Menuleft - MarinerThai.Net

หน้าแรก

เว็บบอร์ดชาวเรือ

สารบัญเว็บไซด์ชาวเรือ

เอกสารน่าอ่านไทย

เอกสารน่าอ่านอังกฤษ

สาระไอทีชาวเรือ

แหล่งคนหางานเรือไทย

บทความจากสมาชิก

นิทานชาวเรือ

คนเรือหัวหมอ

คู่มือปฏิบัติงานเรือ

ระบบสื่อสาร-เดินเรือ

พจนานุกรมศัพท์ทางเรือ

ความหมายคำย่อทางเรือ

ข่าวอัพเดทรายวัน

ข่าวสดราคาน้ำมันโลก

รวมข่าวโจรสลัด

รวมข่าวอุบัติเหตุทางเรือ

สนับสนุนเว็บเรา

สถิติผู้เข้าชมเว็บนี้

ติดต่อเรา

เปิดเว็บ 1 ตุลาคม 2545

 

ขณะนี้เวลา | Your Time
10:46:33

Nathalin Group

MarinerThai 2004

TOP Enginerring Group

 

 
 
 

 

 

TOP Engineering Group - VTOL UAV Thailand

Advertising in marinerthai.net FB MarinerThai News

พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตกเป็นข่าว เรื่องเรือกลไฟลำแรกของสยาม

พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตกเป็นข่าว เรื่องเรือกลไฟลำแรกของสยาม


บทความจาก วารสารศิลปวัฒนธรรม วันที่ 01 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 ปีที่ 26 ฉบับที่ 09

วิลาส นิรันดร์สุขศิริ

 

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๒ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ชื่อเสียงของพระองค์เป็นที่เลื่องลือกันไปทั่ว ทั้งในหมู่ชนชาวสยามและชาวต่างประเทศ ความสามารถในด้านวิทยาศาสตร์การทหารเป็นความสามารถหนึ่งในหลายด้านที่ฝรั่งในครั้งนั้นทึ่งกันน่าดู เฟรเดอริก อาร์เธอร์ นีล (Frederick Arthur Neale) บันทึกเรื่องของพระองค์ไว้อย่างยกย่องในหนังสือ Narrative of a Residence in Siam ของเขา ส่วนแอนนา ลีโอโนเวนส์ เองก็ยังบรรยาย (หรือลอกมาบรรยาย แล้วแต่ใครจะเชื่อ) ถึงพระองค์ไว้เกินครึ่งเรื่องในบทความตอนที่ ๒ ของ The English Governess at the Siamese Court ซึ่งลงพิมพ์ใน Atlantic Monthly ปี ค.ศ. ๑๘๗๐ (พ.ศ. ๒๔๑๓) แถมยังเล่าถึงสาเหตุการสิ้นพระชนม์ ซึ่งเธอ (อ้างว่า) ได้ยินมาจากนางในวังว่า เกิดจากการแอบวางเสน่ห์ยาแฝดโดยนางในชื่อกลีบ บันทึกของแอนนาบอกว่าเมื่อความแตก นางกลีบและผู้ร่วมรู้เห็นถูกทรมานและจับเดินประจาน ก่อนปล่อยไปกับเรือให้ล่องลอยไปตามชะตากรรมในอ่าวไทย แต่หนังสือกษัตริย์วังหน้า ของอาจารย์ ส. พลายน้อย ซึ่งอ้างอิงจากพระราชพงศาวดารบอกว่า นางกลีบถูกเนรเทศให้ไปอยู่ที่เมืองสุโขทัย

 

 

เรื่องที่ขอนำมาเล่าสู่กันฟังต่อไปนี้ไม่ใช่เรื่องสาเหตุการสิ้นพระชนม์ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่เป็นเกร็ดประวัติศาสตร์เกี่ยวกับพระองค์ และการสร้างเรือกลไฟเป็นครั้งแรกในสยาม ซึ่งลงพิมพ์ในหน้าหนังสือพิมพ์ฝรั่งครั้งนั้น แรกทีเดียวหนังสือพิมพ์ Singapore Free Press ตีพิมพ์เรื่องการสร้างเรือที่ขับเคลื่อนด้วยพลังไอน้ำ (ต่อมาเรียกว่า เรือกลไฟ) แล้ววารสาร Scientific American ก็คัดข่าวไปลงอีกทอดหนึ่ง แต่เรื่องไม่จบลงเพียงเท่านั้น เพราะมิชชันนารีผู้หนึ่งซึ่งพำนักอยู่ในสยามเกิดร้อนใจจนต้องเขียนจดหมายไปถึงบรรณาธิการของวารสารดังกล่าวเพื่อระบายความในใจที่บทบาทของตนเกี่ยวกับเรื่องนี้ถูกมองข้ามไป

 

แต่ก่อนที่จะเล่าเรื่องข่าวทั้งสองในรายละเอียด ก็ขอเล่าคร่าวๆ เกี่ยวกับความเป็นมาของเรือกลไฟในประเทศไทยเสียก่อนจะได้มีภูมิหลัง

 

เรือกลไฟ หรือเรือกำปั่นไฟ เป็นเรือที่ใช้เครื่องจักรพลังไอน้ำในการขับเคลื่อน แทนการใช้ใบและแรงลม เรือกลไฟลำแรกที่เข้ามาแล่นอวดโฉมให้ชาวสยามในบางกอกได้ตื่นตาตื่นใจกันว่า "เหล็กลอยน้ำได้" นั้น คือเรือกลไฟชื่อ "เอ็กสเปรส" (Express) ภายใต้การบัญชาการของกัปตันปีเตอร์ บราวน์ (Peter Brown) ข้อมูลเรื่องวันที่ที่เรือลำนี้มาถึงเมืองบางกอกนั้น ไม่ค่อยตรงกันนัก แต่ที่แน่ๆ คืออยู่ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว หนังสือ Siam Then (หรือพากย์ไทยว่า "สยามแต่ปางก่อน") บอกว่าเรือมาถึงในวันที่ ๑๑ มกราคม ค.ศ. ๑๘๔๔ (พ.ศ. ๒๓๘๗) ส่วนนางลูเซีย ฮันต์ เฮเมนเวย์ (Lucia Hunt Hemenway) ภรรยาของบาทหลวงอาสา เฮเมนเวย์ (Asa Hemenway) เขียนไว้ในบันทึกของเธอ ลงวันที่ ๙ มกราคม ปีเดียวกัน โดยพาดพิงถึงเรื่องนี้ แต่ไม่เล่ารายละเอียดอื่นใดว่า "เรือกลไฟลำหนึ่งจากอังกฤษมาถึงแล้ว เรือกลไฟลำนี้เข้ามาถึงแม่น้ำ เป็นลำแรกที่มาถึงที่นี่ เจ้าของคาดว่าพระเจ้าแผ่นดินจะซื้อไว้ แต่ก็ยังไม่แน่นอนนักว่าพระองค์จะทรงซื้อ" นางไม่ได้บอกว่าเจ้าของคือใคร แต่เดี๋ยวผมจะบอกให้ทราบ

