บาดแผลสงครามจากเรือยามาโต้
บาดแผลสงครามจากเรือยามาโต้
หนังสือพิมพ์ มติชน วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ.
2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10333
โดย วันชัย ตัน
วันอาทิตย์ที่ผ่านมา
ขณะที่ฝนถล่มกรุงเทพฯอย่างหนัก รถติดกันทั้งเมือง
ผมลุยน้ำท่วมออกจากบ้านไปขึ้นรถไฟฟ้า เพื่อตั้งใจไปดูหนังญี่ปุ่นเรื่องหนึ่งชื่อ
ยามาโต้ พิฆาตยุทธการ ที่โรงภาพยนตร์สยาม
เรือประจัญบาน ยามาโต้
ถ่ายเมื่อปี ค.ศ. 1941
คนที่สนใจประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 คงเคยได้ยินชื่อเรือยามาโต้
เรือประจัญบานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ตั้งแต่มนุษย์เคยสร้างมาจนถึงปัจจุบัน
มีระวางขับน้ำถึง 69,100 ตัน เปรียบเทียบกับเรือรบชื่อดังในขณะนั้น อาทิ
เรือรบมิสซูรีของสหรัฐอเมริกา ที่มีระวางขับน้ำ 45,000 ตัน หรือเรือรบบิสมาร์คของเยอรมนี
ที่มีระวางขับน้ำ 42,000 ตัน
กองทัพเรือญี่ปุ่นภูมิใจกับเรือประจัญบานลำมหึมาที่มีขนาดความยาว 250 เมตร
มีป้อมปืนขนาด 460 มิลลิเมตร เรียงรายอยู่รอบลำเรือที่มีเกราะป้องกันตอปิโดหนาถึง 8
นิ้ว จนใครๆ คิดว่าเรือรบดังกล่าวจะไม่มีทางจมเด็ดขาด
เรือยามาโต้ได้ออกปฏิบัติการรบทางทะเลในภาคพื้นแปซิฟิกหลายครั้ง
แต่ก็ไม่ค่อยแสดงฝีมือให้ประจักษ์นัก จนกระทั่งการรบครั้งสุดท้ายนอกเกาะโอกินาวา
ป้อมปืนท้ายเรือ ยามาโต้
ปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะที่กองทัพสหรัฐอเมริกันกำลังบุกเข้ายึดเกาะโอกินาวา
เรือยามาโต้ได้รับคำสั่งให้เข้าปฏิบัติการที่เรียกว่า KIKUSUI 1 ซึ่งแปลว่า
ดอกเบญจมาศลอยน้ำ
โดยมีภารกิจให้ทำการล่อฝูงบินอเมริกันให้ออกจากน่านน้ำเกาะโอกินาวา
เปิดโอกาสให้ฝูงบินกามิกาเซ่ของญี่ปุ่นบินฝ่าด่านป้องกันของฝูงบินอเมริกา
เพื่อเข้าโจมตีกองทัพเรือ ปกป้องไม่ให้กองทัพสหรัฐยึดเกาะโอกินาวาได้
ปฏิบัติการนี้เรือยามาโต้เป็น "วันเวย์ทิคเก็ต"
คือมีแค่น้ำมันเชื้อเพลิงเพียงแค่เที่ยวเดียวเท่านั้น ผู้บังคับการเรือทราบดีว่า
การเอาเรือประจัญบาญมาล่อเครื่องบินหลายร้อยลำให้รุมกินโต๊ะนั้น
โอกาสที่เรือจะไม่จมเป็นไปไม่ได้ ปฏิบัติการครั้งนี้จึงถือว่าเป็นการส่งลูกเรือ
3,000 กว่าคนไปตายอย่างเดียว ไม่ต่างจากนักบินฝูงบินกามิกาเซ่ที่บรรทุกระเบิดขนาดหนัก
