แล่นใบความท้าทายกลางสายลมและผืนน้ำ
"แล่นใบ"
ความท้าทายกลางสายลมและผืนน้ำ
บทความและรูปภาพจาก
ผู้จัดการรายวัน
วันที่ 21 เมษายน 2548
หากพูดถึงกีฬาทางน้ำ หลายคนคงจะนึกออกอยู่หลายประเภท
ตั้งแต่ยอดฮิตอย่างว่ายน้ำซึ่งแข่งขันด้านความเร็ว กระโดดน้ำ
ซึ่งแข่งด้านการจัดวางร่างกายลงสู่ผืนน้ำ โปโล กีฬาแบบทีมคล้ายฟุตบอล
หรือแม้แต่ที่เน้นความสวยงามอย่างระบำใต้น้ำ
แต่ในบรรดากีฬาทางน้ำมากมาย
มีอยู่ประเภทหนึ่งที่มีความเป็นมายาวนาน แต่คนทั่วไปไม่ค่อยรู้จักนัก
เรากำลังพูดถึงกีฬา "เรือใบ"
ซึ่งในอดีตประเทศไทยเคยประสบความสำเร็จระดับเหรียญทองมาแล้ว
- 1 -
เรือใบเรียงรายบนชายหาด
แสงแดดทอประกายขับใบเรือสีขาวที่เรียงรายให้สว่างจ้าขึ้นยามต้องแสงอาทิตย์
ผืนน้ำเป็นประกายระยับ ในบึงตรงหน้าเราขณะนี้ มีเรือใบสองสามลำแล่นไปมาช้าๆ
มองไปที่ตัวเรือก็จะเห็นคนขับจับหางเสือและเชือกดึงใบ คอยขยับตัวหลบเพลา (Boom)ไปซ้ายที
ขวาทีอย่างคล่องแคล่ว
"ผมเริ่มเล่นเรือใบตั้งแต่ประถม 4 ก็คงราวอายุ 9-10 ขวบครับ
บ้านผมอยู่สัตหีบ ตอนนั้นช่วงซัมเมอร์ เขาจะมีการเปิดสอนเรือใบ ว่ายน้ำ อะไรแบบนี้
ผมสนใจเรือใบ ก็เลยเลือกเรียนและเล่นมาตลอดตั้งแต่ระดับออปติมิส
(เรือใบขนาดเล็กสำหรับเด็กอายุ 8-16 ปี จัดเป็นเรือใบขนาดเล็ก) ไม่เคยทิ้ง
หลังจากนั้นก็มีโอกาสเข้าแข่งขันชิงแชมป์ประเทศไทยไปจนถึงระดับอาเซียน"
ศุภกิจ ด้วงเงิน อดีตนักกีฬาทีมชาติไทย
เริ่มต้นเล่าถึงจุดเริ่มต้นของเขากับกีฬาแล่นใบ ก่อนจะกลายเป็นครูฝึกในปัจจุบัน
ศุภกิจ
ด้วงเงิน
เขาเล่าถึงช่วงเริ่มต้นฝึกในวัยเด็กว่า
"สมัยก่อนค่าใช้จ่ายไม่สูงครับ มีหมวดเรือใบเยาวชนที่สัตหีบสนับสนุนตรงนี้อยู่
บ้านผมเองก็อยู่สัตหีบด้วย เรียกว่าอยู่กับทะเลมาตั้งแต่เด็ก
ตอนเริ่มหัดก็มีการล่มบ้าง เวลาหัดใหม่พอจังหวะลมเปลี่ยนเรือก็เอียง
ถ้าเราทรงตัวไม่อยู่ก็ล่ม เป็นประสบการณ์ครับ แต่ในหลักสูตรจะมีบอกว่าการกู้เรือ
ล่มเรือ อย่าตกใจ ให้ขึ้นมาจับแด็กเกอร์บอร์ด ฯลฯ"
"สิ่งที่ยากคือเทคนิค พอเราเล่นเป็นแล้วสักพัก
มันมีเทคนิคที่ต้องรู้ในเรื่องสปีดเรือ การคุม การสตาร์ท ในการแข่ง
ถ้าเราเริ่มต้นดีจะมีทางเลือกมาก จะบังคับไปทางซ้ายทางขวาก็ได้แล้วแต่เรา