 

 

ผมพยายามสืบหาเรื่องราวเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรือลำนี้ โดยเฉพาะรูป แต่เท่าที่หาพบ ก็ได้ความแต่เพียงว่า บันทึกปูมเดินเรือในช่วงนั้น ระบุถึงเรือชื่อเอ็กสเปรสที่แล่นออกจากเมืองท่าลิเวอร์พูล ในวันที่ ๑๒ สิงหาคม ค.ศ. ๑๘๔๓ (พ.ศ. ๒๓๘๖) และมาถึงสิงคโปร์เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ผมคิดว่าน่าจะเป็นเรือลำเดียวกัน นอกจากนี้แล้วก็พบจดหมายข่าวของมิชชันนารีในสยาม ที่ลงเรื่องเกี่ยวกับเรือลำนี้ไว้ในส่วนที่เป็นปัจฉิมลิขิต จดหมายข่าวดังกล่าวเป็นฉบับประจำวันที่ ๑๑ มกราคม ค.ศ. ๑๘๔๔ (พ.ศ. ๒๓๘๗) เล่าเรื่องเรือลำนี้ไว้อย่างค่อนข้างน่าสนใจ และสนับสนุนเนื้อหาในหนังสือ Siam Then เกี่ยวกับวันที่เรือมาถึง ตอนท้ายของปัจฉิมลิขิตนี้ มีข้อความที่อ่านแล้วอดขำในความช่างแขวะของบาทหลวงฝรั่งที่เขียนเรื่องนี้ไม่ได้ การแขวะศาสนาพุทธโดยมิชชันนารีฝรั่งในครั้งนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลกหูแต่อย่างใด และเป็นเรื่องทำนองขี้แพ้ชวนตีเสียมาก

 

"เหตุการณ์แปลกใหม่อย่างยิ่งสำหรับประเทศสยามเพิ่งเกิดขึ้น ประมาณ ๙ โมงเช้าวันนี้ เรือกลไฟของอังกฤษชื่อ เอ็กสเปรส โดยกัปตัน พี บราวน์ เดินทางขึ้นแม่น้ำมา ความใหญ่โตโอฬารของเรือสร้างความโกลาหลให้แก่เรือลำเล็กลำน้อยในแม่น้ำนี้อย่างมาก ส่วนพละกำลังของเรือก็ทำให้ชาวบ้านนับพันพากันแตกตื่น บางกอกไม่เคยเห็นภาพเช่นนี้มาก่อน พระเจ้ากรุงสยามทรงเป็นราวปักษีน้อยในกรงทอง๑ เราเกรงว่าพระองค์ยังไม่ทรงเห็นสิ่งมหัศจรรย์นี้ แม้ว่าเรือได้แล่นผ่านหน้าพระบรมมหาราชวัง และเลี้ยวกลับหลังอวดตัวเสร็จแล้ว บรรดาเชื้อพระวงศ์ ขุนนางและข้าราชการของรัฐบาล ต่างรู้สึกทึ่งกันทั่วหน้า และกล่าวกันว่า "เรือลำนี้เป็นที่สุดของหัวใจของพวกเขา" อันเป็นการแสดงออกที่มีความหมายเหมือนกับที่ราชินีแห่งชีบาทรงรู้สึก เมื่อพระนางทรงเห็นชัยชนะของโซโลมอน และว่ากันว่า "ไม่มีจิตวิญญาณอื่นใดเหลืออยู่ในพระวรกายของนางแล้ว" พระคลัง๒ ทรงกล่าวว่า เรือลำนี้เป็นฝีมือของทวยเทพ หาใช่มนุษย์ไม่ เป็นที่หวังกันอย่างที่สุดว่า พระมหากษัตริย์จะทรงแหวกม่านประเพณีหลวงเพื่อการนี้สักครั้ง และเสด็จไปบนเรือเพื่อทอดพระเนตรด้วยพระองค์เอง เรือเอ็กสเปรสได้รับการซ่อมแซมและนำมาสู่สยาม ตามพระราชปรารภของพระองค์ที่มีพระราชประสงค์ที่จะซื้อเรือเช่นนี้ แต่เรือลำนี้ก็ก้าวหน้าเกินกว่าสติปัญญาและทักษะของชาวสยามเหลือเกิน จึงมีโอกาสเสี่ยงที่พระองค์อาจทรงเบี่ยงบ่ายหลีกเลี่ยงจากข้อตกลงที่ได้ไตร่ตรองไว้ก่อนหน้านี้ เหนือสิ่งอื่นใดทั้งหมด พระองค์ทรงอุทิศตนเพื่อพระราชกรณียกิจในการสร้างและตกแต่งวัดวาอาราม และอาจทรงเห็นว่าเรือลำนี้มีราคาแพงเกินไป สู้เอาไปบำรุงพระเจ้าที่ไร้ความหมายของพระองค์ไม่ได้ เราเชื่อว่าพระผู้เป็นเจ้าของเราจะทรงใช้เหตุการณ์นี้เพื่อแผ้วถางทางให้พระองค์เข้าสู่จิตใจของผู้คนเหล่านี้ แต่ก็ไม่มีสิ่งใดที่สร้างขึ้นจากสติปัญญาและอำนาจของมนุษย์ที่จะเปลี่ยนวิญญาณของผู้คนเหล่านี้ให้หันเข้าหาพระคริสต์ได้ เว้นแต่พระวรสารเท่านั้น"

 

เหนือข้อความข้างต้น มีข้อความ ๒ ประโยคที่เขียนด้วยมือ ใจความว่า "พระเจ้าแผ่นดินทรงเป็นผู้สั่งเรือลำนี้แต่พระองค์ทรงปฏิเสธที่จะรับซื้อไว้ เรือจะไปสิงคโปร์พรุ่งนี้"

 

