Menuleft - MarinerThai.Net

หน้าแรก

เว็บบอร์ดชาวเรือ

สารบัญเว็บไซด์ชาวเรือ

เอกสารน่าอ่านไทย

เอกสารน่าอ่านอังกฤษ

สาระไอทีชาวเรือ

แหล่งคนหางานเรือไทย

บทความจากสมาชิก

นิทานชาวเรือ

คนเรือหัวหมอ

คู่มือปฏิบัติงานเรือ

ระบบสื่อสาร-เดินเรือ

พจนานุกรมศัพท์ทางเรือ

ความหมายคำย่อทางเรือ

ข่าวอัพเดทรายวัน

ข่าวสดราคาน้ำมันโลก

รวมข่าวโจรสลัด

รวมข่าวอุบัติเหตุทางเรือ

สนับสนุนเว็บเรา

สถิติผู้เข้าชมเว็บนี้

ติดต่อเรา

เปิดเว็บ 1 ตุลาคม 2545

 

ขณะนี้เวลา | Your Time
10:46:33

Nathalin Group

MarinerThai 2004

TOP Enginerring Group

 

 
 
 

 

 

TOP Engineering Group - VTOL UAV Thailand

MarinerThai 2004 Co., Ltd. Advertising in MarinerThai.Com

พระราชบัญญัติส่งเสริมการพาณิชยนาวี พ

พระราชบัญญัติส่งเสริมการพาณิชยนาวี พ.ศ. 2521

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - -- - - - - -

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2521

เป็นปีที่ 33 ในรัชกาลปัจจุบัน

 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราช โองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการพาณิชยนาวี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดย คำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้

 

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติส่งเสริมการ พาณิชยนาวี พ.ศ. 2521"

 

มาตรา 2* พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศ ในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป *[รก.2521/143/1พ./18 ธันวาคม 2521]

 

มาตรา 3 ให้ยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 215 ลงวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2515

 

มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้

"การพาณิชยนาวี" หมายความว่า การขนส่งทางทะเล การประกันภัยทางทะเล การเดินเรือ กิจการอู่เรือและกิจการท่าเรือ และหมายความรวมถึงกิจการอย่างอื่นที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงหรือเป็น ส่วนประกอบกับกิจการดังกล่าวตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

"การขนส่งทางทะเล" หมายความว่า การขนส่งของโดยเรือ จากประเทศไทยไปยังต่างประเทศ หรือจากต่างประเทศมายังประเทศไทย หรือจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งนอกราชอาณาจักร

"เรือ" หมายความว่า เรือเดินทะเลที่ใช้ในการขนส่งทางทะเล

"เรือไทย" หมายความว่า เรือไทยตามกฎหมายว่าด้วยเรือไทย ที่ใช้ในการขนส่งทางทะเล

"ผู้ประกอบการขนส่งทางทะเล" หมายความว่า ผู้ประกอบธุรกิจ การขนส่งทางทะเลซึ่งอยู่ในประเทศไทยและรับทำการขนส่งทางทะเล และ หมายความรวมถึงสาขาและตัวแทนของผู้ประกอบธุรกิจการขนส่งทางทะเล ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในต่างประเทศและประกอบการขนส่งทางทะเลใน ประเทศไทย รวมทั้งผู้กระทำการเป็นนายหน้าเตรียมหาของในประเทศไทย เพื่อการขนส่งทางทะเล

"ผู้ส่งของ" หมายความว่า เจ้าของของหรือตัวแทนซึ่งส่งของ ไปยังหรือสั่งหรือนำของมาจากต่างประเทศโดยทางทะเล

"ของ" หมายความว่า สินค้า สิ่งของ หรือสัตว์มีชีวิต

"ท่าเรือ" หมายความว่า สถานที่สำหรับให้บริการแก่เรือในการ จอดเทียบ บรรทุกหรือขนถ่ายของ

"กิจการท่าเรือ" หมายความว่า ธุรกิจเกี่ยวกับท่าเรือ และ หมายความรวมถึงธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงหรือเป็นส่วนประกอบกับ ท่าเรือตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

