เรือปิศาจ Flying Dutchman และ Rescue
เรือปิศาจ Flying Dutchman และ
Rescue
เรื่องแปลจากข้อเขียนเว็บไซค์ต่างประเทศ
โดย กัปตัน นีโอ
เมื่อพูดถึงเรือปิศาจ หรือ
เรือผีสิง ที่ขึ้นชื่อว่าโด่งดังที่สุดก็คงไม่พ้นเรื่องของ เรือ ฟลายอิ้ง ดัทช์แมน
Flying Dutchman ("De Vliegende Hollander")
ตามตำนานว่ากันว่าเป็นเรือผีสิงที่ต้องท่องไปในน่านน้ำไม่มีวันสิ้นสุด
หรือไม่ก็จนกว่าโลกจะแตกไปข้างหนึ่ง วันดีคืนดีอาจมาปรากฏให้นักเดินทะเลสยองเล่นๆ
ตามน่านน้ำต่างๆ ในรูปของเรือสำเภาสามใบเสา และกัปตันผู้ซึ่งยังแต่งกายในแบบศตวรรษเก่า
ยกตัวอย่างก็เมื่อปี ค.ศ.
1892 ที่อ่าวเวสตัน ในเท็กซัส มีผู้เห็นเรือ ฟลายอิ้ง ดัทช์แมน ถึงสองครั้ง
เป็นเรือที่มีแสงเรืองน่ากลัว ที่หัวเรือมีกัปตันเรือยืนอยู่ ใบหน้าของเขาบิดเบี้ยว
กรีดเสียงหัวเราะบ้าคลั่งชวนขนลุก
เรือ Flying Dutchman หรือมีชื่อเรียกในภาษาดัชท์คือ
"De Vliegende Hollander "
เป็นเรือปิศาจที่พบเห็นได้มากที่สุดในบริเวณแหลมกู๊ดโฮบ Cape of Good Hope
ทวีปอัพฟริกาใต้
เรื่องเกิดขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 เรือ Flying Dutchman เป็นเรือของบริษัท
Dutch East India
Company เป็น เรือบรรทุกสินค้าอยู่ภายใต้การควบคุมของกัปตันเรือ van
der Decken
ที่มีจิตใจเหี้ยมโหดและไม่นับถือพระเจ้า
ในปี ค.ศ. 1680 ได้เดินทางไปถึงดินแดนทางตะวันออกซึ่งสมัยนั้นถือว่าไกลมาก
ซึ่งประสบความสำเร็จด้วยดี และกำลังนำเรือกลับประเทศฮอลแลนด์เมืองบ้านเกิด
ขณะแล่นผ่านมาถึงบริเวณแหลมกู๊ดโฮบ ได้เกิดพายุขนาดใหญ่ขึ้น เรือฟลายอิ้ง ดัทช์แมนได้ถูกพายุพัดถล่มอย่างหนัก
หลังจากที่เรือต่อสู้กับพายุได้ประมาณหนึ่งชั่วโมงจนเรือออกไปนอกเส้นทางเดินเรือและกระแทกหินโสโครกจมลงหายไปพร้อมกับชีวิตคนบนเรือทั้งหมด
ทุกคนเชื่อว่าพระเป็นเจ้าได้พิพากษาลงโทษกัปตันและเรือลำนั้นด้วยพายุที่เกิดขึ้นลูกนั้น
เล่ากันว่า ระหว่างที่อยู่ในพายุนั้นกัปตัน
van der Decken ซึ่งไม่ยอมแพ้ต่อพายุได้ตะโกนขึ้นว่า " I
will round this Cape even if I have to keep sailing until doomsday! (
ข้าจะวนเวียนอยู่บริเวณแหลมนี้
ถึงแม้ว่าข้าจะต้องล่องเรือจนถึงวันสิ้นสุดของโลกก็ตาม
)
ได้ มีตำนานเล่าขานต่อมาว่าเรือฟลายอิ้ง
ดัทช์แมนได้กลับมาปรากฏตัวให้คนเห็นหลายๆ ครั้ง อย่างเช่นในปี ค.ศ. 1881 คนประจำเรือของ เจ้าชายจอรจ์ Prince George
(ต่อมาเจ้าชายจอรจ์ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ใช้พระนามว่าพระเจ้าจอร์จ์ที่ 5) ได้มองเห็นเรือฟลายอิ้ง ดัทช์แมนปรากฎตัวขึ้นด้านหัวเรือ และหลังจากนั้นไม่กี่วันเขาก็เสียชีวิตด้วยการพลัดตกจนเสากระโดงเรือ ในปี ค.ศ. 1881
