลภายในกำหนดนั้น ให้นายทะเบียนเรือ ดำเนินการดังบัญญัติไว้ในวรรคก่อนถ้าผู้คัดค้านนำคดีไปฟ้องศาล ให้นายทะเบียนเรือเลื่อนการ ดำเนินการไปจนกว่าศาลจะได้พิพากษาคดีถึงที่สุดแล้ว จึงดำเนินการต่อไปตามคำพิพากษานั้น

 

มาตรา 31 ในกรณีที่เรือไทยที่ได้จดทะเบียนแล้ว ได้ตกไปโดยทางอื่นนอกจาก นิติกรรม เป็นของบุคคลผู้ไม่ต้องด้วยลักษณะที่จะถือกรรมสิทธิ์เรือไทยได้ตามมาตรา 7 ก็ดี หรือ ในกรณีที่บุคคลผู้เป็นเจ้าของขาดลักษณะเช่นนั้นด้วยเหตุใด ๆ ก็ดี ถ้าเจ้าของเรือมีความประสงค์ จะให้เรือนั้นยังคงเป็นเรือไทยต่อไปก็ให้จัดการโอนไปยังผู้ที่จะถือกรรมสิทธิ์เรือไทยได้ตาม มาตรา 7 ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่เรือได้ตกไปเป็นของตน หรือนับแต่วันที่ขาดลักษณะเช่นนั้น แล้วแต่กรณี แต่ถ้าเจ้าของเรือไม่มีความประสงค์จะให้เรือนั้นยังคงเป็นเรือไทยต่อไป ก็ให้ยื่นคำร้อง ขอถอนทะเบียนต่อนายทะเบียนเรือประจำเมืองท่าขึ้นทะเบียนของเรือนั้นเสียภายในเก้าสิบวัน ดังกล่าวแล้วดุจกัน ถ้าพ้นกำหนดเก้าสิบวันดังกล่าวไว้ในวรรคก่อนแล้วเจ้าของเรือมิได้จัดการอย่างใด ให้ถือว่าเจ้าของเรือมีความประสงค์จะให้เรือนั้นยังคงเป็นเรือไทยต่อไป และเมื่อกรมเจ้าท่าร้องขอ ให้พนักงานอัยการมีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลภายในสามสิบวันนับแต่วันที่พ้นกำหนดเก้าสิบวัน ดังกล่าวแล้ว เพื่อขอให้ศาลสั่งขายทอดตลาดเรือนั้นแก่ผู้ที่จะถือกรรมสิทธิ์เรือไทยได้ตามมาตรา 7 เมื่อขายได้และหักค่าธรรมเนียมกับค่าใช้จ่ายเหลือเงินเป็นจำนวนสุทธิเท่าใด ให้จ่ายแก่บุคคลผู้มี สิทธิจะได้รับ ในระหว่างที่จัดการโอนดังกล่าวข้างต้น ให้ถือว่าเรือนั้นเป็นเรือไทย แต่ในกรณี ที่มิได้จัดการโอนตามวรรคสองมิให้ถือว่าเรือนั้นเป็นเรือไทย เมื่อพ้นกำหนดร้อยแปดสิบวันนับแต่ วันที่เรือนั้นเป็นของบุคคลผู้ไม่ต้องด้วยลักษณะที่จะถือกรรมสิทธิ์เรือไทยได้และเมื่อพ้นกำหนด ร้อยแปดสิบวันนั้นไปแล้ว ให้นายทะเบียนเรือถอนทะเบียนเรือนั้นเสีย

 

มาตรา 32 เมื่อหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทจำกัดซึ่งเป็นเจ้าของเรือไทยที่ได้ จดทะเบียนแล้วได้ตกไปเป็นของบุคคลอื่นใดโดยนิติกรรม หรือโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมให้ หุ้นส่วนผู้จัดการหรือกรรมการผู้จัดการบริษัทแล้วแต่กรณี แจ้งความต่อนายทะเบียนเรือประจำเมือง ท่าขึ้นทะเบียนของเรือนั้น ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ตนทราบว่าหุ้นได้ตกไปเป็นของบุคคลอื่น นั้น พร้อมทั้งยื่นรายงานเกี่ยวกับสัญชาติของบุคคลที่ได้มาเป็นเจ้าของหุ้นนั้นด้วย เพื่อการนี้ ให้นายทะเบียนเรือมีอำนาจออกหมายเรียกบุคคลและพยานหลักฐานอื่น ที่เกี่ยวข้องมาสอบถามได้

 

มาตรา 32 ทวิ* ในกรณีที่มีการฝ่าฝืนมาตรา 7 ตรี (2) หรือ (3) หรือมาตรา 7 จัตวา (2) ให้นิติบุคคลซึ่งถือกรรมสิทธิ์เรือจดทะเบียนเป็นเรือไทยที่มีการฝ่าฝืนดังกล่าว ปฏิบัติ ดังต่อไปนี้

(1) มีหนังสือแจ้งให้นายทะเบียนเรือประจำเมืองท่าขึ้นทะเบียนของเรือนั้นทราบ ถึงการฝ่าฝืนดังกล่าวภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงการฝ่าฝืนนั้น

(2) หยุดใช้เรือไทยที่ตนถือกรรมสิทธิ์ดังกล่าวตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้

(ก) กรณีที่เป็นเรือจดทะเบียนเป็นเรือไทยตามมาตรา 7 ถ้านิติบุคคลนั้น ไม่สามารถถือกรรมสิทธิ์เรือดังกล่าวตามมาตรา 7 ได้ต่อไป แต่ยังสามารถถือกรรมสิทธิ์เรือ จดทะเบียนเป็นเรือไทยตามมาตรา 7 ทวิ ได้ ให้หยุดใช้เรือนั้นทำการค้าในน่านน้ำไทยโดยพลัน แต่ถ้านิติบุคคลนั้นไม่สามารถถือกรรมสิทธิ์เรือจดทะเบียนเป็นเรือไทยตามมาตรา 7 ทวิ ได้ต่อไป ให้หยุดใช้เรือนั้นทำการขนส่งหรือลากจูงตามที่มีกฎหมาย มติคณะรัฐมนตรี หรือความตกลง ระหว่างประเทศกำหนดให้ต้องขนส่งหรือลากจูงโดยเรือไทยโดยพลันด้วย ทั้งนี้ เว้นแต่กรณีที่ได้รู้ ถึงการฝ่าฝืนในเวลาที่เรืออยู่ในระหว่างการเดินทางโดยมีการขนส่งหรือลากจูงอยู่ ก็ให้ใช้เรือนั้น ทำการขนส่งหรือลากจูงต่อไปได้จนถึงเมืองท่าหรือถิ่นที่ตามที่ได้ตกลงไว้กับผู้ว่าจ้าง

