Menuleft - MarinerThai.Net

หน้าแรก

เว็บบอร์ดชาวเรือ

สารบัญเว็บไซด์ชาวเรือ

เอกสารน่าอ่านไทย

เอกสารน่าอ่านอังกฤษ

สาระไอทีชาวเรือ

แหล่งคนหางานเรือไทย

บทความจากสมาชิก

นิทานชาวเรือ

คนเรือหัวหมอ

คู่มือปฏิบัติงานเรือ

ระบบสื่อสาร-เดินเรือ

พจนานุกรมศัพท์ทางเรือ

ความหมายคำย่อทางเรือ

ข่าวอัพเดทรายวัน

ข่าวสดราคาน้ำมันโลก

รวมข่าวโจรสลัด

รวมข่าวอุบัติเหตุทางเรือ

สนับสนุนเว็บเรา

สถิติผู้เข้าชมเว็บนี้

ติดต่อเรา

เปิดเว็บ 1 ตุลาคม 2545

 

ขณะนี้เวลา | Your Time
10:46:33

Nathalin Group

MarinerThai 2004

TOP Enginerring Group

 

 
 
 

 

 

Cho.Charoen Maritime Instruments

Cho.Charoen Maritime Instruments Advertising in MarinerThai.Com

พระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ

พระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - -- - - - - -

ในพระปรมาภิไธย

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ธานีนิวัต กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร

ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ให้ไว้ ณ วันที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๔

 เป็นปีที่ ๖ ในรัชกาลปัจจุบัน

 

โดยที่เป็นการสมควรจัดตั้งการท่าเรือแห่งประเทศไทยขึ้นเป็นเอกเทศ พระมหากษัตริย์โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา จึงมีพระบรมราชโองการ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

 

มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๙๔"

 

มาตรา ๒* พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจา นุเบกษาเป็นต้นไป *[รก.๒๔๙๔/๓๐/๑พ./๑๕ พฤษภาคม ๒๔๙๔]

 

มาตรา ๓ ให้ยกเลิกบรรดากฎหมาย กฎและข้อบังคับอื่นซึ่งขัดหรือแย้งกับบท แห่งพระราชบัญญัตินี้

 

มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้

"การท่าเรือแห่งประเทศไทย" หมายความว่า การท่าเรือซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราช บัญญัตินี้ *

"กิจการท่าเรือ" หมายความว่า ธุรกิจเกี่ยวกับท่าเรือ และให้หมายความรวมถึง อู่เรือและกิจการอื่นที่เกี่ยวเนื่องหรือเป็นส่วนประกอบกับท่าเรือ *[นิยามคำว่า "กิจการท่าเรือ" เพิ่มความโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๓]

"คณะกรรมการ" หมายความว่า คณะกรรมการของการท่าเรือแห่งประเทศไทย

"ผู้อำนวยการ" หมายความว่า ผู้อำนวยการของการท่าเรือแห่งประเทศไทย

"รัฐมนตรี" หมายความว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม *

"อาณาบริเวณ" หมายความว่า เขตซึ่งอยู่ในความควบคุม และการบำรุงรักษา ของการท่าเรือแห่งประเทศไทยทั้งทางบกและทางน้ำ *[นิยามคำว่า "อาณาบริเวณ" เพิ่มความโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๙]

 

มาตรา ๕* ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวง การคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงว่าด้วยการควบคุม ปรับปรุง และให้ความสะดวก และความปลอดภัยแก่กิจการท่าเรือ และการเดินเรือภายในอาณา บริเวณ และการอื่น เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้ *[มาตรา ๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๙]

 

หมวด ๑ การจัดตั้ง ทุน และเงินสำรอง ________

 

มาตรา ๖ ให้จัดตั้งการท่าเรือขึ้นเรียกว่า "การท่าเรือแห่งประเทศไทย" มีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้ (๑) รับโอนกิจการท่าเรือจากสำนักงานท่าเรือกรุงเทพฯ ในกรมการขนส่ง กระทรวงคมนาคม *(๒) ประกอบและส่งเสริมกิจการท่าเรือเพื่อประโยชน์แห่งรัฐและประชาชน *(๓) ดำเนินกิจการอื่นที่เกี่ยวกับหรือต่อเนื่องกับการประกอบกิจการท่าเรือ *[มาตรา ๖ (๒) และ (๓) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๓]  "การท่าเรือแห่งประเทศไทย" เรียกโดยย่อว่า "กทท." และให้ใช้ชื่อเป็น ภาษาอังกฤษว่า "PORT AUTHORITY OF THAILAND" เรียกโดยย่อว่า "PAT" *[มาตรา ๖ วรรคสอง เพิ่มความโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๓]

