พลิกโฉมหน้าใหม่ 'ทีพีไอ' ฟื้นอาณาจักรปิโตรเคมีไทยผงาดเอเชีย
พลิกโฉมหน้าใหม่ 'ทีพีไอ' ฟื้นอาณาจักรปิโตรเคมีไทยผงาดเอเชีย
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
ปีที่ 56 ฉบับที่ 17460 วันพุธที่ 9 พฤศจิกายน 2548
เรื่องราวการต่อสู้เพื่อให้ได้มา
ซึ่งสิทธิในการครอบครอง กิจการของบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน)
ระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ ที่ยืดเยื้อยาวนานถึง 8 ปี
จนเกือบจะกลายเป็นมหากาพย์นั้น บัดนี้ใกล้จะเสร็จสิ้นและได้ข้อยุติแล้ว
ข้อยุตินี้ อาจไม่ใช่เพื่อการช่วยเหลือเจ้าหนี้ หรือเพื่อพิทักษ์ปกป้องลูกหนี้
หากแต่เป็นความถูกต้องชอบธรรมที่รัฐบาลแต่ละประเทศ
พึงกระทำเพื่อรักษาไว้ซึ่งกิจการของคนไทยไม่ให้ต้องตกไปอยู่ในมือฝรั่งต่างชาติ
ย้อนหลังกลับไปมองภาพในอดีต จะพบว่าสถานภาพของทีพีไอ ไม่ได้ต่างไปจากบริษัทน้อย-ใหญ่ในประเทศที่ต้องล้มทั้งยืน
ทันทีที่กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศลอยตัวค่าเงินบาท
แต่ที่ไม่เหมือนกัน เห็นจะเป็นที่ทีพีไอ และกลุ่มผู้บริหารผู้ถือหุ้นใหญ่ อันได้แก่
นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ และครอบครัว ซึ่งได้กลายเป็นบุคคลที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว
จากการเปลี่ยนสถานะสกุลเงินกู้ จากเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นเงินบาท
และไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ หรือความเป็นธรรม จากการปรับโครงสร้างหนี้ใดๆ
จากสถาบันการเงินเจ้าหนี้เฉกเช่น ที่ลูกหนี้รายอื่นๆได้รับ
ผลจึงทำให้หนี้ทั้งต้น และดอกของลูกหนี้กลุ่มนี้ ถูกบวกเพิ่มเข้าไปเป็นทวีคูณถึง
3,800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คำนวณเป็นเงินบาท ณ อัตราแลกเปลี่ยนที่ 50 บาทต่อดอลลาร์
ทำให้ยอดหนี้พุ่งขึ้นไปเป็นเงินเกือบ 200,000 ล้านบาท
ในขณะที่เจ้าหนี้ทั้งไทย และเทศของทีพีไอกว่า 140 รายด้วยกัน เปลี่ยนข้างจากการเป็น
“มหามิตร” ในอดีต มาเป็น “ศัตรูตัวฉกาจ”
ในทันทีที่การเจรจาระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้นอกศาล ไม่ประสบผลสำเร็จ
เพราะมีเดิมพันของอาณาจักรมูลค่าหลายแสนล้านบาทรออยู่นั่นเอง
ทีพีไอ เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการของศาลล้มละลายกลางช่วงปี 42 เป็นบริษัทแรก
หลังการแก้ไขกฎหมายล้มละลายที่เปิดให้ธุรกิจที่ประสบปัญหา
เข้ากระบวนการฟื้นฟูกิจการเพื่อให้กลับมาดำเนินธุรกิจปกติได้
แต่การฟื้นฟูกิจการภายใต้บังเหียนของกลุ่มผู้ถือหุ้น และผู้บริหารชุดเดิม
ดูจะเป็นเรื่องที่ห่างไกลออกไปทุกขณะ เมื่อกลุ่มของนายประชัย
ต้องพลาดท่าเสียทีให้แก่เจ้าหนี้ ที่ชนะในการเสนอให้ศาลล้มละลายกลางแต่งตั้ง
บริษัทเอ็ฟเฟ็คทีฟ แพลนเนอร์ เป็นตัวแทนเจ้าหนี้ในการบริหารแผนฟื้นฟูกิจการทีพีไอ
ในปี 2543...