เช่นกัน มีเรือสินค้าชาติสวีเดนลำหนึ่งแล่นผ่านบริเวณที่เรือฟลายอิ้ง ดัทช์แมนจม ทันทีที่คนประจำเรือบนเสากระโดงได้เห็น เรือฟลายอิ้ง
ดัทช์แมน ปรากฎตัวขึ้น เขาก็พลัดตกจากเสากระโดงเรือลงมาตาย
ก่อนตายเขาได้พูดว่าเขาได้เห็น เรือฟลายอิ้ง ดัทช์แมน
กัปตันเรือได้ส่งคนประจำเรือคนที่สองปีนขึ้นเสากระโดงเพื่อขึ้นไปดูและเขาก็เสียชีวิตในสองวันต่อมา
หลายปีต่อมามีเรือสัญชาติอเมริกาแล่นผ่านเข้ามาในบริเวณแหลมกู๊ดโฮป เรือลำนี้ชื่อ Relentless
และพบกับเรือฟลายอิ้ง ดัทช์แมน กัปตันเรือได้ออกคำสั่งให้นายท้ายเรือหันหัวเรือไปยังเรือฟลายอิ้ง ดัทช์แมนเพื่อเข้าไปดูให้เห็นชัดขึ้น แต่นายท้ายเรือก็ไม่ได้หันหัวเรือไปตามคำสั่ง
กัปตันไปดูกลับพบนายท้ายเรือนอนตายอยู่ที่พังงาถือท้ายเรือ
และในคืนนั้นยังพบว่าคนประจำเรือสามคนได้หายตัวไปจากเรืออีกด้วย
ยังมีตำนานเล่าขานถึงการปรากฏตัวเรือฟลายอิ้ง ดัทช์แมนอีกว่า ในปี
ค.ศ.
1911โดยเรือชื่อ Orkney Belle
เป็นผู้พบเห็นขณะเดินทางข้ามแหลมกู๊ดโฮป ต่อมาในปี ค.ศ. 1939
มีคนมากกว่า 60 คนเห็นเรือฟลายอิ้ง ดัทช์แมนแล่นออกจากชายหาดผ่านพวกเขาไปและวิ่งหายไปในความมืดของทะเล
ปี
ค.ศ. 1942 ผู้บังคับการเรือดำน้ำ U boats พลเรือตรี Karl Doenitz
แห่งราชนาวีเยอรมัน ได้บันทึกในปูมเรือว่าพบเรือฟลายอิ้ง ดัทช์แมนแล่นผ่านเรือของเขาไป และในปี
ค.ศ. 1942
เรือฟลายอิ้ง ดัทช์แมนได้ถูกพบโดยเรือรบหลวง H.M.S.
Jubilee ผู้บังคับการเรือ Nicholas Monsarrat
ได้พบ และพยายามส่งสัญญาณไปยังเรือฟลายอิ้ง
ดัทช์แมนแต่ไม่มีสัญญาณใดๆ ตอบกลับมา
เขาได้บันทึกไว้ในปูมเรือว่าพบเรือใบไม่ทราบประเภทชั้นเรือแล่นผ่านไปภายใต้สภาวะที่ไม่มีกระแสลมพัดอยู่เลย
ในปี
ค.ศ. 1943 คนจำนวน 4
คนในเมือง Cape Town ได้เห็นเรือฟลายอิ้ง ดัทช์แมนแล่นหายไปทางด้านหลังของเกาะ
ในปี
ค.ศ. 1959
กัปตันเรือ Staat Magelhaen
พบว่าเรือกำลังมุ่งหน้าพุ่งเข้าชนกับเรืออีกลำหนึ่ง เรือลำนั้นก็คือเรือฟลายอิ้ง ดัทช์แมน แต่พอเรือเข้าใกล้จะชนปรากฏว่าเรือฟลายอิ้ง ดัทช์แมนได้หายตัวไป
และยังมีอีกหลายครั้งที่เกิดพายุใหญ่บริเวณประภาคาร Cape light house
มีบันทึกรายงานว่าได้พบเจอเรือ ฟลายอิ้ง
ดัทช์แมนมาปรากฎให้เห็น ( เมือง
Cape Town
สร้างขึ้นราว ศตวรรษที่ 17 โดย Jan
van Riebeeck ตัวแทนของบริษัท Dutch East India Company เหตุที่ สร้าง
Cape Town ขึ้นมา เพราะมีแผนจะแยกแหลม Cape
ออกจากทวีปแอฟริกาด้วยการขุดคลองตัดผ่านคาบสมุทร