(ข) กรณีที่เป็นเรือจดทะเบียนเป็นเรือไทยตามมาตรา 7 ทวิ ถ้านิติบุคคลนั้น ไม่สามารถถือกรรมสิทธิ์เรือดังกล่าวตามมาตรา 7 ทวิ ได้ต่อไป ให้หยุดใช้เรือนั้นทำการขนส่งหรือ ลากจูงตามที่มีกฎหมาย มติคณะรัฐมนตรี หรือความตกลงระหว่างประเทศกำหนดให้ต้องขนส่ง หรือลากจูงโดยเรือไทยโดยพลัน เว้นแต่กรณีที่ได้รู้ถึงการฝ่าฝืนในเวลาที่เรืออยู่ในระหว่างการ เดินทางโดยมีการขนส่งหรือลากจูงอยู่ ก็ให้ใช้เรือนั้นทำการขนส่งหรือลากจูงต่อไปได้จนถึง เมืองท่าหรือถิ่นที่ตามที่ได้ตกลงไว้กับผู้ว่าจ้าง *[มาตรา 32 ทวิ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเรือไทย (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2534]

 

มาตรา 33 ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนซึ่งเป็นเจ้าของเรือไทยที่ได้จดทะเบียน แล้ว ขาดลักษณะที่จะเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เรือไทยได้ตามมาตรา 7 ให้นายทะเบียนเรือประจำเมืองท่า ขึ้นทะเบียนของเรือนั้นถอนทะเบียนเรือนั้นเสีย เว้นแต่หุ้นของผู้เป็นหุ้นส่วนนั้นจะได้โอนไปยัง บุคคลผู้มีลักษณะที่จะถือกรรมสิทธิ์เรือไทยได้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ขาดลักษณะเช่นนั้น

 

มาตรา 34 ถ้าจำนวนหุ้นในบริษัทจำกัดซึ่งเป็นเจ้าของเรือไทยที่ได้จดทะเบียน แล้วบกพร่องจนทำให้บริษัทขาดลักษณะที่จะเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เรือไทยได้ตามมาตรา 7 ให้ผู้มี ส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอให้ศาลสั่งขายทอดตลาดหุ้นซึ่งการโอนหรือตกทอดไปเป็น เหตุให้บริษัทขาดลักษณะเช่นนั้นแก่ผู้ที่จะถือกรรมสิทธิ์เรือไทยได้ตามมาตรา 7 ภายในเก้าสิบวัน นับแต่วันที่ผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณี ได้ทราบการขาดลักษณะเช่นนั้น ในการที่จะถือว่าหุ้นใดเป็นเหตุให้บริษัทขาดลักษณะที่จะถือกรรมสิทธิ์เรือไทย ที่ได้จดทะเบียนแล้วได้ เพื่อประโยชน์ในการที่จะร้องขอต่อศาลให้สั่งขายทอดตลาดนั้นให้ถือเอา หุ้นซึ่งได้โอนไปและเป็นเหตุให้บริษัทขาดลักษณะดังกล่าวแล้ว เป็นหุ้นที่จะต้องขายทอดตลาด ดังกล่าวนี้ ถ้ามีจำนวนมากกว่าที่จำเป็นจะต้องขายทอดตลาดก็ให้ขายทอดตลาดเฉพาะหุ้นที่มี เลขหมายน้อยที่สุดเป็นลำดับขึ้นไปจนครบจำนวนอันจะทำให้บริษัทมีลักษณะที่จะเป็นผู้ถือ กรรมสิทธิ์เรือไทยตามมาตรา 7 หุ้นนอกนั้นไม่ต้องขายทอดตลาด การขายทอดตลาดต้องขายให้เสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ลงในประกาศ ครั้งแรก ถ้าภายในกำหนดนั้นไม่มีผู้ซื้อหุ้นจนครบจำนวนอันจะทำให้บริษัทมีลักษณะที่จะถือ กรรมสิทธิ์เรือไทยได้ ให้นายทะเบียนเรือประจำเมืองท่าขึ้นทะเบียนของเรือนั้นถอนทะเบียนเรือ นั้นเสีย

 

มาตรา 35 ถ้าจำนวนกรรมการส่วนมากในบริษัทจำกัดซึ่งเป็นเจ้าของเรือไทย ที่ได้จดทะเบียนแล้วไม่ถูกต้องตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 7 ให้กรรมการผู้จัดการของบริษัทแจ้งต่อ นายทะเบียนเรือประจำเมืองท่าขึ้นทะเบียนของเรือภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ตนทราบเหตุการณ์ นั้น และถ้าภายในสามสิบวันนับแต่วันที่แจ้งยังมิได้จัดให้จำนวนกรรมการถูกต้องตามมาตรา 7 ให้ นายทะเบียนเรือถอนทะเบียนเรือนั้นเสีย เพื่อการนี้ ให้นายทะเบียนเรือมีอำนาจออกหมายเรียกบุคคลและพยานหลักฐานอื่น ที่เกี่ยวข้องมาสอบถามได้

 

มาตรา 35 ทวิ* ในกรณีที่มีการฝ่าฝืนมาตรา 7 ตรี (2) หรือ (3) หรือมาตรา 7 จัตวา (2) โดยนิติบุคคลซึ่งถือกรรมสิทธิ์เรือจดทะเบียนเป็นเรือไทยมิได้รู้เห็นหรือยินยอมด้วย ให้ ดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) ถ้านิติบุคคลนั้นเป็นนิติบุคคลซึ่งถือกรรมสิทธิ์เรือจดทะเบียนเป็นเรือไทย ตามมาตรา 7 และขาดคุณสมบัติที่จะเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เรือจดทะเบียนเป็นเรือไทยนั้นได้ต่อไป หากยังมีคุณสมบัติที่จะเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เรือจดทะเบียนเป็นเรือไทยได้ตามมาตรา 7 ทวิ ให้นำ มาตรา 34 มาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ถ้าไม่มีคุณสมบัติที่จะเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เรือจดทะเบียนเป็น เรือไทยได้ตามมาตรา 7 ทวิ ให้นำมาตรา 33 หรือมาตรา 34 มาใช้บังคับโดยอนุโลม แล้วแต่กรณี

(2) ถ้านิติบุคคลนั้นเป็นนิติบุคคลซึ่งถือกรรมสิทธิ์เรือจดทะเบียนเป็นเรือไทยตาม มาตรา 7 ทวิ และขาดคุณสมบัติที่จะเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เรือจดทะเบียนเป็นเรือไทยนั้นต่อไป ให้นำ มาตรา 34 มาใช้บังคับโดยอนุโลม *[มาตรา 35 ทวิ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเรือไทย (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2534]

 

หมวด4 การจำนองและบุริมสิทธิอันเกี่ยวกับเรือไทยที่ได้จดทะเบียนแล้ว

 