 

มาตรา ๗ ให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยเป็นนิติบุคคล

 

มาตรา ๘ ให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยตั้งสำนักงานใหญ่ในจังหวัดพระนคร และจะตั้งสาขาหรือตัวแทนขึ้น ณ ที่อื่นใดในราชอาณาจักรก็ได้ และจะตั้งสาขาหรือตัวแทนขึ้น ณ ต่างประเทศในเมื่อได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีก็ได้

 

มาตรา ๘ ทวิ* อาณาบริเวณให้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา และให้มีแผนที่ แสดงอาณาบริเวณท้ายพระราชกฤษฎีกานั้นด้วย แผนที่นั้นให้ถือว่าเป็นส่วนแห่งพระราชกฤษฎีกา *[มาตรา ๘ ทวิ เพิ่มความโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๙]

 

มาตรา ๙ ให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยมีอำนาจที่จะกระทำการต่าง ๆ ภายใน ขอบแห่งวัตถุประสงค์ตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๖ และอำนาจเช่นว่านี้ให้รวมถึง

(๑) สร้าง ซื้อ จัดหา จำหน่าย เช่า ให้เช่า และดำเนินงานเกี่ยวกับเครื่องใช้ บริการและความสะดวกต่าง ๆ ของกิจการท่าเรือ

(๒) ซื้อ จัดหา เช่า ให้เช่า ถือกรรมสิทธิ์ ครอบครอง จำหน่าย หรือดำเนินงาน เกี่ยวกับสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์

(๓) กำหนดอัตราค่าภาระการใช้ท่าเรือ บริการและความสะดวกต่าง ๆ ของ กิจการท่าเรือ และออกระเบียบเกี่ยวกับวิธีชำระค่าภาระดังกล่าว

(๔) จัดระเบียบว่าด้วยความปลอดภัย การใช้ท่าเรือ บริการและความสะดวก ต่าง ๆ ของกิจการท่าเรือ

(๕) กู้ยืมเงิน

*(๖) ขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำภายในอาณาบริเวณ

*(๗) ควบคุม ปรับปรุง และให้ความสะดวกและความปลอดภัยแก่กิจการท่าเรือ และการเดินเรือภายในอาณาบริเวณ

*(๘) กำหนดอัตราค่าภาระต่าง ๆ ภายในอาณาบริเวณ

*(๙) ออกพันธบัตรหรือตราสารอื่นใดเพื่อการลงทุน

*(๑๐) จัดตั้งบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดเพื่อประกอบกิจการท่าเรือและ กิจการอื่นภายในขอบแห่งวัตถุประสงค์ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ บริษัทจำกัดหรือ บริษัทมหาชนจำกัดดังกล่าว จะมีคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของ คนต่างด้าวถือหุ้นเกินกว่าร้อยละสี่สิบเก้าของทุนจดทะเบียนของบริษัทนั้นไม่ได้

 *(๑๑) เข้าร่วมกิจการกับบุคคลอื่น หรือถือหุ้นในบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชน จำกัด เพื่อประโยชน์แก่กิจการของการท่าเรือแห่งประเทศไทย

*[มาตรา ๙ (๖) (๗) และ (๘) เพิ่มความโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๙ มาตรา ๙ (๙) เพิ่มความโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๑๖ และ มาตรา ๙ (๑๐) และ (๑๑) เพิ่มความโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๓]

 

มาตรา ๑๐ ให้โอนสินทรัพย์และหนี้สินทั้งสิ้นของสำนักงานท่าเรือกรุงเทพฯ ในกรมการขนส่ง ตลอดจนบรรดาที่ดินซึ่งได้เวนคืนไว้แล้วเพื่อการท่าเรือให้แก่การท่าเรือแห่ง ประเทศไทย

 

มาตรา ๑๑ ที่ดินซึ่งการท่าเรือแห่งประเทศไทยได้มาด้วยอำนาจแห่งพระราช บัญญัตินี้หรือบทกฎหมายอื่นจะโอนต่อไปมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะ

 

มาตรา ๑๒ ให้จ่ายเงินในงบประมาณรายจ่ายวิสามัญลงทุนประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๔๙๔ ประเภทการบำรุงการขนส่งเป็นจำนวน ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท กับงบประมาณส่วนที่ เกี่ยวกับการขุดสันดอน การก่อสร้างและค่าซื้อสิ่งของให้แก่การท่าเรือแห่งประเทศไทย งบประมาณรายจ่ายในส่วนที่เกี่ยวกับการขุดสันดอน การก่อสร้าง และค่าซื้อ สิ่งของนั้น ให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยใช้จ่ายตามรายการที่ปรากฏในงบประมาณ

