Menuleft - MarinerThai.Net

หน้าแรก

เว็บบอร์ดชาวเรือ

สารบัญเว็บไซด์ชาวเรือ

เอกสารน่าอ่านไทย

เอกสารน่าอ่านอังกฤษ

สาระไอทีชาวเรือ

แหล่งคนหางานเรือไทย

บทความจากสมาชิก

นิทานชาวเรือ

คนเรือหัวหมอ

คู่มือปฏิบัติงานเรือ

ระบบสื่อสาร-เดินเรือ

พจนานุกรมศัพท์ทางเรือ

ความหมายคำย่อทางเรือ

ข่าวอัพเดทรายวัน

ข่าวสดราคาน้ำมันโลก

รวมข่าวโจรสลัด

รวมข่าวอุบัติเหตุทางเรือ

สนับสนุนเว็บเรา

สถิติผู้เข้าชมเว็บนี้

ติดต่อเรา

เปิดเว็บ 1 ตุลาคม 2545

 

ขณะนี้เวลา | Your Time
10:46:33

Nathalin Group

MarinerThai 2004

TOP Enginerring Group

 

 
 
 

 

 

TOP Engineering Group - VTOL UAV Thailand

Advertising in marinerthai.net FB MarinerThai News

เรือพระที่นั่ง สุดยอดเรือแห่งสยามประเทศ

“เรือพระที่นั่ง”สุดยอดเรือแห่งสยามประเทศ 


โดย ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 29 พฤษภาคม 2549 

เหล่าฝีพายฝึกซ้อมเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9(ลำหน้า)และเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์(ลำหลัง)อย่างขมักเขม่น

เย็นวันที่ 12 มิถุนายน 2549 (ตั้งแต่ 16.00 น.) แม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ท่าวาสุกรีไปจนถึงบริเวณวัดอรุณราชวราราม จะวิจิตรงดงามตระการตาไปด้วย ขบวนเรือพระราชพิธี ที่ถือหนึ่งในเป็นการแสดงไฮไลท์เนื่องในวโรกาสฉลองการครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

สำหรับการแสดงขบวนเรือพระราชพิธีครั้งนี้ นับเป็นอีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่มีการแสดงอย่างยิ่งใหญ่ ซึ่งทางกองทัพเรือได้ระดมฝีพายถึง 2,200 นาย และใช้เรือร่วมขบวน 52 ลำ โดยเรือแต่ละลำต่างก็มีความงดงาม และความสำคัญ และหน้าที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งขบวนเรือทั้งหมดต้องผ่านการฝึกซ้อมอย่างหนัก พร้อมทั้งต้องประสานกันให้เป็นหนึ่งเดียว เพื่อให้เกิดเป็นขบวนเรือพระราชพิธีอันงดงามตระการตา

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หลายๆคนเวลาชมขบวนเรือพระราชพิธี ต่างก็มักจะใจจดใจจ่อเฝ้ารอชมเรือพระที่นั่ง ซึ่งถือเป็นเรือที่สำคัญที่สุดในขบวนฯ เพราะเป็นเรือที่พระมหากษัตริย์ประทับ

เรือพระที่นั่งทุกลำจะประดับประดาไปด้วยลวดลายอันวิจิตรงดงาม และมีความต่างจากเรือประเภทอื่นในขบวนฯก็คือ เรือพระที่นั่งจะไม่มีการกระทุ้งเส้าให้จังหวะฝีพาย แต่จะมีการใช้กรับแทน โดยเรือพระที่นั่งเกือบทุกลำจะมีการทอดบัลลังก์บุษบก ทอดบัลลังก์กัญยา หรือบัลลังก์พระที่นั่ง ในส่วนกลางลำเรืออันเป็นที่ประทับ นอกจากนี้เรือพระที่นั่งยังมีการแบ่งประเภทตามลำดับชั้นและมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันออกไป คือ

เรือพระประเทียบ เป็นเรือสำหรับเจ้านายฝ่ายใน

เรือต้น เป็นเรือที่พระมหากษัตริย์เสด็จประพาสลำลอง หรือเสด็จประพาสต้น พงศาวดารสมัยรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถ เรียกเรือพระที่นั่งว่า “เรือต้น” หมายถึงเรือลำที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จลำลองแปลงพระองค์ไปตรวจทุกข์ของราษฎร