เปิดตำนานการต่อสู้
แต่ได้สร้างความขัดแย้งมากขึ้นเมื่อ
“ประชัย” ในฐานะผู้ บริหารของลูกหนี้ ประกาศสงครามออกโรงตรวจสอบ
การทำงานของเอ็ฟเฟ็คทีฟฯ ทุกตารางเมตร โดยใช้กลยุทธ์ทั้งใต้ดิน-บนดิน ต่อต้าน
ก่อกวน และวางยาการเข้ามาทำงาน ของเอ็ฟเฟ็คทีฟฯทุกรูปแบบ
และยังยื่นคำร้องคัดค้านแผนฟื้นฟู ฉบับเอ็ฟเฟ็คทีฟต่อศาลอย่างต่อเนื่อง
โดยชี้ให้เห็นว่าเป็นแผนที่สร้างความหายนะให้ทีพีไอ
เพราะมุ่งชำแหละทรัพย์สินและธุรกิจต่างๆออกมาขายให้ต่างชาติ
แถมยังต้องการฮุบกิจการหลักของทีพีไอ
นอกเหนือจากการกอบโกยผลประโยชน์ค่าจ้างปีละหลายพันล้านบาท
เห็นได้จากการนำดอกเบี้ยค้างรับมาแปลงเป็นทุน ส่งผลให้เจ้าหนี้
กลับกลายมาเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ทีพีไอถึง 75% ของทุนทั้งหมด
ขณะที่ยอดหนี้เงินต้นยังตั้งรออยู่ครบทุกเม็ด ไม่ได้ลดซักบาท!!
กว่า 3 ปีของการเข้ามาของเอ็ฟเฟ็คทีฟฯ
ส่งผลให้ความขัดแย้งระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
จนมีคดีฟ้องร้องกันมากกว่า 200 คดี ในที่สุดในปี 46
ศาลจึงมีคำสั่งเพิกถอนให้เอ็ฟเฟ็คทีฟ แพลนเนอร์ ออกจากการเป็นผู้บริหารแผน
รัฐบาลโดดเป็นเจ้าภาพ
เปิดทางให้รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังต้องโดดเข้ามาเป็นเจ้าภาพ
โดยศาลล้มละลายได้แต่งตั้งให้กระทรวงการคลัง เข้ามาเป็นผู้บริหารแผน
และแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการใหม่ โดยให้มีสิทธิเด็ดขาดในการปรับโครงสร้างหนี้,
โครงสร้างทุนและจัดหาผู้ร่วมลงทุนที่เหมาะสม
หวังให้การแก้ปัญหาของลูกหนี้เป็นไปอย่างบูรณาการแบบเบ็ดเสร็จ
หลังรัฐบาลมีดำริจะร่วมมือกับศาลยุติธรรมในการแก้ปัญหา
เพราะเห็นว่าหากปล่อยไว้ ความขัดแย้งที่รุนแรง และความไม่ไว้วางใจที่มีต่อกัน
รังแต่ จะสร้างความหายนะให้กับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขนาดใหญ่ ที่เป็นสินทรัพย์ของชาติ
ซึ่งมีพนักงานและครอบครัวเกี่ยวข้องคู่ค้าทั้งในและต่างประเทศ
ที่จะสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องให้กับประเทศ ไม่ให้ได้รับผลกระทบ
และหากปล่อยให้บริษัทต้องล้มละลายไป
ก็จะยิ่งเพิ่มปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้มหาศาล ต่อสถาบันการเงินเจ้าหนี้
รวมทั้งหุ้นในตลาดก็จะไม่มีราคา ส่งผลกระทบต่อผู้ถือหุ้น
5 อรหันต์จากกระทรวงการคลัง จึงได้รับการแต่งตั้งเข้ามาเป็นผู้บริหารแผน
โดยประกาศยึดนโยบายหลักคือ ต้องทำให้ทีพีไอกลับมาแข็งแรงดำเนินกิจการได้ตามปกติ,
พนักงานต้องได้รับการดูแล ไม่ตกงาน ขณะที่เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้คืน
และฝ่ายลูกหนี้ต้องได้รับความเป็นธรรม!!
