พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับสถานที่ผลิตปิโตรเลียมในทะเล พ
พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับสถานที่ผลิตปิโตรเลียมในทะเล พ.ศ. 2530
- - - - - - - - - - - - - - - - - -
- -- - - - - -
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2530
เป็นปีที่ 42 ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
มีพระบรมราช โองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับสถานที่ ผลิตปิโตรเลียมในทะเล
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้
โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิด
เกี่ยวกับสถานที่ผลิตปิโตรเลียมในทะเล พ.ศ. 2530"
มาตรา 2*
พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศ ในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
*[รก.2530/224/1พ./6 พฤศจิกายน 2530]
มาตรา 3 บรรดาบทกฎหมาย กฎ
และข้อบังคับอื่นในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้ว ในพระราชบัญญัตินี้
หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้ พระราชบัญญัตินี้แทน
มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้
"ปิโตรเลียม"
หมายความว่า ปิโตรเลียมตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม
"สถานที่ผลิตปิโตรเลียมในทะเล"
หมายความว่า สิ่งติดตั้งเดี่ยวหรือ มากกว่านั้น
ที่สร้างขึ้นหรือติดตั้งอย่างชั่วคราวหรือถาวรในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ
หรือไหล่ทวีปของราชอาณาจักรไทย เพื่อวัตถุประสงค์ในการผลิตหรืออำนวย
ประโยชน์ในการผลิตปิโตรเลียมและหมายความรวมถึงเรือ แท่นลอย หรือ
โครงสร้างอื่นใดที่อยู่ประจำและเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตหรืออำนวยประโยชน์
ในการผลิตปิโตรเลียมในเขตเศรษฐกิจจำเพาะหรือไหล่ทวีปดังกล่าว
"เขตปลอดภัย"
หมายความว่า เขตรอบสถานที่ผลิตปิโตรเลียมใน ทะเลมีระยะห้าร้อยเมตร
โดยวัดจากแต่ละจุดของขอบด้านนอกของสถานที่ผลิต
ปิโตรเลียมในทะเลตามกฎหมายระหว่างประเทศ
"สืบสวนสอบสวนเบื้องต้น"
หมายความว่า แสวงหาข้อเท็จจริงและ หลักฐาน รวบรวมพยานหลักฐาน
หรือดำเนินการทั้งหลายอื่นตามบทบัญญัติแห่ง พระราชบัญญัตินี้
ซึ่งเจ้าหน้าที่ทหารเรือได้ทำไปเกี่ยวกับความผิดที่กล่าวหา
เพื่อที่จะทราบข้อเท็จจริงหรือทราบรายละเอียดแห่งความผิดหรือพิสูจน์ความผิด
หรือเพื่อให้ได้ตัวผู้กระทำความผิดมาส่งให้แก่พนักงานสอบสวนต่อไป
"การก่อวินาศกรรม"
หมายความว่า การก่อวินาศกรรมตามกฎหมาย ว่าด้วยการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน
"เจ้าหน้าที่ทหารเรือ"
หมายความว่า นายทหารเรือประจำการชั้น สัญญาบัตร ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บังคับการเรือ
ผู้บังคับหมู่เรือ ผู้บังคับหมวดเรือ ผู้บังคับการกองเรือ ผู้บัญชาการกรมนาวิกโยธิน
ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ ผู้บัญชาการทหารเรือ
หรือตำแหน่งอื่นที่ผู้บัญชาการทหารเรือได้ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษาให้เทียบเท่ากับตำแหน่งดังกล่าว
และนายทหารเรือประจำการ ชั้นสัญญาบัตรซึ่งผู้บัญชาการทหารเรือได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแต่งตั้ง
ขึ้นโดยเฉพาะ
มาตรา 5 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมมีอำนาจประกาศ
(1)