เรือพระที่นั่งศรีสักหลาดหรือเรือพระที่นั่งศรี เป็นเรือคือเรือพระที่นั่งสำหรับพระเจ้าแผ่นดินทรงใช้เวลาเสด็จลำลอง มิได้เข้ากระบวนพระราชพิธี ในบัญชีของเรือพระที่นั่งศรีปรากฏว่ามีหลายชนิดด้วยกัน เช่น พระที่นั่งศรีประกอบ พระที่นั่งเขียน พระที่นั่งศรีเขียนทอง พระที่นั่งศรีประดับกระจกบายยา นอกจากนี้ยังมีเรือพระที่นั่งศรีซึ่งเรียกว่า “เรือพระที่นั่งศรีสักหลาด” ที่เรียกเช่นนี้เพราะสมัยหลังเรือพระที่นั่งศรีมักคาดกัญญาด้วยสักหลาดทุกลำ

เรือพลับพลา เป็นเรือที่ใช้สำหรับเปลี่ยนเครื่องทรงของพระมหากษัตริย์

เรือพระที่นั่งกราบ เป็นเรือพระที่นั่งลำเล็ก ใช้เวลาเปลี่ยนถ่ายเรือเพื่อเสด็จเข้าไปในคูคลองสายเล็กๆ

เรือพระที่นั่งทรงและเรือพระที่นั่งรอง เป็นเรือที่พระมหากษัตริย์เสด็จประทับ โดยมีเรือพระที่นั่งอีกลำสำรองไว้กรณีเรือพระที่นั่งลำหลักชำรุด  โดยมากทอดบัลลังก์บุษบกหรือทอดบัลลังก์กัญญาทั้งสิ้น บัลลังก์บุษบกมีรูปเหมือนบุษบกทั่วๆ ไป คือ ที่ฐานมี 4 เสา ผูกม่านตาดเปิดรวบมัดไว้ที่เสา หลังคาบุษบกมี 5 ชั้น ยอดมีพุ่มทรงข้าวบิณฑ์ บัลลังก์กัญญา คือ หลังคาประทุนรูปคุ้ม ที่ใช้หลังคาคุ้มก็เพื่อให้เพรียวลม มีจั่ว มีม่านทองและที่สำหรับนั่งราบ หรือนั่งห้อยเท้าอย่างเก้าอี้ได้ เรือพระที่นั่งอื่นๆ (เว้นเรือพระที่นั่งกราบ) ก็อนุโลมตามที่กล่าว เวลาออกรบจะไม่ตั้งบุษบกเพราะเกะกะ ต้องทอดบัลลังก์กัญญาอย่างเดียว ส่วนเรือพระที่นั่งกราบคงทอดเฉพาะบัลลังก์กัญญาหรืออาจจะงดก็สุดแต่จะโปรด

เรือพระที่นั่งกิ่ง เป็นเรือชั้นสูงสุดของเรือพระที่นั่ง ถือเป็นเรือที่มีความสวยงามเป็นพิเศษ สำหรับความเป็นมาของเรือพระที่นั่งกิ่งนั้น ในสมัยกรุงศรีอยุธยา กษัตริย์พระองค์หนึ่งได้รับชัยชนะกลับจากสงคราม และก็มีผู้หักกิ่งไม้มาปักไว้ที่หัวเรือ นับแต่นั้นมา ก็มีการเขียนลายกิ่งไม้ประดับที่หัวเรือ และโปรดให้เรียกว่า เรือพระที่นั่งกิ่ง คือเรือพระที่นั่งขึ้นทำเนียบชั้นสูงสุด มีลวดลายอย่างสวยงามที่หัวเรือ เรือพระที่นั่งกิ่งนี้ ไม่ปรากฏว่าพระเจ้าแผ่นดินองค์ใดโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ประทับ เว้นแต่บางครั้งได้โปรดเกล้าฯ ให้เป็นเรือเชิญผ้าไตรเวลาพระราชทานพระกฐิน หรือเชิญพระพุทธรูปเวลาเข้ากระบวนพยุหยาตรา ที่เรียกว่าเรือพระที่นั่งกิ่ง ก็เนื่องมาจากเรือพระที่นั่ง คือ เรือชัยนี่เอง กลับจากการรบชนะศึก ทหารประจำเรือเกิดความปลาบปลื้มในชัยชนะ นึกครึ้มในใจจึงหักกิ่งไม้ข้างตลิ่งมาปักเข้าที่หัวเรือ เมื่อพระเจ้าแผ่นดินทอดพระเนตรเห็นกิ่งไม้ก็โปรด ต่อมาจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ช่างเขียน เขียนลายกิ่งไม้ประดับไว้ที่หัวเรือ และโปรดเกล้าฯ ให้เรียกเรือชนิดนั้นว่า “เรือพระที่นั่งกิ่ง”