แผนฟื้นฟูกิจการฉบับกระทรวงการคลัง จึงกำหนดให้ลดทุนเพื่อตัดขาดทุนสะสม
และเพิ่มทุนขายหุ้นให้กลุ่มพันธมิตร, พนักงานและผู้ถือหุ้นเดิม
รวมทั้งขายหุ้นบริษัททีพีไอโพลีนในส่วนที่ทีพีไอถืออยู่ เพื่อนำเงินทั้งสิ้นกว่า
1,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 69,000 ล้านบาท มาชำระคืนให้เจ้าหนี้ทั้งหมด
ขณะที่เจ้าหนี้ต้องยอมลดดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นใหม่ทั้งหมด
และยอมคายหุ้นที่ได้จากการแปลงหนี้เป็นทุนฮุบกิจการในรอบแรก
ออกมาขายให้กลุ่มพันธมิตรด้วย หากทุกอย่างเป็นไปตามแผน หลังการเพิ่มทุนเสร็จสิ้น
สถานะของทีพีไอจะกลับมาแข็งแกร่ง หลุดพ้นจากพันธนาการที่เคยมีหนี้สินล้นพ้นตัว!!
ขณะที่วงจรธุรกิจปิโตรเคมีที่เป็น “ขาขึ้น” ได้สร้างกำไรให้ทีพีไอมหาศาล โดยล่าสุด
ณ มิ.ย.48 ทีพีไอมีสินทรัพย์รวมกว่า 155,299 ล้านบาท มีเงินสดในมือ 6,568 ล้านบาท
และเพียง 6 เดือนแรกของปี 48 สร้างยอดขายได้กว่า 86,042 ล้านบาท มีกำไร 3,768
ล้านบาท และธุรกิจมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเรื่อยๆ
เจ้าหนี้กลับลำหวังฮุบกิจการ
แต่สิ่งที่อยู่เหนือความคาดหมาย ที่ก่อตัวขึ้นช่วงปลายทางของการฟื้นฟูกิจการคือ
การเคลื่อนไหวของเจ้าหนี้ต่างชาติบางกลุ่ม ที่เริ่มเปลี่ยนใจ
อยากกลับมาฮุบหุ้นฮุบกิจการทีพีไอ หลังดีดลูกคิดแล้วเห็นว่า
มีโอกาสหากำไรได้มหาศาลจากราคาหุ้น
เพราะถ้าเจ้าหนี้ใช้สิทธิแปลงหนี้เป็นทุนก็จะทำให้มีกำไรทันที
ดังนั้น
ระหว่างที่กลุ่มพันธมิตร ของกระทรวงการคลังจะเข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุน ซึ่งมี บมจ.ปตท.
เป็นหัวหอกนำทีม ตามด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)
ธนาคารออมสินและกองทุนวายุภักษ์
ได้วางแผนที่จะขออำนาจศาลเข้าไปนั่งเป็นกรรมการร่วมบริหารทีพีไอ
ก่อนที่จะใส่เงินเพิ่มทุนเข้าไปร่วม 60,000 ล้านบาท รวมทั้งขอขยายแผนฟื้นฟูไปอีก
3-6 เดือน เพื่อสร้างความมั่นใจและทุกอย่างดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย
เจ้าหนี้ต่างชาติจึงได้รวมหัวกันซื้อหนี้จากเจ้าหนี้บางกลุ่ม
รวมทั้งล็อบบี้เจ้าหนี้บางรายจนได้เสียงข้างมาก เตรียมคัดค้านการขยายเวลาแผนฟื้นฟู
โชคดีที่ข่าวรั่ว และรัฐบาล โดยคณะผู้บริหารแผน ได้วิ่งล็อบบี้
กล่อมจนเจ้าหนี้ต่างชาติหลายราย ยอมพลิกกลับมาเข้าร่วมกับฝ่ายไทย
ขณะที่บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (IFC)
เจ้าหนี้รายใหญ่ยอมงดออกเสียงตั้งตัวเป็นกลาง
ทำให้ปฏิบัติการยึดทีพีไอกลับมาอยู่ในอ้อมอกของไทยสำเร็จได้อีกครั้งอย่างฉิวเฉียด
และทันทีที่ศาลล้มละลาย มีคำสั่งขยายเวลาการอยู่ในแผนฟื้นฟูของทีพีไอออกไปอีก 6
เดือน
เมื่อวันที่ 2 พ.ย. และยอมให้คณะผู้บริหารแผนกำหนดวันประชุมผู้ถือหุ้น
หลังทีพีไอออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้ เพื่อให้ตัวแทนจาก ปตท.และพันธมิตร
เข้าไปร่วมนั่งเป็นกรรมการทีพีไอ
เป็นการยืนยัน และสร้างความมั่นใจได้ว่า หลังออกจากแผนฟื้นฟู อาณาจักร
ทีพีไอกำลังจะกลับมาผงาดอีกครั้งและอย่างยิ่งใหญ่
เมื่อได้ผนึกกำลังกับพันธมิตรยักษ์ใหญ่อย่าง ปตท.!!