กำหนดหรือยกเลิกเขตที่ตั้งและเขตปลอดภัยของสถานที่ผลิต ปิโตรเลียมในทะเล
(2)
กำหนดหรือยกเลิกเขตท่อรวมทั้งอุปกรณ์ของท่อที่ใช้ในกระบวน
การผลิตปิโตรเลียมซึ่งเชื่อมโยงกันระหว่างสถานที่ผลิตปิโตรเลียมในทะเลที่อยู่
นอกเขตปลอดภัย การประกาศตามวรรคหนึ่ง ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา 6 สถานที่ผลิตปิโตรเลียมในทะเลและเขตปลอดภัยให้ถือว่า
อยู่ในราชอาณาจักร การกระทำความผิดตามกฎหมายไทยที่เกิดขึ้นบน เหนือ หรือใต้สถานที่
ผลิตปิโตรเลียมในทะเล หรือในเขตปลอดภัย ให้ถือว่าได้กระทำในราชอาณาจักร
ให้พนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามีอำนาจ
สอบสวนคดีอาญาทั้งปวงตามวรรคสอง พนักงานสอบสวนท้องที่ใดเป็นพนักงาน
สอบสวนผู้รับผิดชอบในการสอบสวนให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวง
มหาดไทยประกาศกำหนด
มาตรา 7
ให้เจ้าหน้าที่ทหารเรือมีอำนาจสืบสวนสอบสวนเบื้องต้น
เพื่อป้องกันและระงับการกระทำที่เป็นการก่อวินาศกรรมสถานที่ผลิตปิโตรเลียม ในทะเล
มาตรา 8 เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 7
ให้เจ้าหน้าที่ทหารเรือมีอำนาจสืบสวนสอบสวนเบื้องตันเกี่ยวกับการกระทำ
ที่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาที่ได้กระทำ บน เหนือ หรือใต้
สถานที่ผลิตปิโตรเลียมในทะเล หรือในเขตปลอดภัยตามความผิดดังต่อไปนี้
(1)
ความผิดเกี่ยวกับการปกครองตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 136 ถึง มาตรา 146
(2)
ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชนตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 209 ถึงมาตรา 216
(3)
ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชนตามที่บัญญัติ ไว้ในมาตรา 217
ถึงมาตรา 226 และมาตรา 231
(4)
ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 288 ถึงมาตรา 290 และมาตรา
295 ถึงมาตรา 298
(5)
ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพและชื่อเสียงตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 309 มาตรา 310 มาตรา
313 ถึงมาตรา 315 และมาตรา 322 ถึง มาตรา 324
(6)
ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 334 มาตรา 335 มาตรา 336 ถึงมาตรา
339 มาตรา 340 มาตรา 340 ตรี มาตรา 357 ถึงมาตรา 360 มาตรา 362 มาตรา 364 และมาตรา
365
มาตรา 9
การเดินเรือในเขตปลอดภัยต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือ จากอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี
หรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมทรัพยากรธรณีมอบหมาย เว้นแต่
มีความจำเป็นเพราะเหตุสุดวิสัยหรือประสบภยันตรายร้ายแรง ในการอนุญาตนั้น
จะกำหนดเงื่อนไขอย่างใดด้วยก็ได้ ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่เรือของทางราชการ
เรือของผู้รับ สัมปทานปิโตรเลียมในเขตท้องที่นั้น
และเรือของผู้รับจ้างซึ่งได้ทำสัญญาจ้าง
เหมากับผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมในเขตท้องที่นั้น
มาตรา 10 ในกรณีที่มีการประกาศกำหนดเขตท่อรวมทั้งอุปกรณ์ของ
ท่อที่ใช้ในกระบวนการผลิตปิโตรเลียมตามมาตรา 5 (2)
หรือมีการประกาศกำหนดเขตระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อตามกฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียม
แห่งประเทศไทย ห้ามมิให้ผู้ใดทอดสมอเรือหรือเกาสมอหรือกระทำการอย่างใด