"กิจการอู่เรือ" หมายความว่า ธุรกิจต่อ ซ่อม หรือซ่อมบำรุงเรือ หรือให้บริการติดตั้งหรือซ่อมเครื่องเรือหรืออุปกรณ์การเดินเรือของเรือ

"คณะกรรมการ" หมายความว่า คณะกรรมการส่งเสริมการ พาณิชยนาวี

"สำนักงาน" หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม การพาณิชยนาวี

"พนักงานเจ้าหน้าที่" หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งเพื่อ ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

"รัฐมนตรี" หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราช บัญญัตินี้

 

มาตรา 5 ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า คณะกรรมการ ส่งเสริมการพาณิชยนาวี ประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน ปลัดกระทรวงคมนาคมและปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นรอง ประธาน ปลัดกระทรวงการคลังหรือผู้แทน ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ หรือผู้แทน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมหรือผู้แทน ผู้บัญชาการทหารเรือหรือ ผู้แทน เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือ ผู้แทน เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือผู้แทน อธิบดี กรมการค้าต่างประเทศหรือผู้แทน อธิบดีกรมการปกครองหรือผู้แทน อธิบดีกรมศุลกากรหรือผู้แทน และประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หรือผู้แทน เป็นกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอื่นอีกไม่เกินสี่คน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีสัญชาติไทยและมีความรู้หรือความจัดเจน ในการพาณิชยนาวี การเศรษฐกิจ การขนส่ง กฎหมาย การต่างประเทศ การเกษตร หรือการอุตสาหกรรม ให้เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการพาณิชยนาวีเป็นกรรมการ และเลขานุการ

 

มาตรา 6 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอยู่ในตำแหน่งตามวาระคราวละ สองปี กรรมการที่พ้นจากตำแหน่ง คณะรัฐมนตรีอาจแต่งตั้งเป็นกรรมการ อีกได้

 

มาตรา 7 ผู้มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ ห้ามมิให้เป็น กรรมการผู้ทรงวุฒิ

(1) เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ

(2) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

(3) เป็นบุคคลล้มละลาย

(4) เป็นข้าราชการการเมือง

(5) เป็นกรรมการพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ในพรรค การเมือง

 

มาตรา 8 นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 6 กรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

(1) ตาย

(2) ลาออก

(3) คณะรัฐมนตรีให้ออก

(4) มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 7

เมื่อกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ คณะรัฐมนตรี อาจแต่งตั้งผู้อื่นเป็นกรรมการแทนได้ กรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งตามวรรคสองอยู่ในตำแหน่งตามวาระ ของกรรมการที่ตนแทน

 

มาตรา 9 ในการประชุมของคณะกรรมการ ถ้าประธานกรรมการ ไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานกรรมการซึ่งได้รับ มอบหมายจากประธานเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานและรองประธาน ไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่ง เป็นประธานในที่ประชุมแทน

 

มาตรา 10 การประชุมคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุม ไม่น้อยกว่ากึ่งจำนวนของกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการ คนหนึ่งมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธาน ในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

 

มาตรา 11 คณะกรรมการมีหน้าที่ดังต่อไปนี้

(1) ให้คำปรึกษาต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการพาณิชยนาวีตามที่ คณะรัฐมนตรีขอให้พิจารณา

(2) เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการพัฒนา การ ส่งเสริม การควบคุม การคุ้มครอง และการประสานงานการพาณิชยนาวี โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้เสนอความเห็นเกี่ยวกับการกำหนดมาตรการ

(ก) ในการเสริมสร้างเรือไทยให้มีจำนวนและความสามารถ ในการดำเนินการขนส่งทางทะเลสูงขึ้น

(ข) เพื่อจัดให้มีและหรือส่งเสริมสถานฝึกอบรมเจ้าหน้าที่และ คนประจำเรือ ตลอดจนผู้ประกอบธุรกิจการพาณิชยนาวีให้เพียงพอ กับความ ต้องการของประเทศและให้เข้ามาตรฐานสากล