อนาคตทีพีไอผงาดเอเชีย
ว่ากันว่า หลังจาก ปตท.เข้าร่วมทุนกับทีพีไอ
จะทำให้ประเทศไทยมีการผลิตอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ครบวงจร
ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำอย่างแท้จริง และกลายเป็นบริษัทที่มีขนาดใหญ่ของเอเชีย
ออกไปสู้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างชาติจากอินเดียและจีนได้อย่างไม่น้อยหน้า
ขณะที่ธุรกิจโรงกลั่นก็สามารถออกไปต่อกรกับสิงคโปร์ได้ โดยทั้ง 2
บริษัทจะพึ่งพาทรัพยากรและสายการผลิตซึ่งกันและกันได้ ทั้งธุรกิจโรงกลั่น ก๊าซ
โรงไฟฟ้า ท่าเรือน้ำลึก ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการผลิตและการสั่งซื้อวัตถุดิบ
และยังสามารถบริหารจัดการระบบการจำหน่ายและการขนส่งร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สุดท้ายจะทำให้ผลประกอบการของทั้งทีพีไอ และ ปตท.เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง
สร้างรายได้กลับเข้าประเทศชาติได้อย่างมหาศาล
ขณะที่ “ประเสริฐ บุญสัมพันธ์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.ย้ำว่า
การเข้าไปถือหุ้นในทีพีไอครั้งนี้ ปตท.จะเข้าไปปรับปรุงและพัฒนาธุรกิจให้เกิดประสิทธิภาพ
และเกิดธุรกิจครบวงจรต่อเนื่องมากขึ้น
ไม่ว่าจะเพิ่มกำลังการผลิตโรงกลั่นน้ำมันทีพีไอ ที่ปัจจุบันมีกำลังการผลิตขนาด
210,000 บาร์เรลต่อวัน แต่กลั่นจริงเพียง 180,000 บาร์เรลต่อวัน
และจะใส่เงินทุนเข้าไปขยายกำลังการผลิต
ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพื่อให้สอดรับกับนโยบายรัฐบาล ที่ให้ ปตท.เป็นแกนนำในการลงทุนโครงการปิโตรเคมีเฟส
3 หรือ “ปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์” ไล่ตั้งแต่ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำครบวงจร ซึ่ง ปตท.และทีพีไอจะลงทุนส่วนขยายในเม็ดพลาสติกเกือบทุกประเภท
ทำให้ปี 2552 กิจการปิโตรเคมีของ ปตท.และทีพีไอจะมีกำลังการผลิตจนกลายเป็นยักษ์ใหญ่ในธุรกิจปิโตรเคมีทันที
ขณะที่โรงไฟฟ้าทีพีไอ จ.ระยอง ที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ปตท.จะเข้าไปปรับปรุง
โดยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงได้แทน ซึ่งต้นทุนต่ำและสะอาดกว่า เพราะ ปตท.เตรียมก่อสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติแห่งที่
6 ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดอยู่แล้ว สำหรับท่าเรือน้ำลึกที่ทีพีไอมีอยู่
ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงในการรองรับเรือขนส่งขนาดใหญ่ ปตท.จะเข้าไปก่อสร้างส่วนขยายท่าเรือเพิ่ม
เพื่อรองรับวัตถุดิบและขนส่งสินค้าทั้งของทีพีไอและเอกชนรายอื่นๆ ซึ่งจะสร้างรายได้
อีกทางและยังถือเป็นอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องที่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน
พันธมิตรใหม่มั่นใจศักยภาพ
ด้าน “วิสิฐ ตันติสุนทร” เลขาธิการ กบข. กล่าวว่า กบข.ซึ่งทุ่มเงินเข้าไปลงทุนในทีพีไอ
6,450 ล้านบาท ถือหุ้น 10%
มั่นใจว่าจะได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่าหลังพิจารณาศักยภาพของทีพีไอ โดยคาดว่า กบข.จะได้ผลตอบแทนปีละไม่ต่ำกว่า
15% โดยตั้งใจถือหุ้นยาว 5 ปี เพราะแนวโน้มทีพีไอดีแน่นอน
เนื่องจากการเข้าไปซื้อหุ้นภายหลังจากทีพีไอได้ผ่านกระบวนการปรับปรุงโครงสร้างแล้ว
ทำให้เสี่ยงน้อย
ส่วน “กรพจน์ อัศวินวิจิตร” ผอ.ธนาคารออมสิน กล่าวว่า
ผลตอบแทนจากการลงทุนในปัจจุบันและอนาคตมีความคุ้มค่า ในแง่ของผลตอบแทนทั้งเงินปันผล
และราคาหุ้น นอกจากนี้
ยังมองถึงผลประโยชน์ที่ประเทศชาติจะได้ประโยชน์จากการแก้ปัญหาทีพีไอที่เกิดขึ้น
อย่างมหาศาลทั้งการลดหนี้เอ็นพีแอลและการจ้างงาน ด้าน “พรรณี สถาวโรดม”
ในฐานะผู้อำนวยการกองทุนรวมวายุภักษ์ กล่าวว่า
นับจากวันที่กองทุนรวมวายุภักษ์ลงนามซื้อหุ้นทีพีไอในราคา 3.30 บาท
จนถึงปัจจุบันราคาหุ้นทีพีไอขึ้นมาอยู่ที่ 14-15 บาท ก็ถือว่ากิจการของทีพีไอ
ยังมีอนาคตที่สดใส โดยเฉพาะอุตสาหกรรมปิโตรเคมีแนวโน้มยังอยู่ขาขึ้นอีก 2-3 ปี
ทั้งหมดล้วนเป็นความเห็นของพันธมิตรผู้ถือหุ้นใหม่
ที่มั่นใจถึงความคุ้มค่าในการใส่เม็ดเงินเข้าไปร่วมทุน
เมื่อพิจารณาศักยภาพและแนวโน้มธุรกิจทีพีไอในอนาคต หลังออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ
ขณะที่คดีลูกหนี้ประวัติศาสตร์ของประเทศไทย กำลังจะปิดฉากลง พร้อมๆกับการกลับมาผงาด
ฟื้นคืนชีพของอาณาจักรทีพีไอ แม้จะต้องเปลี่ยนมือจากกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิม
แต่ยังดีที่สามารถรักษาธุรกิจสำคัญนี้ให้เป็นของคนไทย
เพราะระหว่างทางของการคัดง้างต่อสู้หลายครั้ง
เกือบพลาดพลั้งตกไปอยู่ในมือของต่างชาติ
และคดีสำคัญนี้ ได้ฝากบทเรียนไว้อย่างมากมาย
ของการแก้ปัญหาในภาวะวิกฤติให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งเจ้าหนี้ ลูกหนี้
และภาครัฐ ได้จดจำและเรียนรู้ และป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำรอยได้อีก
เพราะ 8 ปี ของการต่อสู้ ยาวนานเกินไป
สำหรับอุตสาหกรรมที่ลงทุนเป็นแสนล้านต้องหยุดชะงัก
ไม่สามารถสร้างมูลค่าเศรษฐกิจให้กับประเทศได้อย่างเต็มที่
ขณะที่ “ประชัย” ก็ได้สร้างตำนานการต่อสู้ของลูกหนี้ ที่งัดกลยุทธ์สู้ทุกรูปแบบ
แม้ขณะนี้ทุกฝ่ายจะมองว่าคดีนี้กำลังจะปิดฉากลง
และประชัยจะเหลือเพียงการเป็นผู้ถือหุ้นส่วนน้อย 10% แถมยังมีส่วนร่วมในการบริหาร
แต่ทีมเศรษฐกิจเชื่อว่า การต่อสู้เพื่อให้ได้ธุรกิจทีพีไอกลับคืนมายังไม่สิ้นสุด
ตราบใดที่คนชื่อ “ประชัย” ยังมีชีวิต จะปรามาสไม่ได้
เพราะคนที่คิดและสร้างอาณาจักรอย่างทีพีไอขึ้นมาได้ ต้องไม่ธรรมดา!!