อย่างหนึ่งอันอาจเป็นอันตรายต่อท่อที่ใช้ในกระบวนการผลิตปิโตรเลียม หรือ
ท่อที่ใช้ในระบบการขนส่งปิโตรเลียมจากสถานที่ผลิตปิโตรเลียมในทะเลมาถึง
ชายฝั่งหรือท่อที่ใช้หรือเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการผลิตปิโตรเลียมซึ่งเชื่อมโยง
กันระหว่างสถานที่ผลิตปิโตรเลียมในทะเลที่อยู่นอกเขตปลอดภัยรวมทั้งอุปกรณ์
ของท่อดังกล่าว ห้ามมิให้ผู้ใดเดินเรือข้ามท่อหรืออุปกรณ์ของท่อตามวรรคหนึ่ง
โดยมิได้ ชักสมอขึ้นพ้นจากน้ำจนแลเห็นได้
การกระทำผิดตามมาตรานี้ให้ถือว่าได้กระทำในราชอาณาจักร
ในการสอบสวนการกระทำความผิดตามมาตรานี้ ให้นำความใน มาตรา 6 วรรคสาม
มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา 11
ให้เจ้าหน้าที่ทหารเรือมีอำนาจสืบสวนสอบสวนเบื้องต้น
เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามมาตรา 9 หรือมาตรา 10
มาตรา 12
ให้เจ้าหน้าที่ทหารเรือมีอำนาจสั่งหรือบังคับให้เรือหรือ
อากาศยานที่ใช้หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าจะใช้หรือได้ใช้ในการก่อวินาศกรรม
สถานที่ผลิตปิโตรเลียมในทะเลหรือเรือหรืออากาศยานที่ได้ใช้ในการกระทำ
ความผิดหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าได้ใช้ในการกระทำความผิดตามมาตรา 8
หรือเรือที่ฝ่าฝืนหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าได้ฝ่าฝืนมาตรา 9 หรือมาตรา 10
หยุดหรือไปยังที่แห่งใดแห่งหนึ่ง หรือลงยังสนามบิน หรือที่ขึ้นลงชั่วคราวแห่งใด
แห่งหนึ่ง ในกรณีจำเป็นเพื่อดำเนินการตามวรรคหนึ่งให้เจ้าหน้าที่ทหารเรือ
มีอำนาจใช้อาวุธประจำเรือหรืออากาศยานบังคับได้
มาตรา 13
เมื่อเจ้าหน้าที่ทหารเรือสั่งหรือบังคับให้เรือหรือ
อากาศยานหยุดหรือไปยังที่แห่งใดแห่งหนึ่ง หรือลงยังสนามบินหรือที่ขึ้นลง
ชั่วคราวแห่งใดแห่งหนึ่งตามมาตรา 12 แล้ว ให้เจ้าหน้าที่ทหารเรือมีอำนาจ
ปฏิบัติต่อเรือหรืออากาศยาน ผู้ควบคุมเรือหรืออากาศยาน และบุคคลในเรือ
หรืออากาศยานดังต่อไปนี้
(1) ตรวจและค้นเรือหรืออากาศยาน
(2)
สอบสวนผู้ควบคุมเรือหรืออากาศยานและบุคคลในเรือหรือ อากาศยาน
(3)
ถ้าการตรวจค้นเรือหรืออากาศยานหรือการสอบสวนมีเหตุ
อันควรสงสัยว่าจะมีการก่อวินาศกรรม หรือได้มีการก่อวินาศกรรม หรือมีเหตุ
อันควรสงสัยว่ามีการกระทำความผิดตามมาตรา 8 หรือฝ่าฝืนมาตรา 9 หรือ มาตรา 10
ให้เจ้าหน้าที่ทหารเรือมีอำนาจควบคุมผู้ต้องหาว่ากระทำความผิด
นั้นไว้เพื่อสอบสวนตลอดจนยึดเรือหรืออากาศยาน และสิ่งของที่จะใช้หรือได้ใช้
ในการกระทำความผิด ห้ามมิให้ควบคุมเรือหรืออากาศยาน ผู้ควบคุมเรือหรืออากาศยานหรือ
บุคคลในเรือหรืออากาศยาน เกินความจำเป็นตามพฤติการณ์แห่งคดี
มาตรา 14
ให้เจ้าหน้าที่ทหารเรือมีอำนาจไล่ติดตามเรือต่างประเทศ ได้
เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเรือนั้นได้ใช้ในการก่อวินาศกรรมสถานที่ผลิต
ปิโตรเลียมในทะเลหรือได้ใช้ในการกระทำความผิดตามมาตรา 8 หรือฝ่าฝืน มาตรา 9
หรือมาตรา 10 เรือรบหรืออากาศยานทหาร หรือเรือหรืออากาศยานที่ทางราชการ
นำมาใช้ในราชการของรัฐบาลที่มีเครื่องหมายชัดแจ้งและได้รับมอบหมายจาก
ผู้บัญชาการทหารเรือหรือผู้ซึ่งผู้บัญชาการทหารเรือมอบหมายเพื่อการไล่ติดตาม
เท่านั้นที่จะใช้สิทธิไล่ติดตามได้
การมอบหมายตามวรรคสองจะทำเป็นหนังสือหรือด้วยวาจา หรือจะ กำหนดเงื่อนไขอย่างใดก็ได้
มาตรา 15 การไล่ติดตามโดยเรือรบหรือเรือตามมาตรา 14 วรรคสอง