ผู้ที่นำเรือเอ็กสเปรสเข้ามา ไม่ใช่ใครอื่นที่ไหน แต่คือ "โรเบิร์ต ฮันเตอร์" หรือนายหันแตรนั่นเอง เรือลำนี้เข้ามาพร้อมปืนอีก ๒๐๐ กระบอก ตามใบสั่งซื้อของรัฐบาลสยาม เพื่อใช้ป้องกันประเทศจากโคชินไชนา ความที่เรือและปืนมาถึงช้ากว่ากำหนด รัฐบาลสยามไม่ต้องการตกที่นั่งลำบากหากต้องรบพุ่งกับประเทศเพื่อนบ้านจริง จึงตกลงซื้อปืนใหญ่จำนวนมากกว่า ๑๐๐ กระบอกไว้ก่อน เพื่อความอุ่นใจและเป็นการกันไว้ดีกว่าแก้ ไม่ได้ซื้อจากใครอื่นที่ไหนนอกจากนายฮันเตอร์อีกเหมือนกัน เมื่อเรือและปืนมาถึงในเดือนมกราคม วิกฤตการณ์ที่มีต่อโคชินไชนาได้ลดความรุนแรงลง แต่นายฮันเตอร์ก็ยืนกรานให้รัฐบาลจ่ายค่าปืน ๒๐๐ กระบอกนั้นตามข้อตกลงแต่แรก ความบาดหมางระหว่างพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวกับนายฮันเตอร์ ซึ่งมีอยู่บ้างแล้ว จึงพุ่งพรวดขึ้น และมิได้จบลงเพียงเท่านั้น พระองค์ทรงเห็นว่าราคาค่าเรือ ๕๐,๐๐๐ เหรียญสหรัฐ ที่ตกลงกันไว้นั้น สูงเกินไปสำหรับเรือเก่าที่สนิมกินแล้ว นายฮันเตอร์รู้สึกโกรธเกรี้ยวจนถึงกับขู่ว่าจะยิงลูกระเบิดถล่มพระราชวัง

 

 

สองสามวันต่อมา นายฮันเตอร์ขออนุญาตยิงสลุตเพื่อฉลองวันเกิดของกัปตันบราวน์ แต่รัฐบาลปฏิเสธด้วยเกรงว่าอาจเป็นอุบายที่นายฮันเตอร์ใช้เพื่อยิงลูกระเบิดตามคำขู่ นอกจากนี้ยังให้เจ้าฟ้าพระองค์หนึ่งเชิญให้นายฮันเตอร์และกัปตันบราวน์เข้าวังเพื่อสะสางเงินในบัญชี เมื่อทั้งคู่ไปถึงพระบรมมหาราชวัง ก็ได้รับคำแจ้งว่า ทั้งสองอยู่ในฐานะนักโทษจนกว่าจะส่งมอบดินปืนที่มีอยู่ในความครอบครองทั้งหมดให้รัฐบาลเสียก่อน หลังจากถูกกักขังตั้งแต่เจ็ดโมงเช้าถึงห้าโมงเย็นโดยไม่มีวี่แววว่าจะได้รับการปลดปล่อย นายฮันเตอร์ และ กัปตันบราวน์จึงยอมจำนนตามคำเรียกร้อง

 

เรื่องนี้คงทำให้นายฮันเตอร์เป็นเดือดเป็นแค้นจนถึงกับออกปากขู่อีกว่าจะขายเรือดังกล่าวให้แก่รัฐบาลของโคชินไชนา ถ้อยคำเช่นนี้นี่เองที่เป็นเหตุให้นายฮันเตอร์ถูกเนรเทศออกจากประเทศ เขาต้องมอบธุรกิจที่มีอยู่ในสยามให้ผู้ช่วยของตนจัดการแทน และเดินทางไปเลียแผลที่สิงคโปร์...ด้วยเรือกลไฟที่ชื่อ "เอ็กสเปรส" นั่นเอง

 

บันทึกประจำวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๔๔ (พ.ศ. ๒๓๘๗) ของนางเฮเมนเวย์ มีสาระอย่างเดียวเท่านั้นและยืนยันการเดินทางของนายฮันเตอร์ไปสิงคโปร์ ดังนี้ "เรือกลไฟลำนั้นจากไปแล้ว โดยนำคุณบิวเอล (Buel) กับภรรยา และคุณฮันเตอร์ไปด้วย ฉันหวังให้พวกเขาเดินทางโดยสวัสดิภาพและถึงสิงคโปร์อย่างปลอดภัย" อย่างไรก็ตามนายฮันเตอร์ก็ได้เดินทางกลับมาสยามอีก บันทึกของนางเฮเมนเวย์ประจำวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๔๔ (พ.ศ. ๒๓๘๗) มีใจความประโยคหนึ่งว่า "ฮันเตอร์กลับมาจากสิงคโปร์" การกลับมาครั้งนี้ (ข้อมูลบางแหล่งบอกว่ากลับเข้ามามากกว่า ๑ ครั้ง) คงเป็นการกลับมาเพื่อขนสัมภาระหรือจัดการธุรกิจต่างๆ ของตนให้เสร็จเรียบร้อยก่อนจากไปอย่างถาวร เพราะนายฮันเตอร์ไม่ได้ย่างเท้าลงสู่แผ่นดินสยามอีกตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิต ทั้งๆ ที่ใจปรารถนา

 

ในภายหลังจึงเป็นที่ทราบกันว่า นายฮันเตอร์มิได้ขู่ด้วยปากเท่านั้น เขาได้ขายเรือ "เอ็กสเปรส" และปืนทั้งหมดให้แก่รัฐบาลของโคชินไชนาไปจริง ในราคาที่เขาเรียกร้องจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสียด้วย

 

เมื่อนายฮันเตอร์จากไป ความหวังที่จะมีเรือกลไฟไว้ใช้ในสยามก็จางหายไปด้วย แต่เรือ "เอ็กสเปรส" ก็เป็นแรงดลใจให้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งในขณะนั้นทรงดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ทรงสร้างเรือกลไฟขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศ เว็บไซต์ของมูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม กล่าวถึงพระราชกิจจานุกิจของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวไว้ตอนหนึ่งว่า "และได้ทรงร่วมกับ Rev. J.H. Chandler สร้างเรือขับเคลื่อนด้วยเครื่องจักรไอน้ำ ที่ต่อมาเรียกว่า "เรือกลไฟ" หรือ "เรือไฟ" เป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยได้ทรงทดลองแล่นในแม่น้ำเจ้าพระยา" เรื่องนี้ดูเหมือนสอดคล้องกันดีกับเรื่องเกี่ยวกับพระราชกิจจานุกิจของพระองค์ที่ปรากฏในเว็บไซต์ของโรงเรียนช่างฝีมือทหาร ที่ว่า "ปี พ.ศ. ๒๓๙๐ (ค.ศ. ๑๘๔๗) ทรงสร้างเรือกลไฟขึ้นเป็นลำแรกของประเทศไทย จนกระทั่งหนังสือพิมพ์ต่างประเทศที่มีชื่อเสียงชั้นนำของโลกชื่อว่า "The New York Tribune"๓ ได้นำเรื่องราวเกี่ยวกับพระปรีชาสามารถของพระองค์ไปลงพิมพ์เป็นการสดุดี"

 

