เที่ยวบินปฐมฤกษ์ของแอร์บัส เอ 340 600 และโบอิ้ง 747 400 ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
นายกรัฐมนตรี จะนำคณะรัฐมนตรี พร้อมบรรดาแขกเชิญระดับวีไอพี และสื่อมวลชนร่อนลงสู่รันเวย์
ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในวันที่ 29 กันยายน ศกนี้ กำลังถูกจับจ้อง
จากสายตาผู้คนทั่วโลก
หลายคนอาจมองว่า นี่เป็นเพียงการสร้างฉาก เพื่อกอบกู้ภาพลักษณ์ ของสนามบินที่มีแต่
เรื่องอื้อฉาว และเต็มไปด้วยอุปสรรคนานัปการ จนกระทั่งไม่มีใครคาดหวัง
การก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิจะเสร็จสิ้น และเปิดใช้งานได้จริงๆเมื่อใด
แต่ในมิติของรัฐบาล และผู้ที่ร่วมกันก่อร่างสร้างสนามบินแห่งนี้ขึ้นมา
นี่ถือเป็นเที่ยวบินสำคัญที่จะประกาศให้คนทั่วโลก ได้ประจักษ์แก่สายตาตัวเองว่า
ในที่สุดการก่อสร้างท่าอากาศยานในฝันที่มีความสวยงามที่สุด
และมีขนาดของพื้นที่ใช้สอยใหญ่ ที่สุดในโลกก็แล้วเสร็จลงได้ตามกำหนดเวลาที่ให้ไว้
และพร้อมจะทำการทดสอบระบบ ในแบบบูรณาการนับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
จนกระทั่งทุกส่วนงานเสร็จสิ้น และพร้อมจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ
ในเดือนมิถุนายนปีหน้า
ที่สำคัญ มันยังเป็นความท้าทายให้ทั่วโลกได้ร่วมกันนับเวลาถอยหลังเพื่อพิสูจน์
ศักยภาพความเป็นศูนย์กลางทางการบินและการขนส่ง (HUB) แห่งภูมิภาคเอเชียอีกด้วย
สำหรับคนไทยทั้งประเทศที่เฝ้ารอคอยความสำเร็จนี้
จะได้ประจักษ์แก่สายตาตนเองในความยิ่งใหญ่อลังการ
ของท่าอากาศยานสากลแห่งใหม่ไปพร้อมๆกัน ในการถ่ายทอดสดเที่ยวบินปฐมฤกษ์
ของสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจตามวันเวลาดังกล่าว หลังจากที่ต้องใช้เวลายาวนานถึง
45 ปี กว่าวันนี้จะมาถึง
แต่ก่อนถึงวันจริง ทีมเศรษฐกิจ
ขอนำปูมหลังฉบับย่อของสนามบินแห่งนี้มาเรียบเรียงให้อ่านพอเป็นน้ำจิ้มกันสักเล็กน้อย
******
ย้อนหลังกลับไปก่อนปี พ.ศ.2534 ในสมัยนายมนตรี พงษ์พานิช เป็นรัฐมนตรีว่าการ
กระทรวงคมนาคม เขาบอกกับ ศรีสุข จันทรางศุ ขณะดำรงตำแหน่งอธิบดีกรม
การบินพาณิชย์ว่า ถึงเวลาที่ประเทศไทยจำเป็น จะต้องมี สนามบินนานาชาติแห่งใหม่ แล้ว
หลังจากที่โครงการนี้ ต้องชะงักงันมากว่า 30 ปี
นับแต่ได้มีการศึกษาไว้ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ.2502 พร้อมทำการเวนคืนที่ดิน ไว้แล้ว
20,000 ไร่
“เป็นความภาคภูมิใจในชีวิตราชการ ที่สามารถรับใช้ประเทศชาติจนสำเร็จมากว่า 38 ปี
กับอีก 8 เดือน ผมต้องขอบคุณรัฐบาลทุกรัฐบาลที่ไว้วางใจ
และมอบหมายงานให้ผมได้เข้าไปดูแล การก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิตั้งแต่ต้น
และทุกส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งทางอากาศ”
อดีตปลัดกระทรวงคมนาคมในฐานะประธานบอร์ดบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ
ทอท. เล่าต่อไปว่า แม้ในช่วงที่ รสช.เข้ามาบริหารประเทศ นายนุกูล ประจวบเหมาะ
เข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
เขาก็ยังมอบหมายให้ตนเดินหน้างานสร้างสนามบินต่อไป จนกระทั่งว่าจ้างบริษัทเจนเนอรัล
เอนจิเนียริ่ง คอนซัลแทนส์ จำกัด เข้ามาวางแผนงาน (Master Plan) โครงการ
จากที่ดินรกร้างซึ่งถูกเวนคืนไปก่อนหน้า แต่ยังคงมีชาวบ้านอาศัยอยู่ในพื้นที่ราว
2,000 ครอบครัว ที่ปลูกผักกระเฉด และทำบ่อปลาเป็นรายได้เลี้ยงตัวอยู่
เมื่อรัฐบาลตัดสินใจเดินหน้าโครงการนี้
ในที่สุดกระทรวงคมนาคมก็สามารถเข้าไปเจรจาโยกย้ายชาวบ้านได้สำเร็จ
พร้อมเดินหน้าปรับ-ถมที่ดินสำเร็จตั้งแต่ปี พ.ศ.2536 จนในวันที่ 29 กันยายน 2543
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานชื่อ “สุวรรณภูมิ”
และเสด็จพระราชดำเนินในพิธีวางศิลาฤกษ์ ในวันที่ 19 มกราคม 2545
ถือเป็นจุดเริ่มงานก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิอย่างเป็นทางการ
ก่อนจะเดินทางมาถึงวันแห่งการเปิดเที่ยวบินปฐมฤกษ์นี้!