 

มาตรา ๑๓ ทุนประเดิมของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ให้ประกอบด้วย

(๑) สินทรัพย์ที่รับโอนมาเมื่อได้หักหนี้สินตามมาตรา ๑๐ ออกแล้ว

(๒) เงินที่การท่าเรือแห่งประเทศไทยได้รับตามมาตรา ๑๒

 

มาตรา ๑๔ ทรัพย์สินของการท่าเรือแห่งประเทศไทยย่อมไม่อยู่ในความรับผิด แห่งการบังคับคดี

 

มาตรา ๑๕ ให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยได้รับสิทธิและหน้าที่ต่าง ๆ บรรดา ที่กฎหมายให้ไว้แก่สำนักงานท่าเรือกรุงเทพ ฯ ในกรมการขนส่ง

 

มาตรา ๑๖ ให้ประธานกรรมการ กรรมการ ผู้อำนวยการ และพนักงานของ การท่าเรือแห่งประเทศไทย เป็นเจ้าพนักงานตามความหมายแห่งกฎหมายลักษณะอาญา

 

มาตรา ๑๗* ให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยได้รับการยกเว้นจากการเสียภาษี อากรตามประมวลรัษฎากร และให้ได้รับการยกเว้นจากการเสียภาษีอากรหรือค่าธรรมเนียมใด ๆ ตามกฎหมายอื่นบรรดาที่เรียกเก็บสำหรับอาคารและที่ดินของการท่าเรือแห่งประเทศไทยนอกจาก อาคารและที่ดินที่ให้เช่า *[มาตรา ๑๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๙]

 

มาตรา ๑๗ ทวิ* ให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยได้รับการยกเว้นจากการเสีย ค่าธรรมเนียม ตามกฎหมายว่าด้วยการศุลกากร *[มาตรา ๑๗ ทวิ เพิ่มความโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๙]

 

มาตรา ๑๗ ตรี* อสังหาริมทรัพย์ของการท่าเรือแห่งประเทศไทยไม่ว่าจะได้ ให้เช่าก่อนหรือหลังวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เมื่อจะต้องการใช้ในกิจการของการท่าเรือแห่ง ประเทศไทย ให้ได้รับการยกเว้นไม่อยู่ในบังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการควบคุมค่าเช่าในภาวะ คับขัน *[มาตรา ๑๗ ตรี เพิ่มความโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๙]

 

มาตรา ๑๘ เงินสำรองของการท่าเรือแห่งประเทศไทยให้ประกอบด้วยเงินสำรอง เผื่อขาดและเงินสำรองอื่น ๆ เพื่อความประสงค์แต่ละอย่างโดยเฉพาะ เช่น ค่าเสื่อมราคาและ ค่าทำให้ดีขึ้น เป็นต้น ตามแต่คณะกรรมการจะเห็นสมควร

 

มาตรา ๑๙ ให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยเปิดบัญชีเงินฝากไว้กับธนาคารตาม ระเบียบของคณะกรรมการซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี

 

หมวด ๒ การกำกับ ควบคุมและจัดการ

 

มาตรา ๒๐* ให้รัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่กำกับโดยทั่วไปซึ่งกิจการของการท่าเรือ แห่งประเทศไทย เพื่อประโยชน์ในการนี้จะสั่งให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยชี้แจงข้อเท็จจริง แสดง ความคิดเห็นหรือทำรายงานหรือยับยั้งการกระทำใด ๆ ซึ่งขัดต่อนโยบายของรัฐบาลหรือมติของ คณะรัฐมนตรี ตลอดจนมีอำนาจที่จะสั่งสอบสวนข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการดำเนินงานได้ *[มาตรา ๒๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๐๒]

 

มาตรา ๒๑ ในกรณีที่การท่าเรือแห่งประเทศไทยหรือคณะกรรมการจะต้องเสนอ เรื่องไปยังคณะรัฐมนตรีตามความในพระราชบัญญัตินี้ ให้นำเรื่องเสนอรัฐมนตรีเพื่อเสนอต่อไปยัง คณะรัฐมนตรี

 