เรือพระที่นั่งเอกไชย เป็นเรือพระที่นั่งชั้นเกือบเทียบเท่าเรือพระที่นั่งกิ่ง มีลายสลักหรือประดับให้สวยงามเช่นเดียวกับเรือพระที่นั่งกิ่งเหมือนกัน แต่ขั้นทำเนียบเป็นเรือพระที่นั่งเอกชัย ตามทำเนียบเรือแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ก็มิได้แยกเรือพระที่นั่งกิ่งกับเรือพระที่นั่งเอกชัย เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเลียบพระนครทางชลมารค พ.ศ. 2394 ก็โปรดเกล้าฯ ให้เรือพระที่นั่งเอกชัย ชื่อศรีประภัศรไชย เป็นเรือพระที่นั่งทรง หาได้ใช้เรือพระที่นั่งกิ่งไม่ เรือพระที่นั่งเอกชัยและเรือพระที่นั่งกราบถือว่าเป็นเรือพระที่นั่งของพระเจ้าแผ่นดินหรือพระบรมวงศานุวงศ์ ส่วนเรือของข้าราชการนั้น เรียกว่า “เรือเอกชัย” หรือ “เรือกราบ” เมื่อพระบรมวงศานุวงศ์มีหน้าที่ต้องเสด็จไปในกระบวนร่วมกับพระเจ้าแผ่นดิน ก็โปรดเกล้าฯ ให้ประทับบนเรือพระที่นั่งเอกชัย และอยู่หน้าและหลังกระบวนพระราชยาน เพื่อทำหน้าที่เป็น “ประตูหน้าชั้นใน” และ “ประตูหลังชั้นใน” และต้องใช้ประตูละ2 ลำ ถ้าไม่มีพระบรมวงศานุวงศ์ลงประจำ ก็ต้องใช้พระตำรวจใหญ่และพระตำรวจอื่นๆ ทำหน้าที่แทน เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จำเป็นต้องใช้ “เรือเอกชัย” แทน “เรือพระที่นั่งเอกชัย” คำว่า “ประตู” หมายถึงการคั่นกระบวนย่อยหนึ่งๆ ซึ่งตามปรกติกระบวนพยุหยาตรามักมี 5 กระบวนย่อย คือ กระบวนหน้าชั้นนอก กระบวนหน้าชั้นใน กระบวนเรือพระราชยาน กระบวนหลังชั้นใน และกระบวนหลังชั้นนอก ส่วนเรือประตูชั้นนอกทั้งหน้าและหลังนั้น หาใช่เรือพระที่นั่งเอกชัยไม่ แต่ใช้เรือรูปสัตว์อีก 2 คู่ ทำหน้าที่

สำหรับพระที่นั่งที่ใช้ในขบวนเรือพระราชพิธีครั้งนี้มี 4 ลำ คือ (ไล่ตามลำดับการจัดขบวนในครั้งนี้)

เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช หรือเรือพระที่นั่งบัลลังก์นาค 7 เศียร เป็นเรือพระที่นั่งกิ่ง สร้างขึ้นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 4 และสร้างลำใหม่แทนลำเดิมในรัชกาลที่ 6 โขนเรือปิดทองประดับกระจก เป็นรูปพญานาค 7 เศียร พื้นเรือสีเขียว น้ำหนัก 15.36 ตัน กว้าง 2.95 เมตร ยาว 42.95 เมตร ลึก 0.76 เมตร กินน้ำลึก 0.31 เมตร ฝีพาย 54 นาย นายท้าย 2 นาย

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เป็นเรือพระที่นั่งกิ่งที่ถือเป็นมรดกโลก สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ตอนนั้นใช้ชื่อว่า“เรือศรีสุพรรณหงส์”ก่อนที่จะทำการปรับปรุงซ่อมแซมครั้งใหญ่ ในช่วงปลายสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ถึงสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้า อยู่หัว รัชกาลที่ 6 โดยได้คงไว้ในส่วนที่เป็นของดั้งเดิมก็คือส่วนของโขนเรือ หัวเรือ และท้ายเรือ ส่วนลำเรือและลวดลายได้ทำขึ้นมาใหม่ ทั้งนี้ได้เปลี่ยนชื่อจากเรือศรีสุพรรณหงส์ เป็น “เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์” ซึ่งรัชกาลที่ 6 ได้ประกอบพิธีลงน้ำเมื่อ วันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ.2454

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ มีโขนเรือเป็นรูปหงส์ ลงรักปิดทองประดับกระจก พื้นเรือสีดำน้ำหนัก 15.6 ตัน กว้าง 3.15 เมตร ยาว 44.70 เมตร ลึก 0.90 เมตร กินน้ำลึก 0.41 เมตร ฝีพาย 50 นาย นายท้าย 2 นาย นายเรือ 2 นาย พายที่ใช้เป็นพายทอง พลพายจะพายในท่านกบิน และถือเป็นธรรมเนียมว่าถ้าจะเปลี่ยนท่าพายธรรมดาจะต้องรับพระบรมราชานุญาตเสียก่อน

เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 เดิมเป็นเรือพระที่นั่งกิ่งประเภทเรือรูปสัตว์ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยมีนามว่า “เรือมงคลสุบรรณ” มีโขนเรือเป็นรูปพญาครุฑเพียงอย่างเดียว ต่อมารัชกาลที่ 4 โปรดให้เสริมรูปพระนารายณ์ประทับยืนบนหลังพญาสุบรรณเพื่อความสง่างาม พร้อมทั้งพระราชทางนามใหม่ว่า “เรือนารายณ์ทรงสุบรรณ”

ส่วนเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 นี้ กองทัพเรือ ร่วมกับ กรมศิลปากร และสำนักพระราชวัง ได้ดำเนินการจัดสร้าง เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องใน วโรกาสพระราชพิธีในปีกาญจนาภิเษก มีฐานะเป็นเรือพระที่นั่งรอง ทอดบัลลังก์กัญญา เทียบเท่า เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ พื้นเรือสีแดงชาด น้ำหนัก 20 ตัน กว้าง 3.20 เมตร ยาว 44.30 เมตร ลึก 1.10 เมตร ฝีพายจำนวน 50 นาย นายท้าย 2 นาย (เพื่อให้สอดคล้องกับ วโรกาสครบรอบ 50 ปี แห่งการครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว)

เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ เป็นเรือพระที่นั่งศรี สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 หัวเรือจำหลักปิดทองเป็นรูปพญานาคเล็กๆ จำนวนมาก พื้นเรือสีชมพู น้ำหนัก 7.7 ตัน กว้าง 3.15 เมตร ยาว 45.40 เมตร ลึก 1.11 เมตร กินน้ำลึก 1.46 เมตร ฝีพาย 61 นาย นายเรือ 2 นาย นายท้าย 2 นาย

และนี่ก็คือเรือพระที่นั่งทั้ง 4 ลำ ที่ใช้ในการแสดงขบวนเรือพระราชพิธีครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า และยังถือเป็นสุดยอดของเรือแห่งสยามประเทศอีกด้วย

********************************

สำหรับการแสดงขบวนเรือพระราชพิธี จะมีการซ้อมย่อยอีกครั้งในเย็นวันที่ 30 พ.ค.49 และการซ้อมใหญ่ ในวันที่ 2,6 มิ.ย.49 (ตั้งแต่ 16.00 น.) รวมถึงการซ้อมปรับสภาพ ในวันที่ 9 มิ.ย.49 (ตั้งแต่ 16.00 น.) ก่อนจะแสดงจริงในค่ำวันที่ 12 มิ.ย. 2549  (ตั้งแต่ 16.00 น.) ซึ่งผู้สนใจสามารถรับชมได้บริเวณสถานที่สาธารณะหรือร้านอาหารที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ ท่าวาสุกรี – วัดอรุณราชวราราม

 


มารีนเนอร์ไทยดอทคอม | MarinerThai.Com

 

จำนวนผู้เข้าชมหน้านี้   13290

 Disclaimed: มารีนเนอร์ไทยดอทคอม ขอสงวนสิทธิ์ในการรับรองความถูกต้องในบทความ ข้อมูล เนื้อหา ภายในเว็บไซด์ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูล ภาพ เสียง ซอฟแวร์ การเชื่อมโยง(ลิงค์) และ/หรือ บริการอื่นๆ และจะไม่รับผิดชอบในความผิดพลาดในการใช้เนื้อหาดังกล่าวข้างต้นเพื่อวัตถุประสงค์ทางด้าน การค้า การกระทำ การคาดการณ์ พยากรณ์ การวิจัย และอื่นๆ ซึ่งเป็นความคิดเห็นส่วนบุคคลเฉพาะของท่านผู้เขียนแต่ละรายไป ตลอดจนข้อกำหนดทางด้านลิขสิทธิ์ กรณีที่ท่านส่งบทความที่มิได้ขออนุญาตต่อผู้ครองสิทธิ์แท้จริงนำมาลงไว้ภายในเว็บไซด์นี้

 

 
 

 

 

Nathalin Group Nathalin Group

หน้าแรกก | เว็บบอร์ดชาวเรือ | สารบัญเว็บไซด์ชาวเรือ | สมุดภาพเรือเดินทะเล | สนับสนุนเว็บเรา | ติดต่อเรา

© 2002 Mariner Thai Dot Com Mariner Thai Dot Net. All rights reserved - Web designed by .<nv>.

 MarinerThai.Com | MarinerThai.Net | MarinerThai.Org

Contact webmaster: | Organizer : CKN - Cyber Ket Network