(ค) ในการส่งเสริมและควบคุมเกี่ยวกับการขนส่งทางทะเล การประกันภัยทางทะเล การเดินเรือ กิจการอู่เรือ และกิจการท่าเรือรวมทั้ง การสื่อสารและเครื่องช่วยในการเดินเรือ และ

(ง) เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองผู้ประกอบการขนส่งทางทะเล ซึ่งสามารถถือกรรมสิทธิ์เรือไทยได้ และผู้ส่งของซึ่งอยู่ในประเทศไทย

(3) จัดทำข้อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีโดยหารือกับส่วนราชการของ ราชการบริหารส่วนกลาง ราชการบริหารส่วนภูมิภาค ราชการบริหาร ส่วนท้องถิ่น องค์การของรัฐ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเกี่ยวกับ การจัดตั้ง ยุบรวม แยก และเลิกท่าเรือและกิจการท่าเรือตลอดจน โครงสร้างและแผนงานในการขยายงาน การลงทุน การวางแผนพัฒนาท่าเรือและกิจการท่าเรือของส่วนราชการของราชการบริหารส่วนกลาง ราชการบริหารส่วนภูมิภาค ราชการบริหารส่วนท้องถิ่น องค์การของรัฐ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ

(4) เสนอความเห็นหรือให้คำแนะนำต่อคณะรัฐมนตรีในการออก กฎหมายเพื่อการพัฒนา การส่งเสริม การควบคุม การคุ้มครอง และการ ประสานงานการพาณิชยนาวี

(5) เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้มีการดำเนินการ ให้เป็นไปตามความตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับการพาณิชยนาวี

(6) เสนอความเห็นหรือให้คำแนะนำต่อรัฐมนตรีในการออก กฎกระทรวง ประกาศและคำสั่งตามพระราชบัญญัตินี้

(7) กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขให้ผู้ได้รับสิทธิและประโยชน์ ปฏิบัติ เพื่อควบคุมการใช้สิทธิและประโยชน์ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้

(8) ประสานโครงการและแผนงานเกี่ยวกับการพาณิชยนาวีและ การควบคุมการเดินเรือระหว่างส่วนราชการของราชการบริหารส่วนกลาง ราชการบริหารส่วนภูมิภาค ราชการบริหารส่วนท้องถิ่น องค์การของรัฐ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจและเอกชน

(9) ปฏิบัติการอื่นใดที่พระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นกำหนด ให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการหรือที่คณะรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีมอบหมาย คณะกรรมการอาจมอบหมายหน้าที่ตาม (8) และ (9) ให้ สำนักงานปฏิบัติแทนได้

 

มาตรา 12 คณะกรรมการอาจตั้งบุคคลใดเป็นคณะกรรมการ เฉพาะเรื่องหรือคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่ง อย่างใดตามที่คณะกรรมการจะมอบหมายก็ได้ ให้นำมาตรา 9 และมาตรา 10 มาใช้บังคับแก่การประชุมของ คณะกรรมการเฉพาะเรื่องและคณะอนุกรรมการโดยอนุโลม

 

มาตรา 13 คณะกรรมการหรือสำนักงาน มีอำนาจเรียกเป็น หนังสือให้บุคคลใดมาให้ข้อเท็จจริง หรือให้ส่งเอกสารใดอันเกี่ยวกับกิจการ พาณิชยนาวีได้

 

มาตรา 14 ให้มีสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการพาณิชยนาวี ขึ้นในกระทรวงคมนาคม มีหน้าที่ดังต่อไปนี้

(1) ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการประสานงานเกี่ยวกับการ พาณิชยนาวี

(2) ศึกษาและวิเคราะห์โครงการ แผนงาน หรือมาตรการ เกี่ยวกับการพาณิชยนาวีเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการ

(3) ศึกษาและวิจัย และประสานงานในทางวิชาการเกี่ยวกับการ ขนส่งทางทะเล การประกันภัยทางทะเล การเดินเรือ การสื่อสารและ เครื่องช่วยในการเดินเรือ กิจการอู่เรือและกิจการท่าเรือ และรวบรวม ข้อมูลในทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ รวมทั้งการแลกเปลี่ยนข้อมูลดังกล่าวกับ สถาบันทางวิชาการอื่น

