๖๐ ปีแห่งพระราชปณิธาน เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม
๖๐ ปีแห่งพระราชปณิธาน 'เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม'
โดย
ไทยรัฐ
วันที่ 10 มิถุนายน 2549
เมื่อกำหนดเวลาที่จะเสด็จฯกลับประเทศสวิตเซอร์แลนด์มาถึง
ในวันที่ 19 สิงหาคม 2489
ตลอดทางที่รถพระที่นั่งแล่นผ่านฝูงชนที่มาส่งเสด็จอย่างล้นหลาม
ได้ทอดพระเนตรเห็นประชาชนที่แสดงความจงรักภักดี
บางแห่งใกล้จนทอดพระเนตรเห็นดวงหน้าและแววตาชัด
ที่บ่งบอกถึงความเสียขวัญอย่างใหญ่หลวง ทั้งเต็มไปด้วยความรักและห่วงใย
อันเป็นภาพที่ทำให้อยากรับสั่งกับเขาทุกคน ถึงความหวังดีที่ทรงเข้าพระทัย
และขอบใจเขาเช่นกัน ขวัญของคนเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าขาดกำลังใจ
ถ้าขวัญเสียมีแต่ความหวาดระแวง ประเทศจะมีแต่ความอ่อนแอและแตกสลาย
ท่ามกลางเสียงโห่ร้องถวายพระพร
ก็มีเสียงหนึ่งที่ตะโกนแทรกมาเข้าพระกรรณว่า “ในหลวงอย่าทิ้งประชาชน”
ในขณะนั้นทรงนึกตอบในพระทัยว่า “ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้า
แล้วข้าพเจ้าจะทิ้งประชาชนได้อย่างไร”
เหตุการณ์ในครั้งนั้นเป็นภาพที่ติดอยู่ในพระราชหฤทัยจนไม่อาจทรงลืมได้
จากเดิมที่ทรงตัดสินพระทัยเพียงว่า จะทรงอยู่จนถึงวันพระราชพิธีถวายพระเพลิง
พระบรมศพสมเด็จพระบรมเชษฐาเสร็จสิ้นเท่านั้น กลับทำให้ทรงได้คิดว่า
ทรงมีหน้าที่เพื่อชาติ และถึงโอกาสแล้วที่ควรจะทรงทำหน้าที่เพื่อชาติและประชาชน
ตามที่ทรงได้รับมอบมา ประชาชนจึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ตัดสินพระทัยแน่วแน่
ที่จะอยู่ทำหน้าที่ตามที่ประชาชนพร้อมใจกันทูลเกล้าฯ ถวายพระราชภาระแสนยิ่งใหญ่
“ท่านผู้หญิงเกนหลง สนิทวงศ์ ณ อยุธยา”
จรดปลายปากกาเขียนไว้ในหนังสือ “ทำเป็นธรรม”
เนื่องในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ ว่า ในการตัดสินพระทัยที่ทรงรับพระราชภาระจากสมเด็จพระบรมเชษฐาในครั้งแรก

คงจะทรงรับเพราะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะพระพักตร์ในเวลาอันรวดเร็ว
ที่จะต้องตัดสินพระทัยด้วยพระองค์เอง ไม่มีใครที่จะถวายความเห็นได้
หันพระพักตร์ไปทางไหนก็ทรงพบแต่ความโศกเศร้า สมเด็จพระราชชนนีได้แต่ทรงพระกันแสง
ไม่เสวย ไม่บรรทม แม้พระองค์เองก็แทบจะหมดพระสติ สิ่งที่ทรงรำลึกถึงคือ
จะต้องทรงจัดงานพระบรมศพสมเด็จพระบรมเชษฐาให้สมพระเกียรติ
อย่างไรก็ดี แม้จะทรงตัดสินพระทัยขึ้นครองราชย์ตามการกราบบังคมทูลเชิญของรัฐสภา
แต่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงมีอีกหนึ่งภารกิจสำคัญ นั่นคือ
การเสด็จฯกลับไปทรงศึกษาต่อ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ขณะนั้นจิตใจของประชาชนตกอยู่ในความเสียขวัญ
ทรงถือเป็นมิ่งขวัญพระองค์เดียวที่ประชาชนจะยึดมั่นได้
พระราชนิพนธ์บันทึกประจำวันบางส่วนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ระหว่างวันเสด็จฯจากสยามสู่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
คงพอจะสะท้อนให้เห็นถึงความรักของประชาชน ที่พร้อมใจส่งเสด็จอย่างมืดฟ้ามัวดิน
“...วันที่
19 สิงหาคม 2489 วันนี้ถึงวันที่เราจะต้องจากไปแล้ว
พอถึงเวลาก็ลงจากพระที่นั่งพร้อมกับแม่ ลาเจ้านายฝ่ายใน ณ
พระที่นั่งชั้นล่างนั้นแล้ว ก็ไปยังวัดพระแก้วเพื่อนมัสการลาพระแก้วมรกต
และพระภิกษุสงฆ์ ลาเจ้านายฝ่ายหน้า ลาข้าราชการทั้งไทยและฝรั่ง แล้วก็ไปขึ้นรถยนต์
พอรถแล่นออกไปได้ไม่ถึง 200 เมตร
มีผู้หญิงคนหนึ่งเข้ามาหยุดรถแล้วส่งกระป๋องให้เราคนละใบ
ราชองครักษ์ไม่แน่ใจว่าจะมีอะไรอยู่ในนั้น บางทีจะเป็นลูกระเบิด
เมื่อมาเปิดดูภายหลังปรากฏว่าเป็นทอฟฟี่ที่อร่อยมาก ตามถนนผู้คนช่างมากมายเสียจริงๆ
ที่ถนนราชดำเนินกลาง ราษฎรเข้ามาใกล้จนชิดรถที่เรานั่ง
กลัวเหลือเกินว่าล้อรถของเราจะไปทับแข้งทับขาใครเข้าบ้าง
รถแล่นฝ่าฝูงคนไปได้อย่างช้าที่สุด ถึงวัดเบญจมบพิตร รถแล่นเร็วขึ้นได้บ้าง
ตามทางที่ผ่านมา ได้ยินเสียงใครคนหนึ่งร้องขึ้นมาดังๆว่า “อย่าละทิ้งประชาชน”
อยากจะร้องบอกเขาลงไปว่า ถ้าประชาชนไม่ “ทิ้ง” ข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะ “ละทิ้ง”
อย่างไรได้ แต่รถวิ่งเร็วและเลยไปไกลเสียแล้ว...”
เมื่อทรงตัดสินพระทัยแน่วแน่ว่า จะทรงดำรงตำแหน่งประมุขของประเทศ
จึงทรงมุ่งมั่นศึกษา เพื่อเตรียมพระองค์ให้พร้อมรับพระราชภารกิจ
โดยทรงเปลี่ยนแนวทางการศึกษาใหม่เป็นรัฐศาสตร์กับนิติศาสตร์ อย่างไรก็ดี
ทรงยืนกรานที่จะศึกษาจนสำเร็จก่อน แล้วค่อยเสด็จนิวัตประเทศไทย
เพื่อประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

กระทั่งเดือนมีนาคม ปี 2493
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จนิวัตประเทศไทย
เพื่อร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระบรมเชษฐา หลังจากนั้นในวันที่ 28
เมษายน ปีเดียวกัน ความโศกสลดของปวงชนชาวไทยได้ทุเลาเบาบางลงบ้าง
เมื่อทรงจัดพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร
ซึ่งมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์
พระอัครมเหสี และต่อมาได้รับการสถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศขึ้นเป็น
“สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี”
และแล้ววันที่ประชาชนชาวไทยรอคอยก็มาถึง
เมื่อพระราชพิธีบรมราชาภิเษกถูกจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ตามโบราณราชประเพณี ณ
พระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระบรมมหาราชวัง ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2493 โดยครั้งนั้น
ทรงมีพระปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม
เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ทรงหลั่งทักษิโณทก
ตั้งพระราชสัตยาธิษฐานจะทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจปกครองราชอาณาจักรไทย
โดยทศพิธราชธรรมจริยา ขณะประทับเหนือพระที่นั่งภัทรบิฐ ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร
นับแต่วินาทีนั้นเป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ก็ทรงยึดถือพระปฐมบรมราชโองการเป็นแนวทางแห่งการปกครองแผ่นดิน
โดยทรงตั้งพระราชปณิธานว่า จะทรงร่วมรับมิว่าทุกข์หรือสุขของประชาชน
เท่ากับทุกข์หรือสุขของพระองค์เอง จะทำความดี
พัฒนานำความเจริญความสุขสวัสดีมาสู่ประเทศชาติอย่างแน่วแน่
และดีที่สุดที่จะทรงทำได้

อย่างไรก็ดี เนื่องจากความจำเป็นทางพระสุขภาพ
ที่จะต้องทรงอยู่ในความดูแลของแพทย์ จึงตัดสินพระทัยเสด็จฯไปสวิตเซอร์แลนด์อีกครั้ง
พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2493
โดยหนึ่งปีหลังจากนั้น ได้ประสูติพระราชธิดาพระองค์แรกคือ “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ
เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี” ที่เมืองโลซานน์
แต่ด้วยหน้าที่และสมควรแก่เวลา ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
มีพระราชดำริจะเสด็จฯกลับเมืองไทย เพื่อทรงเป็นมิ่งขวัญของปวงชน...
วันที่ 2 ธันวาคม 2494 พระประมุขแห่งประเทศไทย
พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินี และพระราชธิดาองค์โต ได้เสด็จนิวัตเมืองไทยถาวร
ท่ามกลางความปลื้มปิติยินดีของประชาชน ซึ่งมารอเฝ้าฯ แน่นขนัดตลอดเส้นทางการเสด็จฯ
เมื่อทอดพระเนตรเห็นเช่นนั้น จึงทรงมั่นพระทัยว่า ประชาชนยังไม่ลืมพระองค์
และทุกคนพร้อมเป็นกำลังพระทัยแด่พระองค์เสมอ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ไม่ทรงปล่อยเวลาให้ล่วงเลยโดยเปล่าประโยชน์ หลังเสด็จนิวัตประเทศไทยถาวรได้ไม่นาน
ก็ทรงเริ่มศึกษาถึงแนวทางการพัฒนาประเทศตามที่ทรงตั้งพระทัยไว้ โดย “หัวหิน”
เป็นแห่งแรกที่ทรงเริ่มสำรวจพื้นที่ ดิน น้ำ อาชีพ และความเป็นอยู่ของประชาชน
เนื่องจากมีพระตำหนักที่เสด็จฯไปประทับแทบทุกปี
ทรงเริ่มต้นทดลองพัฒนาจากตำบลที่ใกล้พระเนตรก่อน
โดยได้ทรงบุกป่าฝ่าดงเข้าไปในหมู่บ้านทุรกันดาร