เพื่อบินเข้าชนเรือรบอเมริกาแบบเอาชีวิตเข้าแลก ดังนั้น ภายหลังสงคราม
เรือยามาโต้จึงได้รับฉายาว่า "ยักษ์ใหญ่แห่งกามิกาเซ่"
ฉากหนึ่งในภาพยนตร์เรื่องนี้
มีฉากที่บรรดานายทหารประจำเรือยามาโต้ได้กล่าววิจารณ์บรรดานายพลเสนาธิการผู้วางแผนการรบด้วยความเหลืออดว่า
เป็นแผนการรบที่ต้องล้มเหลวแน่นอน ดีแต่วางแผนอยู่ในห้อง
ไม่ยอมส่งเครื่องบินรบสักลำมาคุ้มกัน บรรดา เสธ.เหล่านี้ดีแต่ส่งลูกเรือไปตายอย่างไร้ค่า
และหลบภัยสบายอยู่แต่ที่กรุงโตเกียว ไม่กล้าออกมาปฏิบัติการสักคนเดียว
เช้าวันที่ 6 เมษายน 1945 ผู้บัญชาการเรือได้สั่งให้ย้ายทหารผู้มีอายุเกินกว่า 40
ปี และมีครอบครัวขึ้นบก คงเหลือแต่บรรดาผู้ที่ยังไม่มีครอบครัว
ส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มและพร้อมจะเสียสละเพื่อมาตุภูมิ
สุดท้ายเมื่อเรือยามาโต้เดินทางยังไม่ถึงน่านน้ำโอกินาวา
ฝ่ายสหรัฐสามารถจับสัญญาณวิทยุได้ จึงได้ส่งเครื่องบินโจมตี 380 ลำ
รุมทิ้งระเบิดเรือยามาโต้เป็นเวลาเกือบสองวัน
จนในที่สุดเรือยามาโต้ได้จมสู่ก้นทะเลพร้อมลูกเรือเกือบ 2,500 นาย
มีผู้รอดชีวิตเพียง 269 คน เท่านั้น
ก่อนจะเข้าชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ใครๆ ก็คิดว่ายามาโต้น่าจะเป็นหนังสงครามเลือดท่วมจอ
แต่เอาเข้าจริงแล้วตลอดความยาว 2 ชั่วโมงกว่า มีฉากสงครามไม่ถึง 20 นาที
ยามาโต้เป็นภาพยนตร์ที่เก็บรวบรวมข้อมูลจากคำบอกเล่าของผู้รอดชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนั้น
และสะท้อนให้เห็นถึงหัวอกของพ่อแม่ ญาติพี่น้อง คนรักและผู้อยู่แนวหลัง
ที่ต้องส่งลูกชายของตัวเองไปรบว่าเจ็บปวดและทนทุกข์เพียงใด
ภาพถ่ายจากเครื่องบินในขณะที่เรือยามาโต้ถูกโจมตีทางอากาศ
ภาพยนตร์เรื่องนี้บอกเราว่า ภายในเรือรบเหล็กลำมหึมา มีชีวิตจริงๆ ของผู้คนตัวเล็กๆ
มากมายที่ยังไม่พร้อมจะตายในเยาว์วัย
ลูกเรือยามาโต้ส่วนใหญ่เป็นเด็กนักเรียนวัย 15-16 ปี ที่ต้องออกรบแล้ว
เพราะบรรดาชายฉกรรจ์ล้วนอยู่ในสมรภูมิกันหมด เด็กเหล่านี้ถูกปลุกใจให้ฮึกเหิม
รบเพื่อปกป้องมาตุภูมิและคนที่รัก
แต่ไม่รู้มากไปกว่านั้นว่าต้นเหตุของสงครามล้วนมาจากลัทธิทางทหารของบรรดาผู้นำกระหายเลือดไม่กี่คนที่กุมอำนาจอยู่
ฉากสะเทือนใจฉากหนึ่งเกิดขึ้น
ตอนที่บรรดาทหารเด็กที่มีลักษณะไม่ต่างจากเด็กนักเรียนทั่วไป