อลังการเที่ยวบินปฐมฤกษ์
ประธานบอร์ด ทอท. ยังได้กล่าวถึงการเตรียมความพร้อม
ของการทดสอบทางเทคนิคระบบสนามบินสุวรรณภูมิที่จะรองรับ “เที่ยวบินปฐมฤกษ์”
ในวันที่ 29 ก.ย.นี้ ว่า ถือเป็นงานที่มีความยิ่งใหญ่ เนื่องจากในวันดังกล่าว ทาง
ทอท. และบริษัทท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ (บทม.) ได้มีการเชิญแขกผู้มีเกียรติ
ผู้แทนสายการบิน ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างสนามบิน คณะทูตานุทูตจากประเทศต่างๆ
ตลอดจนสื่อมวลชนจากทั่วโลกเข้ามาร่วมทดสอบด้วย
ตามกำหนดการที่วางไว้ เมื่อเที่ยวบินประวัติศาสตร์ที่ ทีจี 8960
ของคณะนายกรัฐมนตรี และ โบอิ้ง 747-400 ของแขกวีไอพีร่อนลง แตะรันเวย์ด้านตะวันออก
ซึ่งถือเป็นรันเวย์ ที่ยาวที่สุดในโลกถึง 4,000 เมตรเสร็จสิ้น พลันที่คณะนายกฯ
และแขกวีไอพีก้าวพ้นประตูเครื่องบิน ก่อนเดินเข้าสู่อาคาร สะพานเทียบเครื่องบิน
ก็จะพบกับความอลังการ ของประตูกระจกแกะสลักลายเทพนม อันเป็นสัญลักษณ์
ให้นักท่องเที่ยวผู้โดยสาร ได้รับรู้ว่านี่คือท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ!
ถัดเข้ามาในอาคารสะพานเทียบเครื่องบิน ก็จะพบกับความโอ่อ่าของตัวอาคาร
ที่ถือเป็นสถาปัตยกรรมที่ไม่เพียงแต่จะทันสมัยที่สุดในโลก
แต่ยังเต็มไปด้วยความโอ่อ่าอลังการชนิดที่สามารถจะตรึงผู้โดยสารไว้กับที่
ด้วยโครงสร้างเหล็ก Super Trust กว่า 77,000 ตัน
ที่ถูกออกแบบให้โค้งโชว์ความอ่อนช้อย ส่วนหลังคาก็จะเป็นกระจกโค้ง
มีผ้าใยสังเคราะห์พิเศษที่มีความเหนียว ทนทานเคลือบเทปล่อน
เพื่อเปิดให้แสงสว่างเข้ามาในอาคารโดยไม่นำพาความร้อนเข้ามา
ถัดเข้ามาในตัวอาคารผู้โดยสาร หรือเทอร์มินัลจะพบกับความโอ่โถง ที่มีโครงสร้างเหล็ก
และกระจกเป็นตัวหลักของอาคาร ซึ่งดูแล้วจะโล่ง โปร่งสบาย
ตัวอาคารมีระบบการทำความเย็น
ที่ได้มีการออกแบบมาเพื่อควบคุมอุณหภูมิของอากาศมาจากพื้น ซึ่งจะทำให้มีความเย็น
อย่างทั่วถึงภายในอาคาร
นอกจากความโดดเด่นอลังการ ของตัวอาคารผู้โดยสารแล้ว บริเวณภายในอาคารทั้งหมด
จะถูกประดับด้วยประติมากรรม และภาพจิตรกรรมชุด “สุวรรณภูมิ”
ที่เล่าเรื่องแผ่นดินทองของสุวรรณภูมิ ไว้อย่างละเอียดสุดอลังการอีก
โดยเฉพาะประติมากรรมที่เรียกว่า “พิธีกวน เกษียรสมุทร” ที่มีขนาดใหญ่กว้างกว่า 7
เมตร ความยาว 21 เมตร และสูง 5.6 เมตร ซึ่งจะติดอยู่ตรงประตูกลางทางเข้า
ในส่วนอาคาร D ขณะที่ความกว้างและความสูงของขนาด คานรับ ส่วนโค้ง เว้าต่างๆ
ทั้งภายในอาคารผู้โดยสาร และอาคารเทียบเครื่องบินนั้น
ต่างก็มีความหมายที่เกี่ยวข้องกับ “รัชกาลที่ 9” ทั้งสิ้น
วิชัย รักศรีอักษร ประธานบริษัทคิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด
ผู้ชนะการประกวดราคาเข้าบริหารพื้นที่เพื่อการพาณิชย์กว่า 20,000 ตร.เมตร
ภายในสนามบินสุวรรณภูมิ ได้กล่าวถึง ที่มาของประติมากรรมข้างต้นว่า
เขาได้รับโจทย์ให้ทำพื้นที่นี้ให้เป็นพื้นที่บริการที่ดีที่สุดในโลก