เรือกลไฟลำแรกที่กล่าวถึงนี้ เป็นเรือแบบมีล้อใบพัดน้ำด้านข้าง ขนาดประมาณ ๒๐ กว่าฟุต จึงจัดว่าเป็นเรือต้นแบบมากกว่าที่จะเป็นเรือซึ่งนำมาใช้งานอย่างจริงจัง ระยะเวลาที่ใช้ในการสร้างนั้นนานกว่าเนื้อหาในเว็บไซต์ของโรงเรียนช่างฝีมือทหาร ซึ่งอ่านดูแล้วเหมือนกับว่าทรงเริ่มสร้างและสร้างเสร็จในปีนั้น ที่จริงแล้วหากนับจากวันที่เริ่มต้นสั่งซื้อเครื่องยนต์และอื่นๆ ก็อาจกล่าวได้ว่าทรงใช้เวลาถึง ๔ ปีกว่าจะเสร็จ ไม่ทราบว่าเป็นความประสงค์หรือเหตุบังเอิญกันแน่ที่เรือลำนี้ออกแล่นอวดโฉมในแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม อันเป็นวันชาติสหรัฐพอดี

 

 

ข้อมูลส่วนใหญ่ที่ค้นพบมองข้ามเรือกลไฟลำแรกที่ว่านี้ แล้วจัดให้เรือพระที่นั่งสยามอรสุมพลเป็นเรือกลไฟลำแรกที่คนไทยต่อขึ้นใช้ได้เอง เรือพระที่นั่งลำนี้มีความยาว ๗๕ ฟุต และความกว้าง ๒๐ ฟุต โดยต่อตัวเรือกันที่อู่ตรงข้ามท่าราชวรดิฐ ส่วนเครื่องจักรกำลัง ๑๕ แรงม้านั้น สั่งซื้อมาจากเมืองนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เรือลำนี้สร้างเสร็จและขึ้นระวางประจำการเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๘ (ค.ศ. ๑๘๕๕) เว็บไซต์ของกองทัพเรือจัดให้เป็นเรือรบในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะที่หนังสือของอาจารย์ ส. พลายน้อย เห็นว่าควรเป็นเรือกลไฟธรรมดา ไม่ใช่เรือรบ เพราะไม่มีปืนใหญ่

 

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อครั้งยังทรงพระยศเป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ ทรงกล่าวถึงเรื่องการสร้างเรือกลไฟในหนังสือตำนานเรือรบไทยว่า (คัดลอกมาโดยไม่เปลี่ยนตัวสะกด) "เรื่องต่อเรือกลไฟในประเทศนี้ มีปรากฏในจดหมายเหตุของพวกมิชชันนารีอเมริกัน กล่าวว่าพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังเปนสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ได้หมอจันดเลเปนผู้ช่วย ทรงพยายามทำหม้อและเครื่องจักรต่อเรือกลไฟขึ้นได้ลำ ๑ เมื่อรัชกาลที่ ๓ แต่ว่าเปนเรือพอแล่นได้ จะใช้การหาได้ไม่ ถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์สั่งเครื่องจักรกลไฟมาแต่เมืองอังกฤษ มาต่อเรือขึ้นในกรุงเทพฯ เมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๙๘ เปนเรือจักรข้าง ยาว ๗๕ ฟุต พระราชทานชื่อว่า เรือสยามอรสุมพล นับเปนเรือกลไฟลำแรกซึ่งมีขึ้นในประเทศนี้"

 

บันทึกของพระองค์ยืนยันเรื่องราวที่กล่าวไว้แล้วเป็นอย่างดี ยกเว้นเฉพาะแหล่งที่มาของเครื่องจักรสำหรับเรือสยามอรสุมพลเท่านั้นที่ขัดกันอยู่

 

 

ข้อมูลที่ชวนให้สับสนอีกอย่างหนึ่งคือ "ตารางแสดงรายการเรือในสังกัดพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว" ที่ปรากฏในหนังสือพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยคุณสุนิสา มั่นคง ตารางดังกล่าวจัดให้เรือชื่อเอ็กสเปรส เป็นเรือที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๓๗๘ (ค.ศ. ๑๘๓๕) และกล่าวว่า "เป็นเรือกำปั่นไฟหรือเรือกลไฟลำแรกที่ได้เห็นในแม่น้ำเจ้าพระยา" ถ้าเรือลำนี้เป็นเรือกลไฟลำแรก ก็ไม่น่าใช่เรือที่พระองค์ทรงสร้างขึ้นแน่นอน

 

ให้ความรู้ปูพื้นมากพอแล้ว ขอวกกลับไปถึงเรื่องข่าวที่เป็นสาเหตุให้มิชชันนารีชาวอเมริกันรู้สึกร้อนใจจนต้องเขียนจดหมายไปถึงบรรณาธิการ ข่าวดังกล่าวลงในวารสารชื่อดังฉบับหนึ่ง คือวารสาร Scientific American ประจำวันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๙๒ (ค.ศ. ๑๘๔๙) หน้า ๒๗๘ เข้าใจว่าเรือในข่าวนี้เป็นเรือต้นแบบหรือเรือทดลองลำเดียวกับข่าวใน The New York Tribune ที่เล่าไว้ข้างต้น หัวข้อข่าวและเนื้อความเป็นดังนี้

 

ช่างเครื่องกลเชื้อพระวงศ์ชาวสยาม

 

หนังสือพิมพ์ Singapore Free Press ฉบับวันที่ ๑๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๓๙๑ (ค.ศ. ๑๘๔๘) ตีพิมพ์ข่าวต่อไปนี้จากเมืองบางกอก ประเทศสยาม โดยเล่าเกี่ยวกับพระปรีชาสามารถในด้านศิลปะการช่างของเจ้าชายพื้นเมืองพระองค์หนึ่ง

 