(4) ปฏิบัติงานตามที่คณะกรรมการมอบหมาย

(5) ปฏิบัติการอื่นใดเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของพระราช บัญญัตินี้ หรือปฏิบัติการตามที่พระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นกำหนด ให้เป็น หน้าที่ของสำนักงาน

 

มาตรา 15 ให้มีเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการพาณิชยนาวี คนหนึ่งมีหน้าที่บังคับบัญชาและรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของสำนักงาน และจะให้มีรองเลขาธิการเป็นผู้ช่วยปฏิบัติราชการด้วยก็ได้

 

มาตรา 16 ในการส่งเสริมการพาณิชยนาวี รัฐบาลอาจกำหนด มาตรการและหรือให้สิทธิและประโยชน์ดังต่อไปนี้

(1) กำหนดให้การขนส่งของทางทะเลระหว่างประเทศไทยกับ ต่างประเทศ แต่ละประเทศต้องใช้บริการขนส่งโดยเรือไทยไม่น้อยกว่า อัตราส่วนของปริมาณของและของค่าระวางที่มีการขนส่งระหว่างกันตามที่ กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

(2) ให้ผู้ถือหุ้นของนิติบุคคลที่ประกอบการขนส่งทางทะเลและที่ถือ กรรมสิทธิ์เรือไทยหรือที่ประกอบกิจการอู่เรือ ตามที่กำหนด ได้รับยกเว้นหรือ ลดอัตราภาษีเงินได้สำหรับเงินปันผลที่ได้รับจากนิติบุคคลดังกล่าว โดยตรา เป็นพระราชกฤษฎีกาตามประมวลรัษฎากร

(3) ให้ผู้ส่งของซึ่งส่งของที่เป็นผลิตผลหรือผลิตภัณฑ์จากประเทศไทย ออกไปยังต่างประเทศโดยเรือไทย หรือสั่งหรือนำของจากต่างประเทศ เข้ามายังประเทศไทยโดยเรือไทย มีสิทธิหักเงินจำนวนไม่เกินร้อยละห้าสิบ ของค่าระวางและหรือเงินอย่างอื่นที่ได้เสียไปตามปกติในการขนส่งของดังกล่าว ออกจากเงินได้สุทธิหรือกำไรสุทธิ แล้วแต่กรณี โดยตราเป็น พระราชกฤษฎีกาตามประมวลรัษฎากร พระราชกฤษฎีกาตาม (1) (2) และ (3) จะกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการใช้มาตรการและการให้สิทธิและประโยชน์ ดังกล่าวไว้ด้วยก็ได้

 

มาตรา 17 รัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎกระทรวงในเรื่องดังต่อไปนี้ ทั้งหมด หรือบางเรื่องได้ คือ

(1) กำหนดของที่ทางราชการ องค์การของรัฐ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ สั่งหรือนำเข้ามาจากต่างประเทศ โดยทางเรือในเส้นทาง ที่มีเรือไทยเดินอยู่และสามารถให้บริการรับขนได้ ต้องบรรทุกโดยเรือไทย

(2) กำหนดของที่ผู้ส่งของสั่งหรือนำเข้ามาจากต่างประเทศ โดยใช้เงินกู้จากแหล่งเงินกู้ของทางราชการ องค์การของรัฐ หรือบรรษัท เงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยภายใต้บังคับของเงื่อนไขแห่งการ กู้เงินนั้น หรือของที่บุคคลซึ่งเป็นคู่สัญญากับทางราชการ องค์การของรัฐ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ สั่งหรือนำเข้ามาจากต่างประเทศเพื่อ ปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวโดยทางเรือในเส้นทางที่มีเรือไทยเดินอยู่และ สามารถให้บริการรับขนได้ ต้องบรรทุกโดยเรือไทย

(3) กำหนดของตามชนิดและประเภทที่กำหนดที่ผู้ส่งของจะส่งออก ไปยังต่างประเทศ หรือสั่งหรือนำเข้ามาจากต่างประเทศโดยทางเรือ ในเส้นทางที่มีเรือไทยเดินอยู่และสามารถให้บริการรับขนได้ในระยะเวลา ใด ๆ ที่กำหนด ต้องบรรทุกโดยเรือไทยในปริมาณไม่น้อยกว่าอัตราส่วนที่ กำหนด