มาตรา ๒๒* ให้มีคณะกรรมการของการท่าเรือแห่งประเทศไทยขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วยประธานกรรมการหนึ่งคน กรรมการอื่นไม่น้อยกว่าหกคน แต่ไม่เกินสิบคน ซึ่งอย่างน้อยจะต้องเป็นผู้มีความรู้และจัดเจนเกี่ยวกับการท่าเรือหนึ่งคน และเกี่ยวกับ การเศรษฐกิจหรือการคลังหนึ่งคน ให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้งประธานกรรมการ และกรรมการ คณะรัฐมนตรีจะแต่งตั้งผู้อำนวยการเป็นกรรมการด้วยก็ได้ ให้คณะกรรมการนี้มีอำนาจหน้าที่วางนโยบาย และควบคุมดูแลโดยทั่วไป ซึ่งกิจการของการท่าเรือแห่งประเทศไทย *[มาตรา ๒๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๙]

 

มาตรา ๒๓ ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ กรรมการและผู้อำนวยการ จะต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย และมีความรู้และจัดเจนเกี่ยวกับการท่าเรือ การขนส่ง การเดินเรือ พาณิชยกรรม การเศรษฐกิจ หรือการเงิน

 

มาตรา ๒๔ ให้คณะกรรมการเป็นผู้แทนการท่าเรือแห่งประเทศไทยในส่วนที่ เกี่ยวกับบุคคลภายนอก แต่คณะกรรมการจะมอบหมายให้ผู้อำนวยการหรือพนักงานอื่นใดเป็น ผู้แทนแทนก็ได้

 

มาตรา ๒๕ ผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ต้องห้ามมิให้เป็นประธานกรรมการและ กรรมการ คือ

(๑) มีส่วนได้เสียในสัญญากับการท่าเรือแห่งประเทศไทย หรือในกิจการที่กระทำ ให้แก่การท่าเรือแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยทางอ้อม เว้นแต่จะเป็นเพียงผู้ถือหุ้น ของบริษัทที่กระทำการอันมีส่วนได้เสียเช่นว่านั้น

(๒) เป็นพนักงานของการท่าเรือแห่งประเทศไทย

(๓) เป็นข้าราชการการเมือง

 

มาตรา ๒๖ ให้ประธานกรรมการและกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งดำรงตำแหน่งสี่ปี แต่สำหรับกรรมการนั้นในวาระเริ่มแรกเมื่อครบกำหนดสองปี ให้ออกจากตำแหน่งกึ่งหนึ่งโดยวิธี จับสลาก ถ้าจำนวนกรรมการจะแบ่งออกให้ตรงเป็นกึ่งหนึ่งไม่ได้ก็ให้ออกโดยจำนวนใกล้ที่สุดกับ กึ่งหนึ่ง กรรมการที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระ จะแต่งตั้งให้เป็นกรรมการอีกก็ได้

 

มาตรา ๒๗ ประธานกรรมการและกรรมการย่อมพ้นจากตำแหน่งก่อนถึงวาระ พ้นจากตำแหน่งตามความในมาตรา ๒๖ เมื่อ

(๑) ตาย

(๒) ลาออก

(๓) คณะรัฐมนตรีให้ออก

(๔) มีลักษณะต้องตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๕ ในกรณีที่มีการพ้นจากตำแหน่งก่อนถึงวาระ

ให้มีการแต่งตั้งกรรมการเข้าแทน กรรมการที่ได้รับแต่งตั้งเข้าแทนนี้ ย่อมอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่ากำหนดเวลาของผู้ซึ่งตนแทน

 

มาตรา ๒๘ ประธานกรรมการและกรรมการย่อมได้รับประโยชน์ตอบแทนตามที่ คณะรัฐมนตรีกำหนด

 

มาตรา ๒๙ ภายใต้บังคับแห่งมาตรา ๒๒ วรรคท้าย คณะกรรมการมีอำนาจ หน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) กระทำกิจการและวางข้อบังคับและระเบียบการตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๙

(๒) แต่งตั้ง ถอดถอน กำหนด เลื่อนขั้นหรือลดขั้นอัตราเงินเดือนที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญ และหัวหน้าฝ่ายต่าง ๆ ซึ่งกระทำหน้าที่ช่วยผู้อำนวยการ และกำหนดอัตราเงินเดือน ของพนักงานอื่นของการท่าเรือแห่งประเทศไทย

(๓) วางข้อบังคับการประชุมและการดำเนินกิจการของคณะกรรมการ

(๔) วางข้อบังคับกำหนดระเบียบปฏิบัติงานและระเบียบวินัยและการลงโทษ พนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทย และกรณีอื่นทำนองเดียวกัน