เป็นที่ทราบกันสักระยะหนึ่งแล้วว่า เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ได้ทรงริเริ่มสร้างเครื่องจักรไอน้ำขนาดเล็กขึ้น การสร้างดังกล่าว ซึ่งเกิดจากความอุตสาหะพยายามอันไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยและความทรหดอดทนของพระองค์ท่าน ได้เสร็จสมบูรณ์ลงแล้วหลังจากใช้เวลามานาน และชาวสยามก็สามารถคุยเขื่องได้แล้วว่า ตนมีเรือกลไฟไว้แล่นในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยที่ชิ้นส่วนทุกชิ้นของเรือถูกสร้างและผลิตขึ้นในประเทศโดยชาวสยามเอง เรือลำนี้มีความยาว ๒๖ ๑/๒ ฟุต ความกว้าง ๓ ฟุต และมีเครื่องยนต์ ๒ แรงม้า ปรากฏการณ์ขนาดย่อมนี้ได้แล่นขึ้นลงแม่น้ำสายนั้นหลายเที่ยวแล้ว ท่ามกลางสายตาที่เต็มไปด้วยความรู้สึกประหลาดใจและชื่นชมของฝูงชนนับพันที่ยืนแออัดกันบนฝั่งแม่น้ำทุกครั้งที่เรือแล่นผ่าน โดยที่ส่วนใหญ่เจ้าฟ้ากรมขุนฯ ทรงเป็นนายท้ายเรือด้วยพระองค์เอง เป็นธรรมดาอยู่เองที่พระองค์ทรงปลื้มพระทัยกับเรือไอน้ำลำนี้ของพระองค์ยิ่งนัก ไม่กี่วันที่ผ่านมา พระองค์ทรงนำเรือดังกล่าวแล่นไปมาหน้าพระบรมมหาราชวังต่อเบื้องพระพักตร์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงปลาบปลื้มพระทัยจนถึงกับทรงกล่าวคำสรรเสริญในความช่างประดิษฐ์ของเจ้าฟ้ากรมขุนฯ พร้อมพระราชทานของกำนัล นอกจากนั้นยังมีพระบรมราชโองการให้เจ้าฟ้ากรมขุนฯ สร้างเรือกลไฟขึ้นอีกลำหนึ่ง ให้มีขนาดใหญ่พอที่จะเดินทางไปยังสิงคโปร์ได้ ซึ่งเจ้าฟ้ากรมขุนฯ ก็ทรงรับที่จะดำเนินการให้สำเร็จตามพระราชประสงค์ เนื่องจากประเทศสยามไม่มีทองแดงหรือเหล็กที่มีความหนาพอ เตาต้มน้ำจึงถูกสร้างขึ้นในลักษณะที่มีน้ำหนักมาก อันส่งผลให้ความเร็วของเรือลดลง อย่างไรก็ตามเจ้าฟ้ากรมขุนฯ ทรงคาดว่าจะสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ไม่มากก็น้อย พระองค์มีรับสั่งให้จัดสร้างเรืออีกลำหนึ่งขึ้นจากแบบจำลองที่แตกต่างจากเดิม โดยที่สามารถลอยตัวในน้ำได้ดีกว่าลำปัจจุบัน และมีล้อใบพัดน้ำขนาดใหญ่กว่าเดิม พระองค์ทรงสั่งซื้อทองแดงที่มีความหนาพอสำหรับเตาต้มน้ำตัวใหม่จากสิงคโปร์แล้ว

 

แม้แต่ชิ้นส่วนเครื่องยนต์ขนาดจิ๋วก็ทำด้วยฝีมือที่น่าชมเชยอย่างยิ่ง และสะท้อนให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถของเจ้าฟ้าผู้ทรงมีฝีมือช่างพระองค์นี้ ซึ่งทรงกำกับดูแลการผลิตอย่างใกล้ชิดและทรงตรวจสอบอยู่ตลอดเวลา ตลอดจนความสามารถของเหล่าช่างผู้รับใช้พระองค์ ที่ล้วนเรียนรู้ด้วยตนเอง

 

ข่าวข้างต้นสร้างความไม่พอใจให้แก่มิชชันนารีนาม จอห์น แฮสเซตต์ แชนด์เลอร์ (John Hassett Chandler) พอสมควร จนถึงกับต้องเขียนจดหมายไปถึงบรรณาธิการของวารสารเล่มนั้น เพื่อระบายความในใจ

 

ตรงนี้ขอเล่าเรื่องเกี่ยวกับนายแชนด์เลอร์สักหน่อย บุรุษผู้นี้เป็นมิชชันนารีซึ่งไม่ใช่นักเทศน์ หรือหมอ แต่ชาวสยามในครั้งนั้นก็เรียกเขาว่า "หมอจันดเล" ตามความนิยมในการเรียกมิชชันนารีในครั้งนั้น เพราะหลายคนเป็นหมอ เขามีฝีมือและความเชี่ยวชาญทางเครื่องจักรกลอย่างน่าทึ่ง หนังสือ History of American Baptist Missions ระบุว่า ในปี พ.ศ. ๒๓๘๖ (ค.ศ. ๑๘๔๓) อันเป็นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว นายแชนด์เลอร์ ซึ่งเป็นช่างเครื่องกลและผู้จัดทำตัวพิมพ์ได้ย้ายจากพม่าเข้ามาทำงานในประเทศสยาม ว่ากันว่าเหตุเป็นเพราะเขา "เกาเหลา" กับหัวหน้ามิชชันนารีที่นั่น ผมลองนึกดู ก็เห็นว่าชื่อจันดเลนี่เป็นชื่อที่ค่อนข้างเหมาะสมกับเขามากทีเดียว เพราะเสียงคล้ายกับคำว่ามัณฑะเลย์ อันเป็นชื่อเมืองๆ หนึ่งของพม่า พอเอ่ยชื่อ ก็เดาได้เลยว่าเคยอยู่ที่ไหนมาก่อน หนังสือเล่าเรื่องไทยๆ ของคุณเทพชู ทับทอง เล่าว่า "หมอจันดเลเป็นผู้อำนวยการโรงพิมพ์คณะแบ๊บติสต์ และเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์บางกอกคาเลนเดอร์ ซึ่งออกในสมัยรัชกาลที่ ๓"

 

เมื่อมาถึงใหม่ๆ เขาเข้าประจำแผนกการพิมพ์และให้ความช่วยเหลือในการนำศิลปะด้านเครื่องกลเข้าสู่ราชอาณาจักรสยามอันนับเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง นายแชนด์เลอร์รับคำเชิญจากหม่อมฟ้าน้อย๔ ให้ถวายความช่วยเหลือในการจัดสร้างเครื่องกลต่างๆ ตามแบบจำลองของอเมริกา ความช่วยเหลือดังกล่าวเป็นไปเพื่อเพิ่มพูนทักษะของช่างฝีมือชาวสยาม หม่อมฟ้าน้อยทรงตอบแทนด้วยการให้เกียรติยอมรับหลักการทางศาสนาของนายแชนด์เลอร์ โดยทรงอนุญาตให้บ่าวรับใช้ของพระองค์หยุดงานในวันอาทิตย์ได้ ข้อตกลงนี้ดำเนินไปนานกว่า ๑ ปี ภายหลังนายแชนด์เลอร์รู้สึกว่าการถวายความช่วยเหลือดังกล่าวเป็นภารกิจที่กินเวลาส่วนใหญ่ของเขาจนไม่มีเวลาเหลือไปทำงานมิชชันนารีของตน เขาเขียนจดหมายถึงเพื่อนบาทหลวงคนหนึ่งในจดหมายลงวันที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๓๘๗ (ค.ศ. ๑๘๔๔) โดยมีเนื้อความส่วนหนึ่งดังนี้

 

"เวลาของผมในช่วงเดือนที่ผ่านมาหมดไปกับการถวายความช่วยเหลือแก่เจ้าฟ้าน้อย แรกทีเดียวพระองค์ทรงส่งงานชิ้นย่อยมาให้ทำ ซึ่งก็เสร็จสิ้นไปแล้ว แต่ต่อมาก็มีมาเรื่อยๆ มีบุรุษสองสามคนในโรงกลึงเข้ามาใช้เครื่องกลึงและเครื่องมืออื่นๆ เกือบตลอดเวลา การดูแลคนและงานของพระองค์เป็นเรื่องที่กินเวลาส่วนใหญ่ของผมไปมาก จนผมคิดว่าเราต้องปฏิเสธไม่ให้ใช้เครื่องกลึง หรือไม่ก็ขายให้เสียเลยจะดีกว่า พระองค์ทรงกำลังทำเครื่องจักรหลายตัว ในบรรดาสิ่งเหล่านั้นมีเครื่องยนต์ไอน้ำขนาดเล็กรวมอยู่ด้วย และต้องใช้เครื่องกลึงตลอดเวลา ผมสรุปว่า ถ้าขายให้พระองค์ก็จะลดความยุ่งยากลง ดีกว่าที่จะให้คนและงานของพระองค์มาที่โรงกลึงต่อไป