แต่ถ้าเริ่มไม่ดีก็จะตกเป็นฝ่ายตามเขาอย่างเดียว โอกาสแซงจะยากมาก"
การแล่นเรือใบอาศัยพลังลม
ดังนั้นเรื่องศาสตร์ของลมจึงเข้ามาเกี่ยวข้องในการบังคับให้เรือวิ่งจากจุดหนึ่งไปอีกจุด
"ผมต้องเรียนทฤษฎีจากบนฝั่งก่อน แล้วถึงลงไปฝึกจริงในน้ำ คร่าวๆ
เรือใบมีการวิ่งสามแบบคือ ทวนลม (tacking) ตามลม และ ขวางลม
(Reaching) ลมที่เข้ามาจะทราบได้จากธงเล็กๆ ตรงหัวเสากระโดงเรือครับ"
นอกจากเรื่องทำความเข้าใจธรรมชาติของลมยังมีเรื่องของอุปกรณ์
ที่นักกีฬาต้องทำความรู้จักทุกชิ้นไม่ว่าจะเป็นใบเรือ ตัวเรือ และแด็กเกอร์บอร์ด (Dagger
Board) ถือเป็นไฟต์บังคับที่ผู้เรียนอย่างเขาจะต้องทำความรู้จักให้ถ่องแท้ตั้งแต่เริ่มฝึกแล่นเรือใบทีเดียว
เขาบอกเราว่าหลังจบหลักสูตรแล้ว
สิ่งที่สำคัญซึ่งครูไม่สามารถสอนได้คือ "ประสบการณ์"
ซึ่งนักกีฬาต้องหาเองจากการแข่งขันแล้วนำมาปรับปรุงขีดความสามารถต่อไป ศุภกิจก็เช่นเดียวกับนักกีฬาคนอื่นที่มีโอกาสไปแข่งขันตามสถานที่ต่างๆ
และได้ประสบการณ์มีค่ามานับไม่ถ้วน
"เคยไปแข่งสมัยก่อนก็อย่างรายการชิงแชมป์อินเตอร์เนชั่นแนล , ออปติมิสต์อาเซียน
หลายที่ครับ อุปสรรคที่เจอมากคือต่างประเทศคลื่นจะใหญ่ระยะห่างระหว่างคลื่นสั้น
ลมแรง ต่างจากเมืองไทยที่เราไม่ค่อยเจอลมแรง การไม่ชินสนามจึงเป็นปัญหา
อย่างที่เกาหลี เมืองปูซาน คลื่นสูง 2-3 เมตร
ตรงนี้สำคัญมากสำหรับนักกีฬาเรือใบบ้านเรา ถ้าจะสู้เขาได้ต้องออกไปเก็บตัวบ่อยๆ"
กีฬาแล่นใบเป็นที่นิยมในต่างประเทศมาเนิ่นนานแล้ว
อีกอย่างหนึ่งที่เขากล่าวถึงคือเรื่องความมุ่งมั่นในตัวนักกีฬา
"สิ่งที่เราต่างจากเมืองนอก คงเป็นแรงกระตุ้น คนไทยขาดตรงนี้
อาจจะเป็นจิตสำนึกส่วนตัว ฝรั่งเขากระตือรือร้นกว่าเรา คนไทยยังอ่อนซ้อม
ผมว่าถ้าแก้ตรงนี้ได้จะสู้ชาติอื่นๆ ได้สบาย"
สำหรับไทยเองนั้นก็ไม่มีทางเลือกในการคัดตัวนักกีฬามากนัก
เนื่องจากความนิยมเล่นกีฬาชนิดนี้จำกัดอยู่ในเฉพาะกลุ่มคน
บ้านเรายังมีคนสนใจกีฬาประเภทนี้น้อยมากทั้งๆ
ที่ไทยเคยส่งนักกีฬาเข้าแข่งขันในระดับต่างๆ ทั้งโอลิมปิกเกมส์ เอเชี่ยนเกมส์
ซีเกมส์ มาหลายปี แต่ถึงปัจจุบันกีฬาเรือใบก็ยังไม่สามารถบอกว่า "แพร่หลาย" ได้...