*(๕) กำหนดอัตราค่าภาระต่าง ๆ ภายในอาณาบริเวณ อัตราค่าภาระการใช้ ท่าเรือ บริการและความสะดวกต่าง ๆ ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย แต่ต้องอยู่ภายในอัตรา ขั้นสูงและขั้นต่ำที่คณะรัฐมนตรีกำหนด อำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ใน (๑) นั้น ถ้าคณะกรรมการเห็นสมควรจะ มอบหมายให้ผู้อำนวยการดำเนินการก็ได้ การเปลี่ยนแปลงอัตราค่าภาระดังที่ระบุไว้ใน (๕) จะต้องประกาศให้ประชาชน ทราบล่วงหน้าเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน *[มาตรา ๒๙ (๕) แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๙]

 

มาตรา ๓๐ ให้คณะกรรมการแต่งตั้งผู้อำนวยการด้วยความเห็นชอบของ คณะรัฐมนตรี ในการนี้จะแต่งตั้งกรรมการเป็นผู้อำนวยการก็ได้ ให้ผู้อำนวยการได้รับเงินเดือนตามที่คณะกรรมการกำหนดด้วยความเห็นชอบ ของคณะรัฐมนตรี และให้อยู่ในตำแหน่งได้โดยไม่มีกำหนดเวลา แต่ในกรณีที่บกพร่องต่อหน้าที่ หรือหย่อนสมรรถภาพ คณะกรรมการจะให้ออกจากตำแหน่งด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ก็ได้

 

มาตรา ๓๑ ผู้อำนวยการเป็นผู้บริหารการท่าเรือแห่งประเทศไทยให้เป็นไปตาม นโยบายที่คณะกรรมการกำหนด และให้มีอำนาจบังคับบัญชาพนักงานของการท่าเรือแห่ง ประเทศไทยทุกตำแหน่ง ผู้อำนวยการต้องรับผิดชอบต่อคณะกรรมการในการจัดการและดำเนินงานของ การท่าเรือแห่งประเทศไทย

 

มาตรา ๓๑ ทวิ* ผู้อำนวยการ หรือพนักงานของการท่าเรือแห่งประเทศไทยซึ่งมี อายุครบหกสิบปีบริบูรณ์แล้ว เป็นอันพ้นจากตำแหน่งเมื่อสิ้นปีที่อายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ เว้นแต่ จะได้มีการต่ออายุการทำงานอีกคราวละหนึ่งปีจนอายุครบหกสิบห้าปีบริบูรณ์ วิธีการต่ออายุการทำงานให้เป็นไปตามข้อบังคับของคณะกรรมการ การต่ออายุ การทำงานของผู้อำนวยการจะต้องได้รับความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีด้วย *[มาตรา ๓๑ ทวิ เพิ่มความโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๐๒]

 

มาตรา ๓๒ ผู้อำนวยการมีอำนาจ

(๑) แต่งตั้ง ถอดถอน เลื่อนขั้นหรือลดขั้นอัตราเงินเดือนพนักงานของการท่าเรือ แห่งประเทศไทยนอกจากที่อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการตามความในมาตรา ๒๙

(๒) ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด (๒) ออกระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของการท่าเรือแห่ง ประเทศไทย

 

มาตรา ๓๓ ประธานกรรมการ กรรมการ ผู้อำนวยการและพนักงานของ การท่าเรือแห่งประเทศไทยอาจได้รับเงินรางวัลตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

 

หมวด ๓ ความสัมพันธ์กับรัฐบาล

 

มาตรา ๓๔ ในการดำเนินกิจการของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ให้คำนึงถึง ประโยชน์ของรัฐและประชาชน

 

มาตรา ๓๕ การท่าเรือแห่งประเทศไทยจะต้องได้รับความเห็นชอบจาก คณะรัฐมนตรีก่อนจึงจะดำเนินกิจการดังต่อไปนี้ได้ คือ

(๑) สร้างท่าเรือขึ้นใหม่

(๒) เลิกกิจการในท่าเรือซึ่งเปิดดำเนินการแล้ว

(๓) เพิ่มหรือลดทุน

(๔) กู้ยืมเงิน

(๕) จำหน่ายอสังหาริมทรัพย์

*(๖) จัดตั้งบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดเพื่อประกอบกิจการท่าเรือ และกิจการอื่นภายในขอบแห่งวัตถุประสงค์ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย

*(๗) เข้าร่วมกิจการกับบุคคลอื่น หรือถือหุ้นในบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชน จำกัด เพื่อประโยชน์แก่กิจการของการท่าเรือแห่งประเทศไทย

*[มาตรา ๓๕ (๖) และ (๗) เพิ่มความโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๓]

 