 

พระองค์พระราชทานเงินให้ผม ๑๐๘ เหรียญ หรือ ๑๘๐ อัฐ เป็นค่าเครื่องกลึง ตะไบขนาดเล็กสองสามเล่ม และเครื่องมืออื่นๆ เงินนี้พอเป็นค่าใช้จ่ายและอื่นๆ ชาวสยามนี่พอใจกับทุกอย่างที่มาจากสหรัฐ"

 

จดหมายของเขาเล่าต่อไปเกี่ยวกับการที่หม่อมฟ้าน้อยรับสั่งให้เขาสั่งซื้อเครื่องยนต์จากสหรัฐ แต่ขอไม่นำมาเล่าในที่นี้

 

วกกลับมาเข้าเรื่องอีกที ตรงที่ว่านายแชนด์เลอร์ไม่พอใจกับข่าวดังกล่าว จนถึงกับเขียนจดหมายไปถึงวารสาร Scientific American เพื่อระบายความในใจ จดหมายที่เขาเขียนถึงบรรณาธิการนั้น ได้รับการลงพิมพ์ในวารสารฉบับวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๙๓ (ค.ศ. ๑๘๕๐) เนื้อความในจดหมายดังกล่าวมีดังนี้
 

จดหมายจากสยาม อินเดียตะวันออก

บางกอก ๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๓๙๓ (ค.ศ. ๑๘๕๐)

 

เรียนคุณมันน์ และสหาย

 

ในวารสาร ฉบับวันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๙๒ (ค.ศ. ๑๘๔๙) มีบทความภายใต้หัวเรื่องว่า "ช่างเครื่องกลเชื้อพระวงศ์ชาวสยาม" ซึ่งกล่าวว่า T.N. Chaufa Kromakun (บางครั้งเรียกว่า T. Momfanoi) ได้ทรงสร้างเรือไอน้ำลำเล็กขึ้นลำหนึ่ง ปรากฏในเนื้อหาของบทความว่า "เครื่องยนต์และลำเรือถูกสร้างขึ้นจากความอุตสาหะพยายามอันไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยและความทรหดอดทนของพระองค์ท่าน และขณะนี้ชาวสยามก็สามารถคุยเขื่องได้แล้วว่า ตนมีเรือไอน้ำไว้แล่นในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยที่ชิ้นส่วนทุกชิ้นของเรือถูกสร้างและผลิตขึ้นในประเทศโดยชาวสยามเอง" ข้อความนี้ถูกต้องแน่หรือ พระองค์และชาวสยามอาจ "คุยเขื่อง" ได้ แต่ความจริงแล้ว ข้อความนั้นเป็นจริงเพียงครึ่งเดียว ของกำนัลที่กล่าวกันว่าเจ้าฟ้าพระองค์นี้ได้รับนั้นมีมูลค่าน้อยกว่า ๑๕๐ เหรียญสหรัฐ และแม้ว่า "ในหลวงยังมีพระบรมราชโองการให้เจ้าฟ้ากรมขุนฯ สร้างเรือไอน้ำขึ้นอีกลำหนึ่ง ให้มีขนาดใหญ่พอที่จะเดินทางไปยังสิงคโปร์ได้" กระนั้นก็ไม่ปรากฏว่ามีการสร้างเรือดังกล่าวขึ้นมาแต่อย่างใด ทองแดงที่อ้างกันว่าสั่งเข้ามาสำหรับเตาต้มน้ำก็ไม่เคยมาถึง และเป็นไปได้ว่าผู้ที่รับใบสั่งสินค้าไม่กล้าผลิตสินค้าให้ ด้วยเกรงว่าจะไม่ได้รับค่าตอบแทนแต่อย่างใด

 

บทความดังกล่าวปิดท้ายด้วยข้อความที่ว่า "แม้แต่ชิ้นส่วนเครื่องยนต์ขนาดจิ๋วก็ทำด้วยฝีมือที่น่าชมเชยอย่างยิ่ง และสะท้อนถึงพระปรีชาสามารถของเจ้าฟ้าผู้ทรงมีฝีมือช่างพระองค์นั้น ซึ่งทรงกำกับดูแลการผลิตอย่างใกล้ชิดและทรงตรวจสอบอยู่ตลอดเวลา ตลอดจนความสามารถของเหล่าช่างผู้รับใช้พระองค์ท่านที่ล้วน "เรียนรู้ด้วยตนเอง" ในการสร้างเครื่องยนต์ดังกล่าว ผมมักถวายคำปรึกษาเนืองๆ และคำชี้แนะของผมก็ได้รับการปฏิบัติตาม บ่อยครั้งที่เราพบช่างเครื่องที่เรียนรู้ด้วยตนเองในประเทศที่เจริญแล้ว ซึ่งเป็นช่างฝีมือดี แต่การคิดว่าบุรุษที่เรียนรู้ด้วยตนเองท่ามกลางคนป่าเถื่อนสามารถสร้างเครื่องจักรไอน้ำได้นั้น เป็นเรื่องไม่น่าเชื่อเลย

 

แต่ทั้งเจ้าฟ้าพระองค์นั้นและผู้ติดตามของพระองค์ต่างก็มิได้เรียนรู้ด้วยตนเอง เมื่อผมมาถึงที่นี่ในปี ค.ศ. ๑๘๔๓ (พ.ศ. ๒๓๘๖) ผมนำเครื่องกลึงแบบเลื่อนขนาดเล็กติดตัวมาด้วย หลังจากติดตั้งเรียบร้อยแล้ว ก็ได้ผลิตเครื่องมือหลายชิ้นถวายแด่เจ้าฟ้าพระองค์นั้น และจำหน่ายให้พระองค์ในที่สุด จากนั้นพระองค์ก็ทรงขอให้ผมช่วยในการสร้างโรงจักรกล เครื่องกลึงและเครื่องมือต่างๆ ซึ่งผมก็กระทำตามพระประสงค์ และถวายคำชี้แนะให้พระองค์ตลอดจนบริวารของพระองค์เกี่ยวกับวิธีการใช้เครื่องมือต่างๆ และช่วยสร้างเครื่องจักรกลขนาดเล็กให้ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในปี ค.ศ. ๑๘๔๔ (พ.ศ. ๒๓๘๗) หลังจากที่ได้สร้างโรงจักรกลและเครื่องมือต่างๆ เสร็จแล้ว เจ้าฟ้าพระองค์นั้นก็มีพระประสงค์ที่จะสร้างเรือไอน้ำขนาดเล็ก ผมสร้างรูปจำลองหลายชิ้นสำหรับเครื่องยนต์ขึ้นจากไม้ แต่พระองค์มีพระประสงค์สิ่งอื่นที่ดีกว่านั้น ผมจึงส่งเงิน ๒๐๐ เหรียญสหรัฐไปยังประเทศอังกฤษ เพื่อสั่งทำแบบจำลองที่ใช้งานได้ พร้อมทั้งลำเรือโดยสมบูรณ์ เมื่อเรือซึ่งนำแบบจำลองนั้นมาถึงสันดอนปากน้ำ พระองค์ก็ทรงอดพระทัยรอให้เรือเข้ามาในเมืองไม่ไหว และทรงเร่งให้ผมฝ่าฝนไปรับแบบจำลองนั้นมา ผมต้องการสนองพระประสงค์ของพระองค์ จึงรุดออกไปตามรับสั่ง แม้ว่าต้องกลับมาไม่สบายไปหลายวัน