 

มาตรา 18 เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎกระทรวงที่ออกตาม มาตรา 17 ให้รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษาในเรื่อง ดังต่อไปนี้

(1) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขใด ๆ ที่จำเป็น เกี่ยวกับการบรรทุกของตามที่กำหนดโดยเรือไทย

(2) กำหนดมาตรการเกี่ยวกับการให้ผู้ส่งของแจ้งการส่งออกไปยัง ต่างประเทศ หรือสั่งหรือนำเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งของตามชนิดและ ประเภทที่กำหนดให้บรรทุกโดยเรือไทย

(3) กำหนดมาตรการต่าง ๆ ที่จำเป็นเพื่อทราบปริมาณของที่ กำหนดให้บรรทุกโดยเรือไทยและปริมาณการใช้บริการเรือไทยของผู้ส่งของ ในระยะเวลาที่กำหนด

 

มาตรา 19 ในกรณีที่ไม่อาจบรรทุกของที่กำหนดตามมาตรา 17 โดยเรือไทยได้ ให้ผู้ส่งของยื่นคำขอรับหนังสืออนุญาตให้บรรทุกของดังกล่าว โดยเรืออื่นต่อสำนักงาน ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สำนักงานกำหนด การอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้บรรทุกของโดยเรืออื่น ให้สำนักงาน แจ้งให้ผู้ขอทราบภายในเวลาไม่เกินห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอ ถ้าผู้ขอ ไม่ได้รับแจ้งภายในกำหนดเวลาห้าวัน ให้ถือว่าได้รับอนุญาตให้บรรทุกของ โดยเรืออื่นได้

 

มาตรา 20 สำนักงานจะออกหนังสืออนุญาตตามคำขอรับหนังสือ อนุญาตตามมาตรา 19 ให้ผู้ส่งของบรรทุกของโดยเรืออื่นได้ เมื่อปรากฏว่า

(1) ในระหว่างระยะเวลาที่กำหนดให้บรรทุกของลงเรือ ไม่มี เรือไทยที่จะรับบรรทุกของจากท่าเรือที่จะบรรทุกของนั้น หรือมีเรือไทย แต่ไม่มีระวางพอที่จะบรรทุกของนั้น

(2) มีสนธิสัญญาหรือความตกลงที่รัฐบาลไทยทำกับรัฐบาล ต่างประเทศโดยเฉพาะ หรือ

(3) มีกรณีที่ต้องผ่อนผันให้เป็นพิเศษ

 

มาตรา 21 เรือที่มิใช่เรือไทยที่ผู้ประกอบการขนส่งทางทะเล ซึ่งถือกรรมสิทธิ์เรือไทยเช่ามาเพื่อเสริมจำนวนเรือในเส้นทางที่มีเรือ ของตนเดินรับขนของอยู่เป็นปกติ อาจได้รับสิทธิและประโยชน์ตามพระราช บัญญัตินี้เช่นเดียวกับเรือไทยตลอดเวลาการเช่าเรือ หากผู้ประกอบการ ขนส่งทางทะเลแจ้งและแสดงหลักฐานการเช่าเรือต่อสำนักงาน และ ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีหรือผู้ซึ่งรัฐมนตรีมอบหมายให้ใช้เรือนั้นในธุรกิจ การขนส่งทะเลของตนได้ ในการนี้ให้รัฐมนตรีหรือผู้ซึ่งรัฐมนตรีมอบหมาย กำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอนุญาตให้ผู้ประกอบการขนส่งทางทะเล เช่าและใช้เรือนั้นในการขนส่งทางทะเลไว้ด้วย หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการแจ้ง รวมทั้งหลักฐานการ เช่าเรือที่ต้องแสดงตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีกำหนดโดย ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

 