เพราะฉะนั้นสิ่งแรกที่จะทำให้สนามบินสุวรรณภูมิตรึงอยู่ในหัวใจของนักเดินทางทั่วโลก
ก็คืองานสร้างประติมากรรมรูปหล่อของพิธีกวนเกษียรสมุทรของเหล่าเทวดากับอสูรจากคัมภีร์
รามเกียรติ์ที่ได้รับพระราชทานคำแนะนำจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
งานประติมากรรมชิ้นนี้ได้เชิญกรมศิลปากร และศิลปินแห่งชาติกว่า 50 คน
เข้าร่วมในการออกแบบและก่อสร้างเพื่อให้เกิดความงดงามตามท้องเรื่อง
ศักยภาพของสนามบินสุวรรณภูมิ
ประธานบอร์ด ทอท. และอดีตปลัดกระทรวงคมนาคม
ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่สัมผัสกับบรรยากาศของท่าอากาศยานแห่งนี้
นับมาตั้งแต่ยังเป็นหนองน้ำ คลองบึงและบ่อปลาสลิดโดยแท้
หรือจะเรียกให้ชัดๆว่าเป็นผู้ที่ “ปั้นดินให้เป็นดาว” มากับมือ
ยังได้ขยายฉายภาพให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่อลังการ
และศักยภาพของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่กำลัง
จะถูกถ่ายทอดออกไปสู่สายตาผู้คนทั่วโลกนี้ด้วยว่า
ศักยภาพของสนามบินสุวรรณภูมิแห่งนี้ มีพื้นที่ใช้สอยภายในอาคารมากกว่า 570,000
ตารางเมตร พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัยตามมาตรฐานสากล เช่น การติดตั้งระบบ
Inline Baggage Screening System
สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้โดยสารภายในอาคารครบครัน
ซึ่งถือว่าใหญ่กว่าสนามบินอื่นๆในภูมิภาคเดียวกัน เช่น เช็คเล็ปก๊อกของฮ่องกง หรือชางฮีของสิงคโปร์
โดยมีขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารได้กว่า 45 ล้านคนต่อปี
เทียบกับสนามบินดอนเมืองที่รองรับได้เพียง 30 ล้านคน/ปี เท่านั้น
ส่วนสะพานเทียบเครื่องบินสามารถรับเครื่องบินได้ 51 ลำ และมีหลุมจอดอีกกว่า 69 ลำ
รวมขีดความสามารถในการรองรับเครื่องบินได้ถึง 120 หลุมจอด มีรันเวย์ที่สามารถให้บริการเครื่องขึ้น-ลงได้พร้อมกันทันที
2 รันเวย์ ด้วยความยาวของรันเวย์ที่มากถึง 4,000 เมตร
ซึ่งสามารถรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่อย่างแอร์บัส A-380
อากาศยานขนาดใหญ่ได้อย่างไม่มีปัญหา
นอกจากนั้น ยังรองรับเที่ยวบินได้ถึง 76 เที่ยวบิน/ชั่วโมง
และให้บริการขนถ่ายสินค้าทางอากาศได้ 3 ล้านตัน/ปีในทันที ทั้งยังสามารถขยายไปถึง 6
ล้านตันต่อปี
จากศักยภาพและขีดความสามารถ ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิข้างต้นนี้
จึงไม่เป็นที่แปลกใจว่าเหตุใดรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
จึงตั้งความหวังอย่างแรงกล้าที่จะผลักดัน ให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิแห่งนี้
ไม่เพียงแต่จะเป็นศูนย์กลางทางการบิน และการขนส่ง (HUB) ของภูมิภาคเท่านั้น
แต่ยังมีความต้องการ ที่จะทำให้สนามบินสุวรรณภูมิมีการบริการใน “เชิงพาณิชย์”
อย่างครบวงจรด้วย
โดยเฉพาะการมอบหมายให้บริษัทท่าอากาศยานไทย และ บทม.