- 2 -
คำถามมีว่า ทำไมกีฬา "เรือใบ" จึงไม่แพร่หลายหรือได้รับความนิยม?
อาจมีคำตอบว่าเพราะ "เรือใบ" เข้าถึงยากในสายตาของคนทั่วไปพอๆ
กับกอล์ฟ ด้วยค่าใช้จ่ายสูงในเรื่องอุปกรณ์ ปัญหาสถานที่ฝึกซ้อม
รวมถึงการติดตามการแข่งขันสำหรับคนทั่วไปที่ไม่เข้าใจ ดูไม่รู้เรื่อง
เรียกว่าดูกอล์ฟยังง่ายกว่า
เพราะทีวีสามารถตามถ่ายทอดได้อย่างใกล้ชิดและมีคนพากย์อธิบายเป็นเรื่องเป็นราว
แต่ที่ต่างกันคือเรือใบไม่ทำลายธรรมชาติ ไม่ต้องไปตัดป่ามาทำสนาม
หรือผลาญทรัพยากรน้ำมหาศาลเลี้ยงหญ้า
เรือใบเป็นศาสตร์ที่ต้องอาศัยความเข้าใจในสภาพแวดล้อมดินฟ้าอากาศ
เป็นกีฬาที่ต้องปรับตัวโอนอ่อนตามธรรมชาติ
เพียงแต่จะเล่นได้ก็ในสถานที่เฉพาะอย่างลำธาร หนอง บึง ที่มีกระแสลมเอื้ออำนวย...
บรรยากาศการแล่นใบบนบึงน้ำของ สโมสรในหมู่บ้านเขตกรุงเทพฯ
และปริมณฑล
"ผมว่าตอนนี้เรามีตัวนักกีฬาน้อย สมาคมแข่งเรือใบฯ
ก็พยายามปั้นคนใหม่ขึ้นมา ที่นักกีฬามีน้อยส่วนหนึ่งเพราะเรื่องการดู การรับรู้
มันต่างจากฟุตบอลที่นั่งล้อมรอบอัฒจันทร์ดูได้ ในทะเลมองกันไม่เห็นเลย
คนดูมองจากฝั่ง นักกีฬาก็เล่นกัน ถึงเวลาก็สรุปผลเป็นตารางมา
นี่ก็เป็นปัญหาหนึ่งครับ แต่ช่วงหลังก็ดีขึ้นคนเริ่มสนใจ
มีสโมสรเปิดเพิ่มขึ้นหลายที่" ศุภกิจให้ความเห็น
"ถ้ามีเอาเฮลิคอปเตอร์ตามถ่ายก็ดีครับ (หัวเราะ)
แต่ผมว่าจะแก้ปัญหานี้จริงๆ คงต้องทำการสอนวิธีดูให้กับคนทั่วไป ว่าวิ่งแบบนี้
เข้าเส้นแบบนี้ ปัจจุบันเขาไม่รู้หรอก เรือใบเวลาแข่งต่างคนต่างวิ่ง ทะเลมันกว้าง
ต้องบอกวิธีดูเพื่อให้เข้าใจ เบื้องต้นคงจะต้องดูว่าใครอ้อมทุ่น สมมติวางทุ่น 1-3
จะดูว่าใครนำ ต้องดูคนอ้อมทุ่นแรกจะนำ ยอมรับว่ามันดูยาก
แต่ถ้าเป็นช่วงวิ่งลิสต์มามันจะเป็นเส้นตรง เราจะดูออกว่าใครนำ จับตรงนี้ก่อน
แล้วต่อไปเราจะตามถูก" เขายกตัวอย่าง
ส่วนในเรื่องราคาอุปกรณ์นั้น ในสมัยก่อน เฉพาะเสากระโดงเรือ ใบเรือ
ก็อาจต้องใช้เงินแสนในการซื้อหา อีกทั้งถ้าเรือที่ต่ออย่างดีก็จะมีราคามากกว่าปกติ
เพราะวัสดุส่วนใหญ่สั่งจากต่างประเทศ และสาเหตุที่ต้องสั่ง