มาตรา ๓๖ การท่าเรือแห่งประเทศไทยจะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรี ก่อน จึงจะวางข้อบังคับ กำหนดระเบียบปฏิบัติงานและระเบียบวินัยและการลงโทษพนักงาน การท่าเรือแห่งประเทศไทย และกรณีอื่นทำนองเดียวกันได้

 

มาตรา ๓๗ การท่าเรือแห่งประเทศไทยจะต้องไม่วางระเบียบว่าด้วยการใช้ ประโยชน์แห่งบริการและความสะดวกต่าง ๆ ตลอดจนการกำหนดค่าภาระในการใช้ประโยชน์และ ความสะดวกเช่นว่านั้น ซึ่งจะเป็นการขัดกับนโยบายทั่วไปของรัฐบาลในการเศรษฐกิจและการคลัง ตามที่รัฐมนตรีแจ้งให้คณะกรรมการทราบ

 

มาตรา ๓๘ ให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยจัดทำงบประมาณประจำปีแยกเป็น งบลงทุนและงบทำการ สำหรับงบลงทุนนั้นให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาและให้ ความเห็นชอบส่วนงบทำการนั้นให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ

 

มาตรา ๓๙ รายได้ที่การท่าเรือแห่งประเทศไทยได้รับจากการดำเนินงานให้ตก เป็นของการท่าเรือแห่งประเทศไทยสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ รายได้ที่ได้รับนั้น ในปีหนึ่ง ๆ เมื่อได้หักค่าใช้จ่ายสำหรับดำเนินงาน ค่าภาระ ต่าง ๆ ที่เหมาะสม เช่น ค่าบำรุงรักษา ค่าเสื่อมราคา เงินรางวัล และเงินสมทบกองทุนสำหรับ จ่ายสงเคราะห์พนักงาน เงินสำรองธรรมดา เงินสำรองขยายงานและเงินลงทุนตามที่ได้รับ ความเห็นชอบตามความในมาตรา ๓๘ แล้วเหลือเท่าใดให้นำส่งเป็นรายได้ของรัฐ แต่ถ้ารายได้มีจำนวนไม่เพียงพอสำหรับรายจ่ายดังกล่าวนอกจากเงินสำรอง ธรรมดาและเงินสำรองขยายงานแล้ว และการท่าเรือแห่งประเทศไทยไม่สามารถหาเงินจากทางอื่น ให้รัฐจ่ายเงินให้แก่การท่าเรือแห่งประเทศไทยเท่าจำนวนที่ขาด

 

มาตรา ๔๐ ให้คณะกรรมการทำรายงานปีละครั้งเสนอรัฐมนตรี รายงานนี้ให้ กล่าวถึงผลงานในปีที่ล่วงแล้วของการท่าเรือแห่งประเทศไทย และให้มีคำชี้แจงเกี่ยวกับนโยบาย ของคณะกรรมการ โครงการและแผนงานที่จะจัดทำในภายหน้า

 

หมวด ๔ การร้องทุกข์และการสงเคราะห์

 

มาตรา ๔๑ ให้พนักงานของการท่าเรือแห่งประเทศไทยมีสิทธิร้องทุกข์เกี่ยวแก่ การลงโทษได้ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

 

มาตรา ๔๒ ให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยจัดให้มีกองทุนสำหรับจ่ายสงเคราะห์ พนักงานในเวลาพ้นจากตำแหน่ง ประสบอุบัติเหตุ เจ็บป่วย หรืออื่น ๆ อัตราเงินสมทบกองทุนซึ่งการท่าเรือแห่งประเทศไทยและพนักงานจะพึงจ่าย ประเภทของพนักงานที่จะพึงได้รับสงเคราะห์จากกองทุนตลอดจนการจัดการเกี่ยวกับกองทุนนั้น ให้เป็นไปตามข้อบังคับซึ่งคณะกรรมการกำหนด ข้อบังคับดังกล่าวในวรรคก่อน ให้นำเสนอคณะรัฐมนตรี เมื่อคณะรัฐมนตรี ให้ความเห็นชอบแล้ว ให้ใช้บังคับได้

 

หมวด ๕ การบัญชี การสอบ และการตรวจ

 

มาตรา ๔๓ ให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยวางและถือไว้ซึ่งระบบการบัญชี อันถูกต้องแยกตามประเภทงานส่วนที่สำคัญ มีการสอบบัญชีภายในเป็นประจำ และมีสมุดบัญชี ลงรายการ

(๑) การรับและจ่ายเงิน

(๒) สินทรัพย์และหนี้สิน ซึ่งแสดงการงานที่เป็นอยู่ตามจริง และตามที่ควรตามประเภทงาน พร้อมด้วยข้อความอันเป็นเหตุ ที่มาของรายการนั้น ๆ