 

เป็นธรรมดาอยู่เองที่จะคิดว่าหลังจากได้รับความเอาใจใส่และความช่วยเหลืออย่างเต็มที่แล้ว เจ้าฟ้าผู้มั่งคั่งก็จะประทานรางวัลแก่ผู้ให้ความช่วยเหลือบ้างไม่มากก็น้อย เวลาที่ใช้ในการถวายความช่วยเหลือแด่พระองค์ ต้องประมาณได้ไม่น้อยกว่า ๕๐๐ เหรียญสหรัฐ แต่ทั้งหมดที่ได้รับในรูปสินน้ำใจนั้น คือของกำนัลเล็กน้อยสองสามชิ้นที่มีมูลค่ารวมกันประมาณ ๒๕ เหรียญสหรัฐ ผมพยายามอย่างยิ่งที่จะขอรับค่าตอบแทนสำหรับแบบจำลองเรือไอน้ำในเวลาไม่นานหลังจากที่มันมาถึง แต่พระองค์ก็ทรงบ่ายเบี่ยงครั้งแล้วครั้งเล่า และผมก็ไม่ได้รับจนกระทั่งหลังจากนั้นมาอีกสองปี

 

ผมได้แนบคำประกาศสั้นๆ เกี่ยวกับเรือของเจ้าฟ้าพระองค์นี้และโรงจักรกลโรงใหม่ ซึ่งนำมาจากบางกอกคาเลนดาร์ ในปี ค.ศ. ๑๘๔๙ (พ.ศ. ๒๓๙๒)

 

ผมได้รับ Scientific American นับจากเล่มที่ ๒ เป็นต้นมา เป็นประจำ และชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง ผมหวังให้คุณประสบความสำเร็จอย่างสูงสุดในความพยายามกระจายข่าวสารด้านเครื่องกล ผมขอแสดงความนับถือมา ณ ที่นี้

 

เจ แฮสเซตต์ แชนด์เลอร์

 

[เราขอพิมพ์ข่าวสั้นที่กล่าวไว้ข้างต้นในที่นี้ :-

 

เรือกลไฟ-ในคาเลนดาร์ของเราที่พิมพ์เมื่อปีที่แล้ว (ค.ศ. ๑๘๔๘) เรากล่าวว่าทูลกระหม่อมเจ้าฟ้าน้อยได้ทรงจัดตั้งโรงจักรกลขึ้นสำเร็จ บุคคลซึ่งช่วยพระองค์จัดตั้งโรงจักรกลนี้ ถูกส่งตัวไปอังกฤษและนำแบบจำลองเรือไอน้ำที่ใช้งานได้กลับมา พระองค์ทรงอาศัยแบบจำลองดังกล่าวเพื่อสร้างเรือไอน้ำขนาดเล็กลำหนึ่งขึ้นมาเมื่อเร็วๆ นี้ เครื่องยนต์ถูกสร้างขึ้นมาอย่างประณีตและเหมือนแบบจำลองทุกประการ เนื่องจากวัสดุที่เหมาะสมในการใช้สร้างเตาต้มน้ำเป็นสิ่งที่ทำขึ้นหรือหามาใช้ไม่ได้ในประเทศสยาม เรือจึงแล่นได้ไม่เร็วนัก ฉะนั้น จึงมีการสั่งซื้อวัสดุสำหรับเตาต้มน้ำเตาใหม่ และในวันข้างหน้าเราอาจจะได้เห็นเรือกลไฟที่มีความเร็วพอใช้ แล่นในแม่น้ำเจ้าพระยา

 

โรงจักรกลโรงใหม่-เรามีความยินดีที่จะประกาศให้ทราบว่า ได้มีการจัดตั้งโรงจักรกลโรงใหม่ขึ้นสำเร็จอีกโรงหนึ่งในบางกอกแล้ว นายโหมด๕ ผู้เป็นบุตรของขุนนางชาวสยามเป็นผู้สร้างขึ้น บุรุษผู้นี้แสดงให้เห็นถึงทักษะและรสนิยมอันดีในการสร้างและจัดเรียงเครื่องมือต่างๆ ในโรงจักรกลนี้ เขาได้รับความช่วยเหลือบางส่วนจากบุคคลซึ่งถวายความช่วยเหลือแก่เจ้าฟ้าพระองค์นั้นในการจัดตั้งโรงจักรกลของพระองค์ บุคคลผู้นี้ได้ควบคุมดูแลการจัดสร้างเครื่องกลึงเครื่องหนึ่งเพื่อการใช้งานในโรงจักรกลแห่งนี้ ซึ่งทัดเทียมกับโรงจักรกลประเภทเดียวกันในยุโรปและอเมริกา นายโหมดได้ปรับปรุงด้านอิเล็กโตรไทป์ในช่วงปีก่อน ซึ่งหากเรื่องทราบไปยังต่างประเทศ ก็จะสร้างชื่อเสียงให้แก่เขาเป็นอันมาก การปรับปรุงดังกล่าวนี้เป็นสิ่งที่ชวนให้ชื่นชม และเราหวังว่าชาวสยามจะไม่เพียงแต่ปรับปรุงในด้านเครื่องจักรกลเท่านั้น แต่ในด้านศาสนาด้วย]

 

[ในที่นี้เราได้ฟังเรื่องราวทั้งสองด้าน และเราเชื่อว่าเรื่องข้างต้น จากผู้เขียนจดหมายของเรา เป็นเรื่องจริง เพราะมีตราประทับความจริงบนแผ่นกระดาษ]

 

.....

