เมื่อน้ำแข็งกรีนแลนด์ละลายเร็วขึ้น
เมื่อน้ำแข็งกรีนแลนด์ละลายเร็วขึ้น
โดย มติชน
วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10213
คอลัมน์ โลกสามมิติ
โดย บัณฑิต คงอินทร์ bandish.k@psu.ac.th
นักวิทยาศาสตร์เคยทำนายว่า
แผ่นน้ำแข็งบนเกาะกรีนแลนด์ ซึ่งหนาประมาณ 3 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 1.7
ล้านตารางกิโลเมตร จะละลายหมดไปใน 1,000 ปีข้างหน้า ทว่าขณะนี้คงไม่ใช่แล้ว
มันอาจเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คิดไว้มาก เพราะผลจากภาวะโลกร้อน
นักวิทยาศาสตร์ของนาซาและมหาวิทยาลัยแคนซัสเผยผลการวิจัยในวารสาร "journal Science"
ว่าอัตราการละลายของน้ำแข็งบนเกาะกรีนแลนด์ได้เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในช่วงเวลาระหว่างปี
1996-2005 โดยธารน้ำแข็งได้ไหลลงมหาสมุทรแอตแลนติกเร็วขึ้น
ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
การเพิ่มขึ้นของปริมาณน้ำแข็งบนเกาะกรีนแลนด์เกิดจากหิมะที่สะสมภายในแผ่นน้ำแข็ง
ขณะเดียวกันมวลของน้ำแข็งก็จะลดลงจากการละลายที่บริเวณขอบรอบๆ ของแผ่นน้ำแข็ง
และการไหลของธารน้ำแข็งลงสู่มหาสมุทรซึ่งจะทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น
ดร.อีริค ริกนอท นักวิทยาศาสตร์นาซา จากห้องทดลองจรวดขับดัน (Jet Propulsion
Laboratory) สถาบันเทคโนโลยีแห่งแคลิฟอร์เนียและแพนเนียร์ คานาการัตนัม
นักวิทยาศาสตร์จาก Center for Remote Sensing of Ice Sheets มหาวิทยาลัยแคนซัส
ศึกษาการเปลี่ยนแปลงอัตราความเร็วการไหลของธารน้ำแข็งที่กรีนแลนด์ในช่วงเวลา 10
ปีที่ผ่านมา
โดยเชื่อว่าธารน้ำแข็งเป็นปัจจัยสำคัญของการลดลงของมวลน้ำแข็งทั้งหมดบนเกาะกรีนแลนด์
ทีมนักวิทยาศาสตร์วัดความเร็วการไหลของธารน้ำแข็งโดยใช้ดาวเทียม European Space
Agency"s Earth Remote Sensing Satellites 1 และ 2 ในปี 1996 ดาวเทียม Canadian
Space Agency"s Radarsat-1 ในปี 2000 และ 2005 และดาวเทียม European Space Agency"s
Envisat Advanced Synthetic Aperture Radar ในปี 2005
ประกอบกับข้อมูลความหนาของน้ำแข็งในระหว่างปี 1997-2005 ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 1 ล้าน
2 แสนตารางกิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 75 ของแผ่นน้ำแข็งของกรีนแลนด์ทั้งหมด
ผลการศึกษาพบว่าตั้งแต่ปี
1996-2000 ธารน้ำแข็งไหลเร็วขึ้นที่บริเวณตำแหน่งใต้ 66 องศาเหนือ และขยายยัง 70
องศาเหนือในปี 2005 ผลการคำนวณพบว่ามีน้ำแข็งที่ละลายจากธารน้ำแข็งในปี 1996 จำนวน
63 ลูกบาศก์กิโลเมตรต่อปี และเพิ่มขึ้นในปี 2005 เป็น 162 ลูกบาศก์กิโลเมตรต่อปี
ซึ่งเมื่อรวมกับปริมาณของน้ำแข็งที่ละลายจากแผ่นน้ำแข็งและหิมะในช่วงเวลาเดียวกันแล้ว
ทำให้น้ำแข็งของกรีนแลนด์ละลายในปี 1996 จำนวน 96 ลูกบาศก์กิโลเมตรต่อปี
และเพิ่มเป็น 220 ลูกบาศก์กิโลเมตรต่อปี ในปี 2005
ผลของมันทำให้ระดับน้ำทะเลของโลกสูงขึ้นกว่าในปี 1996 ราว 2-3 เท่า
ก่อนหน้านี้ รายงานวิจัยของมหาวิทยาลัยสแวนซีระบุว่า
ธารน้ำแข็งหลักของเกาะกรีนแลนด์คือ ธารน้ำแข็ง "Kangerdlugssua" และธารน้ำแข็ง "Helheim"
ไหลลงสู่มหาสมุทรแอตแลนติกเร็วเป็นสองเท่าของ 2