มาตรา 36 สัญญาจำนองเรือไทยที่ได้จดทะเบียนแล้วนั้น ให้ทำเป็นหนังสือตาม แบบพิมพ์ของกรมเจ้าท่า และจดทะเบียนการจำนองต่อหน้านายทะเบียนเรือประจำเมืองท่า ขึ้นทะเบียนของเรือนั้น ในเรื่องบุริมสิทธิดังระบุไว้ในมาตรา 273 ถึงมาตรา 276 แห่งประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์ ให้ถือว่าเรือดังกล่าวมาแล้วเป็นอสังหาริมทรัพย์ และให้นำมาตรา 285 ถึง มาตรา 289 แห่งประมวลกฎหมายนั้นมาใช้บังคับและในเรื่องการจดทะเบียนบุริมสิทธิดังกล่าว มาแล้วให้นายทะเบียนเรือประจำเมืองท่าขึ้นทะเบียนของเรือเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ การจดทะเบียนดังบัญญัติไว้ในสองวรรคก่อนนั้น ให้จดไว้ในสมุดทะเบียน และหมายเหตุไว้ในใบทะเบียน

 

มาตรา 37 ถ้าจะต้องปฏิบัติตามความในมาตราก่อนนอกเมืองท่าขึ้นทะเบียนของ เรือ ให้นายทะเบียนเรือหรือเจ้าพนักงานกงสุลไทยประจำเมืองท่าหนึ่งเมืองท่าใด แล้วแต่กรณี เป็น ผู้ทำหน้าที่นายทะเบียนเรือประจำเมืองท่าขึ้นทะเบียนของเรือ โดยหมายเหตุไว้ในใบทะเบียน แล้ว ส่งสำเนาให้นายทะเบียนเรือประจำเมืองท่าขึ้นทะเบียนของเรือนั้นโดยด่วนเมื่อได้รับสำเนาเช่นนั้น แล้ว ให้นายทะเบียนเรือประจำเมืองท่าขึ้นทะเบียนของเรือจดข้อความนั้นไว้ในสมุดทะเบียน

 

หมวด 5 ชื่อเรือ การเปลี่ยนแปลงเรือ การเปลี่ยนเมืองท่าขึ้นทะเบียน การจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลง และการจดทะเบียนใหม่

 

มาตรา 38 เรือไทยที่ได้จดทะเบียนแล้วจะใช้ชื่ออย่างอื่นให้ผิดไปจากที่ได้ จดทะเบียนไว้ไม่ได้ ชื่อของเรือไทยที่ได้จดทะเบียนแล้ว จะเปลี่ยนได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตเป็นหนังสือ จากอธิบดีกรมเจ้าท่า การขอเปลี่ยนชื่อเรือ ให้ทำตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

มาตรา 39 เมื่อได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนชื่อเรือแล้วการแก้ชื่อที่ตัวเรือในสมุด ทะเบียน ในใบทะเบียน ในเอกสารอื่นทุกฉบับซึ่งเห็นว่าสมควร และการโฆษณาเกี่ยวกับการ เปลี่ยนชื่อเรือนั้น ให้ทำตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

มาตรา 40 เรือไทยที่ได้จดทะเบียนแล้ว เมื่อได้มีการเปลี่ยนแปลงตัวเรือหรือ ส่วนอื่นของเรือให้ผิดไปจากรายการซึ่งปรากฏอยู่ในใบทะเบียนผู้ควบคุมเรือต้องแจ้งการ เปลี่ยนแปลงนั้นต่อนายทะเบียนเรือหรือเจ้าพนักงานกงสุลไทยประจำเมืองท่าที่มีการเปลี่ยนแปลง เช่นว่านั้นโดยด่วน ถ้าที่เมืองท่านั้นไม่มีเจ้าพนักงานดังกล่าวแล้ว ต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงที่เมือง ท่าแรกถึงซึ่งมีเจ้าพนักงานดังกล่าวแล้ว

 

มาตรา 41 ในการแจ้งการเปลี่ยนแปลงต่อนายทะเบียนเรือตามมาตราก่อน ให้ ผู้ควบคุมเรือส่งใบตรวจเรือของพนักงานตรวจเรือกรมเจ้าท่าไปแสดงด้วย ถ้านายทะเบียนเรือที่ได้รับแจ้งการเปลี่ยนแปลงมิใช่นายทะเบียนเรือประจำเมือง ท่าขึ้นทะเบียนของเรือ ให้นายทะเบียนเรือนั้นหมายเหตุรายการเปลี่ยนแปลงไว้ในใบทะเบียน แล้วลงนามกำกับไว้ และให้รายงานรายการเปลี่ยนแปลงนั้นไปให้นายทะเบียนเรือประจำ เมืองท่าขึ้นทะเบียนของเรือทราบโดยด่วน

 

มาตรา 42 ในการแจ้งการเปลี่ยนแปลงต่อเจ้าพนักงานกงสุลไทยตามมาตรา 40 ให้ผู้ควบคุมเรือส่งใบตรวจเรือของพนักงานตรวจเรือกรมเจ้าท่า หรือถ้าไม่มีใบตรวจเรือเช่นนั้น ก็ให้ส่งใบตรวจเรือของบุคคลผู้ซึ่งกรมเจ้าท่าได้ระบุไว้หรือผู้ซึ่งมีความรู้และฐานะที่เทียบกันได้ อย่างใกล้เคียงไปแสดงด้วย ให้เจ้าพนักงานกงสุลไทยหมายเหตุรายการการเปลี่ยนแปลงนั้นไว้ในใบทะเบียน แล้วลงนามกำกับไว้ และให้รายงานการเปลี่ยนแปลงนั้นไปให้นายทะเบียนเรือประจำเมืองท่า ขึ้นทะเบียนของเรือทราบโดยด่วน กับให้ส่งสำเนาใบตรวจเรือของพนักงานตรวจเรือซึ่งรับรอง ว่าถูกต้องไปให้ด้วย

 

มาตรา 43 เมื่อได้รับรายงานการเปลี่ยนแปลงและเอกสารเกี่ยวกับการ เปลี่ยนแปลงแล้ว ให้นายทะเบียนเรือประจำเมืองท่าขึ้นทะเบียนของเรือสั่งให้จดทะเบียนการ เปลี่ยนแปลงนั้นไว้ และออกใบทะเบียนให้ใหม่ ท่าเรือนั้นไม่อยู่ที่เมืองท่าขึ้นทะเบียนของเรือ ให้นายทะเบียนเรือประจำเมืองท่าขึ้น ทะเบียนของเรือส่งใบทะเบียนใหม่ไปให้นายทะเบียนเรือหรือเจ้าพนักงานกงสุลไทยที่ได้รับแจ้ง การเปลี่ยนแปลงนั้น แล้วแต่กรณี เมื่อได้รับใบทะเบียนใหม่แล้ว ให้ผู้ควบคุมเรือคืนใบทะเบียนเดิมซึ่งต้องส่งไปให้ นายทะเบียนเรือประจำเมืองท่าขึ้นทะเบียนของเรือเพื่อจัดการตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