มาตรา 22 เมื่อมีกฎกระทรวงกำหนดให้การส่งของโดยทางเรือ ต้องบรรทุกโดยเรือไทยตามมาตรา 17 แล้ว ถ้าผู้ส่งของผู้ใดไม่ส่งของ ตามที่กำหนดโดยเรือไทยหรือเรือที่ได้รับสิทธิและประโยชน์ตามมาตรา 21 หรือส่งของตามชนิดและประเภทที่กำหนดโดยเรือไทย หรือเรือที่ได้รับสิทธิ และประโยชน์ตามมาตรา 21 น้อยกว่าอัตราส่วนที่กำหนดไว้ และมิได้รับ อนุญาตให้ส่งของโดยเรืออื่นตามมาตรา 20 ให้ผู้ส่งของนั้นเสียค่าธรรมเนียม พิเศษเท่ากับสองเท่าของค่าระวาง สำหรับการรับขนของนั้นหรือสองเท่า ของค่าระวางสำหรับการรับขนของส่วนที่ผู้ส่งของส่งไปไม่ครบอัตราส่วนที่ กำหนดให้ส่งโดยเรือไทย การคำนวณค่าระวางเพื่อการเสียค่าธรรมเนียมพิเศษตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวง ให้ถือว่าภาระในการเสียค่าธรรมเนียมพิเศษเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ผู้ส่ง ของส่งของโดยเรืออื่นหรือตั้งแต่วันที่พนักงานเจ้าหน้าที่ระบุในคำสั่งให้ชำระ ค่าธรรมเนียมพิเศษในกรณีที่ผู้ส่งของส่งของโดยเรือไทยหรือเรือที่ได้รับสิทธิ และประโยชน์ตามมาตรา 21 ไม่ครบอัตราส่วนที่กำหนด และเมื่อถึงกำหนด ชำระแล้วมิได้เสีย ให้ถือว่าเป็นค่าธรรมเนียมพิเศษที่ค้างชำระ การเสียค่าธรรมเนียมพิเศษให้ชำระต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

มาตรา 23 เพื่อให้ได้รับชำระค่าธรรมเนียมพิเศษที่ค้างชำระให้ พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งเป็นหนังสือให้ผู้ซึ่งต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียม พิเศษชำระค่าธรรมเนียมพิเศษดังกล่าว รวมทั้งให้มีอำนาจสั่งยึดและสั่งขาย ทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมพิเศษโดยไม่ต้องขอให้ ศาลออกหมายยึดหรือสั่ง วิธีการยึดและขายทอดตลาดทรัพย์สินตามวรรคหนึ่ง ให้ปฏิบัติตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง โดยอนุโลม เงินที่ได้จากการขาย ทอดตลาดดังกล่าว เมื่อหักค่าธรรมเนียมกับค่าใช้จ่ายในการยึดและขาย และค่าธรรมเนียมพิเศษแล้ว ถ้ามีเงินเหลือ ให้คืนแก่เจ้าของทรัพย์สิน

 

มาตรา 24 เมื่อปรากฏว่าผู้ประกอบการขนส่งทางทะเลผู้ใด ให้สิทธิหรือประโยชน์พิเศษแก่ผู้ส่งของหรือได้รับสิทธิหรือประโยชน์พิเศษ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม อันเป็นการเอาเปรียบและก่อให้เกิด ความเสียหายแก่ผู้ประกอบการขนส่งทางทะเลอื่นซึ่งถือกรรมสิทธิ์เรือไทย ในการประกอบการขนส่งทางทะเล รัฐมนตรีมีอำนาจออกคำสั่งโดย คำแนะนำของคณะกรรมการให้ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

(1) ให้เรียกเก็บเงินป้องกันการเอาเปรียบในการประกอบการ ขนส่งทางทะเลจากผู้ประกอบการขนส่งทางทะเลซึ่งเป็นมูลให้มีประกาศ ให้เรียกเก็บเงินป้องกันการเอาเปรียบในการประกอบการขนส่งทางทะเล สำหรับของที่ผู้ประกอบการขนส่งทางทะเลนั้นรับขนภายในระยะเวลาที่ระบุ ในคำสั่งในอัตราที่เห็นสมควรแต่ไม่เกินจำนวนเงินค่าระวาง สำหรับการ รับขนของนั้น