ก็เพราะบ้านเราไม่มีการผลิตจริงจังอันเนื่องจากมีผู้เล่นกีฬาประเภทนี้น้อย
นั่นย่อมหมายถึงคนซื้อก็น้อย จึงไม่มีใครกล้าลงทุน
"อุปกรณ์บ้านเรายังสู้ต่างประเทศไม่ได้
สิงคโปร์ใกล้บ้านเราแค่นี้เรือของเขาคนละเรื่องกับเราเลย และมีจำนวนถึง 200-300 ลำ
ลงกันทีเยอะ ของบ้านเรามี 40-50 ลำ เรือประเภท 0049 หรือลำใหม่ๆ
นี่เขาเล่นกันมานานแล้ว แต่บ้านเรายังไม่ได้สัมผัสเลย" ศุภกิจกล่าวถึงเรื่องอุปกรณ์ประกอบเรือในปัจจุบันต่อไปว่า
"ตอนนี้เราผลิตได้เองบ้าง อย่างเรือออปติมิสตัวเรือเราทำได้ แต่เสา ใบ
ยังต้องนำเข้า ก็มีคนเริ่มผลิตอยู่ครับ จริงๆ อยากให้ทำในไทยทั้งหมด
ซึ่งความจริงเรือใบมันจะมีการพัฒนาตัวเองขึ้นไปเรื่อยๆ อย่างออปติมิสต์
ไทยมีรุ่นหนึ่งก็ถือว่าใหม่แล้วครับ"
ปัจจุบันก็มีความพยายามดังกล่าวในส่วนของภาคเอกชนในการลดต้นทุนเรื่องอุปกรณ์ลงให้ได้มากที่สุด
เช่นตอนนี้ก็มีเรือของบริษัทจอย สปอร์ต จำกัด ที่นำเรือใบแบบฟูลออปชันเข้ามาขายในราคาที่ลดลง
(ถึงแม้จะยังแพงสำหรับคนทั่วไป)
ก็นับว่าลดลงมาจากอดีตมากคือระดับหนึ่งแสนบาทได้ของครบ จากเมื่อก่อนหลายแสน
กีฬาเรือใบบ้านเราอาจยังต้องอาศัยเวลาพัฒนาต่อไปอีกสักพัก
ทั้งด้านการสร้างนักกีฬา การสร้างความแพร่หลาย รวมไปถึงการลดต้นทุน
ซึ่งก็เชื่อว่าคงไม่ยากเกินความสามารถ....
เพราะต้องไม่ลืมว่า เมื่อ 38 ปีก่อน มีนักกีฬาไทยถึง 2
ท่านสร้างความเกรียงไกรมาแล้วในระดับอาเซียน
ทั้งที่ช่วงนั้นบ้านเราอาจจะเรียกได้ว่า "ไม่พร้อม"
ในกีฬาชนิดนี้มากกว่าปัจจุบันหลายเท่า
นักกีฬาคนนั้นคือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ
เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญาฯ ทั้งสองพระองค์ทรงประสบความสำเร็จในกีฬาแหลมทอง ครั้งที่
4
(ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น "ซีเกมส์")
ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ เมื่อวันที่
16 ธันวาคม พ.ศ. 2510
เหรียญทองเหรียญนั้นนับเป็นเกียรติยศกับประเทศไทย เพราะเกิดจากฝีพระหัตถ์ล้วนๆ
โดยสองพระองค์ทรงครองเหรียญทองร่วมกันในการแข่งเรือใบแบบ โอ.เค.(O.K.)