มาตรา 44 เรือไทยที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว จะขอโอนไปขึ้นทะเบียนเรือ ณ เมืองท่าอื่นภายในราชอาณาจักรไทยก็ได้ คำขอให้ทำเป็นหนังสือยื่นต่อนายทะเบียนเรือประจำ เมืองท่าขึ้นทะเบียนของเรือนั้น โดยบุคคลทั้งหมดที่ปรากฏในสมุดทะเบียนว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ในเรือนั้น เมื่อมีผู้มาขอโอนเมืองท่าขึ้นทะเบียนเรือตามความในวรรคก่อนให้นายทะเบียนเรือ ประจำเมืองท่าขึ้นทะเบียนของเรือแจ้งการอนุญาตการโอนนั้นพร้อมทั้งส่งสำเนาเอกสารต่าง ๆ อันเกี่ยวกับเรือและรายนามบุคคลทั้งหมดที่ปรากฏในสมุดทะเบียนว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในเรือนั้น ไปให้นายทะเบียนเรือประจำเมืองท่าที่มีความจำนงจะขึ้นทะเบียน เมื่อนายทะเบียนเรือประจำเมืองท่าขึ้นทะเบียนใหม่ได้รับเอกสารต่าง ๆ ดังกล่าว แล้วข้างต้น ให้จดรายการของเอกสารเหล่านั้น และรายนามบุคคลทั้งหมดเช่นว่านั้นลงในสมุด ทะเบียน แล้วออกใบทะเบียนให้ใหม่ส่วนใบทะเบียนเดิมให้เรียกคืน เมืองท่านี้ย่อมเป็นเมืองท่าขึ้น ทะเบียนของเรือนั้นต่อไป และให้เปลี่ยนชื่อเมืองท่าที่ตัวเรือเป็นชื่อเมืองท่าใหม่

 

มาตรา 45 การจดทะเบียนเป็นเรือไทยสิ้นไปด้วยเหตุต่าง ๆ ดังระบุไว้ใน มาตรา 22 เมื่อการจดทะเบียนเป็นเรือไทยได้สิ้นไปด้วยเหตุสูญหาย ถูกเพลิงเผาผลาญ อับปาง ทำลาย หรือถูกละทิ้ง จะขอจดทะเบียนใหม่เป็นเรือไทยได้ก็แต่โดยปฏิบัติตามความใน มาตรา 12 เท่านั้น และในกรณีเช่นว่านี้ให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนใหม่ ค่าธรรมเนียมในการตรวจเรือตามมาตรานี้ ให้เรียกเก็บเต็มอัตราหรือเพียงบางส่วน แล้วแต่พฤติการณ์ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

มาตรา 46 เรือที่ไม่เคยจดทะเบียนเป็นเรือไทยมาขอจดทะเบียนเป็นเรือไทย ต้องจดในชื่อเรือที่ใช้อยู่ในขณะที่ขอจดทะเบียน ส่วนเรือที่เคยจดทะเบียนเป็นเรือไทยแล้วมาขอ จดทะเบียนใหม่ต้องจดในชื่อเรือที่ใช้อยู่ในขณะที่ขอจดทะเบียน แต่ในคำร้องผู้ขอจดทะเบียนต้อง แจ้งชื่อเรือครั้งสุดท้ายที่ใช้อยู่ในขณะที่การจดทะเบียนเป็นเรือไทยได้สิ้นไป

 

หมวด 6 สิทธิและหน้าที่พิเศษของเรือไทย

 

มาตรา 47 นอกจากจะมีความตกลงกับต่างประเทศเป็นอย่างอื่นเรือไทยซึ่งได้ จดทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้ และเรือมีขนาดต่ำกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรา 8 สำหรับการค้าใน น่านน้ำไทย ซึ่งเป็นของบุคคลตามมาตรา 7 เท่านั้นจะทำการค้าในน่านน้ำไทยได้ บทบัญญัติในวรรคก่อนไม่ใช้บังคับแก่เรือของบุคคลธรรมดาที่เป็นคนต่างด้าวซึ่ง มีขนาดต่ำกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรา 8 สำหรับการค้าในน่านน้ำไทย

 

มาตรา 47 ทวิ* ในกรณีที่รัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นว่า น่านน้ำไทยส่วนใดยังมีเรือ ไทยทำการตามมาตรา 47 ไม่พอแก่ความต้องการของประเทศ รัฐมนตรีมีอำนาจอนุญาตให้เรือของ บุคคลผู้ไม่ต้องด้วยลักษณะที่จะถือกรรมสิทธิ์เรือไทยได้ตามมาตรา 7 ทำการตามมาตรา 47 ได้ มี กำหนดคราวละไม่เกินหนึ่งปี แต่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนด *[มาตรา 47 ทวิ เพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 162 ลงวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2515]

 

มาตรา 48 ห้ามมิให้บุคคลผู้ไม่ต้องด้วยลักษณะที่จะถือกรรมสิทธิ์เรือไทยได้ตาม มาตรา 7 เช่าหรือรับเอาไปโดยประการอื่น ซึ่งเรือไทยมีขนาดตามมาตรา 8 สำหรับการค้าในน่าน น้ำไทยที่จดทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้และเอาไปทำการค้าในน่านน้ำไทย

 

มาตรา 49* เรือไทยที่ได้จดทะเบียนแล้ว ในระหว่างเวลาที่คงใช้เรือต้องมีเอกสาร ดังต่อไปนี้ประจำเรือ 1. ใบทะเบียนหรือใบทะเบียนชั่วคราว แล้วแต่กรณี 2. ใบสำคัญรับรองการตรวจเรือต่าง ๆ 3. สัญญาคนประจำเรือ 4. สัญญาเช่าเรือ ถ้ามี 5. ใบตราส่ง ถ้ามี 6. บัญชีสินค้าสำหรับเรือ ถ้ามี 7. สมุดปูมเรือ 8. ใบปล่อยเรือและใบอนุญาตออกจากท่า ถ้ามี เอกสารตามวรรคหนึ่ง นอกจากใบทะเบียนหรือใบทะเบียนชั่วคราวแล้วแต่กรณี รัฐมนตรีมีอำนาจยกเว้นมิให้ต้องมีได้โดยออกเป็นกฎกระทรวง เอกสารตามวรรคหนึ่ง อาจใช้พิสูจน์สัญชาติเรือได้ ส่วนภาษาและแบบพิมพ์ของ เอกสารนั้น หากมิได้มีข้อความบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ ก็ให้ทำตามที่กำหนดในกฎกระทรวง *[มาตรา 49 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติเรือไทย (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2521]

 

