MOTT เรือสารพัดประโยชน์ ลำแรกฝีมือคนไทย
"MOTT" เรือสารพัดประโยชน์ ลำแรกฝีมือคนไทย
โดย
มติชน
13 ธันวาคม 2548
โดย สุชาฎา ประพันธ์วงศ์
การทำงานกลางทะเล ทุกอย่างต้องพร้อม ทั้งคน
ทั้งเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ
โดยเฉพาะการทำงานของพวกที่อยู่ประจำแท่นขุดเจาะปิโตรเลียมกลางทะเล หรือมหาสมุทร
เพราะชีวิตที่นั่นแทบไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับโชคชะตา
หลังจากตลอดระยะเวลาเริ่มต้นตั้งแต่ประเทศไทยผลิตปิโตรเลียม
จะต้องพึ่งพาอาศัยเทคโนโลยีของต่างประเทศ
ไม่เว้นแม้กระทั่งการต่อเรือที่ใช้ในกิจการดังกล่าวนานหลายทศวรรษ
มาวันนี้ นับว่าคนไทย ประเทศไทย ประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรก
ที่สามารถลงมือสร้างเรือ หรือต่อเรือ ที่เรียกว่า "เรือดันจูง" ได้สำเร็จเป็นลำแรก
ที่ได้รับยกย่องว่าเป็นฝีมือคนไทย
เรือดันจูงลำดังกล่าวมีชื่อว่า "เรือยูนิไวส์ชลบุรี"
เป็นเรือดันจูงอเนกประสงค์ ประจำแท่นผลิตปิโตรเลียมกลางทะเล
หรือที่ชื่อภาษาอังกฤษเรียกว่า "Multi-Purpose Offshore Terminal Tug" ชื่อย่อ "MOTT"
เรือ MOTT สร้างเสร็จเรียบร้อยสมบูรณ์
และมีการทำพิธีปล่อยลงน้ำอย่างเป็นทางการไปเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
เรือลำนี้พร้อมจะออกไปปฏิบัติการได้ในต้นปี 2549
พิธีปล่อยเรือ MOTT
เริ่มขึ้นโดยมีการผูกโยงด้ายสายสิญจน์รอบลำเรือเพื่อทำพิธีไหว้แม่ย่านางประจำเรือ
จากนั้นเป็นการ "ทุบขวดแชมเปญ" ที่หัวเรือ วิธีการคือ
คนที่ได้คัดเลือกในพิธีจะโยนขวดแชมเปญให้ไปกระทบกับหัวเรือจนแตกกระจาย
ซึ่งคนที่ได้รับการคัดเลือกให้โยนขวดแชมเปญในพิธีนี้ได้จะต้องเป็นผู้หญิงเท่านั้น
พิธีนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง
เพราะเรือทุกลำเมื่อสร้างเสร็จแล้วจะต้องทำพิธีไหว้แม่ย่านาง
พร้อมกับตั้งชื่อเรือด้วย
เรืออเนกประสงค์ หรือ MOTT
จะเป็นเรือที่สร้างขึ้นมาเพื่อทำงานเฉพาะกิจ ประจำแท่นขุดเจาะปิโตรเลียมกลางทะเล
ซึ่งปกติจะต้องมีเรือที่ทำงานประจำแท่นผลิตนี้ไม่ต่ำกว่า 3-4 ลำ
เพื่อดำเนินงานต่างๆ ทั้งในกรณีฉุกเฉิน และสถานการณ์ปกติ
งานต่างๆ ที่เป็นหน้าที่ของเรืออเนกประสงค์ เช่น
คอยอพยพผู้คนหากเกิดภาวะฉุกเฉิน หรือเกิดเพลิงไหม้บนเรือ
เพื่อให้เรือดับเพลิงเข้าไปทำหน้าที่ได้ ทำหน้าที่เป็นเรือขนถ่ายสินค้า
หรือช่วยในการเทียบเรือบรรทุกน้ำมัน
หรือดำเนินการซ่อมบำรุงท่อส่งน้ำมันที่แท่นกักเก็บปิโตรเลียมกลางทะเล
เคลื่อนย้ายแท่นขุดเจาะ และยังเป็นเรือสำรองเพื่อการช่วยเหลืออื่นๆ อีกด้วย
ก่อนหน้าจะมีการต่อเรือยูนิไวส์ชลบุรีลำนี้ เรือประเภท MOTT นั้น
ประเทศไทยมีอยู่เพียง 1 ลำ คือ "เรือยูนิไวส์ระยอง"
ซึ่งเป็นเรือที่ต่อขึ้นในประเทศสิงคโปร์ โดยคนสิงคโปร์
ปัจจุบันปฏิบัติงานให้กับบริษัท อัลลายแอนซ์รีไฟน์นิ่ง จำกัด (เออาร์ซี)