โดยมีนักกีฬาจากพม่า และสิงคโปร์ได้เหรียญเงินและเหรียญทองแดงตามลำดับ
มีบันทึกใน "หนังสือที่ระลึก เนื่องในพิธีเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด
'ศูนย์สมุทรกีฬา' ถนนเลียบชายทะเลกองเรือยุทธการสัตหีบชลบุรี วันศุกร์ที่ 13
พฤศจิกายน พ.ศ.2541"
โดยสรุปว่าครั้งนั้นทรงตั้งโรงงานต่อเรือและสร้างเรือใบแข่งขันขึ้นหลายลำ
โดยเฉพาะเรือชื่อว่า "นวฤกษ์"
ที่ทรงนำเข้าแข่งในกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4
และยังมีเรือที่ทรงต่อขึ้นด้วยพระหัตถ์ทุกขั้นตอนแล้วพระราชทานชื่อภายหลังว่า "ซูเปอร์มด"
ซึ่งต่อมาได้รับความนิยมในหมู่นักกีฬาเรือใบทั่วไปอย่างมาก
ครั้งหนึ่งในหลวงทรงปรารภถึงปัญหาของกีฬาประเภทนี้และทางแก้ว่า
"ผู้แล่นเรือใบควรจะต่อเรือใบเองเพื่อเป็นการประหยัด
และทำให้กีฬาเรือใบแพร่หลายทั่วไปได้
คนที่มีรายได้ทุกระดับที่อยู่ตามชายฝั่งทะเลพอจะเล่นได้
การนำเอาเรือใบมาเป็นกีฬาจะไม่ถือว่าเป็นการสร้างชนชั้น
การแล่นเรือใบดูจะเป็นกิจกรรมของคนมีเงินและมีเวลา
เนื่องจากต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซื้ออุปกรณ์ที่แพง
และเสียเงินค่าเดินทางไปเล่นตามชายทะเล
ซึ่งในที่นี้ส่วนใหญ่จะต้องมีรถเอง ต้องเสียค่าสมาชิกสโมสร
ค่าที่พักและอื่นๆ อีกมากมาย แล้วยังต้องเสียเวลาเดินทาง
เสียเวลาในการแต่งเรือหรือเตรียมเรือ ซึ่งเวลาแล่นต้องใช้เวลามาก
เมื่อแล่นแล้วต้องเก็บรักษาดูแล
เพราะหากไม่มีคนช่วยหรือมีลูกมือแล้วจะต้องเสียเวลามาก
ซึ่งกิจกรรมเสียเงินเสียเวลานั้น ในปัจจุบันนี้ยังเป็นเช่นนั้นอยู่"
ในตอนนี้แม้ปัญหาบางข้อได้ลดลง
แต่บางอย่างก็ยังคงอยู่เป็นอุปสรรคสำหรับคนอยากเล่นกีฬานี้
โดยเฉพาะผู้ไม่มีสตางค์แต่อยากเรียนรู้กีฬาเรือใบในระดับมาตรฐานและก้าวสู่การแข่งขัน
ซึ่งส่วนมากมักจะมีเปิดสอนในสโมสรต่างๆ
ซึ่งต้องใช้เงินหลักพันหลักหมื่นขึ้นไปในการเล่าเรียนแต่ละครั้ง
(ปัจจุบันเข้าใจว่ามีบางแห่งที่ราคาอยู่ในระดับที่คนทั่วไปเข้าไปสัมผัสได้แล้ว
แต่ยังมีจำนวนน้อย)
วิโรจน์
เอี่ยมสถาพร
วิโรจน์ เอี่ยมสถาพร
ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ก่อตั้งศูนย์กีฬาเรือใบวายุของหมู่บ้านนิชดาธานีที่เพิ่งเปิดตัวได้ไม่นาน
กล่าวถึงเรื่องนี้ว่ารัฐบาลน่าจะลองบรรจุเป็นวิชาทางเลือกระดับมหาวิทยาลัยที่พร้อม