ไม่ทราบว่าหลังจากจดหมายฉบับนี้ลงพิมพ์แล้ว มีใครอื่นนอกจากตัวนายแชนด์เลอร์เองที่ทราบเรื่องนี้บ้าง ทั้งนี้ทั้งนั้น เขาก็ยังคงอาศัยอยู่ในกรุงสยามต่อไป และทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศไม่น้อยทีเดียว ผลงานที่สำคัญของนายแชนด์เลอร์ ได้แก่ การจัดทำตัวหนังสือในหนังสือพจนานุกรม A Dictionary of the Siamese language ซึ่งเรียบเรียงโดยศาสนาจารย์เจสซี แคสเวลล์ (J. Caswell) การทำหน้าที่เป็นล่ามให้แก่ทาวน์เซนด์ แฮร์ริส (Townsend Harris) ในระหว่างการเจรจาสนธิสัญญากับสหรัฐเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๙ (ค.ศ. ๑๘๕๖) การเป็นพระอาจารย์ของเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์หลังจากที่นางแอนนา ลีโอโนเวนส์ ลาจากไปแล้ว และการเป็นตัวแทนประเทศสยามไปร่วมงานฉลองครบรอบ ๑๐๐ ปีของประเทศสหรัฐ ที่เมืองฟิลาเดลเฟียเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๙ (ค.ศ. ๑๘๗๖)

 

นายแชนด์เลอร์และภรรยาอาศัยอยู่ในบางกอกจนกระทั่งเธอล้มป่วยลงในปี พ.ศ. ๒๔๒๓ (ค.ศ. ๑๘๘๐) จึงเดินทางกลับไปยังสหรัฐ และปักหลักอยู่ที่เมืองแคมเดน มลรัฐนิวเจอร์ซีย์

 

เชิงอรรถ

๑. ชาวต่างชาติเห็นว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนิยมประทับในพระบรมมหาราชวังเป็นส่วนใหญ่

๒. ต้นฉบับภาษาอังกฤษคือ Praklang

๓. ขณะที่เขียนเรื่องนี้ ผมยังไม่มีโอกาสได้เห็นตัวจริงของข่าวในหนังสือพิมพ์ The New York Tribune ถึงได้ไมโครฟิล์มมา แต่กว่าจะหาเนื้อข่าวเจอคงกินเวลานานอยู่

๔. หม่อมฟ้าน้อย ซึ่งหมายถึงเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ซึ่งต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

๕. ต้นฉบับภาษาอังกฤษคือ Mai Mote ซึ่งควรเป็น Nai Mote นายโหมด หรือพระยากระสาปนกิจโกศล เป็นช่างเครื่องกลคนแรกของเมืองไทย ที่สามารถประกอบเครื่องกลึงได้สำเร็จ

 

เอกสารอ้างอิง

- ดำรงราชานุภาพ, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา ทรงเรียบเรียง. ตำนานเรือรบไทย. โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, ๒๔๖๗, หน้า ๓๘-๓๙.

- เทพชู ทับทอง. เล่าเรื่องไทยๆ เล่มที่ ๑. กรุงเทพฯ : สองเรา, ไม่ระบุปีที่พิมพ์ แต่คำนำลงวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๕.

___________.

- เล่าเรื่องไทยๆ เล่มที่ ๔. กรุงเทพฯ : ทิพยพร, ๒๕๓๖.

- มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม สังกัดกองทัพเรือ. "พระราชกิจจานุกิจด้านวิทยาศาสตร์และการประดิษฐ์" จากเว็บไซต์ http://www.wangdermpalace.com/kingpinklao/thai_pinklao.html

- โรงเรียนช่างฝีมือทหาร กองบัญชาการทหารสูงสุด กระทรวงกลาโหม. "ความสำคัญกับงานช่าง และกองทัพไทย" จากเว็บไซต์ http://www.mtts.ac.th/prapin.html

- สมบัติ พลายน้อย. กษัตริย์วังหน้า. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๔๓.

- สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือ. "เรือรบในรัชสมัย" จากเว็บไซต์ http://www.navy.mi.th/nrdo/Chakri/king๔.htm

- สุนิสา มั่นคง. พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้ากรุงสยาม องค์ที่ ๒ ในสมัยรัชกาลที่ ๔. กรุงเทพฯ : One World, ๒๕๔๗, หน้า ๔๙.

- Bradley, William L. "The Rise and Fall of J.H. Chandler" and "Chandler"s Nemesis," in Siam Then. California : William Carey Library, 1981.

- Chandler, George. The Chandler family : The Descendants of William and Annis Chandler who settled in Roxbury Mass 1637. The Press of Charles Hamilton, 1883, p.943.

- Feltus, Rev. George Haws Edited. Private Journal of Lucia Hunt Hemenway, wife of Rev. Asa Hemenway. New York, 1931.

- Feudge, F.R. Eastern Side; OR, Missionary Life in Siam. Philadelphia : American Baptist Publication Society, 1871, pp.554-565.

- Gammell, William. History of American Baptist Missions in Asia, Africa, Europe and North America under the care of the American Baptist Missionary Union. Boston : Gould, Kendall and Lincoln, 1849, p.195.

- Neale, Frederick Arthur. Narrative of a Residence in Siam. London : Office of the National Illustrated Library, 1852, pp.87-101.

- "The English Governess at the Siamese Court II," in Atlantic Monthly. XXV (May 1870), Boston : Fields, Osgood, & Co, pp.554-565.

 


มารีนเนอร์ไทยดอทคอม | MarinerThai.Com

 

จำนวนผู้เข้าชมหน้านี้   23448

 Disclaimed: มารีนเนอร์ไทยดอทคอม ขอสงวนสิทธิ์ในการรับรองความถูกต้องในบทความ ข้อมูล เนื้อหา ภายในเว็บไซด์ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูล ภาพ เสียง ซอฟแวร์ การเชื่อมโยง(ลิงค์) และ/หรือ บริการอื่นๆ และจะไม่รับผิดชอบในความผิดพลาดในการใช้เนื้อหาดังกล่าวข้างต้นเพื่อวัตถุประสงค์ทางด้าน การค้า การกระทำ การคาดการณ์ พยากรณ์ การวิจัย และอื่นๆ ซึ่งเป็นความคิดเห็นส่วนบุคคลเฉพาะของท่านผู้เขียนแต่ละรายไป ตลอดจนข้อกำหนดทางด้านลิขสิทธิ์ กรณีที่ท่านส่งบทความที่มิได้ขออนุญาตต่อผู้ครองสิทธิ์แท้จริงนำมาลงไว้ภายในเว็บไซด์นี้

 

 
 

 

 

Nathalin Group Mariner English Articles

หน้าแรกก | เว็บบอร์ดชาวเรือ | สารบัญเว็บไซด์ชาวเรือ | สมุดภาพเรือเดินทะเล | สนับสนุนเว็บเรา | ติดต่อเรา

© 2002 Mariner Thai Dot Com Mariner Thai Dot Net. All rights reserved - Web designed by .<nv>.

 MarinerThai.Com | MarinerThai.Net | MarinerThai.Org

Contact webmaster: | Organizer : CKN - Cyber Ket Network