 

มาตรา ๔๔ ให้คณะกรรมการตั้งผู้สอบบัญชีคนหนึ่งหรือหลายคน เพื่อสอบและ รับรองบัญชีของการท่าเรือแห่งประเทศไทยทุกปี ห้ามมิให้ตั้งประธานกรรมการ กรรมการ ผู้อำนวยการ ผู้อื่นซึ่งเป็นตัวแทนของ การท่าเรือแห่งประเทศไทย พนักงานของการท่าเรือแห่งประเทศไทย หรือบุคคลผู้มีส่วนได้เสีย ในการงานที่การท่าเรือแห่งประเทศไทยจัดทำเป็นผู้สอบบัญชี

 

มาตรา ๔๕ ให้ผู้สอบบัญชีเข้าตรวจสอบสรรพสมุด บัญชีและเอกสารหลักฐาน ของการท่าเรือแห่งประเทศไทยในเวลาอันสมควรได้ทุกเมื่อ และเพื่อการสอบบัญชี ให้มีอำนาจ ไต่ถามสอบสวนประธานกรรมการ กรรมการ ผู้อำนวยการ ผู้อื่นซึ่งเป็นตัวแทนของการท่าเรือ แห่งประเทศไทย หรือพนักงานของการท่าเรือแห่งประเทศไทยได้

 

มาตรา ๔๖ ผู้สอบบัญชีต้องทำรายงานว่าด้วย

(๑) ข้อความคำชี้แจงอันควรแก่การสอบบัญชีที่ได้รับ

(๒) ความสมบูรณ์ของสมุดบัญชีที่การท่าเรือแห่งประเทศไทยรักษาอยู่ และต้อง แถลงด้วยว่า ๑. งบดุลและบัญชีซึ่งตรวจสอบนั้นถูกต้องตรงกับสมุดบัญชีเพียงไรหรือไม่ ๒. งบดุลและบัญชีซึ่งตรวจสอบนั้นแสดงการงานของการท่าเรือแห่ง ประเทศไทยที่เป็นอยู่ตามจริงและตามที่ควร ตามข้อความคำชี้แจงและความรู้ของผู้สอบบัญชี เพียงไรหรือไม่

 

มาตรา ๔๗ ให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ตรวจบัญชีของการท่าเรือ แห่งประเทศไทยในเมื่อรัฐมนตรีร้องขอ

 

มาตรา ๔๘ ภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันหลังจากวันสิ้นปีบัญชี การท่าเรือแห่ง ประเทศไทยจะต้องโฆษณารายงานประจำปี แสดงบัญชีงบดุล บัญชีทำการ และบัญชีกำไรขาดทุน เพียงสิ้นปีพร้อมกับรายงานของผู้สอบบัญชีที่คณะกรรมการตั้งขึ้นตามความในมาตรา ๔๔ *

 

หมวด ๖ บทกำหนดโทษ

 

มาตรา ๔๙* ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงว่าด้วยการควบคุม ปรับปรุง และให้ความสะดวกและความปลอดภัยแก่กิจการท่าเรือและการเดินเรือภายใน อาณาบริเวณ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท

 

มาตรา ๕๐* ความผิดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๔๙ ให้พนักงานสอบสวน มีอำนาจเปรียบเทียบได้ *[หมวด ๖ มาตรา ๔๙ และมาตรา ๕๐ เพิ่มความโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๙]

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

จอมพล ป.พิบูลสงคราม

นายกรัฐมนตรี

 

พระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๔๙๙

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากพระราชบัญญัติ การท่าเรือแห่งประเทศไทยที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ ยังไม่เหมาะสมในการที่จะบริหารกิจการของ การท่าเรือให้เจริญก้าวหน้า เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการท่าเรือในหลัก สำคัญ ๆ อาทิ กำหนดเขตอาณาบริเวณเพื่อความสะดวกและความปลอดภัยแก่การเดินเรือและ การสินค้า อำนาจหน้าที่ในการขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำให้เรือขนาดใหญ่เดินได้โดยสะดวก และเรียกเก็บค่าภาระต่าง ๆ ภายในอาณาบริเวณเพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายได้ ให้การท่าเรือได้รับ ยกเว้นจากการเสียภาษีอากรเพราะทรัพย์สินของการท่าเรือเป็นทรัพย์สินของรัฐอยู่แล้ว ให้การ ท่าเรือได้ใช้ที่ดินเพื่อขยายกิจการตามโครงการโดยไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยการควบคุม ค่าเช่าในภาวะคับขัน ให้คณะรัฐมนตรีมีอำนาจตั้งกรรมการเพิ่มขึ้น และนอกจากนี้ให้มีบทลงโทษ ผู้ที่ฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวง เพื่อให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยได้ดำเนินกิจการ ให้สำเร็จลุล่วงไปตามนโยบายของรัฐบาลและเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกิจการท่าเรือสากล [รก.๒๔๙๙/๗๒/๙๘๗/๑๑ กันยายน ๒๔๙๙]