*ดังนั้น เมื่อการต่อเรือ "ยูนิไวส์ชลบุรี" ลำนี้สำเร็จ
จึงนับเป็นเรือ MOTT ลำแรกที่ต่อโดยคนไทย และในประเทศไทย*
แบบ drawing
ของเรือ
Multi-Purpose Offshore Terminal Tug MOTT
*เกรียงเดช ปิยวัณโณ* ผู้จัดการฝ่ายพาณิชย์ บริษัท ยูนิไวส์
ออฟชอร์ จำกัด เล่าว่า เรือ MOTT ออกแบบโดยบริษัท ยูนิไวท์ ออฟชอร์ จำกัด
สร้างขึ้นที่อู่ต่อเรือของบริษัท ยูนิไทยชิปยาร์ด แอนด์ เอนจิเนียริ่ง
ซึ่งเป็นอู่ต่อเรือที่ใหญ่ที่สุด
มีบุคลากรและเครื่องมืออุปกรณ์ที่ครบครันที่สุดในประเทศไทย โดยบริษัท เชฟรอน
ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ว่าจ้างให้สร้าง
เนื่องจากบริษัทเชฟรอนฯมีอัตราการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติสูงสุดในประเทศไทย
ด้วยยอดผลิตเฉลี่ยต่อวัน ประกอบด้วย น้ำมันดิบ 90,000 บาร์เรล ก๊าซธรรมชาติ 1,500
ล้านลูกบาศก์ฟุต และก๊าซธรรมชาติเหลว 42,000 บาร์เรล จึงอยากให้มีเรือ MOTT
ที่ต่อขึ้นมาด้วยฝีมือคนไทย
"เรือยูนิไวส์ชลบุรีลำนี้ถือว่าเป็นความภาคภูมิใจของทั้งผู้สร้างและผู้ใช้
เพราะนับว่าเป็นเรืออเนกประสงค์ที่มีความพิเศษ
เพราะมีการออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อรองรับการปฏิบัติงานกลางทะเลโดยเฉพาะ
ใช้เวลาในการก่อสร้างนาน 14 เดือน สำหรับตัวเรือมีความยาว 45 เมตร กว้าง 13 เมตร
มีขีดความสามารถในการดันจูงน้ำหนักได้มากถึง 65 ตัน"
เรือ MOTT ไม่เหมือนกับเรือทั่วไป ทั้งโครงสร้าง รูปร่าง
หากเป็นเรือทั่วไปจะมีหางเสือเพื่อบังคับทิศทางเรือ แต่เรือ MOTT
นี้ไม่ต้องมีหางเสือ เรือสามารถบังคับทิศทางเหมือนเรือทั่วไปได้ เป็นการใช้ระบบ ASD
ซึ่งเป็นระบบขับเคลื่อนโดยใช้ใบจักรควบคุมทิศทางเพื่อความคล่องตัว
และยังสามารถหมุนได้รอบทิศ 360 องศา ทั้งยังใช้งานได้ตลอด 24 ชั่วโมง
เกรียงเดชบอกอีกว่า
การทำงานกลางทะเลลึกกับแท่นขุดเจาะน้ำมันนั้นต้องอาศัยเรือทำการช่วยเหลือในกิจกรรมต่างๆ
ดังนั้น เรือ MOTT จะทำหน้าที่เป็น "เรือพี่เลี้ยง" เหมือนกับโรงงานเคลื่อนที่ก็ได้
เพราะไม่ว่าคลื่นลมในทะเลจะแรงแค่ไหน เรือดังกล่าวก็สามารถทำงานได้ เช่น
หากเกิดพายุในทะเล เรือสามารถจะอพยพผู้คนได้ทันที
"หรือที่สำคัญคือ
หากมีการรั่วไหลของน้ำมันกระจายออกไปทั่วพื้นน้ำในทะเล เรือ MOTT
ก็สามารถไปเก็บกู้คราบน้ำมันที่ปนเปื้อนในทะเลได้
โดยทำให้คราบน้ำมันอยู่ในบริเวณจำกัดเพื่อการเก็บกู้ หรือที่เราเรียกว่า บูม
เป็นการล้อมคราบน้ำมันเอาไว้ไม่ให้กระจายออกไปเพื่อทำการกำจัดคราบ"
ที่พิเศษอีกอย่างหนึ่งของเรือ MOTT
คือสามารถลากแท่นขุดเจาะน้ำมันที่มีน้ำหนักมาก
ย้ายจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งได้อย่างสบายๆ นอกจากนี้
ยังถูกออกแบบให้สามารถรองรับภารกิจที่ซับซ้อนและหลากหลายประเภท
งานสำรวจน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติด้วย
เรือ MOTT เป็นเรือที่มีขนาดใหญ่