ประเสริฐ
บุญสัมพันธ์
“การใส่เงินลงทุนในทีพีไอถือว่าคุ้มค่า และสมเหตุสมผล ซึ่ง ปตท.เข้าไปถือหุ้นสัดส่วนถึง
31.5% จึงต้องเร่งเข้าไปปรับปรุง
และพัฒนาธุรกิจให้เกิดประสิทธิภาพและครบวงจรมากขึ้น
ทั้งการเพิ่มกำลังการผลิตโรงกลั่นน้ำมันทีพีไอ
และขยายกำลังการผลิตปิโตรเคมีเพิ่มอีก สอดรับกับนโยบายรัฐบาลที่ให้ ปตท.เป็นแกนนำ “ปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์”
ซึ่งจะส่งผลให้ ปตท.และทีพีไอกลายเป็นยักษ์ใหญ่ในธุรกิจปิโตรเคมีเท่ากลุ่มปูนใหญ่ทันที”
พรรณี
สถาวโรดม
“การลงทุนของกองทุนรวมวายุภักษ์ในกิจการทีพีไอ
ถ้ามองในแง่ธุรกิจแล้วต้องถือว่าคุ้มค่าในการลงทุน
เพราะนับจากวันที่กองทุนรวมวายุภักษ์
ได้ลงนามในข้อตกลงเบื้องต้นที่จะซื้อหุ้นทีพีไอในราคา 3.30 บาท
จนถึงปัจจุบันที่ราคา 14-15 บาทต่อหุ้น ถือว่ากิจการของทีพีไอยังมีอนาคตที่สดใส
โดยเฉพาะอุตสาหกรรมปิโตรเคมีแนวโน้มยังอยู่ขาขึ้นอีก 2-3 ปี
และคาดว่าการลงทุนในครั้งนี้จะทำให้ฐานะการเงินของทีพีไอดีขึ้น
เพราะได้นำเงินไปชำระหนี้ส่วนใหญ่”
กรพจน์
อัศวินวิจิตร
“ทีพีไอได้ผ่านกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้จากกระทรวงการคลัง
ทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนทั้งในปัจจุบันและอนาคตมีความคุ้มค่า เช่น เงินปันผล
และมาร์เก็ต แคปส์ และมองถึงผลประโยชน์ที่ประเทศชาติ
จะได้รับจากการแก้ไขปัญหาของทีพีไอที่จะเกิดขึ้นอย่างมหาศาล และต่อเนื่อง เช่น
การลดปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) และการจ้างแรงงาน
ขณะที่หนี้สินทีพีไอเมื่อเทียบกับกิจการที่ยังเหลืออยู่มีจำนวนน้อยมาก
จึงเชื่อว่าอนาคตของทีพีไอน่าจะสดใส”
วิสิฐ
ตันติสุนทร
“กบข.ได้ร่วมกับกองทุนไทยทวีทุน เข้าไปลงทุนในทีพีไอ คิดเป็นเม็ดเงิน 6,450 ล้านบาท
หรือ 10% ของหุ้นที่กระจายทั้งหมด โดยคาดว่าอัตราผลตอบแทนต่อปีที่ กบข.จะได้รับประมาณปีละ
15% เป็นระยะเวลา 5 ปี และยังสามารถส่งตัวแทนเข้าไปนั่งเป็นกรรมการในทีพีไอ 1
ตำแหน่งได้ตามสัดส่วนการถือหุ้น และการเข้าไปซื้อหุ้นของ กบข.เกิดขึ้นภายหลังจากทีพีไอได้ผ่านกระบวนการปรับปรุง
โครงสร้างหนี้แล้ว ทำให้ความเสี่ยงมีน้อยมาก”
ทีมเศรษฐกิจ