ระยะนั้น ทั้งสองพระองค์เสด็จออกแทบทุกวัน
ทรงตระเวนไปแทบทุกตำบลจากหัวหิน ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี จากนั้น
ก็เสด็จเยี่ยมราษฎรทั่วทุกภาค ทั้งภาคกลาง, อีสาน, เหนือ และใต้
แต่ละภาคจะเสด็จฯนานเป็นแรมเดือน โดยทุกภาคที่เสด็จฯผ่านมา ล้วนแต่
ทุรกันดารห่างไกลความเจริญ กระนั้น ทั้งสองพระองค์ก็ทรงปรับพระองค์ได้อย่างดีเยี่ยม
ไม่เคยทรงปริพระโอษฐ์บ่น
และจะทรงปรึกษาหารือกันตลอดถึงสิ่งที่ทรงพบเห็นเพื่อหาทางแก้ไข
และช่วยเหลือประชาชนของพระองค์ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ตลอดระยะเวลา 60 ปีของการครองสิริราชสมบัติ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ทรงริเริ่มโครงการในพระราชดำริเพื่อการพัฒนาประเทศไว้มากมาย
ทรงใช้เวลาศึกษาแผ่นดินไทย และรายละเอียดของพื้นดิน
ภูมิประเทศหลักๆของแหล่งน้ำการเกษตร ความต้องการของประชาชน
ตลอดจนการส่งเสริมอาชีพว่าถิ่นไหนเหมาะแก่การครองชีพอย่างไร
โดยทรงทราบถึงความทุกข์ของประชาชนผ่านการถ่ายทอดจากปากสู่พระกรรณ
และจากสายพระเนตรที่ทรงพบเห็นด้วยพระองค์เอง

ตั้งแต่เริ่มแรกเสด็จขึ้นครองราชย์จนถึงปัจจุบัน
ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งมูลนิธิ 7 มูลนิธิ
และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริอีกกว่า 2,000 โครงการ
โดยล้วนแต่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์และพัฒนาน้ำเป็นอันดับแรก รองลงมาก็คือดิน
ธรณีวิทยา การเกษตรทั้งหลาย ตลอดจนการจัดสรรที่ดิน รวมถึงการอนุรักษ์และพัฒนาป่า
โครงการที่มีชื่อเสียงได้รับการยอมรับทั่วโลก มีอาทิ “โครงการหลวง”
กำเนิดขึ้นจากการที่ได้ทอดพระเนตรถึงปัญหาการปลูกฝิ่น และทำไร่เลื่อนลอยของชาวเขา
จึงมีรับสั่งให้ทดลองหาพืชเมืองหนาวให้ชาวเขาปลูกแทนฝิ่น, “โครงการฝนหลวง”
กำเนิดจากพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงห่วงใยในความทุกข์ยากของประชาชนในถิ่นทุรกันดาร
ต้องประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และเกษตรกรรม
ทรงศึกษาค้นคว้าแนวทางการทำฝนหลวงด้วยพระองค์เอง
ก่อนจะโปรดเกล้าฯให้ดำเนินการทดลองในท้องฟ้าจริงเป็นครั้งแรก ที่วนอุทยานเขาใหญ่
เมื่อปี 2512 ซึ่งสำนักสิทธิบัตรยุโรปได้ออกสิทธิบัตรถวาย นับเป็นพระมหากษัตริย์
พระองค์แรกและพระองค์เดียวในโลก และล่าสุดที่ได้รับการยกย่องอย่างสูงคือ
โครงการพัฒนาคนตามแนวพระราชดำริ “เศรษฐกิจพอเพียง”
ซึ่งได้พระราชทานเป็นแนวทางการพัฒนาคนอย่างยั่งยืน
และเป็นหนทางแก้ไขวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ
ทั้งหลายทั้งปวงนี้คือ พระราชสัตยาอธิษฐานที่ทรงตั้งปณิธานมาตลอด 6
ทศวรรษการครองสิริราชสมบัติ
พระองค์ไม่เพียงแต่จะทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลก
แต่ยังทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงงานหนักที่สุดในโลกอีกด้วย!!