ในต่างประเทศกีฬาแล่นเรือใบยังถือเป็นกิจกรรมสันทนาการปกติในครอบครัวและเพื่อนฝูง
"รัฐบาลสิงคโปร์สนับสนุนกีฬาชนิดนี้มากครับ
เขาบรรจุกีฬาประเภทนี้เป็นทางเลือกในหลักสูตรการเรียนด้วย...ไม่จำเป็นต้องเป็นซูเปอร์มด
อะไรก็ได้ อย่างการแข่งขันภูเก็ตคิงส์คัพมีเรือยอชต์ของคนไทยลงลำเดียว ทั้งๆ
ที่ควรจะเป็นคนไทยซึ่งได้ถ้วย เราจึงน่าจะฝึกเด็กรุ่นใหม่
ปัจจุบันรัฐบาลช่วยมากแล้วครับในเรื่องภาษี"
ในต่างประเทศกีฬาแล่นเรือใบยังถือเป็นกิจกรรมสันทนาการปกติในครอบครัวและเพื่อนฝูง
เขายังแสดงความกังวลต่อไปว่า "แต่เรือเรายังนำเข้ามาน้อย
ถ้าจะสนับสนุนจริงๆ ถามว่ามีเรือเล่นไหม ก็ยังไม่มีอยู่ดี
ถามว่าจะเอาเงินมาจ่ายค่าเรือก็ยาก"
ดังนั้น "เรือใบ" ในบ้านเราอาจยังต้องรออีกสักพักจริงๆ กว่าจะ "บูม"
เป็นเรื่องเป็นราว...
กำเนิดของ "เรือใบ"
กีฬาหลายชนิดในโลกนี้ส่วนมากมีจุดเริ่มต้นและพัฒนาจากการหากินในชีวิตประจำวันของผู้คนจากกลุ่มหนึ่งแพร่หลายไปอีกกลุ่มหนึ่งด้วยการเดินทางหรือการค้า
จะว่าไปแล้วกีฬาเรือใบก็มาจากจุดนี้เช่นกัน
เพราะในอดีตมนุษย์ก็ไม่มีเรือติดเครื่องยนต์ แต่เดินทางไปมาหาสู่ติดต่อดินแดนต่างๆ
อีกฝั่งทะเลด้วย "เรือใบ" "เรือสำเภา" ซึ่งเป็นการอาศัยธรรมชาติทั้งสิ้น
กีฬาเรือใบ (Yachting)
ที่มีจุดประสงค์เพื่อการสันทนาการจริงๆ กำเนิดใน ฮอลแลนด์
ถูกแนะนำโดยพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 พระองค์นำกีฬานี้เข้าไปยังเกาะอังกฤษเมื่อปี
พ.ศ.2203 (ตรงกับกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง)
แต่สโมสรเรือใบที่ก่อตั้งแห่งแรกไม่ได้อยู่อังกฤษ กลับไปอยู่ในเกาะไอร์แลนด์คือ
"สโมสรคอร์คฮาร์เบอร์" (Cork Harbour พ.ศ. 2263) ขณะที่อีกฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก
สโมสรเรือใบนิวยอร์ก (New York Yacht Club) ได้ถูกก่อตั้งขึ้นตามมา
ที่อเมริกานี่เอง
การแข่งขันเรือใบแห่งชาติมีเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2394 จากอเมริกาไปอังกฤษ
สมาชิกของสโมสรเรือใบนิวยอร์กได้สร้างเรือยาว 101 ฟุต เข้าแข่งและชนะถ้วย "ฮันเดรด
กีนเนีย คัพ" (Hundred Guinea Cup)
ต่อมาประเทศในยุโรปและสหรัฐก็มีการแข่งขันเพื่อชิงชนะถ้วยต่างๆ อย่างคึกคัก เช่น
