เคลอมองโซ : เรือที่ถูกสาป
เคลอมองโซ : เรือที่ถูกสาป
หนังสือพิมพ์
มติชน วันที่ 14
มิถุนายน พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10322
โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์
เรือบรรทุกเครื่องบิน เคลอมองโซ
ของกองทัพเรือฝรั่งเศล
ผู้เขียนเคยทำงานเป็นกรรมกรรายชั่วโมงในช่วงฤดูร้อนกับบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่มลรัฐอิลลินอยส์
สหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ.2511 (นานเหลือเกิน)
ตอนนั้นงานส่วนใหญ่คือการติดตั้งเครื่องปรับอากาศตามบ้านต่างๆ
ผู้เขียนมีหน้าที่หลักคือตัดแผ่นฉนวนกันความร้อนที่ทำมาจากแร่ใยหิน (asbestos)
ที่ปัจจุบันใช้กันมากในประเทศไทย ซึ่งก็ยังจำขั้นตอนของการทำงานได้เป็นอย่างดี
โดยเริ่มจากวัดขนาดช่องฝาผนังและฝ้าเพดานที่จะเอาฉนวนไปติดแล้วก็เอาคัตเตอร์ตัดแผ่นฉนวนที่มีสีเหลืองเป็นฝอยละเอียดหุ้มกระดาษฟอยล์สีเงินที่ใช้กันในอาคารอย่างแพร่หลายในเมืองไทยปัจจุบันนี้นั่นเอง
แล้วก็เอาไปยิงด้วยเครื่องเย็บกระดาษขนาดใหญ่ ตามที่ที่ต้องการกรุฉนวน
ก็เป็นอันเสร็จงานสำหรับกรรมกรที่ไม่มีฝีมืออย่างผู้เขียน (ข้อเสี่ยงภัยก็มีบ้างตอนที่ต้องปีนขึ้นไปตรงฝ้าเพดาน)
สิ่งที่ยังรู้สึกอยู่บ้างคืออาการคันจากฝอยละเอียดสีเหลืองเหล่านั้น
เมื่อกลับมาเมืองไทยในระยะ 2-3 ปีมานี้เอง (ศตวรรษใหม่แล้ว)
ก็ยังคิดว่าจะกรุฝ้าเพดานด้วยวัสดุฝอยสีเหลืองหุ้มกระดาษฟอยล์สีเงินดังกล่าวที่บ้านที่พักอาศัยอยู่เพื่อลดความร้อนลงบ้าง
แต่ก็รับการท้วงติงจากเพื่อนฝูงบางคนว่าอย่าทำเลย
พร้อมทั้งเล่าเรื่องเรือบรรทุกเครื่องบินของฝรั่งเศสที่ชื่อ เคลอมองโซ (Clemenceau)
ให้ฟัง ซึ่งออกจะซับซ้อนและผู้เขียนฟังไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าไร
แต่ก็ล้มเลิกความตั้งใจที่จะกรุฝ้าเพดานไปตามประสาคนกลัวจิ้งจกทักอย่างว่า
วันนี้ได้อ่านข่าวและเห็นรูปเรือบรรทุกเครื่องบินเคลอมองโซจากสำนักข่าวเอเอฟพีเรื่อง
"Ship of shame" ก็เลยอยากจะเอามาเล่าต่อให้ท่านผู้อ่านที่เคารพพิจารณาดู
เรือบรรทุกเครื่องบิน เคลอมองโซ
ขณะเทียบท่าเรือ
กล่าวคือเคลอมองโซนั้นเป็นชื่อนายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสในสมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
ถือว่าเป็นรัฐบุรุษของฝรั่งเศสเนื่องจากสามารถต้านทานการรุกรานของเยอรมนีได้จนฝรั่งเศสได้รับชัยชนะไปในที่สุด
ดังนั้น จึงมีการตั้งชื่อสิ่งใหญ่โตต่างๆ เช่น ภูเขาในแคนาดา
เรือบรรทุกเครื่องบินเป็นเกียรติเป็นอนุสรณ์ตามธรรมเนียม
เรือบรรทุกเครื่องบินชื่อเคลอมองโซนี้สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ.2504 (ปีของผู้ใหญ่ลีและปีที่เริ่มแผนพัฒนาเศรษฐกิจของไทยพอดี)
แบบว่าเป็นเรือที่อวดแสนยานุภาพของประเทศฝรั่งเศส
เนื่องจากประเทศใดที่ไม่รวยและมั่นคงอย่างเหลือเฟือแล้วการสร้างและมีเรือบรรทุกเครื่องบินไว้ใช้ในประจำการก็คือหาเรื่องให้ประเทศล้มละลายเอาง่ายๆ
(ดูตัวอย่างสหภาพโซเวียตที่เร่งสร้างแสนยานุภาพทางเรือแข่งกับสหรัฐอเมริกาจนต้องล้มละลาย!