ต้องเป็นไปเพื่อบังคับให้เรือนั้นหยุดหรือไปยังที่แห่งใดแห่งหนึ่ง ทั้งนี้
ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1)
การไล่ติดตามจะเริ่มต้นได้ในเมื่อเรือต่างประเทศ หรือเรือเล็ก
ลำใดลำหนึ่งของเรือต่างประเทศ หรือเรืออื่นที่ทำงานร่วมกับเรือต่างประเทศ
โดยใช้เรือต่างประเทศเป็นเรือพี่เลี้ยงอยู่ภายในเขตปลอดภัย
(2)
เรือที่ไล่ติดตามได้ให้สัญญาณหยุดที่เห็นได้ด้วยตา หรือฟังได้
ด้วยหูในระยะทางที่เรือต่างประเทศจะสามารถเห็นหรือได้ยินสัญญาณได้ แต่ไม่
จำเป็นว่าในขณะที่มีคำสั่งให้หยุดเรือที่ออกคำสั่งจะต้องอยู่ภายในเขตทางทะเล
ของราชอาณาจักร
(3)
การไล่ติดตามสามารถกระทำต่อไปได้ถึงภายนอกเขตทางทะเล ของราชอาณาจักร
ถ้าการไล่ติดตามนั้นมิได้ขาดตอนลง แต่จะต้องสิ้นสุดลงทันที
ที่เรือที่ถูกไล่ติดตามนั้นเข้าไปในทะเลอาณาเขตของประเทศอื่น
มาตรา 16 การไล่ติดตามโดยอากาศยานทหารหรืออากาศยานตาม มาตรา
14 วรรคสอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) ให้นำความในมาตรา 15 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
(2)
อากาศยานที่ออกคำสั่งให้หยุดต้องไล่ติดตามเรือนั้นเพื่อบังคับให้
เรือนั้นหยุดหรือไปยังที่แห่งใดแห่งหนึ่งด้วยตนเอง หรือจนกว่าจะมีการรับช่วง
การไล่ติดตามเพื่อบังคับให้เรือนั้นหยุดหรือไปยังที่แห่งใดแห่งหนึ่งโดยเรือรบ
หรืออากาศยานทหาร หรือเรือหรืออากาศยานตามมาตรา 14 วรรคสอง
ที่อากาศยานที่ไล่ติดตามเรียกมา การไล่ติดตามจะกระทำมิได้ถ้าอากาศยาน
ที่จะไล่ติดตามเพียงแต่เห็นเรือกระทำความผิดหรือสงสัยว่าได้กระทำความผิด
แต่มิได้มีการสั่งให้หยุดและมิได้มีการไล่ติดตามโดยอากาศยานนั้นหรืออากาศยาน
หรือเรืออื่นโดยไม่ขาดตอน
มาตรา 17 ในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการสอบสวน เจ้าหน้าที่
ทหารเรือหรือพนักงานสอบสวนมีอำนาจควบคุมเรือที่ถูกควบคุมผ่านเขตเศรษฐกิจ
จำเพาะไม่ว่าจะเป็นของประเทศใด หรือทะเลหลวงไปยังที่ใดที่หนึ่งได้ โดย
ไม่ก่อให้เกิดสิทธิร้องขอให้ปล่อยเรือที่ถูกควบคุมนั้น
มาตรา 18
เมื่อเจ้าหน้าที่ทหารเรือได้ปฏิบัติการเท่าที่จำเป็นตาม มาตรา 13 แล้ว
ให้เจ้าหน้าที่ทหารเรือส่งตัวผู้ต้องหาพร้อมด้วยสิ่งของที่ยึด
ไว้และบันทึกทั้งปวงที่เกี่ยวข้องในคดีที่ทำไว้ให้แก่พนักงานสอบสวนโดยไม่ชักช้า
เว้นแต่สิ่งของนั้นจะเป็นเรือหรืออากาศยานหรือสิ่งของอื่นที่พนักงานสอบสวน
ไม่อาจเก็บรักษาไว้ได้ ให้เจ้าหน้าที่ทหารเรือยึดไว้แทนพนักงานสอบสวน
ให้พนักงานสอบสวนหรือเจ้าหน้าที่ทหารเรือยึดสิ่งของตามวรรคหนึ่งไว้
จนกว่าจะมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีหรือจนกว่าคดีจะถึงที่สุด และถ้าสิ่งของตาม
วรรคหนึ่งเป็นของเสียง่ายหรือถ้าเก็บรักษาไว้จะเป็นการเสี่ยงความเสียหาย
หรือจะเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลเกินสมควร ให้พนักงานสอบสวนหรือเจ้าหน้าที่
ทหารเรือแล้วแต่กรณี ทำบัญชีรายละเอียดไว้แล้วจัดการขายทอดตลาด หรือ
จัดการโดยวิธีอื่นตามที่เห็นสมควรก็ได้ เงินที่ได้เมื่อหักค่าใช้จ่ายในการ
ดำเนินการแล้วให้ยึดไว้แทนสิ่งของ
มาตรา 19 ถ้าความปรากฎจากการสืบสวนสอบสวนเบื้องต้นว่าผู้ควบคุมเรือหรืออากาศยาน
และบุคคลในเรือหรืออากาศยานมิได้กระทำการที่เป็นการก่อวินาศกรรมสถานที่ผลิตปิโตรเลียมในทะเล
หรือมิได้กระทำความผิดตามมาตรา 8 หรือมิได้ฝ่าฝืนมาตรา 9 หรือ มาตรา 10