(2) ห้ามเรือของผู้ประกอบการขนส่งทางทะเลซึ่งเอาเปรียบ ในการประกอบการขนส่งทางทะเลทั้งหมดหรือบางส่วน มิให้บรรทุกหรือ ขนถ่ายของ ณ ท่าเรือในราชอาณาจักรตามระยะเวลาที่กำหนด การคำนวณค่าระวางเพื่อการเรียกเก็บเงินป้องกันการเอาเปรียบ ในการประกอบการขนส่งทางทะเลตาม (1) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ที่กำหนดในกฎกระทรวง การเรียกเก็บเงินป้องกันการเอาเปรียบในการขนส่งทางทะเล ตาม (1) ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกรมศุลกากร และให้นำกฎหมายว่าด้วย ศุลกากรมาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยให้ถือเสมือนว่าเงินป้องกันการ เอาเปรียบในการขนส่งทางทะเลเป็นอากรขาเข้าหรืออากรขาออกตาม กฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร และเพื่อประโยชน์ในการเรียกเก็บเงิน ป้องกันการเอาเปรียบในการขนส่งทางทะเล ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตาม กฎหมายว่าด้วยศุลกากรมีอำนาจกักเรือที่ขนของนั้นไว้จนกว่าผู้ประกอบการ ขนส่งทางทะเลจะได้ชำระเงินป้องกันการเอาเปรียบในการขนส่งทางทะเล จนครบถ้วนหรือหาหลักประกันมาให้จนเป็นที่พอใจ คำสั่งตามวรรคหนึ่งและการแก้ไขเพิ่มเติม หรือยกเลิกคำสั่ง ดังกล่าว ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

 

มาตรา 25 ผู้ประกอบธุรกิจการขนส่งทางทะเลซึ่งเป็นเจ้าของเรือ หรือใช้เรือในกิจการของตนที่มีขนาดตั้งแต่ห้าร้อยตันกรอสขึ้นไป ผู้ประกอบ กิจการท่าเรือและผู้ประกอบกิจการอู่เรือที่ให้บริการ ต่อ ซ่อม หรือซ่อมบำรุง เรือที่มีขนาดตั้งแต่ห้าร้อยตันกรอสขึ้นไป ต้องจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการ ขนส่งทางทะเล ผู้ประกอบกิจการท่าเรือ หรือผู้ประกอบกิจการอู่เรือตาม พระราชบัญญัตินี้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การขอและการจดทะเบียนตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

มาตรา 26 สำนักงานอาจขอให้ส่วนราชการของราชการบริหาร ส่วนกลาง ราชการบริหารส่วนภูมิภาค ราชการบริหารส่วนท้องถิ่น องค์การ ของรัฐ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ส่งโครงการหรือแผนงาน ตลอดจน รายละเอียดทางวิชาการ การเงินและสถิติที่จำเป็นแก่การศึกษาภาวะการ พาณิชยนาวี เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการหรือสำนักงานก็ได้

 

มาตรา 27 เพื่อประโยชน์ในการสำรวจและรวบรวมข้อมูลและ สถิติเกี่ยวกับการพาณิชยนาวี ให้ผู้ประกอบธุรกิจการพาณิชยนาวีแจ้งข้อมูล สถิติ และข้อความอื่นที่จำเป็นต่อสำนักงาน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

มาตรา 28 ห้ามมิให้ผู้ใดเปิดเผยข้อมูล สถิติ หรือข้อความใด ๆ อันได้มาตามมาตรา 13 หรือมาตรา 27 ซึ่งตามปกติวิสัยพึงสงวนไว้ ไม่เปิดเผย เว้นแต่เป็นการเปิดเผยตามหน้าที่ราชการหรือเพื่อประโยชน์ แก่การตรวจสอบ การสอบสวนหรือการพิจารณาคดี

 

มาตรา 29 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามหนังสือเรียกตามมาตรา 13 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท

 