จะต้องจัดทำแผนยุทธศาสตร์ในการให้บริการผู้โดยสารเป็น Package ชนิดที่กล่าวได้ว่า
สามารถจองและสั่งบริการที่สอดคล้องกับระยะเวลาที่จะต้องผ่านมา
หรือใช้ท่าอากาศยานแห่งนี้สามารถจะใช้เวลาอยู่ในสนามบินได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ไม่ว่าจะเดินทางมาถึงก่อนเวลาที่จะสามารถเช็กอินในโรงแรมได้ หรือต้องเช็กเอาต์ออกจากโรงแรมก่อนจะขึ้นเครื่องบินหลายชั่วโมง
เพราะภายในสนามบินจะมีทั้งสปา ห้องพักผ่อนหย่อนใจ โรงภาพยนตร์
และสถานบริการต่างๆครบถ้วน
ทั้งหมดนี้คือศักยภาพเบื้องต้นที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
ท่าอากาศยานแห่งความภาคภูมิใจที่คนไทยทั้งประเทศที่เฝ้ารอมากว่า 45 ปี
จะได้เห็นในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้.
ทีมเศรษฐกิจไทยรัฐ
แผนผังสนามบินสุวรรณภูมิ
1. อาคารผู้โดยสาร
2. อาคารท่าอากาศยานหลวง
3. อาคารศูนย์ไปรษณีย์และพัสดุภัณฑ์ทางอากาศ
4. อาคารสำนักงาน
5. อาคารรักษาความปลอดภัย
6. โรงแรมท่าอากาศยาน
7. หอบังคับการบินและสิ่งอำนวยความสะดวก
8. อาคารคลังสินค้า
9. อาคารส่งพัสดุภัณฑ์ด่วน
10. อาคารโภชนาการ
11. อาคารซ่อมบำรุงท่าอากาศยาน
12. อาคารซ่อมบำรุงอุปกรณ์ในการให้บริการภาคพื้น
13. สถานรักษาพยาบาล
14. อาคารสโมสรและสันทนาการ
15. ศูนย์รถเช่า
16. ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน
17. สถานีน้ำมันและซ่อมบำรุงรถยนต์
18. อาคารสำหรับเครื่องบินเล็ก
19. สนามบินสำหรับเครื่องบินปีกหมุน
20. สนามฝึกดับเพลิง
21. อาคารดับเพลิงและกู้ภัย
22. อาคารไฟนำร่อง
23. สถานีเติมน้ำมันอากาศยาน
24. คลังน้ำมันอากาศยาน
25. สถานีแปลงไฟฟ้าย่อย
26. สถานีจ่ายน้ำประปา |
27. สถานีกรองน้ำประปา
28. โรงบำบัดน้ำเสีย
29. ระบบเรดาร์
30. อาคารอุตุนิยมวิทยา
31. ถนนทางเข้าสายหลัก
32. ถนนทางเข้าสายรอง
33. ระบบขนส่งมวลชน/รถไฟฟ้าเข้าท่าอากาศยาน
34. สถานีรถไฟ
35. อาคารจอดรถ
36. ลานจอดรถระยะยาว
37. พื้นที่สำหรับการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก
38. ศูนย์ธุรกิจย่อยท่าอากาศยาน
39. เขื่อนดินกั้นรอบสนามบิน รั้ว และถนน
40. สถานีสูบน้ำและพื้นที่บ่อเก็บน้ำ
45A. โรงผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น
45B. โรงจ่ายไฟฟ้า / โรงจ่ายน้ำเย็น
46. คลังสินค้าภายในประเทศ
47. อาคารอุปกรณ์เครื่องส่งวิทยุ
48. อาคารรับขยะเครื่องบิน
49. สถานีขนถ่ายขยะ
50. อาคารศูนย์ปฏิบัติการ
51. สิ่งอำนวยความสะดวกรวมในเขตปลอดอากร
52. อาคารรถโดยสารประจำทาง
53. ระบบจ่ายสาธารณูปโภค |
มารีนเนอร์ไทยดอทคอม
|
MarinerThai.Com |