มาตรา 50* คนประจำเรือไทยที่ได้จดทะเบียนตามความในมาตรา 7 ซึ่งสามารถ ทำการค้าในน่านน้ำไทยได้ทุกคนต้องเป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทย สำหรับคนประจำเรือไทยที่ได้จดทะเบียนตามความในมาตรา 7 ทวิ เพื่อ ใช้ประกอบการขนส่งทางทะเลระหว่างประเทศโดยเฉพาะต้องมีอัตราส่วนของบุคคลที่มี สัญชาติไทยตามที่กำหนดในกฎกระทรวง *[มาตรา 50 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติเรือไทย (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2528]

 

มาตรา 51 เรือไทยเท่านั้นที่มีสิทธิใช้ธงชาติไทยได้ ถ้าเรือลำใดซึ่งมิใช่เรือไทย ใช้ธงชาติไทยเพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นเรือไทย ต้อง ถือว่าเรือลำนั้นฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้

 

มาตรา 52 ผู้ควบคุมเรือไทยที่ได้จดทะเบียนแล้ว ต้องจัดให้มีการชักธงชาติไทยในเมื่อ

1. เรือราชนาวี หรือเรือราชการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ หรือผู้มีอำนาจ โดยชอบด้วยกฎหมายส่งสัญญาณสั่งให้ชักธงชาติ

2. ผ่านเรือรบไทยหรือเรือรบต่างประเทศ

3. ขณะเรือเข้าหรือออกจากเมืองท่าไทย และเมืองท่าต่างประเทศ

4. ขณะเรืออยู่ในเมืองท่าไทยตั้งแต่เวลา 8 นาฬิกา จนถึงเวลาอาทิตย์ตก ให้รัฐมนตรีมีอำนาจยกเว้นเรือบางขนาดมิต้องปฏิบัติตามบทแห่งมาตรานี้ได้ โดยออกเป็นกฎกระทรวง

 

มาตรา 53 ห้ามมิให้ผู้ควบคุมเรือหรือเจ้าของเรือไทยลำใดกระทำการใด ๆ โดยเจตนาจะให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจตรวจเรือเข้าใจผิดไปว่าเรือนั้นเป็นเรือต่างประเทศ

 

มาตรา 54 เรือของบุคคลตามมาตรา 7 อันพึงจดทะเบียนเป็นเรือไทยได้ตาม พระราชบัญญัตินี้ แต่ยังมิได้จดทะเบียนก็ดี หรือเรือซึ่งได้จดทะเบียนเป็นเรือไทยแล้วแต่การ จดทะเบียนได้สิ้นไปด้วยเหตุต่าง ๆ ดังระบุไว้ในมาตรา 22 ก็ดี ไม่ชอบที่จะได้รับประโยชน์อัน เรือไทยจะพึงได้รับตามพระราชบัญญัตินี้ แต่ในเรื่องเสียค่าธรรมเนียมต้องใช้ค่าปรับ ถูกริบ และ ต้องรับโทษเพื่อความผิดใด ๆ อันเกิดขึ้นในเรือ หรือโดยคนประจำเรือ ให้จัดการแก่เรือนั้นเช่นเดียวกับเป็นเรือไทยที่ได้จดทะเบียนแล้ว

 

หมวด 7 เบ็ดเตล็ด

 

มาตรา 55 ในกรณีความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ หรือในกรณีความผิดที่เกิดขึ้น ในเรือไทย ให้ถือว่าเจ้าพนักงานต่อไปนี้เป็นพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ตาม ความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาด้วย เมื่อปฏิบัติตามมาตรา 78 และมาตรา 92 แห่งประมวลกฎหมายนั้น

1. เจ้าท่า หรือผู้รักษาการแทนเจ้าท่า

2. นายทหารชั้นสัญญาบัตรผู้ทำหน้าที่ดังต่อไปนี้ คือ ผู้บังคับบัญชาป้อม ผู้บังคับการเรือ หรือผู้บังคับการกองทหารแห่งราชนาวี

3. เจ้าพนักงานประมงหรือเจ้าพนักงานศุลกากรตั้งแต่ตำแหน่งประจำแผนกขึ้นไป

4. เจ้าพนักงานอื่น ๆ ซึ่งรัฐมนตรีได้แต่งตั้งเพื่อการนี้ เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ เจ้าพนักงานประมงและเจ้าพนักงานศุลกากรต่ำกว่า ตำแหน่งประจำแผนกลงมา ให้ถือว่าเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ

 

มาตรา 56* ภายใต้บังคับมาตรา 57 ให้เจ้าพนักงานมีอำนาจกักเรือและยึดเอกสาร เกี่ยวกับเรือ ในกรณีดังต่อไปนี้

(1) เมื่อมีการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 7 ตรี มาตรา 7 จัตวา มาตรา 11 มาตรา 20 วรรคหนึ่ง มาตรา 29 มาตรา 30 มาตรา 38 วรรคหนึ่ง มาตรา 40 มาตรา 41 วรรคหนึ่ง มาตรา 47 มาตรา 47 ทวิ มาตรา 48 มาตรา 49 มาตรา 50 มาตรา 51 หรือมาตรา 53

(2) เมื่อมีการกระทำความผิดอื่นใดเกิดขึ้นในเรือและความผิดนั้นมีอัตราโทษจำคุก ตั้งแต่สิบปีขึ้นไปหรือโทษประหารชีวิต *[มาตรา 56 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติเรือไทย (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2534]

 

มาตรา 57 ให้เจ้าพนักงานต่อไปนี้ มีอำนาจกักและยึดตามความในมาตราก่อน

1. พนักงานฝ่ายปกครองและตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ตามความในประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา และอนุมาตรา 1 อนุมาตรา 2 และอนุมาตรา 4 แห่งมาตรา 55

2. เจ้าพนักงานศุลกากรตั้งแต่ตำแหน่งหัวหน้ากองขึ้นไป การกักหรือการยึดเช่นว่านั้น ห้ามมิให้กักหรือยึดเกินกว่าสองวันโดยมิได้รับ อนุญาตจากศาล การนับระยะเวลานั้น ถ้าเรืออยู่ในเมืองท่าไทยให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่กักเรือหรือยึด เอกสาร ถ้าเรือมิได้อยู่ในเมืองท่าไทยให้นำเรือเข้ามาในเมืองท่าไทยโดยด่วน และระยะเวลาเช่นว่า นั้นให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่เรือถึงเมืองท่าไทย ถ้าเจ้าพนักงานเห็นเป็นการสมควรที่จะขยายการกักหรือการยึดออกไปเกินกว่า สองวัน ก็ให้ยื่นคำร้องต่อศาลภายในระยะเวลาเช่นว่านั้นในกรณีเช่นนี้ให้เจ้าพนักงานมีอำนาจกัก หรือยึดต่อไปได้จนกว่าจะได้มีคำชี้ขาดของศาลชั้นต้น คำชี้ขาดนี้ให้ถือว่าเป็นอันถึงที่สุด ให้เจ้าพนักงาน หรือศาลโดยคำขอของเจ้าพนักงาน แล้วแต่กรณี กักเรือหรือยึด เอกสารจนกว่าจะได้ปฏิบัติถูกต้องตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ที่ได้ฝ่าฝืน หรือตามความต้องการ ของบทกฎหมายอื่น