เรือบรรทุกเครื่องบินที่แพงมากจนเข็ดฟัน
ทั้งค่าสร้างและค่าดูแลรักษาตลอดจนค่าเลี้ยงดูทหารนับพันนาย)
เรือบรรทุกเครื่องบินเคลอมองโซหนักถึง 27,000 ตัน
ที่สำคัญที่สุดคือเรือลำนี้ใช้สารจากแร่ใยหินหรือแอสเบสทอสถึง 270 ตันเพื่อเป็นฉนวน
เรือบรรทุกเครื่องบินเคลอมองโซนี้ก็ได้แล่นไปแล่นมาอวดแสนยานุภาพว่าฝรั่งเศสก็ยังแน่อยู่นะเฟ้ยอยู่จนถึง
พ.ศ.2546 พอเรือมีอายุได้ 42 ขวบ ก็ถึงเวลาที่จะต้องถูกปลดระวาง
ซึ่งปัญหาเกิดขึ้นตรงนี้เอง
เนื่องจากในช่วงอายุของเรือบรรทุกเครื่องบินเคลอมองโซนี้ได้มีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์อย่างแจ้งชัดแล้วว่าเจ้าผลิตภัณฑ์จากแร่ใยหินที่เรียกแอสเบสทอสนี้นั้นเป็นสาเหตุของการเป็นมะเร็งในมนุษย์เหมือนกับบุหรี่นั่นแหละ
ดังนั้น
ทางกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปและประเทศทางตะวันตกที่พัฒนาแล้วทั้งหลายได้ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากแอสเบสทอสหรือแร่ใยหินมาเป็นเวลานับสิบๆ
ปีแล้ว แม้แต่ประเทศแคนาดาผู้ผลิตแร่ใยหินส่งออกจำหน่ายถึง 95%
ของตลาดโลกก็ได้เลิกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มาจากแอสเบสทอสนี้โดยพฤตินัยมานานแล้ว
อีทีนี้ทางการฝรั่งเศสก็เลยขายเรือบรรทุกเครื่องบินเคลอมองโซให้กับบริษัทของประเทศสเปนให้เอาไปรื้อเรือเป็นเศษเหล็ก
ซึ่งที่สเปนเองก็รื้อไม่ได้เพราะกฎหมายของสหภาพยุโรปห้ามเอาไว้
เนื่องจากมีแอสเบสทอสอยู่ในเรือตั้ง 270 ตันดังกล่าว
สเปนจึงต้องไปจ้างทางตุรกีอีกทอดหนึ่ง
แต่ทางตุรกีก็ไม่หิวเงินเขาห่วงสุขภาพของคนของเขามากกว่า
ฝรั่งเศสเลยยกเลิกการขายเรือเคลอมองโซให้กับบริษัทสเปนไป
ใน พ.ศ.2548 ทางการฝรั่งเศสได้ว่าจ้างบริษัทของอินเดียให้รื้อเรือเคลอมองโซนี้อีก
แต่ทางการประเทศอียิปต์ก็ไม่อนุญาตให้เรือเคลอมองโซแล่นผ่านคลองสุเอซเนื่องจากไม่วางใจในความปลอดภัย
สภาพปัจจุบันของเรือบรรทุกเครื่องบิน เคลอมองโซ
ครั้นอียิปต์ยอมอนุญาตให้เรือเคลอมองโซผ่านคลองสุเอซได้
ปรากฏว่าทางศาลสูงของประเทศอินเดียก็พิพากษาห้ามไม่ให้เรือเคลอมองโซเข้ามายังน่านน้ำของอินเดียทั้งๆ
ที่คนงานอินเดียพากันเรียกร้องอยากทำงานในการรื้อเรือบรรทุกเครื่องบินเคลอมองโซโดยข้ออ้างคล้ายๆ
กับหญิงบริการบ้านเราเคยพูดเมื่อสมัยโรคเอดส์ระบาดหนักว่า "ไม่กลัวเอดส์หรอก
กลัวอดมากกว่า"
ดูเอาเถอะ คนเขากลัวเจ้าแร่ใยหินกันทั้งโลกเลย
ในที่สุดเรือเคลอมองโซก็ต้องเดินทางกลับมาที่ฝรั่งเศสหลังจากที่ต้องเดินทางเป็นระยะทาง
18,000 กิโลเมตร ไปกลับจากประเทศอินเดียมาจอดอยู่ที่ท่าเมือง Brest
ซึ่งชาวเมืองก็โวยวายกลัวเรื่องพิษของแอสเบสทอสนี่แหละ
จอดอยู่ที่ท่าเมือง Brest
จนกระทั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมต้องให้สัญญากับชาวเมือง Brest
นี้ว่าเรือเคลอมองโซจะไม่จอดอยู่ที่เมืองนี้เกินกว่า พ.ศ.2551 อย่างเด็ดขาด
เรื่องนี้จะจบยังไงก็ไม่รู้ แต่ชาวโลกเขากลัวเรื่องแอสเบสทอสนี่จังเลย
แต่ที่บ้านเราดูเฉยๆ กันแฮะ เอามาใช้กันอยู่ทุกวัน
การไม่รู้อะไรนี่ก็มีความสุขดีเหมือนกันอย่างที่ฝรั่งเขาว่าแหละ
"Ignorance is bliss."