ปีที่ผ่านมาหลังจากที่การไหลมีอัตราคงที่มาตั้งแต่ทศวรรษ 1990
นานกว่า 20
ปีแล้วที่อุณหภูมิบริเวณตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะกรีนแลนด์เพิ่มสูงขึ้นถึง 3
องศาเซลเซียส
นักวิทยาศาสตร์เชื่อแน่ว่าอุณหภูมิที่สูงขึ้นเป็นสาเหตุทำให้ธารน้ำแข็งไหลเร็วขึ้น
โดยธารน้ำแข็งบริเวณทางตอนใต้ของกรีนแลนด์ไหลเร็วขึ้นตั้งแต่ปี 1996-2000
และขยายไปทางตะวันออกกลางและตะวันตกตั้งแต่ปี 2000-2005
ริกนอตบอกว่า การเกิดแผ่นน้ำแข็งและการละลายของมันต้องใช้เวลานานมาก
แต่ตอนนี้ธารน้ำแข็งไหลอย่างรวดเร็ว เพราะการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ
นักวิทยาศาสตร์กำลังกังวลใจกับระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น
เพราะน้ำทะเลสามารถเพิ่มสูงขึ้นในอัตราเร็วเป็นสิบเท่าหรือมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าธารน้ำแข็งจะไหลเร็วและยาวนานแค่ไหน
หากน้ำแข็งที่กรีนแลนด์ละลายหมดจะทำให้ระดับน้ำทะเลของโลกสูงขึ้น 7 เมตร
ประเทศบังกลาเทศ บางส่วนของรัฐฟลอริดา และพื้นที่ชายฝั่งและเกาะแก่งต่างๆ
ในมหาสมุทรแปซิฟิกจะจมอยู่ใต้น้ำ
ปัจจุบันน้ำแข็งทั้งบริเวณแอนตาร์กติก ขั้วโลกใต้และอาร์กติก
ขั้วโลกเหนือกำลังละลายอย่างรวดเร็ว เมื่อเร็วๆ
นี้นักวิทยาศาสตร์ของศูนย์ข้อมูลน้ำแข็งและหิมะแห่งชาติ (
National Snow and Ice Data Center
-NSIDC)มหาวิทยาลัยโคโรลาโดร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ของนาซาและมหาวิทยาลัยวอชิงตันรายงานผลการศึกษาว่า
แผ่นน้ำแข็งที่อาร์กติก ขั้วโลกเหนือกำลังละลายในอัตราเร่งในช่วงปี 2002-2005
เป็นผลทำให้แผ่นน้ำแข็งเกือบ 7 ล้านตารางกิโลเมตร หดตัวเหลือเพียง 5.32
ล้านตารางกิโลเมตร ลดลงไปประมาณ 1.3 ล้านตารางกิโลเมตร
ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงมาก
ผลกระทบที่เกิดขึ้นในขณะนี้ก็คือ
น้ำทะเลกำลังกัดเซาะชายฝั่งไซบีเรียและอลาสก้าทำให้ประชาชนที่อาศัยตามแนวชายฝั่งต้องอพยพ
หมีขั้วโลกอยู่ในภาวะหิวโหย น้ำหนักตัวลดลงโดยเฉลี่ย 10%
เพราะน้ำแข็งละลายเร็วขึ้นทำให้พวกมันจับแมวน้ำได้ยากลำบาก
และส่วนหนึ่งจมน้ำตายเพราะแผ่นน้ำแข็งที่พวกมันอาศัยอยู่ละลาย
จำนวนหมีขั้วโลกทางชายฝั่งตะวันตกของอ่าวฮัดสัน ในแคนาดาลดลงถึง 22% ในระหว่างปี
1987-2004
ความหิวโหยของหมีขั้วโลกทำให้ชาวเมืองเชอร์ชิล
ทางตอนเหนือของแคนาดาอยู่ในภาวะฉุกเฉิน หมีขั้วโลกบุกเข้ามาในบ้านเรือนเพื่อหาอาหาร
ชาวเมืองต้องนอนโดยมีปืนพกอยู่ใต้หมอน ไม่มีใครกล้าออกจากบ้านโดยไม่มีอาวุธ
เด็กๆไปโรงเรียนโดยมีเจ้าหน้าที่ติดอาวุธคุ้มกัน
นักวิทยาศาสตร์ทำนายว่า ภายในศตวรรษนี้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะเพิ่มสูงขึ้นในระหว่าง
1-6 องศาเซลเซียส
ถ้าหากไม่มีมาตรการเร่งด่วนในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างได้ผล
หากอุณหภูมิเพิ่มถึง 3 องศาเซลเซียส สัตว์โลกหลายสปีซีส์จะสูญพันธุ์
น้ำแข็งบริเวณขั้วโลกจะละลาย
ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นหลายเมตรและเกิดทุพภิกขภัยและโรคระบาดทั่วโลก
วันนี้กรีนแลนด์คือ ส่วนหนึ่งของภาพที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
Greenland