 

มาตรา 57 ทวิ* ในกรณีที่มีการฝ่าฝืนมาตรา 7 ตรี (1) หรือมาตรา 7 จัตวา (1) หรือในกรณีที่มีการฝ่าฝืนมาตรา 7 ตรี (2) หรือ (3) หรือมาตรา 7 จัตวา (2)โดยนิติบุคคลซึ่งถือ กรรมสิทธิ์เรือจดทะเบียนเป็นเรือไทยได้รู้เห็นหรือยินยอมด้วย ให้นายทะเบียนเรือประจำเมืองท่า ขึ้นทะเบียนของเรือนั้นถอนทะเบียนเรือนั้นเสีย *[มาตรา 57 ทวิ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเรือไทย (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2534]

 

มาตรา 58 การจดทะเบียน การจดรายการ การแก้หรือการถอนทะเบียนอันจะพึง กระทำตามพระราชบัญญัตินี้ เมื่อนายทะเบียนเรือเรียกร้องก็ให้บุคคลผู้เกี่ยวข้องนำพยานหลักฐาน ที่เกี่ยวกับการนั้นมาแสดงจนเป็นที่พอใจของนายทะเบียนเรือว่าได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติและกฎกระทรวงซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัตินี้แล้ว

 

มาตรา 59 ในระหว่างเวลาทำงานตามปกติ ผู้มีส่วนได้เสียคนใดเมื่อได้เสีย ค่าธรรมเนียมตามอัตราในกฎกระทรวงแล้ว ชอบที่จะตรวจรายการในสมุดทะเบียนเรือไทยของ เมืองท่าใด ๆ ซึ่งเป็นเมืองท่าขึ้นทะเบียนของเรือ หรือตรวจหลักฐานเกี่ยวด้วยการนั้น หรือหลักฐาน อื่นซึ่งอธิบดีกรมเจ้าท่าเห็นสมควร หรือจะขอให้คัดสำเนาทั้งหมดหรือบางส่วนพร้อมด้วยคำรับรอง ว่าถูกต้องมอบให้ก็ได้

 

มาตรา 60 ให้กรมเจ้าท่าย่อรายการการจดทะเบียนหรือการถอนทะเบียนเรือไทย ส่งไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นคราว ๆ โดยมิชักช้า

 

มาตรา 61 ให้เจ้าท่ามีอำนาจกระทำการเปรียบเทียบความผิดที่เกิดขึ้นตามพระราช บัญญัตินี้ ที่มีโทษปรับสถานเดียวได้

 

มาตรา 62* ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งเจ้าหน้าที่กับออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราช บัญญัตินี้ และกำหนดการอื่นเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้ *[มาตรา 62 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติเรือไทย (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2521]

 

หมวด 8 บทกำหนดโทษ

 

มาตรา 62 ทวิ* บุคคลธรรมดาซึ่งมีสัญชาติไทย นิติบุคคลซึ่งสามารถถือ กรรมสิทธิ์เรือจดทะเบียนเป็นเรือไทยได้ตามมาตรา 7 หรือมาตรา 7 ทวิ หรือบริษัทจำกัดหรือ บริษัทมหาชนจำกัดซึ่งสามารถถือกรรมสิทธิ์เรือจดทะเบียนเป็นเรือไทยได้ตามมาตรา 7 ทวิ ผู้ใด ฝ่าฝืนมาตรา 7 ตรี หรือมาตรา 7 จัตวา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีและปรับไม่เกินห้าแสนบาท คนต่างด้าวซึ่งให้หรือยอมให้กระทำการฝ่าฝืนตามวรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษ เช่นเดียวกับผู้ฝ่าฝืนดังกล่าว *[มาตรา 62 ทวิ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเรือไทย (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2534]

 

มาตรา 62 ตรี* ในกรณีที่นิติบุคคลกระทำความผิดตามมาตรา 62 ทวิ หุ้นส่วน ผู้จัดการ กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือผู้แทนของนิติบุคคลนั้น ต้องระวางโทษตามที่บัญญัติ ไว้ในมาตรา 62 ทวิ ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้รู้เห็นหรือยินยอมในการกระทำความผิดของ นิติบุคคลนั้น *[มาตรา 62 ตรี เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเรือไทย (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2534]

 

มาตรา 63 ผู้ที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 11 มาตรา 17 มาตรา 18 วรรคหนึ่ง วรรคสอง วรรคสาม มาตรา 19 มาตรา 20 วรรคหนึ่ง มาตรา 22 มาตรา 25 วรรคสอง มาตรา 26 วรรคหนึ่ง มาตรา 29 วรรคหนึ่ง มาตรา 30 วรรคหนึ่ง มาตรา 32 วรรคหนึ่ง มาตรา 35 วรรคหนึ่ง มาตรา 38 วรรคหนึ่ง มาตรา 40 หรือมาตรา 52 มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองร้อยบาท

 

มาตรา 63 ทวิ* นิติบุคคลใดซึ่งถือกรรมสิทธิ์เรือจดทะเบียนเป็นเรือไทยไม่ปฏิบัติ ตามมาตรา 32 ทวิ (1) ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาท *[มาตรา 63 ทวิ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเรือไทย (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2534]

 

มาตรา 63 ตรี* นิติบุคคลใดซึ่งถือกรรมสิทธิ์เรือจดทะเบียนเป็นเรือไทยฝ่าฝืน มาตรา 32 ทวิ (2) ต้องระวางโทษปรับเป็นรายวัน โดยให้คำนวณค่าปรับจากขนาดของเรือในอัตรา ตันกรอสละสามบาท ตลอดเวลาที่มีการฝ่าฝืน *[มาตรา 63 ตรี เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเรือไทย (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2534]

 

มาตรา 64 ผู้ควบคุมเรือผู้ที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 49 มีความผิดต้องระวางโทษ ปรับไม่เกินห้าร้อยบาท ถ้าความผิดที่เกิดขึ้นนั้นเกี่ยวกับใบทะเบียนหรือใบทะเบียนชั่วคราวต้องระวางโทษปรับ ไม่เกินสองพันบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

 

มาตรา 65* ในกรณีที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 47 เงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนดตาม มาตรา 47 ทวิ มาตรา 50 หรือมาตรา 51 ผู้ควบคุมเรือมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน สองพันบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือทั้งปรับทั้งจำ *[มาตรา 65 แก้ไขโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 162 ลงวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2515]

 

มาตรา 66 ผู้ที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 48 มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน สองพันบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

 

มาตรา 67 ผู้ที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 53 มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน สองพันบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

 

มาตรา 68 ในกรณีที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 47 หรือมาตรา 51 ศาลจะสั่งริบเรือ เครื่องประกอบเรือ ผลประโยชน์ที่ได้จากเรือนั้น และวัตถุที่ใช้ทำการฝ่าฝืนนั้นเสียก็ได้

 

หมวด 9 บทบัญญัติเฉพาะกาล

 

มาตรา 69 ภายในกำหนดเวลาสามปีนับแต่วันใช้พระราชบัญญัตินี้เรือทะเล มีขนาดตามมาตรา 8 สำหรับการค้าในน่านน้ำไทยอันเป็นของบุคคลผู้ไม่ต้องด้วยลักษณะที่จะถือ กรรมสิทธิ์เรือไทยได้ตามมาตรา 7 ซึ่งได้ลงทะเบียนไว้ และรับใบอนุญาตจากกรมเจ้าท่าก่อนวัน ประกาศพระราชบัญญัตินี้ ให้ทำการตามมาตรา 47 และมาตรา 51 วรรคหนึ่งได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้ บังคับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่มาตรา 7 มาตรา 8 และบทบัญญัติที่เกี่ยวแก่มาตรานั้น ๆ ส่วนเรือลำน้ำมีขนาดตามมาตรา 8 สำหรับการค้าในน่านน้ำไทยอันเป็นของบุคคล ผู้ไม่ต้องด้วยลักษณะที่จะถือกรรมสิทธิ์เรือไทยได้ตามมาตรา 7 ซึ่งได้รับใบอนุญาตจากกรมเจ้าท่า ก่อนวันประกาศพระราชบัญญัตินี้ภายในกำหนดเวลาสองปีนับแต่วันใช้พระราชบัญญัตินี้ ให้ทำการ ตามมาตรา 47 ได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้บังคับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่มาตรา 7 มาตรา 8 และบทบัญญัติที่เกี่ยวแก่มาตรานั้น ๆ เมื่อพ้นกำหนดสามปีหรือสองปีแล้ว แล้วแต่กรณี ถ้าพิจารณาเห็นว่าน่านน้ำไทย ส่วนใดยังมีจำนวนเรือไทยทำการตามมาตรา 47 ไม่พอแก่ความต้องการของประเทศ รัฐมนตรีมี อำนาจอนุญาตให้เรือของบุคคลผู้ไม่ต้องด้วยลักษณะที่จะถือกรรมสิทธิ์เรือไทยได้ตามมาตรา 7 ดังกล่าวมาแล้ว ทำการตามมาตรา 47 ต่อไปได้ มีกำหนดคราวละไม่เกินสองปีแต่ต้องปฏิบัติตาม เงื่อนไขที่รัฐมนตรีเห็นสมควรกำหนดขึ้น ในระหว่างเวลาสามปีหรือสองปีดังกล่าวข้างต้น แล้วแต่กรณี เรือตามที่กล่าวใน มาตรานี้เปลี่ยนแปลงอัตราค่าระวางหรือค่าโดยสารโดยมิได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีก็ดี หรือเรือ ที่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีให้ทำการตามมาตรา 47 ต่อไปได้ภายหลังกำหนดเวลานั้น ๆ ฝ่าฝืน เงื่อนไขที่รัฐมนตรีได้กำหนดขึ้นก็ดี ห้ามมิให้เรือนั้นได้รับประโยชน์ตามมาตรานี้

 

มาตรา 70 ภายในกำหนดเวลาห้าปีนับแต่วันใช้พระราชบัญญัตินี้ถ้าปรากฏว่า บุคคลที่จะใช้เป็นคนประจำเรือได้ ยังมีจำนวนไม่พอแก่ความต้องการของประเทศ หรือมีเหตุอื่น อันสมควรอนุญาตให้มีการผ่อนผันเป็นพิเศษชั่วครั้งคราว ก็ให้อธิบดีกรมเจ้าท่ามีอำนาจสั่งอนุญาต ผ่อนผันจำนวน คุณสมบัติ พื้นความรู้และอัตราคนประจำเรือตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 50 ได้ เมื่อได้รับความเห็นชอบของรัฐมนตรี  การขออนุญาตเช่นว่านั้น ให้ผู้ควบคุมเรือ หรือเจ้าของเรือหรือผู้แทนทำเป็น หนังสือยื่นต่ออธิบดีกรมเจ้าท่า และในระหว่างพิจารณาคำขออนุญาตนั้น มิให้นำบทบัญญัติ มาตรา 50 มาใช้บังคับแก่เรือนั้น การอนุญาตนั้นให้ออกใบสำคัญกำหนดประเภทคนประจำเรือ ชั้นความรู้ จำนวน กำหนดเวลาที่อนุญาต และอื่น ๆ ให้ไว้แก่ผู้ขอเพื่อนำออกแสดงเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ขอตรวจ

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พิบูลสงคราม

นายกรัฐมนตรี

 

*[บัญชีค่าธรรมเนียมอัตราขั้นสูง แก้ไขโดยพระราชบัญญัติเรือไทย (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2517 และรายการในเลขลำดับ 4 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติเรือไทย (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2521]

ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 162 ลงวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2515 โดยที่คณะปฏิวัติพิจารณาเห็นว่า เรือไทยบางประเภทที่ทำการในน่านน้ำไทย ยังไม่เพียงพอแก่ความต้องการในการพัฒนาการขนส่งทางน้ำเพื่อความเจริญทางเศรษฐกิจ สมควร แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติเรือไทย พุทธศักราช 2481 เพื่อให้เหมาะสมกับ เหตุการณ์ในปัจจุบัน หัวหน้าคณะปฏิวัติจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้ [รก.2515/89/25พ./6 มิถุนายน 2515]

 

พระราชบัญญัติเรือไทย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2517

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากอัตราค่าธรรมเนียมตาม บัญชีท้ายพระราชบัญญัติเรือไทย พุทธศักราช 2481 ได้กำหนดไว้เป็นเวลา 34 ปีเศษแล้ว ปัจจุบันนี้ การขนส่งทางน้ำได้วิวัฒนาการไป และมีเรือขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นมาก อัตราค่าธรรมเนียมที่กำหนด ไว้เดิมอยู่ในเกณฑ์ต่ำมาก ไม่เหมาะสมกับภาวการณ์ในปัจจุบัน สมควรแก้ไขเพิ่มเติมอัตราค่า ธรรมเนียมเสียใหม่ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น [รก.2517/77/1พ./1 พฤษภาคม 2517]

 