อเมริกาคัพ (America's Cup) แคนาดาคัพ (Canada's Cup) สแกนดิเนเวียนโกลด์คัพ (Scandinavian
Gold Cup)
ในที่สุดกีฬาเรือใบจึงถูกบรรจุลงในการแข่งขันทุกระดับ เช่น
การแข่งขันกีฬาแหลมทอง (ต่อมาคือซีเกมส์) เอเชียนเกมส์ และโอลิมปิกเกมส์จนถึงปัจจุบัน
ประเทศไทยมีการก่อตั้งสมาคมแข่งเรือใบแห่งประเทศไทยฯ ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ
พ.ศ.2507 โดย พลเรือโทศิริ กระจ่างเนตร
เป็นผู้ริเริ่ม
และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณฯ รับสมาคมฯ
ให้อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์เมื่อ พ.ศ. 2530 ปัจจุบันมีที่ทำการสองแห่งคือ
อาคาร 5 กองบัญชาการกองทัพเรือ พระราชวังเดิม ถนนอรุณอัมรินทร์ เขตบางกอกใหญ่
กรุงเทพฯ และสำนักงานส่วนแยกสัตหีบ อาคารสมุทรกีฬา ตำบลสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จ.ชลบุรี
และเข้าร่วมการแข่งขันเรือใบครั้งแรกในกีฬาโอลิมปิกครั้งที่ 16 ที่ออสเตรเลีย
ประเภทของเรือใบที่ใช้แข่งขันในปัจจุบัน
สามารถแบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ 2 ประเภท คือ
คีลโบ๊ต (Keel Boat) ออกแบบสร้างกระดูกงูติดใต้ท้องเรือถาวร
ส่วนใหญ่เป็นเรือขนาดใหญ่และมักจะไม่ได้บรรจุไว้ในการแข่งขันเป็นประจำ
จำนวนผู้เล่นเรือจะมี 4 คนขึ้นไป
บรรยากาศการแล่นใบบนบึงน้ำของสโมสรในหมู่บ้านเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล
ดิงกี้ (Dinghy)
ออกแบบให้กระดูกงูยกขึ้นยกลงได้ เรือประเภทนี้จะเป็นเรือขนาดเล็ก
มีทั้งชนิดใบเดี่ยว (ผู้เล่นคนเดียว) และ 2 ใบ (ผู้เล่น 2 คน) นิยมเล่นแพร่หลาย
ได้รับการบรรจุในการแข่งขันระดับต่างๆ เช่น โอลิมปิก เอเชียนเกมส์ และซีเกมส์
เรือประเภทนี้มีหลายแบบ แต่ที่นิยมเล่นกันมากในประเทศไทยก็เช่น
ออปติมิสต์ (Optimist) , ซูเปอร์มด (Super Mod) ,โอเค (OK) ,
เลเซอร์ (Laser) , เอนเตอร์ไพรส์ (Enterprise) ,ไฟร์บอลล์ (Fireball)
เป็นต้น
* ขอขอบคุณศูนย์กีฬาเรือใบวายุ (Vayu Sailing Center)
หมู่บ้านนิชดาธานี ถ.สามัคคี อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี
(ทางสโมสรมีสถานที่เหมาะสมสำหรับฝึกเรือใบขนาดเล็ก)
*ภาพประกอบบางส่วนจากศูนย์กีฬาเรือใบวายุ
MarinerThai.Net | |
MarinerThai.Com