มาตรา 30 ผู้ใดให้ข้อเท็จจริงหรือส่งเอกสารตามมาตรา 13 อันเป็นเท็จหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 27 หรือกฎกระทรวงที่ออกตาม มาตรา 27 หรือแจ้งข้อมูล สถิติ หรือข้อความอันเป็นเท็จ ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา 31 ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศที่ออกตาม มาตรา 18 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท และปรับอีกไม่เกิน วันละสองพันบาทตลอดเวลาที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม

 

มาตรา 32 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 25 ต้องระวางโทษปรับ ไม่เกินห้าหมื่นบาทและปรับอีกไม่เกินวันละสองพันบาทตลอดเวลาที่ไม่ปฏิบัติ ตาม

 

มาตรา 33 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 28 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน หนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา 34 ผู้ใดประกอบธุรกิจการขนส่งทางทะเล กิจการท่าเรือ หรือกิจการอู่เรือดังกล่าวในมาตรา 25 อยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ อาจประกอบธุรกิจนั้นต่อไปได้อีกหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ ใช้บังคับ แต่ถ้าประสงค์จะประกอบธุรกิจดังกล่าวต่อไป ผู้นั้นต้องจดทะเบียน ตามมาตรา 25

 

มาตรา 35 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมรักษาการตาม พระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวง แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ และกำหนดกิจการอื่น เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้ บังคับได้

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์

นายกรัฐมนตรี

 

 หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ การพาณิชยนาวีอันได้แก่ การขนส่งทางทะเล การประกันภัยทางทะเล การเดินเรือ กิจการอู่เรือ และกิจการท่าเรือ มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ และความมั่นคงของประเทศ ซึ่งรัฐจำเป็นต้องควบคุม ทำนุบำรุงและส่งเสริม ให้เจริญยิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถสนองความต้องการของประเทศได้ แต่ปัจจุบัน กิจการพาณิชยนาวีอยู่ในความควบคุมของหน่วยราชการหลายแห่ง สมควร ให้มีการประสานงานเพื่อควบคุม ทำนุบำรุงและส่งเสริมการพาณิชยนาวีให้ สอดคล้องกันตามนโยบายของประเทศ และให้มีมาตรการต่าง ๆ เพื่อใช้ ในการส่งเสริมและคุ้มครองการพาณิชยนาวีของไทยให้เจริญก้าวหน้าสามารถ สนองความต้องการของประเทศและสามารถแข่งขันในการขนส่งทางเรือ ระหว่างประเทศได้ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น

 

มารีนเนอร์ไทย | MarinerThai.Net | MarinerThai.Com

 

จำนวนผู้เข้าชมหน้านี้   7142

 Disclaimed: มารีนเนอร์ไทยดอทคอม ขอสงวนสิทธิ์ในการรับรองความถูกต้องในบทความ ข้อมูล เนื้อหา ภายในเว็บไซด์ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูล ภาพ เสียง ซอฟแวร์ การเชื่อมโยง(ลิงค์) และ/หรือ บริการอื่นๆ และจะไม่รับผิดชอบในความผิดพลาดในการใช้เนื้อหาดังกล่าวข้างต้นเพื่อวัตถุประสงค์ทางด้าน การค้า การกระทำ การคาดการณ์ พยากรณ์ การวิจัย และอื่นๆ ซึ่งเป็นความคิดเห็นส่วนบุคคลเฉพาะของท่านผู้เขียนแต่ละรายไป ตลอดจนข้อกำหนดทางด้านลิขสิทธิ์ กรณีที่ท่านส่งบทความที่มิได้ขออนุญาตต่อผู้ครองสิทธิ์แท้จริงนำมาลงไว้ภายในเว็บไซด์นี้

 

 
 

 

 

Mariner English Articles Mariner English Articles

หน้าแรกก | เว็บบอร์ดชาวเรือ | สารบัญเว็บไซด์ชาวเรือ | สมุดภาพเรือเดินทะเล | สนับสนุนเว็บเรา | ติดต่อเรา

© 2002 Mariner Thai Dot Com Mariner Thai Dot Net. All rights reserved - Web designed by .<nv>.

 MarinerThai.Com | MarinerThai.Net | MarinerThai.Org

Contact webmaster: | Organizer : CKN - Cyber Ket Network