พระราชบัญญัติเรือไทย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2521

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากบทบัญญัติแห่งพระราช บัญญัติเรือไทย พุทธศักราช 2481 ในส่วนที่ว่าด้วยคุณสมบัติของผู้ที่จะถือกรรมสิทธิ์เรือจดทะเบียน เป็นเรือไทย การออกใบทะเบียนชั่วคราวในต่างประเทศและเอกสารประจำเรือไม่เหมาะสมแก่ สภาพการณ์ปัจจุบัน ทั้งยังมิได้มีการเก็บค่าธรรมเนียมในกรณีเปลี่ยนแปลงตัวเรือหรือส่วนอื่นของ เรือในภายหลัง สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติดังกล่าวและบัญชีค่าธรรมเนียมอัตราขั้นสูงให้ เหมาะสมยิ่งขึ้น นอกจากนั้นโดยที่มาตรา 62 บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการเป็น ผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติ แต่ได้มีพระราชบัญญัติโอนอำนาจและหน้าที่เกี่ยวกับราชการของ กระทรวงหรือกรมซึ่งได้มีการปรับปรุงใหม่ พุทธศักราช 2484 โอนอำนาจดังกล่าวให้รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อความสะดวกที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจะใช้อำนาจตาม พระราชบัญญัติโดยไม่ต้องอ้างพระราชบัญญัติโอนอำนาจและหน้าที่เกี่ยวกับราชการของกระทรวง หรือกรมซึ่งได้มีการปรับปรุงใหม่ พุทธศักราช 2484 อีก สมควรแก้ไขบทบัญญัติมาตรา 62 เสียด้วย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น [รก.2521/156/27พ./31 ธันวาคม 2521]

 

พระราชบัญญัติเรือไทย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2528

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากพระราชบัญญัติเรือไทย พ.ศ. 2481 กำหนดให้บุคคลธรรมดา ซึ่งมีสัญชาติไทยต้องมีทุนในบริษัทเรือไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ เจ็ดสิบ จากกรณีดังกล่าวทำให้ชาวต่างประเทศไม่สนใจที่จะมาลงทุนด้านธุรกิจพาณิชย์นาวี นอกจากนั้นแล้ว การส่งเสริมกองเรือพาณิชย์ของไทยเท่าที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ไม่สามารถ จัดหาเรือใหม่ ๆ มาใช้ในการบริหารด้านขนส่ง เพราะมีราคาแพงมาก ประกอบกับจะต้องแข่งขัน กับต่างประเทศที่มีความก้าวหน้าในทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้เรือประเภทขนส่ง สินค้าเฉพาะที่บรรจุใส่คอนเทนเนอร์ ซึ่งสะดวกในการขนถ่ายและเดินทาง สามารถรักษาคุณภาพ ของสินค้าให้คงสภาพเดิมอยู่ได้ และนอกจากนั้น เรือที่ทำการค้าในน่านน้ำไทยในปัจจุบันก็ใช้คน ประจำเรือล้วนแต่มีสัญชาติไทยทั้งสิ้น สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัตินี้เสีย จึงจำเป็นต้องตรา พระราชบัญญัติฉบับนี้ขึ้น [รก.2528/154/8พ./24 ตุลาคม 2528]

 

พระราชบัญญัติเรือไทย (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2534

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติเรือไทย พุทธศักราช 2481 ได้กำหนดอัตราส่วนการถือหุ้นระหว่างคนไทยและคนต่างด้าวในการถือ กรรมสิทธิ์เรือจดทะเบียนเป็นเรือไทยไว้ในมาตรา 7 และมาตรา 7 ทวิ แต่ไม่มีบทลงโทษในกรณี ที่มีการฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวโดยการถือกรรมสิทธิ์เรือจดทะเบียนเป็นเรือไทยแทนคนต่างด้าว นอกจากนั้น การฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวยังทำให้คนต่างด้าวได้รับสิทธิและประโยชน์บางอย่าง ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการพาณิชยนาวีด้วย สมควรวางมาตรการป้องกันมิให้มีการถือกรรมสิทธิ์เรือจดทะเบียนเป็นเรือไทยแทนคนต่างด้าวกับป้องกันมิให้คนต่างด้าวได้รับสิทธิและ ประโยชน์จากการถือกรรมสิทธิ์เรือจดทะเบียนเป็นเรือไทยโดยมิชอบ จึงจำเป็นต้องตราพระราช บัญญัตินี้ [รก.2534/211/1พ./4 ธันวาคม 2534]

 

พระราชบัญญัติเรือไทย (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2540

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากคุณสมบัติของผู้ที่จะ ถือกรรมสิทธิ์เรือจดทะเบียนเป็นเรือไทยตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 7 และมาตรา 7 ทวิ แห่ง พระราชบัญญัติเรือไทย พุทธศักราช 2481 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเรือไทย (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2528 ไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน ทำให้การลงทุนในกิจการกองเรือพาณิชย์ ไม่คล่องตัว สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติดังกล่าวเสียใหม่เพื่อขยายโอกาสให้มีการลงทุนใน กิจการกองเรือพาณิชย์มากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ [รก.2540/53ก/1/7 ตุลาคม 2540]

 

มารีนเนอร์ไทย | MarinerThai.Net | MarinerThai.Com

 

 

 

จำนวนผู้เข้าชมหน้านี้   16280

 Disclaimed: มารีนเนอร์ไทยดอทคอม ขอสงวนสิทธิ์ในการรับรองความถูกต้องในบทความ ข้อมูล เนื้อหา ภายในเว็บไซด์ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูล ภาพ เสียง ซอฟแวร์ การเชื่อมโยง(ลิงค์) และ/หรือ บริการอื่นๆ และจะไม่รับผิดชอบในความผิดพลาดในการใช้เนื้อหาดังกล่าวข้างต้นเพื่อวัตถุประสงค์ทางด้าน การค้า การกระทำ การคาดการณ์ พยากรณ์ การวิจัย และอื่นๆ ซึ่งเป็นความคิดเห็นส่วนบุคคลเฉพาะของท่านผู้เขียนแต่ละรายไป ตลอดจนข้อกำหนดทางด้านลิขสิทธิ์ กรณีที่ท่านส่งบทความที่มิได้ขออนุญาตต่อผู้ครองสิทธิ์แท้จริงนำมาลงไว้ภายในเว็บไซด์นี้

 

 
 

 

 

TOP Engineering Group - UAV Thailand MarinerThai Webboard

หน้าแรกก | เว็บบอร์ดชาวเรือ | สารบัญเว็บไซด์ชาวเรือ | สมุดภาพเรือเดินทะเล | สนับสนุนเว็บเรา | ติดต่อเรา

© 2002 Mariner Thai Dot Com Mariner Thai Dot Net. All rights reserved - Web designed by .<nv>.

 MarinerThai.Com | MarinerThai.Net | MarinerThai.Org

Contact webmaster: | Organizer : CKN - Cyber Ket Network