แต่ในท้ายที่สุดเขาก็ต้องยอมยุติแผนดังกล่าว ปัจจุบันจึงมีเพียงแนวป่าต้นอัลมอนด์
ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความพยายามแยกตัวในครั้งนั้นหลงเหลือไว้เป็นอนุสรณ์ )
การปรากฏตัวของ
เรือ ฟลายอิ้ง
ดัทช์แมน
ตามตำนานยังกล่าวกันว่า เรือลำนี้มีตำนาน มาจากเรื่องเล่าสองเรื่อง
เรื่องแรกเป็นเรื่องของผีและกัปตันที่มีชื่อว่า แวนเดอเดคเคน (Captain Van
Der Decken)
ซึ่งเป็นคนที่นอกจากจะไม่นับถือพระเจ้าแล้วยังลบหลู่อย่างร้ายกาจอีกด้วย
ส่วนเรื่องที่สองเป็นของนักเดินเรือที่ชื่อว่า เบอร์นาร์ด โฟคค์
คนนี้ทำสัญญากับปิศาจว่าจะยอมอยู่ในอาณัติของมันหากช่วยให้เขาเดินทางไปถึงอีสต์อินดีส์ใน
90 วัน
สองเรื่องที่ว่าเชื่อกันว่าเป็นเหตุให้เรือและกัปตันต้องระหกระเหินไปทั่วร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำไปชั่วกาลนิรันดร.....
อย่าเพิ่งคิดว่าจะมีแค่เรื่องของเรือฟลายอิ้ง ดัทช์แมนเท่านั้น
ยังมีอีกเรื่องที่จะเล่าให้ฟัง
เรื่องนี้เป็นเรื่องของเรือล่าปลาวาฬอเมริกันชื่อ จอร์จ เฮนรี่
ซึ่งกำลังมุ่งหน้าขึ้นเหนือ ออกเดินทางตามหาคณะเดินทางเคราะห์ร้ายนำโดย เซอร์ จอร์น
แฟรงคลิน ที่หายไปจากเส้นทางสู่ขั้วโลกอย่างไร้ร่องรอย แต่ว่าภารกิจนี้เรือจอร์จ
เฮนรี่ไม่ได้มาเพียงลำเดียว ยังมีเรืออีกลำชื่อว่า เรือเรสคิว
ตามมาเป็นเรือบรรทุกสัมภาระด้วย เรื่องของเรื่องมันก็อยู่ที่เรือลำนี้แหละ
เพราะว่าเรือเรสคิวเป็นเรือประหลาดหรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นเรืออัปมงคลก็ว่าได้
เมื่อออกเดินทางทุกครั้ง ก็จะต้องลงเอยด้วยการมีคนตายอย่างน้อยหนึ่งคนเสมอ
คืนวันที่ 27 กันยายน ค.ศ. 1860
เรือทั้งสองลำจอดทอดสมอหลบพายุอยู่ที่อ่าวโฟรบิสเชอร์ เกาะแบฟฟิน แต่ยิ่งเวลาผ่านไป
พายุก็ไม่มีทีท่าว่าจะลดกำลังลง กลับเพิ่มแรงลมมากขึ้นเรื่อยๆ จนกัปตันฮอลล์
กัปตันเรือของจอร์จ เฮนรี่ตัดสินใจสั่งให้ถ่ายลูกเรือเรสคิวมาขึ้นเรือของเขาให้หมด
นับเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องอย่างยิ่ง เพราะเพียงชั่วอึดใจต่อจากนั้น
สมอเรือของเรสคิวถูกแรงกระแสน้ำลากออกจากที่
ค่อยๆ ลอยเข้าหาฝั่งที่น้ำทะเลกระแทกหินอย่างรุนแรง
ดูเหมือนจะมีอำนาจบางอย่างที่พยายามดึง เรือเรสคิว เอาไว้ไม่ให้เข้ากระแทกหินโสโครกชายฝั่งง่ายดายเกินไป
แต่กระนั้น เรือเรสคิว ซึ่งไร้คนบังคับก็ต้องพ่ายต่อแรงธรรมชาติในอีกหลายชั่วโมงต่อมา
มันถูกคลื่นยักษ์โถมกระหน่ำหนุนให้เรือพุ่งเข้าหากองหินอย่างแรงจนไม้กราบเรือฉีก
หิมะซึ่งโปรยปรายต่อมาหลังจากนั้นดูราวกับผ้าห่อศพก็ไม่ปาน