 

พระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๐๐

มาตรา ๕ ผู้อำนวยการ หรือพนักงานของการท่าเรือแห่งประเทศไทยผู้ใดมีอายุ ครบหกสิบปีบริบูรณ์แล้วในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หรือจะมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ ภายในระยะเวลาเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ผู้นั้นคงอยู่ในตำแหน่งต่อไป ได้เก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และถ้าไม่ได้รับการต่ออายุการทำงานตามความ ในมาตรา ๓๑ ทวิ ก็ให้พ้นจากตำแหน่งในวันถัดจากวันครบกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราช บัญญัตินี้ใช้บังคับ

มาตรา ๖ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวง การคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติการท่าเรือ แห่งประเทศไทยฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีบทบัญญัติบางประการที่ไม่เหมาะสมแก่การบริหาร กิจการของการท่าเรือแห่งประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้าไปได้เท่าที่ควร จึงจำต้องแก้ไขเพิ่มเติม กฎหมายว่าด้วยการท่าเรือแห่งประเทศไทย

[รก.๒๕๐๒/๖๒/๑พ./๑๒ มิถุนายน ๒๕๐๒]

 

พระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๑๖

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากกฎหมายว่าด้วย การท่าเรือแห่งประเทศไทย ไม่มีบทบัญญัติให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยมีอำนาจออกพันธบัตร หรือตราสารอื่นใดเพื่อการลงทุนเป็นเหตุให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยไม่อาจออกพันธบัตรหรือ ตราสารอื่นใดเพื่อการลงทุนได้ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

[รก.๒๕๑๖/๑๕๔/๑พ./๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๑๖]

 

พระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๓

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากพระราชบัญญัติ การท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๙๔ ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันมีบทบัญญัติบางประการที่ทำให้ การบริหารงานของการท่าเรือแห่งประเทศไทยไม่คล่องตัวเท่าที่ควร สมควรแก้ไขเพิ่มเติม วัตถุประสงค์ให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้นและแก้ไขเพิ่มเติมให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยมีอำนาจ จัดตั้งบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด หรือเข้าร่วมกิจการกับบุคคลอื่นหรือถือหุ้นใน บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด เพื่อประโยชน์แก่กิจการของการท่าเรือแห่งประเทศไทยได้ ทั้งนี้ โดยจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ [รก.๒๕๔๓/๑๑๑ก/๑/๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๓]

 

มารีนเนอร์ไทย | MarinerThai.Net | MarinerThai.Com

 

 

จำนวนผู้เข้าชมหน้านี้   5689

 Disclaimed: มารีนเนอร์ไทยดอทคอม ขอสงวนสิทธิ์ในการรับรองความถูกต้องในบทความ ข้อมูล เนื้อหา ภายในเว็บไซด์ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูล ภาพ เสียง ซอฟแวร์ การเชื่อมโยง(ลิงค์) และ/หรือ บริการอื่นๆ และจะไม่รับผิดชอบในความผิดพลาดในการใช้เนื้อหาดังกล่าวข้างต้นเพื่อวัตถุประสงค์ทางด้าน การค้า การกระทำ การคาดการณ์ พยากรณ์ การวิจัย และอื่นๆ ซึ่งเป็นความคิดเห็นส่วนบุคคลเฉพาะของท่านผู้เขียนแต่ละรายไป ตลอดจนข้อกำหนดทางด้านลิขสิทธิ์ กรณีที่ท่านส่งบทความที่มิได้ขออนุญาตต่อผู้ครองสิทธิ์แท้จริงนำมาลงไว้ภายในเว็บไซด์นี้

 

 
 

 

 

Nathalin Group Advertising in marinerthai.net

หน้าแรกก | เว็บบอร์ดชาวเรือ | สารบัญเว็บไซด์ชาวเรือ | สมุดภาพเรือเดินทะเล | สนับสนุนเว็บเรา | ติดต่อเรา

© 2002 Mariner Thai Dot Com Mariner Thai Dot Net. All rights reserved - Web designed by .<nv>.

 MarinerThai.Com | MarinerThai.Net | MarinerThai.Org

Contact webmaster: | Organizer : CKN - Cyber Ket Network