ให้เจ้าหน้าที่ทหารเรือปล่อยเรือหรืออากาศยานและผู้ควบคุมเรือหรืออากาศยานตลอดจนบุคคลในเรือหรืออากาศยานนั้นโดยไม่ชักช้า
ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ทหารเรือได้กระทำไปโดยสุจริต
ค่าภาระและค่าใช้จ่ายอันเกิดจากการเก็บรักษาเรือ
อากาศยานหรือสิ่งของอื่นที่ยึดไว้ให้ผู้ควบคุมเรือหรืออากาศยาน
หรือเจ้าของเรือหรืออากาศยานเป็นผู้รับผิดชอบ
มาตรา 20
การปฏิบัติหน้าที่ป้องกันและระงับการกระทำที่เป็นการก่อวินาศกรรมตามพระราชบัญญัตินี้
ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ใดที่จะเรียกร้องค่าเสียหายหรือค่าทดแทนได้
มาตรา 21 ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้
ให้เจ้าหน้าที่ทหารเรือมีอำนาจและหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่และพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 22
ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ทหารเรือส่งตัวผู้ต้องหาให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
มิให้นับระยะเวลาควบคุมผู้ต้องหาซึ่งได้กระทำมาก่อนนั้นเป็นเวลาควบคุมผู้ต้องหาของพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 23
ความผิดตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ให้ชำระที่ศาลอาญา
แต่ถ้าการสอบสวนได้กระทำในท้องที่ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลใดให้ชำระที่ศาลนั้นได้ด้วย
มาตรา 24 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง
หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 9 วรรคสอง
ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 25 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 10 วรรคหนึ่ง
ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
หรือทั้งจำทั้งปรับถ้าการกระทำความผิดนั้นเป็นเหตุให้ท่อหรืออุปกรณ์ของท่อถูกทำลายเสียหายเสื่อมค่าหรือไร้ประโยชน์
ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท
หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 26
ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 10 วรรคสอง
ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการกระทำความผิดนั้นเป็นเหตุให้ท่อหรืออุปกรณ์ของท่อถูกทำลายเสียหายเสื่อมค่าหรือไร้ประโยชน์
ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท
หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 27 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
ในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของแต่ละกระทรวง
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ป. ติณสูลานนท์
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ
เนื่องจากในปัจจุบันนี้มีการผลิตปิโตรเลียมในทะเล
ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะและไหล่ทวีปของราชอาณาจักรไทย
สมควรให้เจ้าหน้าที่ทหารเรือไทยมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการป้องกันและระงับการกระทำที่เป็นการก่อวินาศกรรมสถานที่ผลิตปิโตรเลียมในทะเล
ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะและไหล่ทวีปดังกล่าว
และมีอำนาจสืบสวนสอบสวนเบื้องต้นเพื่อส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาดำเนินการต่อไป
จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
มารีนเนอร์ไทย | MarinerThai.Net |
MarinerThai.Com