ได้รับทราบว่าจะต้องขึ้นเรือไปรบที่โอกินาวา และไม่มีโอกาสจะกลับมาบ้านอีกแล้ว
และผู้บัญชาการเรือได้ให้โอกาสทหารเด็กเหล่านี้ได้ระบายอารมณ์ออกมา
เพื่อแสดงความรักต่อคนที่อยู่บนฝั่งเป็นครั้งสุดท้าย
ปรากฏว่าทหารเหล่านี้ต่างร้องไห้ด้วยความกลัวตาย
ต่างตะโกนคิดถึงพ่อแม่และคนรักอย่างสิ้นหวัง เพราะรู้ดีว่าไม่มีโอกาสกลับมาอีกแล้ว
เรือยามาโต้
โดนโจมตีทางอากาศจนไฟลุกไหม้ทั่วลำ
ยามาโต้เป็นเรื่องราวของทหารเด็กคนหนึ่งที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์รบครั้งนั้น
และได้มีโอกาสกลับไปบริเวณที่เรือจมเมื่อ 60 ปีก่อนอีกครั้งหนึ่ง
สิ่งที่เป็นความรู้สึกสะเทือนใจติดตัวมาตลอดคือ
เพื่อนร่วมรุ่นและผู้บังคับบัญชาของเขาตายหมด
และก่อนตายพวกเขาได้พยายามช่วยให้เขารอดชีวิตกลับมาได้เพียงคนเดียว
เขาไม่อาจเข้าใจได้ว่า ทำไมเขาถึงถูกเลือกมาให้มีชีวิตสืบต่อไป
เมื่อรอดชีวิตกลับมาขึ้นฝั่งได้ ทหารเด็กผู้นี้ได้ไปบอกแม่ของเพื่อนว่า
ลูกชายของเขาได้ตายแล้วอย่างกล้าหาญ
แต่เสียงร่ำไห้และคำพูดของแม่เหล่านี้ล้วนสะเทือนใจยิ่งนักที่ตอกหน้าเขาว่า
"คนอื่นตายกันหมด แล้วทำไมเธอถึงรอดชีวิตกลับมาได้เพียงคนเดียว"
หลังสงครามเขากลับไปบ้านและพบว่า
แฟนสาวที่รอเขาอยู่มาโดยตลอดเสียชีวิตจากระเบิดนิวเคลียร์ที่เมืองฮิโรชิม่า
แต่สุดท้ายเขาได้ค้นพบว่า เขาต้องมีชีวิตอยู่ต่อไป
เพื่อการตายของคนอื่นจะได้มีคุณค่า
เขายังจำคำพูดของผู้บังคับบัญชาในระหว่างการรบได้ว่า
"ในยามสงคราม พวกเราส่วนใหญ่อยากยอมตาย
แต่ถึงเวลาแล้วที่ต้องมีคนอยากมีชีวิตอยู่สืบไป"
อย่าตาย อย่ายอมแพ้จึงดังก้องมาโดยตลอด
ภาพสุดท้ายของเรือยามาโต้
ที่โดนโจมตีจากเครื่องบินทิ้งระเบิด และ ตอปิโด จากเรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐ
บริเวณทางเหนือของเกาะโอกินาวาเมื่อวันที่ 7 เมษายน ค.ศ. 1945
ภาพยนตร์เรื่องยามาโต้ แม้ว่าจะเป็นหนังทำเงินมหาศาลในประเทศญี่ปุ่น แต่วันที่ไปดู
มีผู้ชมนับหัวได้
อาจจะไม่เหมาะกับคนที่ชอบดูหนังสงคราม
แต่เหมาะกับบรรดาผู้กระหายเลือดที่ชอบปลุกระดมอยากเห็นคนไทยฆ่ากันเอง
ดูแล้วจะรู้ว่าเวลาเกิดสงคราม ผู้บาดเจ็บล้มตายก่อนใครนั้น คือบรรดาพ่อแม่
ผู้อันเป็นที่รัก และญาติพี่น้องที่อยู่แนวหลังนั่นเอง
แบบจำลองของเรือประจัญบาน
ยามาโต้