เช้าวันต่อมา เรือเรสคิว หายไป เป็นไปได้ว่าอาจถูกหิมะถมทับจนหายไปสนิท
แต่ลูกเรือหลายคนก็เชื่อว่ามันโดนคลื่นลมพาเข้ากระแทกกับหินจนแหลกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย
เรือจอร์จ เฮนรี่ต้องเดินต่อไปลำเดียว
กรกฎาคม 1861 สิบเดือนต่อมา เรือจอร์จ เฮนรี่เดินทางมาที่เกาะแบฟฟินอีกครั้ง
ทันทีที่มาถึงลูกเรือที่มองดูอยู่บนยอดเสากระโดงก็ร้องเสียงหลงชี้มือไปที่ขอบฟ้า
ห่างออกไปราว 2 ไมล์ มีเรือลำหนึ่งปรากฏขึ้นเป็นเงาลางในม่านหมอก
แต่ก็สามารถบอกได้จากกราบเรือที่ฉีกแตกว่านั่นคือ เรือเรสคิว
มันแล่นเป็นเส้นตรงเหมือนกับมีมือที่มั่นคงบังคับหางเสือ
ทั้งๆ ที่ไม่มีสัญญาณของสิ่งมีชีวิตบนดาดฟ้า
ลูกเรือของ เรือจอร์จเฮนรี่ มองภาพข้างหน้าอย่างขนลุกขนชัน
ครู่เดียวมันก็หายไปในหมอกอีกครั้ง
เย็นวันนั้นเรือจอร์จเฮนรี่ทอดสมอเรือไว้ที่อ่าวโฟรบิสเชอร์
ไม่ห่างจากจุดที่เรือเรสคิวประสบเหตุอับปางเมื่อปีก่อน ไม่กี่ชั่วโมงต่อจากนั้น
ลมแรงจัดก็พัดมาจากทางเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ
พาน้ำแข็งก้อนมหึมาข้ามทะเลตรงมายังเรือจอร์จเฮนรี่
ลูกเรือต่างรีบหาไม้มาช่วยกันยันก้อนน้ำแข็งออกไปก่อนที่มันจะมาชนเรือ
ทว่าเพียงแค่ก้อนน้ำแข็งเบี่ยงทางไป
แสงจันทร์ซีดเซียวก็จับไปยังสิ่งหนึ่งที่ทำให้ลูกเรือจอร์จเฮนรี่ตาค้าง
มันคือเรือเรสคิว !!!
เรือนั้นอยู่ห่างออกไปเพียงไมล์เดียว ที่สำคัญคือมันกำลังไถลวิ่งตรงเข้ามาหา
ไม่มีทางที่เรือจอร์จเฮนรี่จะหลีกพ้น
มันอาจจะเป็นชะตากรรมหรืออาจเป็นความเคียดแค้นที่ถูกทิ้งอยู่เดียวดาย
แต่จะอะไรก็ตาม ลูกเรือจอร์จเฮนรี่เตรียมใจรอรับการพุ่งชนในอึดใจข้างหน้า
จู่ๆ ณ จุดที่เรือกำลังจะสัมผัสกันแค่เส้นยาแดงผ่าแปด
เรือเรสคิวก็หันหัวเรือเปลี่ยนทิศ มันอาจติดก้อนน้ำแข็งจนหัวเรือต้องเปลี่ยนทางไป
แต่ในความรู้สึกของลูกเรือดูเหมือนกับผีที่คุมพังงาเรือ เปลี่ยนใจในวินาทีสุดท้าย
วันต่อมา กัปตันฮอลล์ถอนสมอเรือและแล่นเรือออกจากอ่าว
ไม่มีสัญญาณใดบอกให้เห็นเรือเรสคิว แต่ลูกเรือก็พากันเงียบงันตลอดทั้งวัน
พวกเขาจับตาอยู่ที่ขอบฟ้าด้วยความหวาดกลัว และแล้วมันก็มาตามเวลาในตอนเย็น
ตรงจุดที่มันถูกทิ้งอีกครั้ง แล้วก็อีกครั้งในตอนเช้าของอีกวันหนึ่ง
คราวนี้มันลอยออกไปทางทะเลปิด หายไปในเวลาร่วมชั่วโมง
ไม่มีใครรู้ว่าที่สุดแล้ว เรือเรสคิว ลงเอยอย่างไร
บางคนเชื่อว่ามันสิงอยู่ในทะเลเกาะแบฟฟิน แต่ไม่ว่าจะเชื่ออย่างไร
ผีเรือเรสคิวก็มีอิทธิพลต่อความเชื่อของชาวเรือในย่านนั้น
จนมีใครหลายคนหวังว่าจะได้เห็นมันสักครั้ง…