กว่าที่เรือลำนี้จะออกมาเป็นรูปเป็นร่างได้
ต้องใช้ทั้งเครื่องจักรและแรงงานคนช่วยกันสร้าง อย่างที่กล่าวแล้วว่า
เรือลำนี้ไม่ได้ต่อกันง่ายๆ ต้องใช้ความรู้ ความสามารถ
รวมถึงความเชี่ยวชาญในการต่อเรือเพื่อประกอบเรือลำนี้ให้ออกมาอย่างสมบูรณ์
แม้ว่าคนไทยจะไม่มีชื่อเสียงเรื่องการต่อเรือ
เมื่อเทียบกับประเทศที่เป็นเมืองท่าสำคัญ แต่หลายคนก็มีความสามารถ
โดยรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากชาวต่างประเทศ
ใช้วิธีครูพักลักจำนำความรู้กลับมาสร้างเรือเองได้อย่างมีคุณภาพและมาตรฐานระดับสากล
เรือ MOTT ลำแรกของไทยที่สร้างโดยฝีมือคนไทยนี้
ได้รับการรับรองจากสถาบันชั้นนำของการต่อเรือ หน่วยงาน BV (Bureau Veriter)
ว่าได้มาตรฐานสากล โลกยอมรับ
รวมทั้งลูกเรือที่จะขึ้นไปประจำการที่เรือยังต้องมีการอบรมกันตั้งแต่กะลาสีเรือจนถึงกัปตันเรือ
ทุกอย่างจะต้องเป็นระดับสากลทั้งสิ้น
ผู้จัดการเกรียงเดชบอกเป็นการปิดท้ายว่า
ไม่เฉพาะเรือเท่านั้นที่ต้องได้มาตรฐานสากล แม้แต่ลูกเรือ กัปตัน และกะลาสีเรือ
จะต้องมีมาตรฐานความเชี่ยวชาญระดับสากลเพื่อความปลอดภัยของผู้เช่าเรือ
"งานนอกชายฝั่งเป็นงานที่ทรหด ต้องแข่งกับแรงคลื่นลมทะเล
เสี่ยงภัยอันตรายมากมายกับสภาพอากาศที่แปรปรวนตลอดเวลา ดังนั้น
เรือน้ำลึกต้องมีมาตรฐานสูงสุด"
จึงนับเป็นความสำเร็จ น่าภาคภูมิใจของแรงงานไทยอีกก้าวหนึ่ง
ที่ขึ้นสู่ระดับสากลในด้านอุตสาหกรรมการต่อเรือ เป็นการเบิกทางให้เห็นว่า อีกไม่นาน
อุตสาหกรรมด้านนี้ของไทยอาจก้าวขึ้นอันดับเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมระดับโลก
อู่ต่อเรือบริษัท ยูนิไทย ชิปยาร์ด แอนด์ เอนจิเนียริ่ง
เป็นของนายชวลิต เชาว์ เป็นอู่ต่อเรือ
ซ่อมเรือที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 330 ไร่ ที่อำเภอแหลมฉบัง
จังหวัดชลบุรี เดิมก่อนจะทำธุรกิจซ่อมเรือ เคยทำธุรกิจทำโครงสร้างเหล็กขนาดใหญ่
เช่น โครงสร้างสะพาน โรงานไฟฟ้า โรงกลั่น และเรือขนาดใหญ่
ยังมีการสร้างแท่นสำรวจน้ำมัน แท่นขุดเจาะน้ำมันส่งออกให้ต่างประเทศด้วย
สำหรับอู่ต่อเรือของที่นี่มีขนาดใหญ่เท่ากับสนามฟุตบอล 3 สนาม
เรือหลวงจักรีนฤเบศร ก็เคยนำมาซ่อมที่นี่เช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ยังมีบริษัท ยูนิไวส์ ออฟชอร์ จำกัด
เป็นหนึ่งในเครือกลุ่มบริษัทยูนิไทย โดยการร่วมทุนระหว่าง บมจ.ยูนิไทย ไลน์
และบริษัท สวิทเซอร์ วิสมุลเลอร์ ของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นเครือของบริษัทเอ.พี
มอลเลอร์-เมอร์ก กรุ๊ป ดำเนินธุรกิจด้านพาณิชย์นาวีรายใหญ่ที่สุดของโลก
ปัจจุบันยูนิไวส์ ออฟชอร์ บริหารกองเรือโดยสารจำนวน 11 ลำ
ซึ่งหมายรวมถึงเรืออเนกประสงค์(utilities line boat) และเรือดันจูง(MOTT)
สำหรับให้บริการสนับสนุนในอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย